ปาณิสรา-รณฤทธิ์ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว บอลประเพณี มธ.-จุฬาฯ

ปาณิสรา-รณฤทธิ์ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว บอลประเพณี มธ.-จุฬาฯ

ปาณิสรา-รณฤทธิ์ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว บอลประเพณี มธ.-จุฬาฯ

บอลประเพณี – ถือเป็นเกียรติสูงสุดของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตนิสิตจะได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทน ขึ้นเสลี่ยงอัญเชิญ “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์อันสูงสุดของสถาบัน ไปในงานมหกรรมสุดยิ่งใหญ่ “ฟุตบอลประเพณี” ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 73 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ

แน่นอนการได้เป็น “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ต้องไม่ธรรมดา!!

เพราะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ตั้งแต่การส่งประวัติ ผลการศึกษา ซึ่งจะต้องฝ่าฟันจากบรรดานิสิตหลักหมื่นคนที่มีสิทธิ จากนั้นคัดเลือกด้วยการพิจารณาความสามารถ บุคลิกภาพ ให้เหลือ 14 คน แบ่งเป็น ชาย 7 หญิง 7 ตัวแทนของแต่ละคณะ ก่อนคัดเลือกรอบสุดท้ายด้วยการตอบคำถาม และประกาศชื่อผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานที่ทุกคนรอคอย

และในงานฟุตบอลประเพณีปีนี้ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 จากคณะนิติศาสตร์ทั้งคู่ คือ “นางสาวปาณิสรา อารยะถาวร และ นายรณฤทธิ์ อริยะพัฒนพาณิชย์”

Advertisement

 

นิสิตพิการคนแรกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว

เริ่มที่ วัน-ปาณิสรา อารยะถาวร เล่าด้วยน้ำเสียงสดใสว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ครั้งหนึ่งในชีวิตนิสิตได้ทำหน้าที่ตรงนี้ แน่นอนว่าเป็นตำแหน่งที่คนต่างจับตามองและมีความกดดัน วันจึงคิดที่จะเปลี่ยนความกดดันให้เป็นพลังมากกว่า พลังที่จะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ตั้งแต่เรื่องการวางตัว พัฒนาความสามารถให้มีมากยิ่งขึ้น

Advertisement
ปาณิสรา อารยะถาวร
ปาณิสรา อารยะถาวร

ปาณิสราจบ ม.ต้น จากโรงเรียนนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ก่อนมาสอบเข้าเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายวิทย์-คณิต ในโครงการพัฒนาศักยภาพทางด้านคณิตศาสตร์ (GIFTED MATH) เส้นทางการเรียนของปาณิสราน่าสนใจไม่น้อย เธอชื่นชอบวิชาคณิตศาสตร์ ที่ผ่านมาได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนนักเรียนไทยไปแข่งขันและคว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศมากมาย อาทิ รางวัลเหรียญทองแดงประเภทบุคคล และรางวัลเหรียญเงินประเภททีม คณิตศาสตร์นานาชาติ (Wizard at Mathematics International Competition: WIZMIC 2009) ณ ประเทศอินเดีย, รางวัลเหรียญเงิน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Mathematics and Science Olympiad For Primary School: IMSO 2010) ณ ประเทศอินโดนีเซีย

“บางคนอาจมองว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องห่างไกล แต่สำหรับวัน คณิตศาสตร์เหมือนการได้ใช้เหตุผล เป็นวิชาที่สามารถปรับใช้ได้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การตัดสินใจ และด้วยเป็นเด็กต่างจังหวัด ที่ผ่านมาจึงพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด พยายามหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน กลับบ้านก็หาโจทย์มาฝึกทำ มีเวลาว่างก็ทบทวนตำรา”

ปาณิสรายังเป็นนักกิจกรรมตัวยง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นมา เธอมักจะอยู่ในบทบาทประธานและกรรมการนักเรียน คอยจัดกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน เช่น งานกีฬาสี และยังอยู่ในบทบาทพิธีกรในงานต่างๆ ของโรงเรียน กระทั่งปัจจุบันก็เป็น “เอ็มซี ออฟ จุฬาฯ” ภาคพิธีการ รุ่นที่ 3 รับหน้าที่พิธีกรในงานต่างๆ ของสถาบัน

