“อภิสิทธิ์” ชี้ แก้รธน.คือรูปธรรมเดียว แก้วิกฤต ถ้ารัฐสภาปฏิเสธ ปท.ไม่เหลือทางออกแน่

“อภิสิทธิ์” ชี้ แก้รธน.คือรูปธรรมเดียว แก้วิกฤต ถ้ารัฐสภาปฏิเสธ ปท.ไม่เหลือทางออกแน่ 

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมกันจัดเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เพราะคิดว่า จะทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้ต้องประกาศขอให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ในฐานะที่เป็นตัวปัญหาทุกเรื่อง หากนายกฯ ลาออกจะเป็นการถอดสลักตัวแรก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการถอดสลักที่สอง แต่ปรากฎว่ามี ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนต้องออกมาช่วยกันกดดัน

ย้อนอ่าน : วงเสวนา ประสานเสียง 17-18 พ.ย.นี้เป็นวันปวศ. รบ.จริงใจหรือไม่ โหวตตั้งสสร.ดับวิกฤต

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเคยออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ควรเห็นชอบรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 เพราะมีปัญหาหลายประการ ทั้งความอ่อนแอในการปราบปรามการทุจริตและความอ่อนแอในประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของส.ว.ที่มากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งเสียเอง ซึ่งความขัดแย้งในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีมิติมากขึ้น เพราะมีมิติความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ และความเหลื่อมล้ำ แต่ปัญหานี้ยังมีทางออกได้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องให้รัฐสภามีฉันทามติว่าควรมีกติกาสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้น ถ้าในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ รัฐสภาเลือกที่จะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกได้เลยว่า เส้นทางการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้ว การจะทำให้คลี่คลายได้ จะต้องมีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คนพยายามตีความ และอ้างศาลรัฐธรรมนูญควรไปอ่านคำวินิจฉัยในอดีตใหม่ เพราะครั้งนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ต้องทำประชามติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสองรอบ

“การลาออก การยุบสภาโดยที่ยังไม่มีการแก้ไขกติกา จะยังคงทำให้ปัญหากลับมาอยู่ที่เดิม การรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นรูปธรรมเดียวที่ทำให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจได้ยินข้อเรียกร้องถึงกติกาที่ควรต้องแก้ไข และจะเป็นการสร้างเวที และโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรัฐสภา และผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การแก้ไขในขั้นตอนของรัฐสภา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า สำหรับข้อห่วงใยเรื่อง หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ หากติดตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจะพบว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ได้มีแค่หมวดดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีในหมวดอื่นๆด้วย ถ้าเรากังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปกระทบเรื่องเหล่านี้ ก็ควรไปพูดคุยกันด้วยเหตุผลในรัฐสภา และกำหนดเป็นข้อตกลงว่า ยังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นรัฐเดี่ยว และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเปิดพื้นที่ให้เอาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนไปคุยกันได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำไปกระทบความรู้สึกต่อกัน

Advertisement

“แต่ตอนนี้คาดการณ์ว่า จะเกิดการรับ และไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฉบับ ช่องว่างระหว่างสองฝ่ายไม่ได้ลดลงเลย มีความพยายามจะบอกว่านายกฯสัญญาณแล้ว ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่านายกฯบอกแค่ให้สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและพยายามอ้างเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่กลับเกิดการพยายามยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้านายกฯจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับผ่านสภาก็ทำได้ง่ายนิดเดียว โดยยืนบอกกลางสภาเลยว่า ร่างรัฐธรรมนูญเป็นทางออกของประเทศและให้ไปคุยในรายละเอียด เพื่อให้นายกฯทำงานต่อไปได้ ผมก็อยากดูเหมือนกันว่า ถ้านายกฯพูดแบบนี้จะมีส.ว.ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image