อดีต-ปัจจุบัน ‘เตียง ศิริขันธ์’ สู่ ‘วันเฉลิม’ ชาวอุบลจุดเทียน-ยืน 11.12 นาที

อดีต-ปัจจุบัน ‘เตียง ศิริขันธ์’ สู่ ‘วันเฉลิม’ ชาวอุบลจุดเทียน-ยืน 11.12 นาที ‘ธีร์’ ชี้ ‘อุ้มหาย’ สัมพันธ์อำนาจรัฐ ผู้ถือปืน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี การหายตัวไปของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา หลังไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โดยถูกนำตัวขึ้นรถ หน้าอาคารที่พัก ช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 กระทั่งวันนี้ ครบ 1 ปีที่นายวันเฉลิมถูกอุ้มหายโดยไร้ความคืบหน้าทางคดี นำมาซึ่งกระแสการโพสต์ภาพ-ข้อความ เพื่อรำลึกถึงนายวันเฉลิม และทวงคืนความยุติธรรมผ่านทางโซเชียลมีเดีย นั้น

อ่านข่าว :

เมื่อเวลา 18.00 น. ที่หน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี คณะอุบลปลดแอก จัดกิจกรรม “1 ปี อุ้มหาย วันเฉลิม” โดยมีการร่วมยืน 11.12 นาที เพื่อรำลึกการอุ้มหายนายวันเฉลิม ทั้งนี้ นายธีระพล อันมัย หรือ ธีร์ อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาร่วมกิจกรรมด้วย

พร้อมโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า

จาก สว่างแดนดิน สกลนคร ถึง ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
จาก ครอง จันดาวงศ์ ถึง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ในงานรำลึก 1 ปีการถูกบังคับสูญหายของต้าร์ วันเฉลิม วันที่ 4 มิถุนายน 2021 ตั้งแต่ 18:00 น. เป็นต้นไปที่ นอกจากกิจกรรมรำลึกและทวงความยุติธรรมให้กับต้าร์แล้ว ‘สว่างแดนดิน แมนิเฟสโต’ ได้มอบโปสเตอร์คำประกาศ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ฉบับ Limited edition สำหรับผู้ร่วมงานด้วย
#oneyearwanchalerm

สำหรับกิจกรรมดังล่าว มีการกล่าวถึง นายวันเฉลิม และการอุ้มหายนักกิจกรรมทางการเมือง จากอดีต จนถึงปัจจุบัน จากนายเตียง ศิริขันธ์ ถึง นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

นายธีระพลกล่าวตอนหนึ่งว่า การอุ้มหายของไทย เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2490 ในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครูเตียง ศิริขันธ์ ขุนพลภูพาน ซึ่งเป็นผู้นำเสรีไทย คือคนที่ถูกอุ้มหายทางการเมืองครั้งแรก

การอุ้มหายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ รัฐที่ใครเป็นผู้ปกครอง ถ้าเป็นทหาร หรือผู้มีปืนยึดครอง อย่าว่าแต่ประชาชน แม้แต่นักการเมือง คนที่มีชื่อเสียง ก็มีสิทธิที่จะถูกอุ้มหายเช่นเดียวกัน

“ในศตวรรษที่ 21 การอุ้มหายยังมีขึ้นอย่างในอดีต หลังการรัฐประหารของ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ่งที่ปรากฏคือ มีการ 1.เรียกคนให้ไปรายงานตัวในค่ายทหาร 2.พร้อมยัดเยียดข้อหาให้กับคนที่ไปรายงานตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่โดนข้อหา เป็นคนที่ต่อต้านเผด็จการ และรัฐที่มีทหารเป็นแกนนำ ดังนั้น คนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยส่วนมาก จึงถูกเรียกเข้าค่ายทหาร” นายธีระพลกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงท้าย ยังมีการร่วมจุดเทียนสีแดง วางดอกกุหลาบ และเขียนข้อความบนผืนป้าย เพื่อรำลึกถึง 1 ปี วันเฉลิม ท่ามกลางการสังเกตุการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย รอบบริเวณ

#วันเฉลิม #OneyearWanchalerm #อุบลปลดแอก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image