เว็บฯ บันทึก 6 ตุลา เปิด ’14 คัมภีร์ความคิด’ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่มาขบวนการเคลื่อนไหว

เว็บฯ บันทึก 6 ตุลา เปิด ’14 คัมภีร์ความคิด’ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่มาขบวนการเคลื่อนไหว

เมื่อวันที่ 24 กันยายน แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ได้เผยแพร่ข้อเขียนบอกเล่าประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับวงการศิลปะและวรรณกรรมไทย ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภายใต้ชื่อชุด “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง” ตอน “หนังสือเล่มละบาท ปีศาจ, ฉันจึงมาหาความหมาย” 14 หนังสือและวารสาร ที่มีอิทธิพลต่อนักศึกษาและฝ่ายซ้าย ช่วงปี 2516-2519

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเขียนดังกล่าว ได้ตอกย้ำถึงแนวคิด “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” (ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิด “ศิลปะเพื่อศิลปะ” หรือศิลปะบริสุทธิ์, ตามขนบ) อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ที่ส่งผลต่อแนวคิดขับเคลื่อน-เปลี่ยนแปลงสังคมไทยในเวลาต่อมา

แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ระบุว่า มากไปกว่าสภาวะการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่กระตุ้นให้นักศึกษาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง “หนังสือ” เป็นอีกปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความคิดคนช่วงปี 2516-2519 ระดับ “มหาศาล” ชนิดที่ว่าท้าทายและปฏิวัติความคิดเก่าทั้งในเรื่องการเมืองและวัฒนธรรม

Advertisement

โดยเฉพาะการนำผลงานของนักคิดนักเขียนในทศวรรษ 2490 กลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง เช่น “ปีศาจ” และ “ความรักของวัลยา” โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ “ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” โดยทีปกร ทั้งยังมีวรรณกรรมแปลจากจีน เช่น “ตะเกียงแดง”, “รุกเหนือรบใต้”, “เกาอี้เป่า”, “ทหารน้อยจางก่า” และ “เดินทัพทางไกลไปกับประธานเหมา” หรือวรรณกรรมฝั่งรัสเซียอย่าง “แม่” โดย Maxim Gorky ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักศึกษามีหลักการคิดแบบสังคมนิยม นำไปสู่พลังการเคลื่อนไหวที่ต้องการเปลี่ยนประเทศให้ตอบรับกับความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าการอุ้มชูแต่ศักดินา ทหาร และเหล่านายทุนเอาไว้

นอกจากนี้ ยังมีวารสารสังคมและการเมืองร่วมสมัยที่คอยผลิตความคิดใหม่ๆ สู่สังคม อย่าง “สังคมศาสตร์ปริทัศน์”, “ชัยพฤกษ์” และ “มหาราษฎร์” หนังสือที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้ยังเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนนักศึกษาช่วยกันผลิตวารสารและหนังสือในนามกลุ่มต่างๆ ออกมาขาย ทั้งเพื่อหารายได้และกระจายความรู้สู่มวลชน

ต่อไปนี้คือ 14 งานวิชาการและชุดวรรณกรรม ที่กลายเป็นคัมภีร์ความคิดของนักศึกษาช่วงปี 2516-2519 ลองดูกันว่ามีเล่มไหนที่เคยอ่านไปแล้วบ้าง

Advertisement

#5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง #ศิลปเพื่อชีวิตศิลปเพื่อประชาชน #หนังสือ

1. ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน
โดย ทีปกร

แนวคิดแบบศิลปะต้องรับใช้ประชาชน ศิลปะต้องสะท้อนชีวิตประชาชนผู้ถูกกดขี่ กลายเป็นความคิดหลักของนักศึกษาตั้งแต่ปี 2516-2519 เพราะอิทธิพลจากหนังสือ “ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” ของทีปกร ซึ่งเป็นนามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมข้อเขียนว่าด้วยศิลปะ 4 ชิ้น คือ “ศิลปะคืออะไร ศิลปะสูงส่งอย่างไร”, “ศิลปะเพื่อศิลปะมีจริงหรือไม่”, “ศิลปะเพื่อชีวิตคืออะไร และ “มีบทบาทสำคัญอย่างไร” โดยจิตรเริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2498 ก่อนจะนำมารวมเล่มในปี 2500

งานเขียนของจิตรยังทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์งานศิลปะเกือบทุกแขนงในขณะนั้น โดยเฉพาะงานวรรณคดีและวรรณกรรม จนเกิดเป็นนิทรรศการ “เผาวรรณคดี” ในปี 2517 ซึ่งเป็นการวิจารณ์ว่าวรรณคดีที่ได้รับการขนานนามว่าทรงคุณค่านั้น แท้จริงแล้วมีเนื้อเรื่องที่รับใช้ชนชั้นปกครองมากกว่าพูดถึงประชาชน ส่วนนิยายก็ถูกมองว่ามีพล็อตเรื่องน้ำเน่า ไร้สาระ

แนวคิดแบบ “ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” ยังนำมาสู่การดึงนิยายจากนักเขียนในทศวรรษ 2490 กลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งด้วย

2. โฉมหน้าศักดินาไทย
โดย จิตร ภูมิศักดิ์

“โฉมหน้าศักดินาไทย” เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่เขียนโดยจิตร ภูมิศักดิ์ เนื้อหาพูดถึงเนื้อแท้ของสังคมไทยที่ไม่ได้เป็นอย่างเรื่องเล่าที่ว่า ผู้ปกครองดูแลราษฎรดี ประชนชนทำตามหน้าที่ของตัวเอง สังคมจึงสงบและปกติสุข จิตรมองว่าระบอบกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบผู้อยู่ใต้การปกครอง และสังคมมีความขัดแย้งมากกว่าความกลมเกลียว

“สมชัย ภัทรธนานันท์” รองศาสตราจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อดีตนักศึกษาที่เป็นการ์ดรามคำแหง เล่าว่าหนังสือของจิตรเล่มนี้มีเนื้อหาที่น่าตื่นเต้นและเปิดมุมมองของนักศึกษายุคนั้นมาก จนนักเขียนคนดังจากยุค 2500 กลายเป็นไอดอลในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ

3. ฉันจึงมาหาความหมาย
โดย วิทยากร เชียงกูล

หนังสือรวมเรื่องสั้น บทละครสั้น และบทกวีของวิทยากร เชียงกูล พิมพ์ครั้งแรกในปี 2514 โดยเขาหยิบชื่อเรื่องมาจากวรรคตอนหนึ่งในกลอนที่ตั้งคำถามถึงเป้าหมายการศึกษาของนักศึกษาอย่าง “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ที่กล่าวว่า “ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย” ซึ่งวิทยากรเขียนขึ้นขณะที่ยังเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทอง ในวาระสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2511

เนื้อหาของ “ฉันจึงมาหาความหมาย” พูดถึงปัญหาชีวิต ความเหลื่อมล้ำของประชาชน ทั้งยังตั้งคำถามต่อระบบในสังคม มุมมองทางวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และบ้านเมือง ซึ่งหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารด้วย

“กุลชีพ วรพงษ์” อดีตนักศึกษาผู้เคยทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ หนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เล่าว่าช่วงปี 2514-2516 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ “ฉันจึงมาหาความหมาย” เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลในหมู่นักศึกษาอย่างมาก จึงได้ชื่อว่าเป็นยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย”

4. ปีศาจ
โดย เสนีย์ เสาวพงศ์

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

นี่คือประโยคของ “สาย สีมา” ตัวละครเอกของเรื่องที่กลายเป็นภาพจำของ “ปีศาจ” วรรณกรรมอมตะของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งเป็นนามปากกาของศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ผู้เป็นนักการทูต

