ด่วน! รัฐสภามีมติ 366 ต่อ 316 ส่งศาล รธน.ตีความร่างแก้ไข รธน.

รัฐสภา – ด่วน! รัฐสภามีมติ 366 ต่อ 316 ส่งศาล รธน.ตีความร่างแก้ไข รธน.

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 งดออกเสียง 15 เห็นชอบส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ตามที่สมาชิกรัฐสภา จำนวน 73 คน นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ นายวิสาร เตชะธีวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นทันทีหลังมีมติส่งญัตติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าขอให้ประธานใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เปิดเผยการลงมติว่า สมาชิกรัฐสภาคนใดมีมติอย่างโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลผลการลงมติดังกล่าวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่นายพรเพชรได้ตัดบทเข้าสู่วาระการประชุมต่อไปทันที โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องที่นายวิสารร้องขอแต่อย่างใด

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายสรุปว่า อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความรอบครบ เพราะเมื่อมีข้อกังขาเรื่องข้อกฎหมายที่ต่างกัน และประชาชนส่วนหนึ่งลงชื่อคัดค้านเราจึงเห็นควรส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามหน้าที่ของ ส.ว. ทั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่กรรมาธิการกำลังพิจารณาอยู่ให้ยืดเยื้อ หรือเตะถ่วงแต่อย่างใด เพราะการพิจารณาก็ดำเนินการไปตามปกติ แต่การยื่นศาลรัธรรมนูญครั้งนี้เพื่อความชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยแล้วใครจะเป็นผู้วินิจฉัย ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วศาลมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไรพวกตนพร้อมน้อมรับ

Advertisement

โดยก่อนหน้านี้นายไพบูลย์เสนอเหตุผลว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหลังจากที่ตนเองได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการก็พบประเด็นข้อกฎหมายว่า รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี’60 มาตรา 256 ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งกัน ตนจึงเห็นว่า หากไม่มีการดำเนินการให้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ตนเป็นห่วงว่าจะมี ส.ว.อาจจะเกรงว่ามีปัญหาเมื่อไม่ชัดเจนในการลงมติวาระ 3 ก็อาจจะไม่กล้าที่จะให้ความเห็นชอบ อาจงดอกเสียง ทำให้ได้เสียงเห็นชอบในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ

นายไพบูลย์กล่าวว่า แม้จะมีสมาชิกรัฐสภาหลายท่านไม่เห็นด้วยในการส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่บอกว่าให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังจากพิจาณาวาระ 3 เสร็จแล้ว ซึ่งจะต้องไปทำประชามติ ซึ่งก็เห็นว่าต้องไปส่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี แต่จะต้องเสียเงิน 3 พันล้านบาท หากศาลวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดำเนินการไม่ได้ ดังนั้น การที่ยื่นญัตติฉบับนี้ก็เพื่อทำความชัดเจนก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ ดังนั้น เมื่อรัฐสภามีมติญัตตินี้แล้วขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้มีบันทึกความเห็นของกรรมการกฤษฎีกาต่อผลการศึกษาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 60 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นให้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556

ดังนั้น กรณีที่เป็นปัญหาจึงควรส่งญัตติให้วินิจฉัยโดยด่วน ทั้งนี้ ญัตติไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว หรือให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ​ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังดำเนินต่อไปได้

Advertisement

“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว.สบายใจ และการลงมติวาระ 3 ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่ และแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้ง กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณจำนวนหมื่นล้านบาท” นายไพบูลย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image