ชาวป้อมมหากาฬ คาใจ ‘บางกอกดีไซน์วีค’ เอาทะเลมาฉาย เกี่ยวอะไรกับกรุงเทพฯ เผย 6 ปีโดนไล่ใจยังเจ็บ

ชาวป้อมมหากาฬ คาใจ ‘บางกอกดีไซน์วีค’ เอารูปทะเลมาฉาย เกี่ยวอะไรกับกรุงเทพฯ ลั่น หากใช้ภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ยังพอไหว พ้อ ไม่ต้องพูดถึงการต่อสู้ของชุมชนก็ได้  

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สืบเนื่องกรณีสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน), ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) BMA ออกแบบดี กรุงเทพฯดี ร่วมกันจัดงาน ‘Bangkok Design Week’ หรือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-4 ก.พ.2567 โดยในส่วนพื้นที่ป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ได้มีการฉายภาพท้องทะเลและตัวการ์ตูนต่างๆ บนกำแพง และตัวป้อมฯ กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนที่ถูกไล่รื้อ แล้วปรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ (ย้อนอ่าน 96 ชั่วโมงสุดท้ายใน 2 ศตวรรษ ‘ป้อมมหากาฬ’ สิ้นแล้วชุมชนชานพระนคร)

นายพรเทพ บูรณะบุรีเดช อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬคนสุดท้ายก่อนการรื้อชุมชนเมื่อ พ.ศ.2561 ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ภาพที่ฉายลงบนผนังด้านนอกของเชิงเทินป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นรูปเรือดำน้ำ ปะการัง และคลื่นในท้องทะเลนั้น ตนขอถามว่าเกี่ยวอะไรกับกรุงเทพฯ หากเป็นภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ยังพอรับได้

“ป้อมมหากาฬเหมือนเป็นหน้าด่านของเมือง การนำวิวทะเลมาฉายมันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมจริงๆ หากจะนำเรื่องของการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ มีความเป็นมาอย่างไรผมก็จะเห็นด้วยอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงความเป็นมาของชุมชนก็ได้ เพราะผมเองก็เคยอยู่ที่นั่น สิ่งที่ทำนั่นมันไม่ตอบโจทย์ ไม่โดนใจคนป้อมฯ” นายพรเทพกล่าว

Advertisement

นายพรเทพกล่าวต่อไปว่า ป้อมมหากาฬในตอนนี้มีแต่ความมืด อยากให้ทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เล่าถึงเรื่องกำแพงเมืองของพระนครที่ยังเหลือแห่งสุดท้ายที่ยาวที่สุดมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอะไรบ้าง และมีใครมาอยู่บ้าง อิฐก้อนหนึ่งมาจากไหน ประวัติศาสตร์มันสูญหาย

“ผมไม่ได้คิดว่าชุมชนป้อมมหากาฬหายไปแล้วจะทำอย่างไร แต่คำว่า ประวัติศาสตร์พื้นที่ รู้หรือไม่เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ผ่านมากับพื้นที่แห่งนี้ ก่อนจะมาทำสวน หรือมาทำกราฟิกอะไรในพื้นที่แห่งนี้ หากมีการนำประวัติศาสตร์มาเล่าเรื่องราวตามกำแพง ผมเชื่อว่าคนมาดูเต็มแน่นอน

Advertisement

การออกแบบเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์จริง แต่ก็อยากจะตั้งคำถามว่า ได้พิจารณาถึงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ป้อมมหากาฬบ้างหรือไม่ ไฟ แสง สีเสียง กราฟิก สามารถทำได้หมด แต่มองว่าต้องศึกษาการต่อสู้ประวัติศาสตร์ของป้อมมหากาฬ นอกจากนี้ป้อมฯ เปรียบเสมือนสิ่งที่เคารพบูชาของคนในชุมชน เคยมีการจัดงานสักการะพ่อปู่ทุกปี” นายพรเทพกล่าว (ย้อนอ่าน ‘สมาพ่อปู่’ ครั้งสุดท้าย อำลา ‘ป้อมมหากาฬ’ ไร้เงาอดีต ปธ.ชุมชน)

เมื่อถามว่า หลังจากรื้อชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อ 6 ปีก่อน ปัจจุบันมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่อย่างไรบ้าง

นายพรเทพกล่าวว่า กระทบอย่างมาก ในอดีตพี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬมีทั้งวิถีวัฒนธรรมของชุมชน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในครัวเรือนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

“กว่า 5 ปีที่ผมต้องออกมาอยู่ข้างนอก ความเป็นชุมชน ความเป็นพี่น้องแตกสลายไม่เหลือแล้ว ทุกคนในชุมชนแยกกันไปอยู่กันคนละทิศ คนละทาง ไม่ได้ไปอยู่กันเป็นกลุ่มๆ เหมือนเดิม แถมยังไม่ใช่ที่ของตัวเองอีก

