ถอดความคิด ‘รัสเซีย’ บนวิกฤตยูเครน กับโอกาส และความเป็นชาติมหาอำนาจในยุโรป

คลี่ปมวิกฤตยูเครน ‘รัสเซีย’ คิดเช่นไร-ได้อะไรบนเส้นทางความขัดแย้ง

ความตึงเครียดในยุโรปตะวันออก ระหว่าง รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และ ยูเครน ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จนคนทั่วโลกจับตา หวั่นว่าจะเกิดสงคราม ตลาดหุ้น และทองคำ ผันผวน จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรายวัน

พฤศจิกายน 2564 ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงให้เห็นว่ากองทหารรัสเซีย ได้เคลื่อนย้ายกำลังประชิดชายแดนยูเครน โดยทางยูเครน ได้ออกมาระบุว่ารัสเซียได้ระดมทหารนับแสนนาย พร้อมรถถังและอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ เข้าไปปฏิบัติการซ้อมรบภาคพื้นดิน ห่างจากยูเครนเพียง 300 กิโลเมตร

บรรยากาศระอุขึ้น เมื่อรัสเซียเคลื่อนกำลังพลราว 30,000 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์เข้าไปยังเบลารุส ชาติพันธมิตรของรัสเซีย ที่ติดพรมแดนตอนเหนือของยูเครน อ้างเพื่อการซ้อมรบร่วมกันในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่รัสเซียยืนกรานปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนรุกรานอย่างที่ยูเครนกล่าวหา

แม้ว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ และ ประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย จะประชุมวิดีโอคอล เพื่อลดความตึงเครียด โดยโจ ไบเดน เตือนรัสเซียว่าอาจจะต้องเจอกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หากรัสเซียรุกรานยูเครน แต่ความตึงเครียดก็ยังไม่ลดลง

Advertisement

ท่ามกลางกระแสสงครามที่พร้อมปะทุในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับ 10 ชาติต่างออกมาแจ้งเตือนประชาชนให้เดินทางออกจากยูเครน ทั้ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิตาลี อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี หลายประเทศได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตที่ไม่จำเป็นเดินทางออกจากยูเครนเช่นกัน

หลังกระทรวงกลาโหมรัสเซีย มีคำสั่งถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากพื้นที่ใกล้พรมแดนยูเครนไม่กี่วัน ปูติน ลงนามรับรองการประกาศรับรองเอกราชของดินแดนโดเนตสค์ และ ลูฮานสค์ ดินแดนของยูเครนที่มีคนเชื้อสายรัสเซียจำนวนมากอาศัยอยู่ พร้อมสั่งการให้กองทัพรัสเซียธำรงสันติภาพในพื้นที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครนในทันที โดยกล่าวโทษกองกำลังสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และถือว่า พันธมิตรชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐ เป็นภัยคุกคามรัสเซีย

ฉับพลันทันใด ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐประกาศคว่ำบาตรรัสเซียทันที สหภาพยุโรป ระบุว่า การกระทำดังกล่าวละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และจะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร สหรัฐยังได้ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เรียกประชุมฉุกเฉินด่วน

Advertisement

นับได้ว่าเป็นสถานการณ์ ที่ทั่วโลกต้องจับตาดูภูมิภาคยุโรปตะวันออก อย่างละสายตาไม่ได้

ในเวทีการบรรยายพิเศษทางวิชาการ KU Soc Lecture Series : Crucial Global Issues ในหัวข้อ “พินิจวิกฤตยูเครน : เรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน” ที่มี รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ ดร.ปรีห์ปราง ถนอมศักดิ์ชัย ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดให้เห็นแง่มุมของรากปัญหาวิกฤตในยูเครนที่น่าสนใจ

