‘หมอหม่อง’ ค้าน ถอด นกกรงหัวจุก จากสัตว์ป่าคุ้มครอง ชี้ สถานภาพในป่าลดลงต่อเนื่อง

‘หมอหม่อง’ ค้าน ถอด นกกรงหัวจุก จากสัตว์ป่าคุ้มครอง ชี้ สถานภาพในป่าลดลงต่อเนื่อง

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา โพสต์เฟซบุ๊กค้านเรื่องการปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยระบุว่า

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อเรียกร้องอีกครั้งจากนักการเมืองท้องถิ่นในภาคใต้ ที่จะขอถอดถอนรายชื่อ นกปรอดหัวโขน (Red-whispered Bulbul Pycnonotus jocosus ชื่อท้องถิ่นทางเหนือ นกปิ๊ดจะลิว ชื่อในหมู่นักเลี้ยงนก นกกรงหัวจุก) ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยอ้างว่าจะช่วยให้การเพาะเลี้ยงได้สะดวก เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประชาชน

เรื่องนี้มีความพยายามมาโดยตลอด แต่ทางชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ก็ขอคัดค้านอย่างจริงจังด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

Advertisement

1 เหตุผลเดียวที่จะถอดสัตว์ชนิดใดๆ ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ก็คือประชากรในธรรมชาติมีมากพอ คงที่ หรือเพิ่มจำนวน จนไม่ต้องการการคุ้มครองทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง สถานภาพของนกปรอดหัวโขนลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจประชากรนกปรอดหัวโขนในพื้นที่ธรรมชาติในภาคเหนือตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
ประชากรนกปรอดหัวโขนลดลงมากกว่า 90% (ข้อมูล โครงการสำรวจประชากรนกประจำปีดอยอินทนนท์)
หลายคนให้เหตุผลแย้งว่า ที่นกมันลดเพราะป่าหมด หากมัวแต่อนุรักษ์นกในป่า ก็สูญพันธุ์กันพอดี การนำมาเพาะพันธุ์จะช่วยให้ไม่สูญพันธุ์

ซึ่งสำหรับกรณีนกปรอดหัวโขนนั้น การลดลงของพื้นที่ป่า ไม่ใช่เหตุผลที่ประชากรลดลง เพราะมันไม่ใช่นกที่อาศัยในป่าสมบูรณ์ ถิ่นอาศัยหลักคือชายป่า พื้นที่การเกษตร

Advertisement

ในขณะที่ประชากรของนกปรอดอีกชนิดคือ ปรอดหัวสีเขม่า Sooty-headed Bulbul ที่อาศัยอยู่ในถิ่นอาศัยแบบเดียวกัน ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายของตลาดค้านก จึงไม่ถูกจับออกจากธรรมชาติ

สำหรับในภาคใต้นั้น นกปรอดหัวโขนเหลือน้อยมากในธรรมชาติ หลายแห่งสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ สวนทางกับจำนวนนกเลี้ยงในกรง

2 หากยินยอมให้ถอดนกปรอดหัวโขนออกจากสัตว์ป่าคุ้มครองด้วยข้ออ้างความนิยมของตลาดแล้ว
จะเปิดทางให้มีการถอดถอนชนิดอื่นๆ ที่คนนิยมเลี้ยงตามมาอีกแน่นอน เช่น นกกางเขนดง ฯลฯ ที่กำลังโดนแรงกดดันจากความต้องการของตลาด ทำให้ประชากรในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว

3 นกปรอดหัวโขน เป็นนกที่มีระเบียบอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้อยู่แล้ว หากเป็นนกที่ได้การขึ้นทะเบียน ขออนุญาตอย่างถูกต้อง

หากต้องการเพาะพันธุ์ให้ได้สะดวก กว้างขวางขึ้น ควรมุ่งเน้นที่การแก้ไขระเบียบ ขั้นตอน ให้การขออนุญาตเพาะพันธุ์ และการขึ้นทะเบียนนกสะดวกขึ้น จึงเป็นแก้ปัญหาที่ตรงจุดโดยไม่เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

4 การถอดถอนชื่อออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง นกในธรรมชาติจะไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ โดยกฎหมายอีกต่อไป จะมีการล่า การจับออกจากธรรมชาติมากขึ้นแน่นอน

ทางชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ขอวิงวอนถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ คงการคุ้มครองทางกฎหมายให้นกปรอดหัวโขนต่อไป และการตัดสินใดๆ ให้ตั้งอยู่อยู่บนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุทยานฯยัน ปลดนกกรงหัวจุกจากสัตว์คุ้มครองไม่ได้ ชี้เหนืออีสานยังมีในป่าอนุรักษ์

ส.ส.สงขลา ดันปลดล็อก ‘นกกรงหัวจุก’ พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง หนุนเป็นซอฟต์เพาเวอร์แดนใต้

ส.ส.สงขลา ร้อง พัชรวาท ถอด นกกรงหัวจุก จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image