เว็บบันทึก 6 ตุลา ร่ายที่มา ‘5 วง – 6 บทเพลงเพื่อชีวิต’ มรดกอาวุธ สู้รัฐด้วยสันติ

เว็บบันทึก 6 ตุลา ร่ายที่มา ‘5 วง – 6 บทเพลงเพื่อชีวิต’ มรดกอาวุธ สู้รัฐด้วยสันติ

เมื่อวันที่ 29 กันยายน แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ได้เผยแพร่ข้อเขียนบอกเล่าประวัติศาสตร์ “ดนตรีเพื่อชีวิต” ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภายใต้ชื่อชุด “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง”

ตอน “จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี”
5 วงดนตรี และ 6 บทเพลงเพื่อชีวิต ที่ขับขานในหัวใจมวลชนปี 2516-2519

แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ระบุว่า มรดกชิ้นสำคัญของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ยังคงส่งต่อมาจนถึงตอนนี้คือ “เพลงเพื่อชีวิต” ซึ่งทำหน้าที่ทั้งส่งสารเรียกร้องต่อรัฐและปลอบประโลมหัวใจของมวลชนให้รู้ว่ายังมีคนที่พร้อมต่อสู้อยู่เคียงข้างกัน

อันที่จริง ศิลปินไทยที่ทำเพลงเนื้อหาว่าด้วยความทุกข์ยากของประชาชนมีมาตั้งแต่ช่วง 2480 (ยุคนั้นเรียกว่า “เพลงชีวิต”) แต่สำหรับการแผ่ขยายของ “เพลงเพื่อชีวิต” ในหมู่นักศึกษานั้นได้รับอิทธิพลหลักมาจากฐานคิดศิลปะต้องสะท้อนภาพชีวิตประชาชนจากหนังสือ “ศิลปเพื่อชีวิต​ ศิลปเพื่อประชาชน” ของ “ทีปกร” นามปากกาของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้ซึ่งเป็นไอดอลของนักศึกษาในยุคนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่วงดนตรีเพื่อชีวิตส่วนหนึ่งยังหยิบเรื่องราวของจิตรและเพลงที่เขาเคยแต่งเอาไว้มาขับขานปลุกใจมวลชนด้วย

Advertisement

ยิ่งในช่วงใกล้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีความรุนแรงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เสียงเพลงจากวงดนตรีเพื่อชีวิตจึงมีบทบาทอย่างมากในการเป็นเครื่องเยียวยาและสร้างขวัญกำลังใจ เสียงเพลงบรรเลงทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและออกทัวร์ต่างจังหวัด เข้าไปส่งต่อท่วงทำนองการต่อสู้ร่วมกับกลุ่มกรรมกรและชาวนา บ้างก็ต้องกินอยู่หลับนอนกับชาวบ้านนานเป็นวัน บ้างออกทัวร์ทั่วประเทศจนไม่ได้เข้าเรียน แต่พวกเขาก็ได้รับรู้ความทุกข์ยากลำบากของประชาชนซึ่งไม่มีให้เห็นในห้องสี่เหลี่ยม และสุดท้ายก็กลายมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์บทเพลงที่มีความหมายลึกซึ้งตามแบบฉบับ “เพลงเพื่อชีวิต”

ท่วงทำนองชีวิตจากบทเพลงและวงดนตรีต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งที่เราหยิบมานำเสนอเพื่อให้เห็นหลักฐานว่าดนตรีเป็นอาวุธที่ประชาชนใช้ต่อสู้กับรัฐอย่างสันติ ดนตรีเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงคนหลากหลายกลุ่มให้ร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน ดนตรีเป็นพลังให้กับหัวใจมวลชนเพื่อยืนหยัดต่อความอยุติธรรม ไม่ยอมจำนนต่อการกดขี่ และคงไว้ซึ่งศรัทธาแห่งยุคสมัยให้ดังก้องไปทั่วแผ่นดิน

5 วงดนตรี เพื่อชีวิต

Advertisement

1. “วงกรรมาชน” โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

“กรรมาชน” เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่เกิดขึ้นหลังเสียงประชาชนดังกึกก้องในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของนักศึกษาสายการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปลายปี 2516 ก่อนจะเปิดตัวในงานรำลึกวีรชน 14 ตุลาฯ ปี 2517