“คิดว่านอกจากด้านวิชาการที่ต้องตั้งใจ สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการหาประสบการณ์จากการทำกิจกรรม อาจเริ่มจากกิจกรรมที่เราสนใจ อย่างวันชอบพูดในที่สาธารณะ ก็พยายามหาโอกาสไปพูด คิดว่าอย่าไปกลัวที่จะทำ การได้ทำตามเสียงหัวใจ ทำมันด้วยความสุข แล้วจะทำได้ดีเอง และไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ ต้องทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”

จากเส้นทางที่เดินมา ใครจะคิดว่าสุดท้ายปาณิสราเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ และใฝ่ฝันจะเป็น “ผู้พิพากษา” ซึ่งวันบอกว่า จริงๆ ยังชอบคณิตศาสตร์มาก แต่ก็ชอบนิติศาสตร์ ซึ่งได้ใช้เหตุผลในการแก้โจทย์เหมือนกัน อย่างไรก็ดี มองว่ากฎหมายเป็นรากฐานของสังคม หากวันมีความรู้ตรงนี้ก็จะสามารถช่วยเหลือสังคมได้ ซึ่งการตัดสินใจนี้คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นแพทย์ทั้งคู่ไม่ได้ว่าอะไร เพียงบอกให้หาตัวเองให้เจอ เมื่อเจอแล้วทำมันให้เต็มที่

ปาณิสรายังถือเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวคนแรกที่เป็นผู้พิการ ที่มือขวาของเธอมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเธอและครอบครัวเรียกว่า “มือน้อย” โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปมด้อยหรือแปลกอะไร

“ด้วยเป็นมาตั้งแต่เกิด ทำให้ไม่ได้รู้สึกแปลกอะไร ป๊าและม้าเลี้ยงวันอย่างเปิดเผยมาตลอด จึงทำให้รู้สึกคุ้นชินกับมัน ไม่รู้สึกอาย เพราะเรื่องที่น่าอายคือการทำผิด ส่วนการที่เรามีมือน้อยไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือต้องเสียใจอะไรเลย ฉะนั้นอยากให้โฟกัสว่าเราจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อไม่ให้มือน้อยเป็นข้อจำกัดของชีวิต”

ซึ่งแน่นอนว่ามือน้อยอาจทำให้ปาณิสราหยิบจับอะไรยากกว่าคนอื่นๆ แต่เธอก็ฝึกฝนและพยายาม แม้อาจต้องใช้เวลามากหน่อย แต่ทุกวันนี้มือน้อยของเธอแข็งแรงขึ้น สามารถหยิบช้อนตามปกติได้ ตัดเล็บ เย็บผ้า ตอกตะปู สามารถทำอะไรได้หลายเรื่อง จากที่ตอนแรกคิดว่าทำอะไรไม่ได้

 

หนุ่มนิติศาสตร์มากความสามารถ

เช่นเดียวกับ เต้ย-รณฤทธิ์ อริยะพัฒนพาณิชย์ ซึ่งจบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ นักเรียนสายวิทย์ ที่ชื่นชอบวิชาชีวะ ก็เปลี่ยนใจวินาทีสุดท้ายไม่เรียนแพทย์ แต่มาเรียนกฎหมาย ด้วยใฝ่ฝันเป็น “ผู้พิพากษา”

รณฤทธิ์เล่าว่า เพราะผู้พิพากษาสามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้มากกว่า แม้บางครั้งจะมีข้อผิดพลาดในขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการยุติธรรม หรือมีกระแสสังคมกดดัน แต่ผู้พิพากษาก็สามารถทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคม และแม้ไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่เต้ยเชื่อว่าภาพความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ย่อมเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ด้วยกันทั้งนั้น อย่างไรก็ดี การเรียนนิติศาสตร์ไม่ต่างกับการเรียนชีวะ เพราะต้องใช้ความจำมากเหมือนกัน

 

รณฤทธิ์ยังมีความสามารถในการพูด เขาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนโรงเรียน ตัวแทนสถาบันออกไปแข่งขัน “โต้วาที” คว้ารางวัลกลับมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศ การแข่งขันโต้วาทีอุดมศึกษา ชิงโล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 23 ปี 2561