รศ.ดร.จิตติภัทร ได้เริ่มต้นชี้ให้เห็นว่าการที่กองกำลังทหารของรัสเซีย ได้เข้าประชิดกับพรมแดนของยูเครนนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งหมดล้วนมีที่มาที่ไป โดยระบุว่า ทุกคนหันไปมองว่า อยู่ดีๆรัสเซีย ระดมกำลังทหาร 130,000 คน หรือหากเป็นตัวเลขของสหรัฐอาจจะถึง 2 แสนคนเข้าไปที่บริเวณชายแดน รวมถึง การซ้อมรบร่วมกันกับเบลารุส ที่อยู่ภายใต้ Alliance resolve 2022  แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาในยูเครนตะวันออกนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ ดอนบาส ( ภูมิภาคดอนบาส ตะวันออกของยูเครน ที่มี โดเนตสค์ และ ลูฮานสค์ ตั้งอยู่) เป็น frozen conflict ของรัสเซียมาโดยตลอด รัสเซียมองว่าพื้นที่นี้ เป็น สงครามกลางเมือง เป็นเรื่องภายในของรัสเซีย มาตลอด 8 ปี

“โจทย์ใหญ่ที่เป็นปริศนาของรัสเซีย ยูเครน ในวันนี้ วนอยู่กับคำถามว่า รัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่ ปูตินและรัสเซียต้องการอะไรจากกรณีนี้ รวมถึงประเด็นขัดแย้ง เกิดขึ้นจากปัญหาที่นาโต ละเมิด ละเลย สัญญาที่ให้ไว้กับรัสเซีย ซึ่ง อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ในสมัยจอร์จ บุช เคยกล่าวว่า Not one inch to the east หรือ ไม่มีแม้แต่ตารางนิ้วเดียวที่จะขยายไปยังตะวันออก หมายถึงจะไม่มี Nato Enlargement ซึ่งรัสเซียถือเรื่องนี้เป็นหมุดหมายใหญ่ในการสัญญา แต่สิ่งนี้กลับเกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ซ้ำยังเกิดขึ้นในสมัยของปูติน 4 ครั้งด้วยกัน”

 

เข้าใจสถานการณ์ “ยุโรปตะวันออก”

รศ.ดร.จิตติภัทร ได้ฉายภาพประเด็นใหญ่ๆ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการที่นำเข้าสู่ปัญหาปัจจุบัน

1.ความล้มเหลวของการเจรจาทางการทูตตามข้อตกลงมินซ์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จะไกล่เกลี่ยปัญหายุโรปตะวันออก ช่วงปี 2014-2015 ที่มีความพยายามของชาติมหาอำนาจที่เข้ามาร่วมไกล่เกลี่ย ประนีประนอม แต่กระบวนการนี้กลับไม่สำเร็จเท่าไหร่ เพราะไม่มีใครกดดันยูเครนให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยูเครนก็ไม่อยากเข้าสู่ข้อตกลง เนื่องจากมติมหาชนของคนยูเครนไม่เห็นด้วย เหมือนการนิรโทษกรรมคน หรือทหารที่เข้าไปมีส่วนในความขัดแย้ง จึงนำไปสู่การที่ปูติน เลือกจะใช้เครื่องมืออื่น ในการเร่งรัฐบาลยูเครนเข้าสู่กระบวนการตามข้อตกลง มินซ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2021 เรื่อยมา

2.สิ่งที่ทำให้ปูติน เลือกใช้กำลังทหารเยอะขึ้น เนื่องจากประเทศนาโต เริ่มขายกิจกรรมทางทหารมาในทะเลดำมากขึ้น จะเห็นได้ว่า เมื่อกลางปีก่อน เรือรบอังกฤษเข้ามาถึงบริเวณน่านน้ำไครเมียโดยไม่บอกรัสเซีย นำไปสู่การเผชิญหน้า หรือ เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ของสหรัฐ เข้าไปในพรมแดนรัสเซีย ในภูมิภาคทะเลดำถึง 13 ไมล์ ทำให้รัสเซียโกรธมาก รวมไปถึงการเพิ่มกำลังทหารให้ยูเครน มีการตั้งศูนย์ฝึกทหารยูเครนที่โดยสหราชอาณาจักร เป็นชนวนที่ยอมไม่ได้

3.นโยบายของไบเดน อิงอยู่กับคุณค่าของประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เวลาเดียวกัน ปูตินก็มองว่า สหรัฐอ่อนแอ แบ่งแยก ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน คะแนนของไบเดนยังตกต่ำลง เป็นที่มาของการกดดันให้ไบเดนเจรจา โดยการใช้กำลังทางทหารเป็นโจทย์สำคัญ