เริ่มแรกยังไม่มีชื่อวงอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อไปถึงงาน พวกเขาเห็นแผ่นพับกระดาษโรเนียวของกรรมกรที่เขียนว่า “กรรมาชน” สมาชิกจึงนำมาตั้งเป็นชื่อวง เพราะมีความหมายตรงตัวกับความเชื่อของพวกเขา นั่นคือการยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างชนชั้นแรงงานและประชาชนผู้ถูกกดขี่

สมาชิกของวงกรรมาชน ประกอบด้วย กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ, นพพร ยศฐา, สมบัติ ศรีสุขอัยกา, จำเริญ วัฒนศรีสิน, พงษ์สันต์ ทองเนียม, บุญลือ วงษ์ท้าว, วิโรจน์ สิงห์อุตสาหะ, พิชัย สุธาประดิษฐ์, พลศิลป์ ศิวีระมงคล, ปรีดา จินดานนท์, และ กิติพงษ์ บุญประสิทธิ์ ตอนหลังยังมีนักศึกษาต่างสถาบันมาร่วมวงด้วย เช่น นิตยา โพธิคามบำรุง, วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, พิทักษ์ เรืองรังสี และสมาชิกจากศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย

“กิติพงษ์ บุญประสิทธิ์” หรือ “ตี้ กรรมาชน” เคยบันทึกประวัติวงกรรมมาชนไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2541 (มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2545) ว่า ช่วงแรกวงกรรมาชนยังไม่มีเพลงเป็นของตัวเอง แต่อาศัยนำบทเพลงของวง “คาราวาน” และ “ไดอะเล็คติก” มาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสไตล์กรรมาชน ต่อมาได้นำบทกลอนของ “จิตร ภูมิศักดิ์” มาใส่ทำนอง และยังดึงเพลงที่จิตรเคยแต่งไว้ตอนถูกคุมขังในเรือนจำมาแสดง เช่น แสงดาวแห่งศรัทธา, เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ

หลังจากนั้น “กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ” หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ “จิ้น กรรมาชน” หัวหน้าวง ได้เริ่มแต่งเพลงออกมาร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างเพลงเพื่อมวลชน (แต่งร่วมกับ “นพพร ยศฐา”) กรรมาชน, แสง, กูจะปฏิวัติ, อินโดจีน และสลัม ในช่วงหลังที่พวกเขาได้ออกทัวร์แสดงดนตรีในหมู่บ้านต่างจังหวัดแล้วได้สัมผัสความทุกข์ยากของประชาชน ก็ได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาร่วมกันแต่งเพลงใหม่ ๆ ด้วย

บทเพลงเพื่อชีวิต การนำผลงานของ ‘จิตร’ ซึ่งเป็นไอดอลของนักศึกษายุคนั้นมาถ่ายทอดเป็นเพลง รวมถึงลักษณะของดนตรีแบบฮาร์ดร็อกในช่วงแรก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นวงสตริงที่เล่นแนวมาร์ช สิ่งเหล่านี้ทำให้กรรมาชนสร้างมวลอารมณ์ปลุกใจและปลอบประโลมผู้คนให้กล้ายืนเด่นโดยท้าทายต่ออำนาจอยุติธรรมในสังคมมากขึ้น

ในช่วงที่เกิดการสูญเสียผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ (ซึ่งรวมถึงผู้เป็นซาวนด์เอนจิเนียร์ของกรรมาชนด้วย) วงกรรมาชนได้ขึ้นแสดงในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเล่นอยู่นั้นก็เกิดเหตุแอมป์ระเบิด การแสดงจึงต้องหยุดชะงัก แต่เพราะประชาชนที่มาร่วมงานต้องการให้กรรมาชนแสดงต่อ พวกเขาจึงประกาศรวมเงินกัน ณ เวลานั้นเพื่อซื้ออุปกรณ์มาให้กรรมาชนแสดงต่อ นี่คือหลักฐานยืนยันว่าวงดนตรีของนักศึกษามหิดลครองใจมวลชนมากเพียงใด

“วงกรรมาชนเป็นวงที่ยืนพื้นในการประท้วงที่ยืดเยื้อจริง ๆ เพราะสามารถอยู่โยงได้ ยามใดขาดคนไฮปาร์ค หรือยามดึกดื่นจนผู้คนพากันอ่อนเพลียแล้ว วงกรรมาชนจะต้องเป็นผู้ปลุกเร้าวิญญาณแห่งการต่อสู้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงปืนหรือเสียงระเบิดพวกเราแทบจะชาชินกับมันไปแล้ว จึงไม่น่าแปลกเลยว่าช่วงที่ประชาชนนักศึกษาถูกล้อมปราบ และถูกยิงกระหน่ำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงประมาณตี 2 ถึง 6 โมงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม ทั้งนิตยาและผมนอนหลับใหลอยู่ข้าง ๆ เวทีท่ามกลางเสียงปืนและเสียงระเบิดนั่นเอง” ตี้ กรรมาชนระบุไว้ในบันทึก

