ส.ก.ลั่น ยิ่งกว่าหนังสืบสวน ตามหาเจ้าของ ‘อุโมงค์บางซื่อ-จตุจักร’ ไม่เปิดใช้สักที ‘ร้างจนมีระบบนิเวศ’

ส.ก. ลั่น ยิ่งกว่าหนังสืบสวน ตามหาเจ้าของ ‘อุโมงค์บางซื่อ-จตุจักร’ ชัชชาติต้องรู้จัก ตั้งโด่เด่ข้างสถานีกลางบางซื่อ ไม่เปิดใช้สักที ร้างจนมีระบบนิเวศ-อุบัติเหตุนับไม่ถ้วน จี้ กทม.ประสาน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมีวาระการพิจารณา เป็นเรื่องที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอ คือเรื่อง เงินนอกงบประมาณ พ.ศ. …

อ่านข่าว :

ในตอนหนึ่ง น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติเรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการตรวจสอบสภาพและติดตามการเปิดใช้อุโมงค์ทางลอดถนนกำแพงเพชร 6 เลียบทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-จตุจักร-วัดเสมียนนารี และทางลอดอื่นๆ ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา

Advertisement

โดย น.ส.ภัทราภรณ์ได้ขอแก้ไขชื่อญัตติเป็น ขอให้กรุงเทพมหานครประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดใช้อุโมงค์ทางลอดถนนกำแพงเพชร 6 เลียบทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-จตุจักร-วัดเสมียนนารี และทางลอดอื่นๆ ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากมติที่ประชุม

น.ส.ภัทราภรณ์กล่าวว่า เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดถนนกำแพงเพชร 6 เลียบทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-จตุจักร-วัดเสมียนนารีระยะทาง 1 กม. ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ กับวัดเสมียนนารี สร้างแล้วเสร็จมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งาน และมีการนำแบริเออร์มาปิดกั้นการสัญจรเป็นเวลานาน ประชาชนและผู้ใช้เส้นทางสัญจร ได้ร้องเรียนว่าอุโมงค์ทางลอดถูกทิ้งร้าง ไม่มีแสงสว่าง น้ำท่วมขัง ขยะอุดตัน ขาดความปลอดภัยในการสัญจร และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนกรุงเทพมหานครใช้ถนนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครติดตามการเปิดใช้อุโมงค์ทางลอดถนนกำแพงเพชร 6 ช่วงบางซื่อ-จตุจักร-วัดเสมียนนารี และทางลอดอื่น ๆ ส่วนเหตุผลและรายละเอียดเพิ่มเติม จะชี้แจงในที่ประชุมต่อไป

Advertisement

“ปัญหาอุโมงค์ที่คนในพื้นที่เรียกว่าอุโมงค์บางซื่อ-จตุจักรนั้น เนื่องจากอุโมงค์นี้เชื่อมต่อระหว่างเขตบางซื่อและเขตจตุจักร คนที่อาศัยอยู่ทั้ง 2 เขต ได้ร้องเรียนปัญหานี้เป็นเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว ตอนแรกพี่น้องประชาชนก็ดีใจที่จะได้ใช้ทางลัด วิ่งจากเตาปูน ทะลุไปยังวัดเสมียนนารีได้เลย ไม่ต้องขับอ้อมโลกไปเจอกับรถติด หรือเราจะทะลุไปเจอกับสถานีกลางบางซื่อ เพื่อฉีดวัคซีนช่วงโควิดก็ได้” น.ส.ภัทราภรณ์กล่าว

น.ส.ภัทราภรณ์กล่าวต่อว่า จะเห็นว่าเป็นระยะทาง 11 กม. ที่ถ้าเกิดอุโมงค์เปิดใช้จะลดมาเหลือเพียง 3 กม. เลียบทางรถไฟ แต่หน่วยงานที่สร้างอุโมงค์ ก็ไม่เปิดให้ใช้งาน ให้ถูกทิ้งร้างไปเฉยๆ ทางฝั่งบางซื่อที่ติดกับอุโมงค์ฯนี้ เรามีชุมชนหัวรถจักรตึกแดง ที่มีประชาชนกว่า 4,000 ชีวิต รอที่จะใช้อุโมงค์นี้อยู่

“ท่านผู้ว่าฯเอง ก็เคยมาหาเสียงที่นี่ ดังนั้น ดิฉันเชื่อว่าท่านต้องทราบถึงการมีอยู่ของอุโมงค์นี้ในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้เคยมีการเปิดให้มอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านในสภาพอุโมงค์ที่ร้างๆ ไม่มีการดูแล ชาวชุมชนก็ใช้ทางนี้สัญจรจนเกิดอุบัติเหตุมานับไม่ถ้วน มีการเสียชีวิต วันดีคืนดีก็มีโจรมาตัดสายไฟ คราวนี้ไฟดับก็ยิ่งไปกันใหญ่ เป็นที่ซ่องสุมส่งเสียงดังเวลากลางคืน” น.ส.ภัทราภรณ์ชี้