 

รัสเซียบนทางแพร่ง และ 3 ข้อเรียกร้อง ของปูติน

การใช้กำลังทางทหาร เป็นเครื่องมือทางการทูตนับได้ว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลรัสเซียใช้มาตลอด รศ.ดร.จิตติภัทร ว่าไว้ ก่อนจะอธิบายต่อว่า นักวิชาการรัสเซียหลายคนเสนอแนวความคิดว่า รัสเซียได้ใช้การทูตเชิงบังคับ เพื่อให้สหรัฐเข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยความเห็นของนักวิชาการจาก คาเนกี มอสโคว์ เซ็นเตอร์ พูดถึงมิตินี้ชัดเจนว่า แง่หนึ่งมันประสบความสำเร็จ เพราะผลักให้สหรัฐต้องเจรจากับรัสเซีย หมุดหมายสำคัญอยู่ที่ เจนีวา ซัมมิท ในเดือนมิถุนายน 2021 ที่สองชาติได้เจรจาความมั่นคง ควบคุมและลดนิวเคลียร์ ซึ่ง สหรัฐได้ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ไป ในสมัยบุช และทรัมป์

ประเด็นสำคัญคือ การเจรจาเรื่องความมั่นคงในยุโรปเป็นครั้งแรก ซึ่งรัสเซียได้มีข้อเรียกร้องไปยังยุโรปตะวันตก 3 ข้อสำคัญ คือ 1. ต้องไม่มีการขยายประเทศสมาชิกของนาโต 2.ขอให้อเมริกา ไม่เอาระบบอาวุธ หรือ โครงสร้างพื้นฐานทางกลาโหมเชิงรุกมาติดตั้งในยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับรัสเซีย และ 3. ให้อเมริกา ถอนโครงสร้างระบบอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ทางกลาโหม ที่มีการติดตั้งของนาโต หลังปี 1997 ซึ่งดูเหมือนว่าข้อนี้จะเป็นไปไม่ได้ในทางการเมือง เพราะนาโต มี commitment ทางการเมืองต่อชาติพันธมิตร ซึ่งรัสเซียก็มองว่า หากถอย ก็จะประนีประนอมได้

“ประเด็นสงครามนี้เป็น dilemma ของรัสเซีย คือจะเดินหน้าก็ลำบาก ถอยก็ลำบาก เพราะมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นทางแพร่งด้านความมั่นคงที่ต้องใคร่ครวญหลายเรื่อง กระทบถึง พันธมิตรเก่ารัสเซียอย่าง เบลารุส คาซัคสถาน และทางแพร่งด้านเศรษฐกิจ การพึ่งพิงด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับยุโรป เป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่แก้ยาก”

“อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่า จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ก็มีเอกสารระบุว่า นาโตไม่ได้มีความต้องการขยายรับสมาชิกของยูเครนเข้ามา”

ประธานาธิบดีไบเดน และ ประธานาธิบดีปูติน ในการประชุมรัสเซียซัมมิท ที่ Villa La Grange ในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 16 มิถุนายน 2021 REUTERS

มายาคติที่ฝังรากลึก

แม้สถานการณ์ดังกล่าว จะเริ่มปะทุเมื่อปลายปีที่แล้วนี้ จากพัฒนาการปัญหาว่ามาข้างต้น แต่แท้จริงแล้ว มีมายาคติที่ร้าวลึก ที่ รศ.ดร.จิตติภัทร วิเคราะห์ไว้

หนึ่ง ก็คือ ยูเครนไม่ใช่รัฐเอกราช และเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย 2.สงครามกลางเมือง รัสเซียมองว่าความขัดแย้งตรงนี้ เป็นสงครามกลางเมือง ที่เป็นเรื่องภายในประเทศ 2 ข้อนี้ ถือเป็นโจทย์ที่รัสเซียเลือกจะมอง เพราะเป็นประโยชน์ในเชิงเรื่องเล่า