ความนิยมของวงกรรมาชนยังทำให้พวกเขาได้รับเชิญไปแสดงในการชุมนุมต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งยังมีการบันทึกเพลงลงเทปคาสเซตทั้งหมด 3 ชุด ในปี 2517-2518 รายได้ทั้งหมดนำมาเคลื่อนไหวและสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชน

หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สมาชิกวงกรรมาชนส่วนหนึ่งเดินทางเข้าป่า คือจิ้น ตี้ และนิต (นิตยา โพธิคามบำรุง) ทั้งยังได้พบกับ “วิสา คัญทัพ” และสมาชิกจากวง “คุรุชน” บางส่วน รวมทั้งศิลปินจากจีนหลายคน ทำให้พวกเขาได้พัฒนาฝีมือทั้งด้านการแต่งเพลง ดนตรี และการต่อสู้ทางวัฒนธรรม

 

2. “วงโคมฉาย” โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

แม้วงดนตรีเพื่อชีวิตวงอื่น ๆ จะเกิดขึ้นเพราะความตั้งใจให้มีเสียงเพลงดังก้องประสานไปพร้อมกับเสียงเรียกร้องของประชาชน แต่สำหรับ “โคมฉาย” พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำวงดนตรีตั้งแต่แรก

แต่เมื่อเกิดปัญหาที่วงดนตรีที่วางแผนไว้ไม่สามารถขึ้นแสดงได้ในนิทรรศการ “จักรวรรดินิยม” ซึ่ง “สมาชิกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศมร.)” จัดขึ้นในปี 2518 ทีมงานจึงต้องหาวงดนตรีมาแทน ทำให้สมาชิกของ อศมร.ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องดนตรี แต่แค่ชอบเล่นกีตาร์และร้องเพลงหลังจากทำงานในแต่ละวันต้องมาขึ้นแสดงแทน โดยใช้ชื่อว่า “โคมฉาย” ซึ่งมาจากชื่อหนังสือรับเพื่อนใหม่ในมหาวิทยาลัยประจำปีนั้น

จากการเล่นดนตรีและร้องเพลงเพื่อความบันเทิงในหมู่เพื่อนฝูง “โคมฉาย” ได้กลายเป็นวงดนตรีที่สร้างความบันเทิงในหมู่ผู้ชุมนุม เพราะหลังจากจบนิทรรศการจักรวรรดินิยม พวกเขาได้รับคำชวนจากชมรมในมหาวิทยาลัยและฝ่ายต่าง ๆ ในขบวนการเคลื่อนไหวให้ไปแสดงต่ออีก เช่น ชมรมต่อต้านยาเสพติด ในงานนิทรรศการที่วิทยาลัยครูจังหวัดเพชรบุรีและนครปฐม หรือฝ่ายประสานงานกรรมกรชวนให้ไปแสดงในโรงงานเพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกร

ผ่านไปหนึ่งปี วงโคมฉายก็ได้ออกเทปคาสเซตชุดแรกชื่อว่า “มุ่งไป” ซึ่งบรรจุ 11 บทเพลง คือ โคมฉาย, สายลมจากเฉียงเหนือ แต่งโดย “คมกฤช เสริฐนวลแสง” บ้านค้อน้อย, มารวมกันเข้า แต่งโดย “ผดุงศักดิ์ ถีระวงศ์” ค่าของคน, มุ่งไป, ทุ่งร้าง แต่งโดย “วินัย บุญช่วย” คนสร้างบ้าน, ปูนา, อีกไม่นาน แต่งโดย “วัฒน์ วรรลยางกูร” และเพลงสยามในวันนี้ แต่งโดย “ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์”

สมาชิกวงโคมฉายประกอบด้วย คมกฤช เสริฐนวลแสง, เจษฎา พูนพัฒน์, ผดุงศักดิ์ ถีระวงศ์, วสันต์ จินดารัตน์, วินัย บุญช่วย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ศิลา โคมฉาย” นักเขียนรางวัลซีไรต์จากหนังสือ “ครอบครัวกลางถนน” และพรรณิพา สังขพิทักษ์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ วงโคมฉายก็ได้สิ้นสุดลง