น.ส.ภัทราภรณ์กล่าวต่อว่า ยิ่งไปกว่านั้น จากที่ตนไปลงพื้นที่ด้วยตัวเองมีขยะอุดตันท่อระบายน้ำ ตอนฝนตก น้ำท่วมน้ำขัง มีปลา จนในอุโมงค์ฯนี้ มีระบบนิเวศน์เป็นของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ปลาออกลูกออกหลาน และตอนนี้มีข่าวว่าที่ไม่เปิดเพราะว่าซ่อมไฟและระบบระบายน้ำ แต่ตนถามว่าก่อนหน้านี้ 2 ปีที่ยังอยู่ในสภาพดี ทำไมถึงไม่เปิดใช้สักที

“ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งดิฉันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง จึงนำเข้ามาในสภากรุงเทพมหานคร ต้นเหตุง่ายๆ เลย คือเราไม่รู้ใครเป็นเจ้าของอุโมงค์ที่แท้จริง ยิ่งกว่าหนังสืบสวนอีก และแม้การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าของ ที่อุโมค์บางซื่อ-จตุจักรตั้งอยู่ จะเห็นได้ว่ามีป้ายอยู่ข้างหน้า เป็นโลโก้ของการรถไฟ แต่ในข่าวรองปลัดกระทรวงคมนาคมบอกว่า ยังไม่มีหน่วยงานหลักที่จะเข้ามาดูแล แล้วตกลงใครเป็นคนดูแลกันแน่” น.ส.ภัทราภรณ์กล่าว

น.ส.ภัทราภรณ์กล่าวต่อว่า อุโมงค์นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คน กทม.ที่เดินทางแถวนี้จะต้องเคยขับตาม GPS แล้วไปสุดที่แบริเออร์ แล้วจะต้องถอยหลังไปทั้งนั้น แม้แต่ดารา อินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ และไปทำคอนเทนต์กันเพราะว่ารถไปติดอยู่ตรงนั้น และตนเชื่อว่าทางฝ่ายบริหาร ก็ต้องรู้จักอุโมงค์นี้เช่นกัน เพราะไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ตั้งอยู่โด่เด่ข้างสถานีกลางบางซื่อที่พวกเราภาคภูมิใจกัน

“ดิฉันจึงฝากท่านประธานถามไปยังฝ่ายบริหารว่า มีการประสานงานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือยัง กระทรวงคมนาคม หรือหน่วยงานใดก็ตามที่รับผิดชอบดูแลอยู่ เพื่อที่จะได้ไปถามเจ้าของตัวจริงว่าอุโมงค์นี้จะเปิดใช้งานตอนไหน ดิฉันจึงขอความอนุเคราะห์ฝ่ายบริหารให้ตรวจสอบอุโมงค์บางซื่อ-จตุจักร รวมถึงอุโมงค์อื่นๆ ที่อยู่ในสภาวะคล้ายกัน และประสานให้ได้เปิดใช้งานอย่างเร็วที่สุด เพื่อสร้างเมืองที่คนมีสิทธิในการสัญจรเท่ากัน เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องในเขตบางซื่อและจตุจักร มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่อความสะดวกในการสัญจรของคน กทม.ต่อไป” น.ส.ภัทราภรณ์กล่าว

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ชี้แจงว่า ความจริงแล้วอุโมงค์นี้ก็ไปบ่อย และถ้าเกิดใช้กูเกิ้ลแมป ก็จะพาไปที่อุโมงค์นี้

“คือกูเกิ้ลนึกว่าเปิดแล้ว ก็เป็นปัญหา และความจริงแล้วไม่ใช่อุโมงค์ของกรุงเทพมหานคร เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย” นายชัชชาติระบุ

จากนั้น นายชัชชาติได้ขออนุญาต นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานสภา กทม. ให้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.ผู้รับผิดชอบสำนักโยธาและจราจรขนส่ง ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม

นายวิศณุกล่าวว่า ถนนกำแพงเพชร 6 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เดิมให้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธาเป็นผู้ดูแล แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ขอพื้นที่คืนทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง อุโมงค์ ถ.กำแพงเพชร 6 ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จในปี 2564 แต่ยังไม่ได้ใช้ทันที ต่อมา พบปัญหาการขโมยปั๊มน้ำ ตัดสายไฟฟ้า ส่งผลให้อุโมงค์ยังไม่สามารถใช้การได้จนถึงปัจจุบัน

“เมื่อการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทยก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วเสร็จ ที่ถนนกำแพงเพชร 6 ให้ กทม. รวมถึงอุโมงค์ด้วย แต่เนื่องจากเราไปตรวจสอบแล้ว มีส่วนแก้ไขไม่เรียบร้อยอีกหลายข้อ ทางสำนักการโยธาได้แจ้งให้การรถไฟฯ แก้ไขข้อบกพร่องให้เรียบร้อยก่อนการส่งมอบรับพื้นที่ในการดูแล ตอนนี้เราก็จะเร่งรัดติดตามการเปิดใช้อุโมงค์ ถ.กำแพงเพชร 6 กับการรถไฟฯอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายวิศณุกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image