ขณะที่ฟากฝั่งตะวันตกก็มีชุดความคิดที่ว่า 1. สงครามของปูติน คือเรื่องนี้บ่งบอกว่าปูตินคิดอย่างไร รัสเซียก็คิดแบบนั้น แต่แท้จริงแล้ว มันยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างของการเมืองรัสเซีย รวมถึงเรื่องชาตินิยม ที่มีบทบาทสำคัญ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ในกรณีไครเมีย แม้แต่ผู้นำฝ่ายค้านก็เห็นด้วย กรณีนี้มันเป็นโครงสร้างที่ใหญ่กว่าแค่ปูติน

อีกประการหนึ่งคือ นาโตกับการรักษาสัญญา ชาติตะวันตกจะบอกว่า นาโตไม่มีอะไรที่เป็นสัญญาผูกพัน แต่รัสเซียจะถือเอาคำพูดในการประชุมของผู้นำเป็นสัญญาที่สำคัญ ซึ่งในบันทึกการหารือสมัยกอร์บาชอฟ เยลซิน ต้นๆ จะเห็นได้ว่ามีพันธะสัญญาตรงนี้พอควร เป็นการให้คำสัญญาในเวทีระหว่างประเทศ

“4 เรื่องนี้ ถือเป็นมายาคติที่ไม่ลงรอยกัน เมื่อคุณค่าความเชื่อแตกต่างกัน ทำให้ยากที่จะบรรลุการเจรจา”

คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ประชุมหลังรัสเซียลงนามรับรองเอกราช 2 พื้นที่สำคัญ REUTERS/Carlo Allegri

ยูเครน มรดกดินแดนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

ประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เริ่มต้นที่การก่อตั้งราชรัฐแห่งเคียฟ ก่อนจะถูกพวกทาร์ทาร์ ทำลายไปในศตวรรษที่ 13 อย่างไรก็ตามรัสเซียถือว่ากรุงเคียฟ เป็นมาตุภูมิที่ให้กำเนิดรัฐอื่น รวมไปถึงเรื่องชาติพันธุ์ ที่เป็นชาวสลาฟเช่นกัน นั่นทำให้ยูเครนในความคิดของชาวรัสเซียนั้น สำคัญ

กระทั่งในการลงนามรับรองเอกราชของ 2 ดินแดน ปูติน ยังได้ระบุว่า “ยูเครนในปัจจุบัน คือโครงสร้างยุคสมัยใหม่ ที่เชื่อมโยงกับรัสเซียอย่างแยกไม่ออก ยูเครนเป็นมรดกดินแดนทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย และหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตยูเครนได้ถูกใช้โดยชาติตะวันตกเพื่อจำกัดรัสเซีย”

ดร.ปรีห์ปราง กล่าวว่า ยูเครนเป็นจุดเริ่มต้นของรัสเซีย และเป็นส่วนหนึ่งมาโดยตลอด เราเห็นได้ชัดในทางกายภาพ ว่าหากเอาคนยูเครนกับรัสเซียมายืนด้วยกัน แทบแยกไม่ออก คือเป็นชาติพันธุ์ที่ใกล้เคียงที่สุดในเครือรัฐเอกราช ครั้งหนึ่งยูเครนเคยเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ของโซเวียต ยูเครนไม่ใช่คนอื่นไกลนอกจากบ้านพี่เมืองน้อง โดยเฉพาะกับทางตะวันออกและทางใต้

“ขณะที่ยูเครนเอง ในฝั่งตะวันตก ตะวันออกและใต้ ไม่ได้รู้สึกว่าประวัติศาสตร์เขาผูกพันกับรัสเซีย แต่เป็นนโยบายการทำให้รัสเซียเป็นจักรวรรดิ คือการเข้าไปกลืนกินวัฒนธรรม เผยแพร่ภาษา เขารู้สึกถูกกดทับ ทำให้ประเทศตัวเองเล็กลง ฝั่งตะวันตกจึงต้องหาทางออก ไปฝักใฝ่ตะวันตก แตกต่างจากทางใต้ ที่ 96% ในไครเมียลงประชามติ ต้องการแยกตัวไปอยู่กับรัสเซีย”

รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าวว่า ในบทความของปูตินที่ออกมากลางปีที่แล้ว ระบุว่า ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และถูกพรากออกจากมาตุภูมิทางประวัติศาสตร์นี้ ในปี 1991 นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ในเชิงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ที่มองว่าเรื่องนี้สำคัญมาก

นอกจากเรื่องของประวัติศาสตร์แล้ว รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าวว่า ผลประโยชน์ของยูเครน ไครเมีย ต่อรัสเซียยังมีมหาศาลเป็น transit state ของท่อก๊าซไปสู่ยุโรป คือเป็นความมั่นคงทางด้านพลังงาน ทั้งยังเป็นยุทธศาสตร์ทางทหารเรือ การออกสู่เส้นทะเลดำ และเมดิเตอร์เรเนียน ต้องผ่านทะเลดำ เมืองเซบาสทาโปและไครเมีย ซึ่งเห็นได้ว่าในทางประวัติศาสตร์ รัสเซียถูกกีดกันจากยุโรป ก็เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากไครเมียทั้งคู่

“สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้รัสเซียอาจมองว่าปัญหาการก่อร้ายเป็นภัยคุกคามลำดับต้นๆ แต่ตอนนี้เรื่องนาโต เป็นภัยคุกคามใหญ่ของรัสเซีย เขาไม่ได้มองแค่การขยายสมาชิกภาพอย่างเดียว แต่โจทย์ใหญ่คือการขยายระบบป้องกันอาวุธ ยุทโธปกรณ์ เข้ามาในหลังบ้านของรัสเซีย และสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงระบอบ ในพื้นที่ ซึ่งรัสเซียพยายามที่จะดึงประเทศอย่าง จอร์เจีย ยูเครน คีร์กิซสถานเป็นพวก โดยใช้กลไกพลังงานกดดัน ประเทศที่เป็นมิตรก็ได้ราคามิตรภาพ ขณะที่ประเทศพันธมิตรนาโต ก็เป็นราคาตลาด”

 

พลเมืองรัสเซีย ความรับผิดชอบที่ผูกโยงกับกฎหมาย

ดร.ปรีห์ปราง กล่าวว่า รัสเซียมี นโยบาย New Aboard หรือ บ้านใกล้เรือนเคียง ที่มองว่า โซเวียตเก่า เป็นพื้นที่ที่ใครก็ตามที่เข้ามาจะต้องรู้ว่าต้องเคารพในเขตอำนาจการตัดสินใจของรัสเซีย เป็นเขตพื้นที่อิทธิพล บางคนมองว่ายูเครนเป็นประตูหลังบ้าน แต่รัสเซียมองว่านี่คือประตูหน้าบ้านด้วยซ้ำ จึงตอบคำถามได้ว่า รัสเซียคงไม่ยอมอย่างแน่นอน หากนาโตจะเข้ามา เพราะไม่เพียงแต่เรื่องชาติพันธุ์ แต่หากเสียยูเครนไป รัสเซียจะถูกล้อมไว้ด้วยชาติพันธมิตรนาโต

รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าวเสริมว่า หลังสงครามจอร์เจีย เราเห็นบทบาทของรัสเซียในการขยายอำนาจอธิปไตยออกไป อย่างน้อยที่สุด ไม่ใช่ว่ารัสเซียปกป้องคนรัสเซียในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องการปกป้องคนรัสเซียที่อยู่นอกบ้านด้วย นี่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ว่าต้องปกป้องคนหลังบ้านของตัวเอง ซึ่งวันนี้มีคนกว่า 7 แสนคนในดอนบาส ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองของรัสเซียแล้ว

“สิ่งนี้ผูกโยงกับกฎหมายและหลักนิยมทางกลาโหมของรัสเซียด้วย”

มติมหาชน มุมมองต่อสงครามของชาวรัสเซีย

รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าวว่า มติมหาชนในรัสเซียนั้น ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ มีการสำรวจของ Yuri Levada Analytical Center สำนักที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในตะวันตกว่าอิสระ ไปถามคนรัสเซีย 55% ไม่ได้มองว่าความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่สงคราม ขณะที่ 37% มองว่าก็นำไปสู่สงครามได้ แต่สุดท้ายแล้วสงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน ที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องนี้ ก็เกินจินตนาการของคนรัสเซียอยู่ดี ขณะที่ 68%ประณาม สหรัฐ นาโต ยูเครน ที่ก่อให้สงครามนี้ระอุขึ้นมา มีแค่ 6% ที่มองว่า กระบวนการทหารในดอนบาส เป็นคนเริ่มก่อน