 

3. “วงคุรุชน” โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยครูสวนสุนันทา

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์สังคมในหลายประเด็น วงการการศึกษาก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่นักศึกษายุคนั้นจุดประเด็นปัญหาระบบการศึกษาที่รับใช้ทุนนิยม มีการแข่งขันที่คัดคนแพ้ออก ไม่ได้โอบรับทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค

ในกลุ่มคนที่ศึกษาอยู่ในวิทยาลัยครูเองก็ร่วมกันต่อต้านการศึกษาไทยในรูปแบบทุนนิยมเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง” วันหนึ่งที่เขาได้เข้าร่วมชุมนุมและเห็นวงดนตรีคาราวานแสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศักดิ์สิทธิ์จึงอยากสร้างวงดนตรีเพื่อชีวิตเช่นเดียวกัน จึงชวน “ศรัทธา หนูแก้ว” และ “ลิขิต บุญปลิว” เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกันมาตั้งวงชื่อว่า “คุรุชน”

พวกเขาเปิดตัววงครั้งแรกในการชุมนุมประท้วงต่อต้านการจับ 9 ชาวนาและนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาวงคุรุชนก็ได้แสดงในพื้นที่ชุมนุมกับศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยบ่อยที่สุด เพราะสมาชิกวงพักอยู่ในตึก ก.ต.ป. อันเป็นที่ตั้งของศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ

จุดเด่นของวงคุรุชน คือแนวดนตรีโฟล์กที่ผสมเครื่องดนตรีพื้นบ้านเข้าไปด้วย ได้แก่ พิณ กีตาร์ ออร์แกน ตอนหลังยังมีการเพิ่มกลองบองโกและเครื่องทำจังหวะเข้ามา ในส่วนของเนื้อหาเพลง ด้วยพื้นฐานของสมาชิกวงที่เติบโตมาในครอบครัวชาวนา พบปะกับปัญหาความทุกข์ยากของชาวบ้าน เพลงของคุรุชนจึงมีความเป็นสังคมชนบท ใกล้ชิดกับประชาชนคนรากหญ้ามากกว่าวงอื่น ๆ รวมทั้งยังสอดแทรกคุณค่าและความสำคัญของการเป็นครูลงไปด้วย บทเพลงที่เป็นที่รู้จักกันในขณะนั้นคือ เธอผู้เสียสละ, คุรุธรรม, ภราดร และสงครามหรือสันติภาพ นอกจากนี้คุรุชนยังเคยออกเทปคาสเซตมาแล้วหนึ่งชุดด้วย

หลังเหตุการณ์ความรุนแรงใน 6 ตุลาฯ สมาชิกต่างเดินทางเข้าป่า ก่อนจะได้รวมตัวกับสมาชิกส่วนหนึ่งของวงกรรมาชน แล้วสร้างสรรค์งานดนตรีกันในนั้น

 

4. “ลูกทุ่งสัจธรรม” โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยคำแหง

วงดนตรีลูกทุ่งวงเดียวในขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาคือ “วงลูกทุ่งสัจจธรรม” ก่อตั้งโดยฝ่ายวัฒนธรรม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งนักศึกษาในพรรคสัจจธรรมเป็นผู้บริหารในขณะนั้น

“เมธา มาสขาว” บอกเล่าประวัติวงลูกทุ่งสัจจธรรมไว้ในบทความ “45 ปี ลูกทุ่งสัจจธรรมและมหกรรม “สายธารวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ลิขิตผ่านกาลเวลา” ว่า “อาทิตย์ บำรุงเอื้อ” ผู้เป็นสมาชิกในวงดนตรีลูกทุ่ง กพ.กช. ของกลุ่มพัฒนาการศึกษาชนบท (กพ.กช.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ชวนเพื่อน ๆ มาตั้งวงลูกทุ่งเพื่อชีวิตขึ้น และเปิดตัวลูกทุ่งสัจจธรรมเพื่อเป็น “แนวรบด้านวัฒนธรรม” ครั้งแรกวันที่ 14 ตุลาคม 2518 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีสมาชิกจากวงดนตรีเพื่อชีวิต 2 วงมาช่วยกันเขียนเนื้อเพลงให้กับลูกทุ่งสัจจธรรม คือ “วีระศักดิ์ ขุขันธิน” ผู้แต่งเพลง “ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ” จากวง “รวมฆ้อน” และ “วินัย บุญช่วย” สมาชิกวง “โคมฉาย”