เรื่องราวใน “ปีศาจ” บอกเล่าถึงการท้าทายค่านิยมเก่าในสังคมไทยผ่านความรักของ “สาย สีมา” ทนายความผู้เติบโตมาจากชนชั้นชาวนา กับ “รัชนี” หญิงสาวจากตระกูลสูงศักดิ์ ทั้งสองคือตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีวิธีคิดร่วมสมัย แต่ต้องต่อสู้ทางความคิดความเชื่อกับผู้เป็นพ่อของรัชนี ที่เชื่อในจารีตแบบเดิม

ศักดิ์ชัยแต่งนิยายเรื่องนี้และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย ปี 2496 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เขาแต่งงานกับเครือพันธ์ ปทุมรส บุตรสาวของเฉลียว ปทุมรส ที่กลายเป็นผู้ต้องหาและถูกประหารในกรณีสวรรคต

ในปี 2500 ลาว คำหอม นำ “ปีศาจ” มารวมเล่มเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรก และพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2514 จนกระทั่งช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 มาจนถึง 6 ตุลาคม 2519 ปีศาจกลายเป็นนิยายยอดนิยมในหมู่นักศึกษาและฝ่ายซ้ายจนได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง รวมถึงมีการคัดบางตอนไปเผยแพร่ต่อในหมู่วารสารของนักศึกษา

5. ความรักของวัลยา
โดย เสนีย์ เสาวพงศ์

ต่อจากปีศาจ “ความรักของวัลยา” เป็นวรรณกรรมเรื่องที่ 2 ที่ได้รับความสนใจจากนักศึกษา เนื้อเรื่องว่าด้วยหญิงสาวหัวก้าวหน้าในศตวรรษที่ 19 ผู้ไม่ได้ผูกชีวิตไว้กับบทบาทผู้หญิงที่อยู่ภายใต้ค่านิยมชายเป็นใหญ่

แม้ตัวละครอย่าง “วัลยา” จะมีความคิดร่วมสมัยและได้ไปเรียนที่ฝรั่งเศส ศักดิ์ชัยกลับไม่ได้วางที่มาที่ไปของวัลยาให้เป็นหญิงสูงศักดิ์จากไหน แต่กำหนดให้ตัวเอกของเรื่องมาจากครอบครัวสามัญชนที่เรียนหนังสือเก่งจนสามารถสอบได้ทุนไปเรียนเมืองนอก

6. “เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี”
โดย อิศรา อมันตกุล

รวมเรื่องสั้น 11 เรื่องว่าด้วยการตีแผ่ระบบและการทำงานของข้าราชการไทยที่เต็มไปด้วยการทุจริต เขียนขึ้นโดยนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนอย่าง “อิศรา อมันตกุล”

อิศราเป็นหนึ่งในคนสร้างสรรค์งานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าในยุค 2500 ทั้งยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ยึดถือในจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างหนักแน่น เขาเข้าทำงานหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ-ประชามิตร” กับ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ตั้งแต่อายุ 19 ปี ก่อนจะย้ายไปทำหัวอื่นๆ ในขณะเดียวกันเขาก็ทำงานนวนิยายและเรื่องสั้นไปด้วย ซึ่งได้รับความนิยมและคำชมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก เพราะเอกลักษณ์สำนวนภาษาที่ไม่เหมือนใคร

ที่สำคัญอิศราเป็นคนรักความยุติธรรม เมื่อเกิดการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้อิศราเป็นหนึ่งในนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์นานเกือบ 6 ปี และหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ถูกสั่งปิด ถึงอย่างนั้นเขายังคงสร้างสรรค์ผลงานภายใต้กรงขังอยู่ จนกระทั่งปี 2507 หลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรม อิศราก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาขับเคลื่อนงานในวงการหนังสือพิมพ์อีกครั้ง

7. แลไปข้างหน้า
โดย ศรีบูรพา

“แลไปข้างหน้า” ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของศรีบูรพา แต่เป็นนวนิยายที่เขาเขียนไม่จบ เพราะเขาเริ่มต้นเขียนในช่วงถูกจับกุมจากการตามกวาดล้างนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์รัฐประหาร ก่อนที่ศรีบูรพาจะตัดสินใจลี้ภัยไปจีนและเสียชีวิตในปี 2517

นวนิยายเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ภาค คือภาคปฐมวัย พูดถึงความต่างทางชนชั้นของเด็กชนบทที่เข้ามาเรียนร่วมกับชนชั้นสูง ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ตีพิมพ์ในปี 2498 ส่วนอีกภาคคือมัชฌิมวัย ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กชนบทหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารปิยมิตร ช่วงปี 2500 ก่อนจะพิมพ์รวมเล่มในปี 2518

“จาตุรนต์ ฉายแสง” หนึ่งในแกนนำภาคเหนือขณะนั้นบอกว่า “แลไปข้างหน้า” เป็นหนึ่งในหนังสือแนวสังคมนิยมที่เขาชื่นชอบ

8. “เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า.”
โดย นายผี

ผลงานเล่มนี้เป็นของ “นายผี” หรือ “อัศนี พลจันทร” ซึ่งเขาเขียนในช่วงที่ถูกตามจับกรณีกบฏสันติภาพในปี 2495 ทำให้ได้มาตีพิมพ์เป็นรูปเล่มอีกทีในปี 2517 หลังจากมีผู้เคยนำเนื้อหาบางส่วนมาเผยแพร่ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว

“สำนักพิมพ์อ่าน” ผู้ได้รับอนุญาตจาก “วิมลมาลี พลจันทร” บุตรสาวของอัศนี ให้จัดพิมพ์ “เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า.” และ “ความเปลี่ยนแปลง” (กาพย์กลอนประวัติครอบครัวที่อัศนีเขียนวิพากษ์ระบบศักดินา สำนักพิมพ์อ่านนำมารวมเล่มกับ “เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า.”) ในวาระ 95 ปีชาตกาลของอัศนี พลจันทร อธิบายในหมายเหตุจากสำนักพิมพ์ว่า

เนื้อหาของ “เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า.” เป็นผลงานที่แสดงจุดยืนของนายผีในการสดุดีการต่อสู้ของกรรมกร นายผีตกผลึกความคิดหลังจากเริ่มสร้างผลงานวิพากษ์สังคมการเมืองตั้งแต่ปี 2484 ประกอบกับเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2, การสวรรคตรัชกาลที่ 8 ในปี 2489, เกิดรัฐประหารในปี 2490 และปลายปี 2495 ที่นายผีลาออกจากงานราชการ เขาเปลี่ยนมาสนใจแนวคิดมาร์กซิสม์ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการตกผลึกจากเหตุการณ์ทางสังคมเหล่านี้

9. แม่ โดย Maxim Gorky

แมกซิม กอร์กี้ เป็นนักเขียนชาวรัสเซียและสหายคนสำคัญของวลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำปฏิวัติที่เชื่อในแนวคิดมาร์กซิสม์

กอร์กี้ถ่ายทอดเรื่องราวของประชาชนและชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ถูกกดขี่จากการขูดรีดของนายทุนและชนชั้นปกครอง และต้องเผชิญความไม่ยุติธรรมในสังคม ผ่านตัวละครของ “แม่” ที่เลือกต่อสู้กับราชวงศ์โรมานอฟด้วยการเข้าร่วมกับพรรคบอลเชวิค จนเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี 2460 เขาสร้างให้ “แม่” มีบทบาทที่กล้าหาญ ต่อสู้เพื่อให้ชีวิตตัวเองและลูกดีขึ้น

นักเขียนไทยหลายคนนำผลงานของกอร์กี้เรื่องนี้มาแปลไทย ทั้งจิตร ภูมิศักดิ์, ศรีบูรพา รวมถึงนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในช่วงปี 2516-2519 อย่างกลุ่มยุวชนสยามที่พิมพ์หนังสือมาอ่านแล้วแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ในขณะที่ “แม่” เป็นหนังสือต้องห้ามในไทยมาตั้งแต่ยุค 2500