“และเมื่อย้อนกลับไปปี 2014 หลังสงครามไครเมีย เราก็เห็นได้ว่ากระแสชาตินิยมและความนิยมในปูติน มันเพิ่มสูงขึ้น”

สอดคล้องกับ ดร.ปรีห์ปราง ที่กล่าวว่า หากมองประเด็นสงคราม รัสเซีย ยูเครนแล้วนั้น วัยรุ่นชาวรัสเซียไม่ได้สนใจว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ เพราะยังมีเรื่องอื่นในชีวิตที่ต้องกังวล ทั้งโควิด หรือปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ได้ต้องเตรียมพร้อมเพราะยังเชื่อมั่นในรัฐ และไม่เชื่อว่าจะมีสงครามจริงๆ กลับกัน คนที่มีชีวิตอยู่มาตั้งแต่สมัยโซเวียต จะมองว่า ไม่มีที่ใดในโลก ที่ไม่มีสงคราม และเขาถูกหล่อหลอมให้ใช้ความอดทนในการเปลี่ยนผ่านสิ่งต่างๆมาอยู่แล้ว

 

ฉากทัศน์ ความเป็นไปได้ของสงคราม

“ฉากทัศน์ต่างๆ บางครั้งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่วางแผนไว้ก่อน แต่เกิดจากสิ่งที่ฉับพลัน จนเป็นชนวนนำไปสู่สงคราม หรือเปลี่ยนแปลงก็ได้” อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวไว้ ก่อนจะอธิบายฉากทัศน์ ที่เป็นไปได้ไว้ 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่

    1. ฉากทัศน์ทางการทูต การเจรจาระหว่างประเทศ ที่มีหลายช่องทาง
    2. ไฮบริด วอร์แฟร์ หรือ สงครามลูกผสม การโจมตีข้อมูลข่าวสาร ยังคงดำเนินต่อไป
    3. การแทรกแซงทางการทหารระยะสั้น แบบฉับพลันทันใด ตัวแบบที่ดีที่สุด คือ สงคราม 5 วันของรัสเซีย-จอร์เจียในปี 2008  แน่นอนว่าการแทรกแซงจากสหรัฐ จะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบมากขึ้น ผู้นำสหรัฐและเยอรมนี มีการพูดถึงมิตินี้ว่า หากมีการใช้กำลังความรุนแรง การแทรกแซงทางการทหารเข้าไปในยูเครน ก็ลืมข้อตกลงเรื่อง นอร์ตสตรีม 2 หรือ ข้อตกลงเรื่องท่อก๊าซอันใหม่ ไปได้เลย
    4. สงครามเต็มรูปแบบ หลายคนกังวลว่าอาจจะเป็นฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดของโลก แต่อาจไม่ใช่กับรัสเซีย แม้ว่าปูตินยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่คำพูดของรัสเซีย กลาโหมพูดชัดว่า หากไม่สามารถใช้การทูตแก้ไข ก็พร้อมใช้เครื่องมืออื่น แม้ยังไม่บอกว่าเป็นการทหาร แต่รัสเซียก็หลังชนฝา ไม่รู้ว่าหากเกิดฉากทัศน์นี้ จะนำไปสู่อะไรต่อไป อาจมีการผนวกยูเครน

“แต่อย่างน้อยที่สุด ปูตินเป็นคนระวัง ไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม มีการใคร่ครวญให้เกิดผลได้มากกว่าผลเสีย”

ซึ่งชนวนสงคราม ขึ้นอยู่กับ เส้นแดง ที่เป็นโจทย์ที่อย่างไรเสีย รัสเซียก็ยอมไม่ได้ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ความพยายามของยูเครนในการทวงคืนดินแดนฝั่งดอนบาส โดยใช้กำลังความรุนแรง และ 2.การที่ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต หรือกระทั่ง นาโต หรือสหรัฐ เข้ามาติดตั้งอาวุธ ฐานทัพในยูเครน