ต่อจากนั้น ลูกทุ่งสัจจธรรมก็พาเสียงเอื้อนของเพลงลูกทุ่งไปสู่ผู้ฟังในการชุมนุมทั่วประเทศ ยืนหยัดต่อสู้กับชาวนาและกรรมกรด้วยเสียงเพลงที่คลอเคล้าไปด้วยกำลังใจและเรื่องราวของประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย อย่างเพลงดังของลูกทุ่งสัจจธรรม คือ “อาลัยพ่อหลวงอินถา” ที่สมาชิกวงแต่งขึ้นจากเหตุการณ์ลอบสังหาร “อินถา ศรีบุญเรือง” หรือ “พ่อหลวงอินถา” รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยและประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ผู้ลุกขึ้นพาชาวบ้านเรียกร้องสิทธิต่อรัฐในช่วงนั้น

ในรุ่งเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ สมาชิกวงลูกทุ่งสัจจธรรมคนหนึ่งถูกฆาตกรรมที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกบางส่วนเดินทางเข้าป่า รวมถึง “อาทิตย์ บำรุงเอื้อ” นักร้องนำของวงด้วย

 

5. ”วงต้นกล้า” โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่ามกลางวงดนตรีร่วมสมัยที่ใช้เครื่องดนตรีสากลบรรเลงบทเพลงแห่งประชาชนในที่ชุมนุม “ต้นกล้า” เป็นวงดนตรีไทยเพื่อชีวิตเพียงหนึ่งเดียวในนั้น

วง “ต้นกล้า” เกิดขึ้นจากจุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างวงดนตรีไทยเพื่อต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน และเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชิงศิลปวัฒนธรรม โดยสมาชิกรุ่นก่อตั้งประกอบด้วย พงษ์ศักดิ์ เกตุจรูญ, รังสิต จงฌานสิทโธ, สันธวิทย์ อุณหสุวรรณ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, ทวีศักดิ์ โตรักษา, อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ และชาญ ธาระวาส

นอกจากนี้ยังมีนักศึกษารุ่นพี่ที่เรียนจบแล้วอย่าง “สุจิตต์ วงษ์เทศ” และ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ซึ่งเคยทำวงดนตรีไทยก่อนช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างวง “เจ้าพระยา” มาช่วยสนับสนุนในการแต่งเพลงและยังส่งต่อบางบทเพลงจากวงเจ้าพระยามาให้กับวงต้นกล้าด้วย

“นิธินันท์ ยอแสงรัตน์” อดีตนักข่าวและบรรณาธิการอาวุโสสื่อใหญ่ในไทย ผู้เคยเป็นนักร้องหญิงประจำวงต้นกล้า เล่าว่า เธอได้รับคำชวนจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย เพราะเห็นว่าเธอเป็นนักร้องในวงดนตรีไทยที่โรงเรียนสตรีวิทยามาก่อน หลังจากเข้าร่วมเวทีแรกที่วงต้นกล้าเล่นในการชุมนุมที่สนามหลวง ต่อจากนั้นวงดนตรีไทยที่บรรเลงเพลงปลุกใจประชาชนก็ได้รับเชิญให้ร่วมขึ้นเวทีร่วมกับวงดนตรีอื่น ๆ ไปทั่วประเทศ ถึงขั้นที่สมาชิกแทบไม่ได้เข้าเรียน นิธินันท์เล่าว่าไปเล่นดนตรีจนลืมเข้าสอบมาแล้วก็มี

“บรรยากาศการเล่นดนตรีช่วงนั้นน่าตื่นเต้นตลอดเวลา เพราะส่วนใหญ่จะมีการปราบ เพราะฝ่ายรัฐเขาไม่ชอบให้มีการชุมนุม ประเดี๋ยวชุมนุม มาละ ยิงเปรี้ยง ๆ ต้องถอนเครื่อง ถอนวงหลบพร้อมกับชาวบ้านหรือกรรมกร ไปต่างจังหวัดก็ (เคยเจอ) ระเบิดลงกลางเวที เราก็ต้องหนี แบกหลังระนาดหนีกัน”