ในชีวิตของผม และพี่กบ (นายธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนฯ) เหมือนเป็นชีวิตที่แตกสลาย ปัจจุบันผมอาศัยอยู่ที่ชุมชนกัลยาณมิตร บางซื่อ ก็มีอาศัยอยู่กับพี่น้องร่วมด้วย การเช่าพื้นที่เขาอยู่เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีบ้าน อนาคตภายภาคหน้าก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ยังไม่ได้ไปซื้อที่ดิน ครอบครัวก็แตกสลาย มีสุนัขอยู่ 2 ตัว ชีวิตหมาที่เคยมีชีวิตที่ดี ยังต้องรันทดมาอยู่ในห้องแคบๆ เมื่อก่อนยังเดินเล่นในพื้นที่กว้างๆ ได้ ส่งผลกระทบตั้งแต่คนยันสุนัข ความเป็นวัฒนธรรม ความเป็นชุมชน มันหายไปเลย” นายพรเทพกล่าว (ย้อนอ่าน 4 ปี รื้อป้อมมหากาฬ 1,462 วัน ชีวิตที่ยังไม่มีบ้าน ความในใจอดีตประธานชุมชน)

นายพรเทพระบุว่า ในตอนนี้แม้ย้อนเวลากลับไปทำอะไรไม่ได้แล้วเรื่องป้อมมหากาฬ หากต้องการทำเป็นสวนสาธารณะอย่างที่เป็นอยู่ก็ต้องทำให้ดีขึ้น แต่เรื่องไฟต่างๆ ก็ยังไม่มีการดูแล แค่ 18.00 น. ก็มืดแล้ว อยากให้เป็นบทเรียนของพี่น้องชุมชนในที่อื่นเป็นอย่างมาก

“อยากให้ผู้บริหารกรุงเทพฯ มองถึงอนาคตของคน วัฒนธรรมของประชาชนที่เขาอาศัยอยู่มา อย่านำกฎหมายมาใช้ หรือมาทำลายชาวบ้านในพื้นที่ เราต้องพัฒนาควบคู่กันไป การพัฒนาประเทศต้องไม่ล่มสลายชุมชน มีนายทุน มีเงิน แล้วประชาชนอยู่ที่ไหน ทำไมชุมชนคลองเปรม ชุมชนลาดพร้าว อยู่ได้ แต่ชุมชนป้อมมหากาฬอยู่ไม่ได้ สู้อย่างไรก็แพ้  หากต้องมองใครว่าได้ประโยชน์ นั่นก็คือนายทุน ทุกการพัฒนาย่อมมีนายทุน” นายพรเทพกล่าว

นายพรเทพกล่าวว่า ล่าสุด ตนเพิ่งไปสวนสาธารณะป้อมมหากาฬเมื่อช่วงมกราคมที่ผ่านมา มืดตึ๊ดตื๋อ ขนาดมีไฟบ้าง แต่ก็ยังมืดอยู่ดี ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีการค้าขายอยู่บ้าง ยังมีชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้น 2-3 คน บางคนก็เช่าบ้านอยู่แถวนั้นบ้าง ก็ได้มีโอกาสไปนั่งคุยบ้าง ไปสังสรรค์บ้าง ตนไม่อยากไปนั่งแถวนั้นสักเท่าไหร่ เพราะนั่งแล้วมันเศร้าใจ และได้ข่าวว่ามีการกรรโชกทรัพย์เกิดขึ้นในบริเวณนั้นอีกด้วย

“สวนสาธารณะป้อมมหากาฬต้องมีการพัฒนาเรื่องระบบให้มันดีขึ้น เรื่องไฟไม่ให้มันมืด ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าใครมานั่งรับผิดชอบเรื่องการดูแลไฟ คนที่อยู่แถวนั้นก็มีบ่นให้ฟังบ้าง อยากทำเรื่องระบบการพัฒนาพื้นที่ อยากมีการจัดล้อมวงการพูดคุยให้เป็นความรู้ หากมีหน่วยงานไหนมาจัดก็ยินดีที่จะเป็นคนให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชนป้อมมหากาฬ การไล่รื้อชุมชมต่างๆ ซึ่งยังมีสื่ออย่างมติชนที่คอยนำเสนอ” นายพรเทพกล่าว

นายพรเทพกล่าวว่า กรณีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ หนึ่งในผู้ร่วมต่อสู้มากับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตนเห็นใจและเข้าใจ ที่ผ่านมาหลังเป็นรองผู้ว่าฯก็มีความพยายามจัดกิจกรรม ผลักดันตลาดชุมชน และการท่องเที่ยว ส่วนจะนำชาวบ้านกลับไปอยู่ในพื้นที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว (ย้อนอ่าน ‘ศานนท์’ สั่งเบรกด่วน ดนตรีในสวน ‘ป้อมมหากาฬ’ โทรคุย ‘ชัชชาติ’ แล้ว หวั่นกระทบใจ-เกิดประเด็นย้อนแย้ง) 

“อยากฝากถึงคนพัฒนาประเทศ และคนพัฒนากรุงเทพฯ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่าทำโปรเจ็กต์อะไรที่ขัดต่อวัฒนธรรมของเมือง ประวัติศาสตร์ของชุมชนต่างๆ หรือการพัฒนากรุงเทพฯ อย่าล่มสลายชุมชน อยากให้มองเห็นถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้นๆ ไม่ใช่เพียงแต่กรุงเทพฯ ทั่วประเทศเลยก็ว่าได้ ต้องคำนึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย ทั้งคนที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่สามารถสร้างรายได้ และดังกึกก้องทั่วประเทศได้” นายพรเทพกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image