“แต่จะ เลวร้าย หรือ ดี ก็อยู่ที่มุมมองว่าจากฝั่งใคร อำนาจตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่ผู้นำรัฐ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่จะทำอย่างไรให้ผ่อนคลายความตึงเครียดนี้ได้”  รศ.ดร.จิตติภัทร ทิ้งท้าย

รถถังขับเคลื่อนไปบนถนนเส้นหนึ่งที่สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าอยู่ในดินแดนโดเนตสค์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งเคลื่อนกำลังทหารรัสเซียเข้าไปในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสค์และในลูฮานสค์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน หลังจากผู้นำรัสเซียประกาศรับรองเอกราชของดินแดนทั้งสองดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (REUTERS)

ยูเครนคิดอย่างไร บนพื้นที่ความขัดแย้ง

“ยูเครน เป็นรัฐหลังสังคมนิยม ที่กระบวนการสร้างชาติหลังสังคมนิยมยังไม่สมบูรณ์ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และการเปลี่ยนผ่านที่เสรี ยังไม่ลงหลักปักฐานดีนัก ในยูเครน มีการแบ่งเฉดสีอย่างชัดเจน ระหว่างตะวันออกและตะวันตก สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง ทั้งท้องถิ่นและประธานาธิบดี ขณะที่นโยบายต่างประเทศ สวิงไปมา หันไปหาตะวันตกบ้าง และ รัสเซียบ้าง นับเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐที่ยังไม่ลงตัว”

วงเสวนา ชี้ให้เห็นความน่าสนใจของการเมืองภายในยูเครน ก่อนจะฉายภาพท่าทีของยูเครน ในสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าวว่า ความน่าสนใจของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีและชนชั้นนำ คือพยายามจะ keep calm พยายามไม่กระตุ้นรัสเซีย เห็นได้จากการประชุมกับไบเดน ที่แม้ไบเดนจะพยายามพูดแนวโน้มที่รัสเซียจะแทรกแซง ทำสงคราม ส่งกำลังเข้ามา แต่เซเลนสกี พยายามโทนดาวน์ โดยว่า “ข้าพเจ้าเป็นประธานาธิบดีของยูเครน และรู้ดีที่สุด มากกว่าคนอื่น” คำพูดนี้เหมือนเป็นการตบหน้าสหรัฐ ว่าอย่ามาบอกชั้นมากนัก

“ประชาชนมองว่า ที่รัสเซียจะบุกนี้ ยูเครนเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมอำนาจ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่มีต่อรัสเซีย และการทำสงครามสำหรับยูเครน เหมือนจะเป็นการสนับสนุนแผนของสหรัฐ ในการสร้างระเบียบความมั่นคงของยุโรปมากกว่าจะช่วยยูเครน นี่เป็นความน่าสนใจประเด็นหนึ่งในสถานการณ์นี้”

รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าวว่า สิ่งที่ยูเครนพยายามทำตอนนี้ ก็คือ เตรียมพร้อม ไม่ปลุกรัสเซีย , ไม่เอาข้อตกลงมินซ์ และ พยายามที่จะไม่เล่นเกมตามตะวันตกมากนัก สิ่งนี้สะท้อนปูมหลังของปธน.เซเลนสกี้อีกด้วย ซึ่งเขาเป็นตลก พูดรัสเซีย นี่เป็นปัญหาของเขา ที่จะต้องพิสูจน์ว่า ไม่เข้าข้างรัสเซียมากเกินไป

“ประเด็นใหญ่คือ การพูดถึงวิกฤตวันนี้ ต้องเข้าใจสถานะของยูเครนมากขึ้น ว่ามีจุดยืนอย่างไร สิ่งที่เห็นคือ รัสเซียและยูเครน เหมือนว่าไม่ได้อยากใช้สงครามเป็นเครื่องมืออันดับแรก ทุกคนมองว่าสงครามเป็นเครื่องมือสุดท้าย และเมื่อการทูตและเจรจาล้มเหลว”