นอกจากนี้ “นายกระเวก” คณะกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลาฯ ยังเคยเขียนบันทึกไว้ว่า ความเป็นวงดนตรีไทยของวงต้นกล้าทำให้ภาพลักษณ์แรกเห็นดูเป็นมิตรกับผู้ใหญ่หรือฝั่งที่ไม่ได้เห็นด้วยกับนักศึกษา เรียกได้ว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” ได้หลายครั้ง เมื่อเทียบกับภาพวงดนตรีเพื่อชีวิตวงอื่น ๆ บางครั้งยังได้รับคำชมจากผู้ใหญ่ว่าอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ แต่เมื่อพวกเขาได้ฟังเนื้อหาเพลงกันจริง ๆ แล้ว “นายกระเวก” บอกว่าผู้ใหญ่ถึงกับตะลึง หลังเพลงจบก็ลุกหนีกันแทบไม่ทัน

เพลงประจำวงต้นกล้า คือ “หนุ่มสาวเสรี” แต่งโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, เพลง “การะเกด” แต่งโดย สมาชิกวงต้นกล้า, เพลง “คนทำทาง” และ “กระทุ่มแบน” แต่งโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

6 บทเพลง เพื่อชีวิต

1. ”เพื่อมวลชน” โดย วงกรรมาชน

“ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกล ไกลแสนไกล
จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี
ถ้าหากฉันเกิดเป็นเมฆบนนภา จะนำพาความร่มเย็นเพื่อท้องนา
หากฉันเกิดเป็นเม็ดทราย จะถมกายเป็นทางเพื่อมวลชน”

เนื้อร้องกินใจ สื่อถึงความเสียสละและยกยอให้กับเสรีภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน คลอเคล้าไปกับเสียงเกลากีตาร์ คือความโดดเด่นของ “เพื่อมวลชน”

“จิ้น กรรมาชน” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีมากที่สุดในวง แต่งเพลงนี้ร่วมกับ “นพพร ยศฐา” ผู้ซึ่งร้อยเรียงบทกวีได้กินใจลึกซึ้ง แม้นพพรจะจากเพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ ไปจากเหตุการณ์ถูกซุ่มโจมตีในเขตชายแดนปราจีนบุรี แต่ผ่านมาแล้วกว่า 45 ปีที่ “เพื่อมวลชน” ยังคงได้รับการขับขานส่งต่อผ่านโสตสัมผัสของผู้คนในพื้นที่การชุมนุมจนถึงทุกวันนี้

รับฟังได้ที่ youtu.be/G81z-uTVfqA

 

2. “แสงดาวแห่งศรัทธา”โดย สุธรรม บุญรุ่ง (จิตร ภูมิศักดิ์)

“ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยาก ขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง”

หากนับจากจุดเริ่มต้นของเพลงแล้ว “แสงดาวแห่งศรัทธา” น่าจะมีอายุราว ๆ 60 ปี เทียบเท่าได้กับผู้สูงวัยคนหนึ่ง

จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกา “สุธรรม บุญรุ่ง” แต่งเพลงนี้ร่วมกับเพลงอื่น ๆ กว่า 14 เพลง ไม่ว่าจะเป็น เพลงมาร์ชชาวนาไทย, มาร์ชลาดยาว, มาร์ชเทิดสิทธิมนุษยชน, ฟ้าใหม่, ความหวังยังไม่สิ้น, เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ, ศักดิ์ศรีของแรงงาน, อินเตอร์เนชั่นแนล, รำวงวันเมย์เดย์, วีรชนปฏิวัติ, มนต์รักจากเสียงกระดึง, ทะเลชีวิต, หยดน้ำบนผืนทราย และอาณาจักรความรัก ในขณะที่เขาถูกคุมขังในคุกด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ช่วงระหว่างปี 2503-2506

ในคุกลาดยาวนั้น เขามีสหายร่วมอุดมการณ์ที่เป็นนักโทษการเมืองเช่นเดียวกัน พวกเขาก่อตั้ง “คอมมูนลาดยาว” เพื่อปลุกใจให้กันและกัน โดยจิตรมีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีไทยอยู่แล้ว จึงได้แต่งเพลงเพื่อเป็นพลังให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ รวมทั้งยังบันทึก 15 บทเพลงเหล่านั้นเอาไว้ในหนังสือ “คอมมิวนิสต์ลาดยาว”

ผลงานของจิตรได้รับความสนใจจากนักศึกษาตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาฯ วงคาราวานได้นำ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ออกมาจัดแสดงก่อน หลังจากนั้นวงดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษาอย่าง “กรรมาชน” ก็ได้นำเพลงนี้มาเรียบเรียงในสไตล์เพลงของวง แล้วนำไปออกทัวร์ปลุกใจให้กับขบวนการชุมนุมเช่นเดียวกัน

 

