มีลุ้น! สภากทม.ขอดูก่อน เพิ่มวงเงิน 980 ล. ‘สร้างสะพานข้ามเกียกกาย’ ช่วง 3

มีลุ้น! สภากทม.เอาด้วย ขอดูดีเทลเพิ่มวงงบฯ 980 ล. ‘สร้างสะพานข้ามแยกเกียกกาย’ ช่วง 3

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 6) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหาร กทม. และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุม

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีระเบียบวาระที่สำคัญ คือ นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. รายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังยื่นญัตติ เสนอขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง อีกด้วย โดยชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ซึ่งสะพานเกียกกาย คือสะพานข้ามน้ำเจ้าพระยาโครงการล่าสุด ที่สำคัญญในการแก้ปัญหาจราจรติดขัด โดยที่ผ่านมามีการก่อสร้างช่วงที่ 1 และ 2 แล้ว แต่ช่วงที่ 3 เกิดกรณีที่รัฐบาลไม่ส่งงบประมาณตามที่ตกลงได้ ว่าจะจ่ายร่วมกับ กทม. 50-50% จึงนำเข้าสภา กทม. เพื่อขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณสำหรับการก่อสร้าง ซึ่ง กม. ต้องรับผิดชอบทั้ง 100% (อ่านข่าว : ชัชชาติ ลั่น ‘ตกลงคนละครึ่ง’ ปรากฏรบ.ไม่จ่าย ขอ ส.ก.เพิ่มงบ ‘สะพานเกียกกาย ช่วง 3’)

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นในการดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1-3 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโครงการดังกล่าว ช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ได้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2568 และวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ตามลำดับ

ส่วนช่วงที่ 3 ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้วอยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญา แต่เนื่องจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง ได้รับงบประมาณกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2564 โดยมีวงเงินงบประมาณทั้งโครงการ 980 ล้านบาท สัดส่วน กรุงเทพมหานคร : รัฐบาล 50:50 (กรุงเทพมหานคร จำนวน 490 ล้านบาท และเงินอุดหนุนรัฐบาล จำนวน 490 ล้านบาท) แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับงบประมาณ และคาดว่ารัฐบาลจะไม่สนับสนุนงบประมาณในสัดส่วนดังกล่าว

Advertisement

ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวไว้แล้วเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จึงขอเสนอเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานคร โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนครถึงแยกสะพานแดง ของสำนักการโยธา วงเงินงบประมาณทั้งโครงการ 980 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 720 วัน (ผูกพันงบประมาณ พ.ศ. 2564 – พ.ศ.2569) ในสัดส่วนกรุงเทพมหานคร 100%

ทั้งนี้ มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปรายและซักถามในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง และนายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงขั้นตอนการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร ว่า เวลาที่ขอใช้งบประมาณสำนักงบประมาณจะให้กับสำนักการโยธาตามยอดที่ประมูลได้ ซึ่งอาจไม่เต็ม 980 ล้านบาท และหากในปีนี้สภา กทม.เห็นชอบขยายวงเงิน เมื่อสำนักการโยธาเข้ากระบวนการก่อหนี้ และมีการใช้เงินเกินกว่านี้ สำนักการโยธาสามารถขอใช้งบกลางได้ เพราะเป็นภาระหนี้ที่กรุงเทพมหานครต้องชำระให้กับผู้รับจ้าง

ด้าน นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวชี้แจงเรื่องการยืนราคาว่า บริษัทที่ประกวดราคาได้จะยืนราคาถึงเดือน พ.ค. 2567

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาญัตติขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานคร โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง ก่อนให้ความเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณ จำนวน 19 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image