10. ชีวทัศน์เยาวชน
ไม่ปรากฏผู้เขียน

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าแล้วว่านักศึกษาในยุคนั้นรับเอาแนวคิดสังคมนิยมมาเป็นแว่นหลักในการมองปัญหาสังคม อิทธิพลเหล่านี้เข้ามาพร้อมกับหนังสือวิชาการและวรรณกรรมของจีน

หนึ่งในนั้นคือ “ชีวทัศน์เยาวชน” ซึ่งบอกเล่าแนวทางการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และพูดถึงการเปลี่ยนบทบาทจากนักศึกษาเป็นนักปฏิวัติที่เสียสละเพื่อประชาชน

หนังสือเล่มนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง โดย ธิกานต์ ศรีนารา ได้ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือ “รัก-และ-การปฏิวัติ” ว่า เดิมที “ชีวทัศน์เยาวชน” เป็นเอกสารภายในของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และได้รับความนิยมล้นหลามในหมู่นักศึกษา ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กกะทัดรัด นักศึกษาจึงมักพกหนังสือเล่มนี้ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงติดตัวไปไหนมาไหนด้วยตลอด

“สุนี ไชยรส” สมาชิกศูนย์ประสานงานกรรมกร และรับผิดชอบดูแลและจัดตั้งการรวมตัวกรรมกรในย่านรังสิตเล่าว่า “ชีวทัศน์เยาวชน” เป็นหนึ่งในหนังสือที่เธอนำไปให้คนงานอ่านเพื่อชวนถกเถียง ขยายฐานให้กลุ่มแรงงานตื่นตัว และมีการรวมพลังเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์ต่อกรรมกร

11. ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า
โดย อารยา แสงธรรม และพิทักษ์ ชัยสูงเนิน

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ของ “พรรคจุฬาประชาชน” ในปี 2519 ว่าด้วยการวิเคราะห์และถ่ายทอดปัญหาความรักของคนรุ่นใหม่กับแนวคิดต่าง ๆ โดยเริ่มตั้งแต่หัวข้อความรักคืออะไร องค์ประกอบความรักระหว่างหนุ่มสาว สถานะทางชนชั้น ความสัมพันธ์ทางชนชั้นกำหนดพฤติกรรมระหว่างเพศ ปัญหารักกดขี่ ปัญหาที่เกิดจากจุดยืนทางชนชั้นที่ไม่มั่นคง ความรักกับงานปฏิบัติ ทั้งยังมีตัวอย่างบทเรียนความรักจากนักศึกษาในขบวนด้วย

ผู้เขียนทั้งสองคนคือ อารยา แสงธรรม และพิทักษ์ ชัยสูงเนิน จัดทำหนังสือเล่มนี้เพราะเห็นว่าในการเคลื่อนไหวต่อสู้กับศักดินา ทหาร และนายทุน คนรุ่นใหม่ที่มาร่วมขบวนเองยังพบกับปัญหา 4 หลักใหญ่ในชีวิต คือ ปัญหาครอบครัว การเรียน อาชีพ และความรัก ซึ่งอย่างหลังนี้เองที่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เยาวชนจะต้องเจอปัญหา เพราะต่างคนต่างอยู่ในวัยที่ทั้งร่างกายและจิตใจกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การเตรียมพร้อมด้านครอบครัวแล้ว

แต่เพราะปัญหาซับซ้อนในหมู่ความรักของหนุ่มสาว ผู้เขียนจึงพยายามหาแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ มาแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถนำตำราใดมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เจอได้ ทั้งสองจึงใช้ประสบการณ์ของตัวเองมาสรุปบทเรียนในหัวข้อต่างๆ และชวนเพื่อนในขบวนมาร่วมแลกเปลี่ยนและถกเถียงถึงการตกผลึกบทเรียนด้วย

12. สังคมศาสตร์ปริทัศน์
โดย สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

