“ปลัดสธ.” เรียกสภาวิชาชีพถกสารพัดปัญหาภาระงาน รพ.ทั่วปท.

สารพัดปัญหาภาระงานรพ.

หลังจากนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เดินหน้านโยบายในการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการบริการที่ดีต่อประชาชน โดยหนึ่งในนโยบายมีเรื่องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขทุกคน ซึ่งที่ผ่านมาเดินหน้าให้งบประมาณเรื่องการซ่อมแซมและจัดงบสร้างบ้านพักที่พักบุคลากรให้เพียงพอแล้วนั้น ล่าสุดยังมีปัญหาเรื่องภาระงานที่ล้นหลาม กระทั่ง นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และกรรมการแพทยสมาคม ออกมาเปิดเผยภายหลังแพทยสภาสัญจร เยี่ยมสมาชิกแพทย์ทั่วประเทศจนปัญหาภาระงานแพทย์ในโรงพยาบาล(รพ.)ขนาดเล็ก 7 ข้อนั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เปิด 7 ปัญหาหลักกับภาระงานแพทย์ในรพ.รัฐขนาดเล็ก ที่หลายคนอาจไม่รู้!

ภาระงานรพ.ล้น-ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และกรรมการแพทยสมาคม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมสมาชิกแพทยสภาทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ปัญหาในรพ.ขนาดเล็ก ยังมีรพ.ขนาดใหญ่ เช่น  รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ศรีสะเกษ รพ.สรรพสิทธิประสงค์  จ.อุบลราชธานี  มีปัญหาคล้ายคลึงกับรพ.ขนาดเล็ก แต่มีบางประเด็นที่ต่างออกไป คือ  1. ปัญหาปริมาณงานอันเนื่องมาจากการต้องรองรับผู้ป่วยจากรพ.ขนาดเล็กที่ถูกส่งต่อมารักษา  รวมทั้ง รพ.ในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งยิ่งทำมากก็ยิ่งมีโอกาสผิดพลาด  2. ปัญหาการร้องเรียน ฟ้องร้อง  นับเป็นปัญหารายวัน รายสัปดาห์ เพราะยิ่งทำงานมากก็ยิ่งมีโอกาสความไม่เข้าใจมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้แพทย์กังวลมากที่สุด คือ  ผลการรักษาหลายอย่าง ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของญาติ หรือผู้ป่วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดมาตรฐาน หรือเกิดจากแพทย์ แต่มาจากรัฐที่ไม่สามารถจัดหาให้ได้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อเกิดปัญหา แพทย์กับรพ. กลับกลายเป็นจำเลย

Advertisement

3.ปัญหาการรับส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)  เนื่องจากความกังวลและความไม่พร้อมในรพ.ขนาดเล็ก  หากรับมาตนเองก็เสี่ยงต่อการโดนฟ้องร้อง หากไม่รับก็จะทำให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานในรพ.ขนาดเล็กไม่พอใจ  ปัญหานี้นับวันยิ่งรุนแรง   4. ปัญหาความไม่พอใจของผู้ป่วยและญาติ อันเกิดจากปัญหาสะสมทั้งหมดข้างต้น ประกอบกับความเข้าใจว่า การร้องเรียนมักจบลงด้วยการได้เงิน ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่ชอบแพทย์ หลายท่านยืนยันว่า ญาติส่วนใหญ่มักยอมรับคำอธิบายในช่วงแรก แต่เมื่อกลับไปแล้วมักกลับมาด้วยการเปลี่ยนใจเรียกร้องเงิน ไม่พร้อมที่จะรับฟังหรือทำความเข้าใจใด ๆ อีก

“5.ปัญหาความอึดอัดของการปฏิบัติงานมาจากกฎหมายที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งความไม่พอใจในบุคลากรวิชาชีพ   ประเด็นนี้ถือเป็น hot topic ที่แพทย์ระบายความรู้สึก และต้องการให้แพทยสภา ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การปฏิบัติงานที่เป็นไปตามมาตรฐานต้องไม่ถูกคุกคามด้วยคำตัดสินที่ไม่เข้าใจบริบทการทำงาน หรือไม่คำนึงถึงภาวะแวดล้อมและข้อจำกัดในโลกความเป็นจริง และ 6. ปัญหาค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับภาระงาน  ยิ่งเมื่อเทียบกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานในรพช. หรือรพ.ขนาดเล็กกว่า แพทย์หลายท่านแสดงความรู้สึกตรงไปตรงมาว่า เมื่อตนเองต้องรับส่งต่อจาก รพ.ขนาดเล็กทำไมรายได้จึงน้อยกว่ามาก” นพ.เมธี กล่าว

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กระทรวงฯ ทราบถึงปัญหาต่างๆ ของบุคลากรด้านสาธารณสุข  ซึ่งเรื่องนี้ทางนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. และตน ในฐานะปลัดสธ. ได้มีการหารือร่วมกัน และจัดเป็นนโยบายที่ต้องเดินหน้าในระหว่างปี 2561-2562 โดยในเรื่องทรัพยากรบุคคล ถือเป็นหนึ่งในหลายนโยบายที่ต้องขับเคลื่อน ทั้งการผลิตกำลังคน การกระจายอัตรากำลัง การพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการสร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อรักษาบุคลากรให้คงอยู่ในระบบ และการประเมินผลการทำงานของทุกคน ซึ่งในเรื่องนี้ได้ทำควบคู่กันไป อย่างเรื่องที่พักบุคลากรก็เช่นกัน ได้มีการจัดสรรงบให้แต่ละพื้นที่ไปดำเนินการ และในเรื่องของภาระงานก็ด้วย โดยเฉพาะปัญหาการทำงานต่างๆ ล่าสุดตนได้หารือเบื้องต้นกับทางแพทยสภา และสภาการพยาบาล โดยได้เชิญ นพ.เมธี มาพูดคุยเพื่อหารือถึงปัญหาแล้ว และในเร็วๆนี้เตรียมที่จะเชิญทุกวิชาชีพ ทั้งทันตแพทย์ เภสัชกร นักเทคนิกการแพทย์ นักกายภาพบำบัด ฯลฯมาหารือถึงภาระงาน กรอบเวลาการทำงานที่เหมาะสม โดยจะจัดตั้งเป็นคณะทำงานพิจารณากรอบชั่วโมงการทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ซึ่งมีนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัด สธ.ดูแลเรื่องนี้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบเวลาการทำงานของแพทย์จะยึดตามประกาศของแพทยสภาหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า ประกาศแพทยสภาเป็นเพียงเบื้องต้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ครั้งนี้จะทำทั้งหมด ทั้งแพทย์ที่ดูแลเวรนอก และเวรใน แต่ของแพทยสภาจะเน้นในเรื่องแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นเพียงวิชาชีพแพทย์ แต่ครั้งนี้จะทำทุกวิชาชีพ โดยพยายามจะเรียกหารือและตั้งคณะทำงานให้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศแพทยสภาที่ 104/2560 ประกาศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560  เรื่อง การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาคารัฐ ได้กำหนดดังนี้ ข้อที่ 1 แพทย์เพิ่มพูนทักษะ แบ่งเป็น 1.1.ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการ ไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  1.2 ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน และข้อที่ 2 แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image