ซึ่งเต้ยบอกเคล็ดลับว่า โต้วาทีแข่งขันกันเป็นทีม เริ่มแรกเราต้องทราบญัตติก่อน เพื่อจะรู้ว่าต้องพูดคุยเรื่องอะไร จากนั้นก็หาองค์ความรู้แล้วนำมาแชร์กัน กำหนดจุดยืนของทีมว่าคืออะไร แล้วแบ่งเนื้อหาให้พูดแต่ละปาก ซึ่งสนุกดี เพราะเหมือนว่าเราต่างได้ร่วมแสดงความคิดเห็น พยายามเอาเหตุผลและจุดยืนเข้าสู้กันอย่างมีวาทศิลป์

ด้วยความสามารถนี้เอง ทำให้เต้ยได้รับบทบาทเอ็มซี ออฟ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับปาณิสรา หลายครั้งยังได้เป็นพิธีกรคู่กัน ก่อนจะมาเป็นคู่อัญเชิญพระเกี้ยวในที่สุด

“ส่วนตัวไม่รู้สึกกดดันที่ได้รับคัดเลือก เพราะคิดว่าตำแหน่งนี้นิสิตจุฬาฯทุกคนสามารถมาอยู่ได้ อยู่ที่ใครจะคว้าโอกาสให้ตัวเอง และเมื่อมาอยู่แล้วแน่นอนว่ามีคนจับตามอง ฉะนั้นต้องทำให้ตัวเองให้อยู่ในกฎระเบียบที่สุด ทำจากนี้ให้ดีที่สุด พร้อมที่สุดในวันงาน และทำตัวเองให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ให้นิสิตคนอื่นๆ” รณฤทธิ์เล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

รณฤทธิ์-ปาณิสรา
รณฤทธิ์-ปาณิสรา

ด้านเคล็ดลับการเรียน รณฤทธิ์แนะนำให้ตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้เต็มที่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ จากนั้นก็กลับไปทบทวนเนื้อหาที่เรียนในวันนั้นที่บ้านให้ขึ้นใจอีกครั้ง เมื่อเข้าช่วงสอบก็จะอ่านหนังสือให้จำขึ้นใจ อย่างการอ่าน 3-4 รอบ รอบแรกอ่านธรรมดา รอบสองอ่านแล้วไฮไลต์สี รอบสามอ่านพร้อมทำสรุป รอบที่สี่อ่านที่สรุปหน้าห้องสอบหากมีเวลา ก่อนจะทิ้งท้ายถึงงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีว่า “พร้อมแล้ว”

เต้ยยังฝากแคมเปญของจุฬาฯปีนี้ “Sound of Chula ปลุกเสียงที่มีพลังให้ดังยิ่งกว่าที่เคย” คือการแบล็กทูเบสิค เอาองค์ความรู้ของจุฬาฯ เผยแพร่ผ่านซาวน์คลาวน์โซเชียลมีเดีย เพื่อกระจายเสียงแห่งการพัฒนาไปสู่สังคมและประชาชนให้ดังยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอย่างเต้ยได้ดาวน์โหลดมาแล้ว สามารถนำเสียงที่เพื่อนนิสิตคณะนิติศาสตร์ได้อ่านหนังสือให้ฟัง มาฟังเพื่อช่วยให้การอ่านหนังสือเข้าใจมากขึ้น จึงอยากนิสิตและประชาชนลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไปฟัง ซึ่งยังมีองค์ความรู้อีกมากมาย

พบกับทั้ง 2 ได้ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ครั้งที่ 73 จัดขึ้นไปวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

– ‘จุฬาฯ’แย้ม ‘พรรษา-ฐิติพันธ์’ร่วมเล่นบอลประเพณี ลั่นขอชนะด้วยสปิริตนักกีฬา

– เปิดฉาก บอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ 73 รั้วจามจุรีเปิดตัว ‘ผู้นำเชียร์-ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว’

– มธ. แง้มไอเดียทำ ‘หุ่นล้อการเมือง’ งานบอลประเพณี มีแน่ๆ เรื่อง เลือกตั้ง (คลิป)

– เปิดฉากบอลประเพณี มธ.-จุฬาฯ เน้นสามัคคี หวั่นฝุ่นพิษ เตรียมแจกหน้ากากวันงาน

 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image