ศอ.บต. หนุนปลดล็อค ‘นกกรงหัวจุก’ ดันเป็นสัตว์ศก. ชี้เป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมคนชายแดนใต้

ศอ.บต. “ดิ้น” ปลดล็อค “นกกรงหัวจุก” ออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง “ฝัน” เป็นสัตว์เศรษฐกิจ

จากการที่รัฐบาลได้พิจารณาข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลด นกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก สอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาล เห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชน และศึกษาสถานการณ์จำนวนนกกรงหัวจุกเพื่อพิจารณาการถอดถอนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งกรณีคล้าย ๆ กัน เช่น นกเขาชวา ที่ได้ถูกถอดออกจากบัญชีสัตว์สงวน

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่าตนได้เดินทางไปที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อรับฟังความเห็นถึงแนวทางการผลักดันนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพราะในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และไม่ได้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้ว เก็บข้อมูลเชิงลึก ตามที่ประชาชนในพื้นที่อยากให้ปลดออกจากบัญชีสัตว์สงวน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยง และการซื้อขายที่ทำกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาล

นายชนธัญ กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจน อยากให้มีการปลดล็อคนกกรงหัวจุกโดยให้ถอดถอนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลี้ยงนกกรงหัวจุกให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ และเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังคงมีข้อซักถามจากคณะกรรมการฯ ว่า เมื่อมีการปลดล็อคแล้วจะแน่ใจได้อย่างไร ว่า นกกรงหัวจุกที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติจะไม่สูญหายไป อยากให้ทุกฝ่ายเร่งหาคำตอบ เพื่อไปชี้แจงไปยังคณะกรรมการฯ

Advertisement

นายชนธัญ กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลจำนวนนกปรอดหัวโขน เมื่อปี 46 รัฐบาลได้เปิดให้แจ้งการครอบครองนกชนิดนี้ พบว่ามีผู้มาแจ้งครอบครองกว่า 90,000 ตัว ปัจจุบันนี้ นกกรงหัวจุกที่ประชาชนเลี้ยงไว้นั้นมีการขยายพันธุ์เองมีจำนวนมาก และเมื่อรวมจำนวนที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้วมีจำนวนหลายแสนตัว และยังคงมีผู้เลี้ยงที่ครอบครองนกกรงหัวจุกที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับอนุญาตเป็นจำนวนมาก

“นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า ครอบครอง จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่ยังคงมีประชาชนหลายคนนำนกกรงหัวจุกมาประชันแข่งขันเสียงของนกกรงหัวจุก จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายชั่วอายุคน จนเกิดเป็นการค้าขาย กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ” นายชนธัญ กล่าว

Advertisement

นายชนธัญ กล่าวว่า นกกรงหัวจุกกำลังเผชิญความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอขอให้ปลดนกกรงหัวจุก หรือ นกปรอดหัวโขน ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยยกกรณีเทียบเคียงเดียวกับนกเขาชวา ที่เมื่อปลดล็อคจากสัตว์คุ้มครองแล้ว ทำให้มีการขยายตัวของผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ทำให้สูญพันธุ์แต่อย่างใด

“กรณีนกกรงหัวจุกเช่นเดียวกัน ที่ปัจจุบันนั้นร้อยละ 90 ของเลี้ยงหรือขาย ล้วนเป็นนกที่มาจากฟาร์มเพาะทั้งสิ้น มิได้เป็นการสุ่มจับนกป่าอย่างในอดีตเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว เพราะจะได้สายพันธุ์ที่ดีกว่า เสียงดีกว่า รูปร่างดีกว่า เนื่องจากฟาร์มเพาะพันธุ์ปัจจุบัน มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการหาพ่อ-แม่พันธุ์ดี มาผสมให้ได้พันธุ์ที่ดี และท้ายที่สุดก็จะลดจำนวนของการจับนกป่าไปในที่สุด” นายชนธัญ กล่าว

นายชนธัญ กล่าวอีกว่า การเลี้ยง นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ทั้งคนเลี้ยงและกลุ่มชุมชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น กรง อาหารสัตว์ ถ้วยเซรามิกใส่น้ำ การเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังเป็นทั้งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทั้งเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือส่งเข้าประกวด เป็นที่นิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย และเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มคน ที่สำคัญเยาวชนบางกลุ่มในพื้นที่ยังมีมุมมองว่า การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ห่างไกลยาเสพติด เพราะคนเลี้ยงต้องใส่ใจดูแล มีเป้าหมายในการฝึกนกร้องเพื่อไปแข่ง ทำให้มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งอบายมุข

นายชนธัญ กล่าวว่า นายอิมรอน บินสามะแอ ที่มีความมุ่นมั่นในอาชีพสุจริต จึงเป็นงานฝีมือที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนมากมาย เพราะกรงนกหัวจุกหลากหลายรูปแบบที่เห็นในการแข่งขัน และแขวนตามบ้านของนักเลี้ยงนกกรงหัวจุกหลายแห่ง เกิดจากการรังสรรค์งานฝีมือ และศอ.บต. จะนำเยาวชนในพื้นที่ ที่มีความสนใจอยากสร้างอาชีพแก่ตนเองและครอบครัว เข้ามาฝึกงานทำกรงนก เพราะนายอิมรอน ถือเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านฝีมือการสร้างอาชีพอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุที่กรงนกแต่ละใบส่วนประกอบมีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่า เสากรง คิ้ว เอว อุปกรณ์หัวกรง ซี่กรง กว่าจะได้สักใบต้องใช้เวลานาน ถือเป็นงานฝีมือที่อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image