3. “หนุ่มสาวเสรี” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“คึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา กลมเกลียวแกล้วกล้าสดใส
ฟันเฟืองฟาดฟันบรรลัย กนกห้าสิบให้ชีวิตพลี
เจ้าหนุ่มเจ้าสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง
เจ้าหนุ่มเจ้าสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง
ตายเพื่อสร้าง ตายเพื่อสร้างเสรี”

เพลงนี้สุจิตต์แต่งให้กับหนุ่มสาวในช่วง 14 ตุลาฯ โดยช่วงแรกยังคงนำมาเล่นในวง “เจ้าพระยา” วงดนตรีไทยที่สุจิตต์ก่อตั้งร่วมกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และเพื่อน ๆ ก่อนจะยกเพลงนี้ให้วง “ต้นกล้า” เล่นในที่ชุมนุมต่างๆ

สุจิตต์แต่งเพลงนี้โดยอาศัยเพลง “ตับลาวเจริญศรี” (จากลิลิตพระลอ) มาเป็นทำนองให้กับเนื้อเพลงที่เขาแต่งขึ้น เพื่อรำลึกถึงนักศึกษาและประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาฯ และยังใช้ทำนอง “ลาวเฉียง” มาขึ้นต้นท่อนที่ว่า “คึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา กลมเกลียวแกล้วกล้าสดใส” ทำให้ดนตรีมีความคึกคักตามเนื้อเพลงไปด้วย

“นิธินันท์ ยอแสงรัตน์” เล่าว่าเพลง “หนุ่มสาวเสรี” เป็นหนึ่งในเพลงที่วงต้นกล้านำไปใช้แสดงบ่อยที่สุด

 

4. “การะเกด” โดย วงต้นกล้า

“เจ้าการะเกดเอย
ขี่ม้าเทศ ไปท้ายวัง
ชักกริชมาแกว่ง จะแทงฝรั่ง
ใครห้ามก็ไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย”

ที่เห็นคำว่า “แทงฝรั่ง” ในเนื้อเพลงนี้ไม่ได้บอกว่าเจ้าการะเกดจะไปเก็บผลไม้แต่อย่างใด แต่หมายถึงเจ้าการะเกดจะเข้าไปทำร้ายคนอเมริกันที่เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ทำให้เพลง “การะเกด” กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านจักรวรรดินิยมของอเมริกาในยุคสมัยนั้น

“เพลงการะเกดนี่มีหลายคนช่วยกันแต่ง มีพี่อานันท์ (อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์) พี่พ้ง (พงษ์ศักดิ์ เกตุจรูญ) พี่ป่อง (รังสิต จงฌานสิทโธ) ช่วยกันเขียนคนละท่อนสองท่อน ทุกคนก็เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน พี่พ้งเรียนประวัติศาสตร์ พี่สุจิตต์ก็เรียนประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพราะฉะนั้นเขาจะเอาทำนอง (และเนื้อหา) โบราณ (อย่างการยกเอาท่อน) “เจ้าการะเกดขี่ม้าเทศจะไปท้ายวัง” มาเป็นต้นทาง แล้วที่เหลือก็ใส่เนื้อปัจจุบันเข้าไปว่าจะไล่ฐานทัพอเมริกา” นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เล่าที่มา

“นายกระเวก” คณะกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลาฯ บันทึกไว้ว่า ตัวละครอย่าง “การะเกด” ดูมีภาพลักษณ์แบบอยุธยาตอนปลายมากกว่ารัตนโกสินทร์ เนื่องจากใช้กริชเป็นอาวุธ ขี่ม้าเทศ และน่าจะเป็นคนชั้นสูงที่ทนไม่ได้กับพฤติกรรมฝรั่ง

ในส่วนของด้านดนตรี นิธินันท์บอกว่า “การะเกด” เล่นด้วยจังหวะเร้าใจ ฮึกเหิม ทำให้คนชอบ รู้สึกสนุก “เวลาพวกเราเล่นดนตรีไทย มันจะไม่ใช่ดนตรีไทยตามขนบที่เรียบร้อย แม้เราจะนั่งเล่นนะคะ หรืออย่างเราเอง (แม้) จะนั่งพับเพียบ มีบุคลิกเรียบร้อยกว่าเพื่อนร่วมรุ่นในวงเพื่อชีวิตทั่วไป แต่ก็เรียบร้อยแบบโยกหัว เรียบร้อยแบบยกมือ อันนี้เป็นสไตล์ของต้นกล้า”

 