ถ้าให้พูดถึงนิตยสารราย 3 เดือนที่มีอิทธิพลต่อความคิดคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2516-2519 มากที่สุด คงหนีไม่พ้น “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ที่ก่อตั้งเมื่อ 2506 เนื้อหาเต็มไปด้วยแนวคิดใหม่ๆ รวมถึงประเด็นสำคัญใหญ่ๆ ที่สังคมยังไม่ค่อยพูดถึง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง

“สุลักษณ์ ศิวรักษ์” เป็นบรรณาธิการคนแรกในช่วงปี 2506-2512 เขายังชวนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมจัดทำ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา” ในปี 2509 ด้วย ก่อนที่ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ในวัย 25 ปีจะมารับตำแหน่งต่อในปี 2512-2519

“สุรชาติ บำรุงสุข” ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเมื่อปี 2516 เล่าว่า ตั้งแต่ได้อ่าน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ที่พูดถึงเรื่องที่กองทัพอเมริกาเข้ามาไทยในช่วงสงครามเย็น เมื่อได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายวิชาการในโครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เขาก็ได้ลงพื้นที่ฐานทัพอเมริกาในอุดรธานี และเขียนงานเกี่ยวกับอนาคตของกองทัพอเมริกาในเอเชียจนได้ตีพิมพ์ในวารสารของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ก่อนจะติดลิสต์หนังสือต้องห้ามของรัฐบาลไทยหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทั้งยังได้ยื่นข้อเสนอให้ถอนกำลังทหารอเมริกาออกจากไทยถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย

13. ชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษา-ประชาชน
โดย สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

อีกนิตยสารรายปักษ์ที่ได้รับความนิยมคู่กับ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” คือ “ชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษา-ประชาชน” ซึ่งเป็นสื่อที่เน้นเนื้อหาสารคดี ความรู้ และศิลปวัฒนธรรมสำหรับนักศึกษาและประชาชน

“วิวัฒน์ โรจนวรรณ” อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชน ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ และเจ้าของร้านหนังสืออิสระ “น้ำพุทูเดย์” เล่าว่า ปี 2512 นิตยสาร “ชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษา-ประชาชน” มีบรรณาธิการคือ “อนุช อาภาภิรม” รวมถึง “วิทยากร เชียงกูล” ที่เพิ่งเรียนจบมาเป็นกองบรรณาธิการ

ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก “ชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษา-ประชาชน” เรียกความสนใจจากผู้คนได้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นนิตยสารที่มีเนื้อหาที่ไม่ค่อยมีสำนักไหนหยิบขึ้นมาเล่านัก เช่น ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ อย่างการต่อสู้ของคนผิวดำในอเมริกา และการต่อต้านสงครามเวียดนามของนักศึกษาอเมริกัน ทำให้มีพื้นที่ให้นักเขียนได้นำเสนอเรื่องสั้นแนวทางใหม่ๆ รวมทั้งมีบทความที่ตั้งคำถามและฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่

14. หนังสือเล่มละบาท
โดย ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย

นอกจากการเสพข่าวสารและการเติมปุ๋ยทางความคิดผ่านวรรณกรรมและงานวิชาการแล้ว นักศึกษาในยุคนั้นยังนิยมจัดทำหนังสือด้วยตัวเองเพื่อหารายได้ให้กับการเคลื่อนไหว และทำให้ความรู้กระจายตัวออกไปด้วย

สิ่งพิมพ์ที่ว่านี้เรียกกันว่า “หนังสือเล่มละบาท” จัดทำเล่มละ 4-6 หน้า ส่วนราคาก็ว่าไปตามชื่อที่เรียก โดยแต่ละกลุ่มก็จัดทำด้วยชื่อหนังสือที่ต่างกันออกไป เช่น “ศึก” ของนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ, “กด” ของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย หรือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” และ “มหาวิทยาลัย : ที่ยังไม่มีคำตอบ” ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

อ่านข่าว :

ย้อนอ่าน : สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศิลปะเพื่อศิลปะ ของเผด็จการยุคสงครามเย็น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image