“ในอีกแง่หนึ่ง การดำเนินนโยบายต่างประเทศของยูเครน ก็ทำให้ยูเครนได้ประโยชน์ คือ ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกมากขึ้น มีการค้ำประกัน เศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งเซเลนสกีได้ลดความตระหนกของคน” รศ.ดร.จิตติภัทร ทิ้งท้าย

ประธานาธิบดี เซเลนสกี กล่าวปราศรัยต่อประเทศหลังรัสเซียตัดสินใจรับรอง โดเนตสค์และลูฮานสค์ REUTERS

เวทียูเครน โอกาสต่อรองสถานะ “มหาอำนาจ”

จากอดีตจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ รัสเซียถูกลดชั้นความเป็นอภิมหาอำนาจหลายต่อหลายครั้ง แต่รัสเซียก็ยังคงเป็นมหาอำนาจ ด้วย 3 เหตุผลสำคัญ ทั้ง อำนาจทางการทหาร , การเป็นมหาอำนาจทางพลังงาน ทางก๊าซธรรมชาติเบอร์ 1 ของโลก และน้ำมันอันดับ 3 ของโลก และเหตุผลสุดท้ายคือ ขนาดของรัฐ ประชากร ที่เป็นฐานสำคัญให้เป็นมหาอำนาจได้ ยังไม่รวมสิทธิในการวีโต้ใน UNSC ที่รัสเซียคอยบอกประชาคมโลกว่า คุณต้องพึ่งพิงรัสเซียหากจะประสบความสำเร็จด้านใด

รศ.ดร.จิตติภัทร บอกว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รัสเซียเจอกับวิกฤตอัตลักษณ์ ที่สถานะความเป็นมหาอำนาจไม่ลงตัว ลักลั่น ผู้นำรัฐมักพูดเสมอว่า “รัสเซียเป็นมหาอำนาจ ยังเป็น และจะเป็นต่อไป” สะท้อนถึงความไม่แน่นอนในการเป็นมหาอำนาจของตัวเอง

“ยิ่งกับความมั่นคงของยุโรปหลังสงครามเย็น ที่นาโตมีส่วนสำคัญในการจัดระเบียบยุโรป รัสเซียไม่แทบไม่มีบทบาท แม้จะมีการดึงเข้าไปในกรอบ นาโต รัสเซีย เคาน์ซิล แต่สภานั้นก็อยู่บนสถานะห้ามวีโต้ โจทย์ใหญ่ของรัสเซียที่ใหญ่กว่านาโต ก็คือ โครงสร้างสถาปัตยกรรมของยุโรปที่รัสเซียไม่ได้มีส่วนจัดการเหมือนครั้งระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2”

รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่รัสเซียกำลังจะทำ คือการคุยกันเรื่องความมั่นคงยุโรปใหม่ ปูตินเห็นช่องโอกาสที่จะใส่เรื่อง สถานะของรัสเซีย เข้าไป รัสเซียต้องการที่จะมีปากเสียงในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของยุโรปใหม่ ต้องการบอกว่า มียัลต้า 2.0 (การประชุมยัลต้าครั้งแรก มีขึ้นในปี ค.ศ.1945 ระหว่าง สหรัฐ สหราชอาณาจักรและโซเวียด เพื่อจัดระเบียบยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ) ไหม ที่จะจัดระบบเรื่อง Sphere of influence ในภูมิภาคนี้ใหม่

“ซึ่งการมองแบบนี้ จะไปตอบโจทย์ที่รัสเซียพูดมาตลอดคือ หลักแนวคิดในการมีโลกหลายขั้วอำนาจ นโยบายต่างประเทศของรัสเซีย มีพูดหลายขั้ว ปูตินก็พูดถึงเช่นกัน คือโลกนี้ไม่ได้มีขั้วอำนาจเดียว ที่มีสหรัฐเป็นผู้จัดระเบียบดุลอำนาจ แต่คือโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ และ รัสเซียเป็นขั้วอำนาจหนึ่งในการจัดระเบียบนี้ นี่คือหัวใจสำคัญ” รศ.ดร.จิตติภัทร กล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image