5. “อาลัยพ่อหลวงอินถา” โดย วงลูกทุ่งสัจธรรม

“ปืนที่ดังสิ้นสั่งสิ้นเสียง
เหลือเพียง เหลือเพียงแต่ชื่อพ่ออินถา
ทิ้งแนวร่วมชาวนา
พ่ออินถาเหมือนเป็นเช่นร่มไทร”

“อาทิตย์ บำรุงเอื้อ” ร่วมกับเพื่อนสมาชิกในวงแต่งเพลง “อาลัยพ่อหลวงอินถา” โดยได้ทำนองมาจากเพลง “วอนผีพ่อ” เนื้อหาของเพลงพูดถึงเหตุฆาตกรรมผู้นำชาวนา ขณะที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมทางด้านที่ดิน โดย “พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง” เป็นผู้นำที่เรียกร้องให้มี พ.ร.บ.ชาวนาขึ้นในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์

บริบทในเวลานั้นการร่วมมือกันของ 3 ประสานอย่างนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ทำให้ทั้ง 3 ฝ่ายมีความผูกพันและสัมพันธ์กันแนบแน่น หากใครเจอปัญหาการกดขี่หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ต่างฝ่ายจะยื่นมือเข้าไปช่วยกันและกัน เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ฆาตกรรมพ่อหลวงอินถานี้เอง ในฐานะการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม วงลูกทุ่งสัจจธรรมจึงแต่งเพลงนี้เพื่อปลอบประโลมและระลึกถึงการสูญเสียของคนที่ถูกกดขี่จากรัฐด้วย

 

6. “คนสร้างบ้าน” โดย วัฒน์ วรรลยางกูร

“มีเงิน มีเลื่อยมีไม้ ยังไม่เป็นบ้าน
แรงงาน ของคนสิ สร้างทุกสิ่งสรรค์ได้
เกรียงไกร ผู้ใช้แรงงาน สร้างโลกโสภา”

“คนสร้างบ้าน” เป็นเพลงที่แต่งโดยวัฒน์ วรรลยางกูร โดยวง “โคมฉาย” นำไปขับร้อง เจ้าของเนื้อเพลงให้สัมภาษณ์กับ “อรรณพ นิพิทเมธาวี” ว่า เขาแต่งเพลงนี้ในช่วงที่ทำกิจกรรมอยู่ที่ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยแต่งเพลง “จากแผ่นดินสู่ดวงดาว” ให้วง “รวมฆ้อน” วงดนตรีเพื่อชีวิตอีกวงด้วย

ทำนองเพลง “คนสร้างบ้าน” วัฒน์ดัดแปลงมาจากเพลง “บ้านไร่นาเรา” ซึ่งเป็นเพลงในภาพยนตร์ช่วงปี 2482-2483 รวมทั้งบางท่อนยังดัดแปลงทำนองมาจากเพลง “โทน”

เริ่มแรกวัฒน์แต่งเพลงนี้เพื่อใช้ร้องเป็นสันทนาการในค่ายของชมรมวรรณศิลป์ ในขณะที่ “วินัย บุญช่วย” ซึ่งเป็นสมาชิกของวงโคมฉาย และเป็นสมาชิกของพรรคสัจจธรรมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ห้องทำงานของพรรคอยู่ใกล้ ๆ กับห้องชมรมวรรณศิลป์พอดี ทั้งสองจึงได้คลุกคลีกับเพลงนี้ด้วยกัน วินัยจึงนำเพลงนี้ไปอัดเสียงและร้องในนามวงโคมฉาย ซึ่งวัฒน์กล่าวว่าในยุคนั้น นักศึกษาไม่ได้เคร่งเครียดเรื่องลิขสิทธิ์มากนัก เมื่อแต่งเพลงจึงอยากให้คนเอาไปร้องเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม

 

อ่านข่าว :
ปลุกใจ กระจายข่าวด่วน ชวนชุมนุม ‘6 ตุลา’ กับ ศิลปะรับใช้ ปชช. ผ่าน ‘โปสเตอร์’
เปิดบันทึก 6ตุลา ส่อง ‘9 ฝ่าย’ ในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ใกล้เคียงปัจจุบัน
#เหตุเกิดที่ประตูแดง แห่รำลึก 45 ปี ‘แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า’ ย้อนชนวน 6 ตุลา-จัดคลับเฮ้าส์คืนนี้
เว็บฯ บันทึก 6 ตุลา เปิด ’14 คัมภีร์ความคิด’ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่มาขบวนการเคลื่อนไหว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image