ย้อนความทรงจำ เรื่อง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ก่อน ‘มิลลิ’ โชว์ซอฟท์เพาเวอร์สู่สายตาโลก

ความทรงจำ เรื่อง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ กับ การเมืองไทย ก่อน ‘มิลลิ’ โชว์ซอฟท์เพาเวอร์สู่สายตาโลก

พลันที่ มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ศิลปินแร็พเปอร์ชื่อดังชาวไทย วัย 19 ปี ขึ้นโชว์บนงานเทศกาลดนตรีโคเชลลา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เทศกาลดนตรีใหญ่โลกที่มีคนเข้าร่วมชมนับแสนคน

มิลลิ ไม่เพียงแต่แร็พเล่าเรื่องประเทศไทย ทั้งอากาศร้อน กินรีต้นละแสน หรือ รถไฟที่ใช้มา 120 ปี ทั้งยังกิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” เมนูดังจากโฮมทาวน์ โชว์บนเวที

กระแสโลกออนไลน์ก็เอ่ยขึ้นทันทีว่า เธออาจจะเป็นคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์กิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลกนี้ หลายคนว่า เธอเพียงคนเดียว สามารถพาให้ชาวโลกรู้จักเมนูอาหารนี้ได้ มากกว่าการประชาสัมพันธ์จากรัฐไทยเป็นไหนๆ ยกตัวอย่างเพียงแค่การค้นหาในเว็บไซต์กูเกิ้ล ข้าวเหนียวมะม่วง และ mango sticky rice ก็ขยับพุ่งขึ้นทันที

Advertisement

แท้จริงแล้ว เมนู “ข้าวเหนียวมะม่วง” เป็นอาหารหวานชื่อดังของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว เฉพาะในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ก็ได้เขียนถึงเมนูดังกล่าวไว้ว่า แค่เฉพาะใน ไทย ลาว และฟิลิปปินส์ เมนูเดียวกันก็มีความแตกต่างกันไม่น้อยแล้ว

จะเรียกว่าเป็น “Soft Power” ก็ไม่ผิดนัก

และหากจะพูดว่า “ข้าวเหนียวมะม่วง” เป็นสิ่งที่อยู่ในแวดวงการเมืองไทยมาโดยตลอด ก็คงไม่ผิดด้วยเช่นกัน

Advertisement

ย้อนไปเมื่อ 20 มกราคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ไม่นาน คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงาน WE CARE ABOUT YOU เลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทะเลสาบ เมืองทองธานี

ใช้มะม่วง 6,000 ลูก ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 1.5 ตัน รวมแล้วกว่า 4.5 ตัน หรือ 4,500 กิโลกรัม เชิญนักท่องเที่ยวจีน 10,000 คน 1,250 โต๊ะ มารับประทาน ทำลายสถิติโลก บันทึกลงในกินเนสส์ เวิลด์เรคคอร์ด ทำลายสถิติที่ดูไบเคยทำไว้เมื่อปี 2559 ตอกย้ำว่า ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารของไทย

กล่าวไชโย จุดพลุตระการตา ฉลองความสำเร็จ

วันเดียวผ่านไป โลกออนไลน์ออกมาเปิดเผยว่า หลังจบงานดังกล่าว กลับได้เห็นข้าวเหนียวมะม่วงถูกทิ้งขว้าง ทวงถามถึงภาษีที่ประชาชนต้องเสียไปในการจัดกิจกรรมนี้ว่าคุ้มค่าหรือไม่

กระทั่ง พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานกรรมาธิการการศาสนาศิลปะวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โต้โผงาน ต้องแจงว่า งบประมาณส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน และการร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชื่อว่าผลที่ได้กลับมามีประโยชน์มากกว่า

และมีการเปิดเผยว่า งบประมาณในการจัดงานดังกล่าว อยู่ที่ 7.48 ล้าน เฉพาะในส่วนของ ททท. เท่านั้น

ย้อนไปไกลกว่านั้น 23 เมษายน พ.ศ. 2519 หลัง จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องเดินทางจากไป จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา รัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในขณะนั้น เสียชีวิตอย่างน่าสงสัย ภายหลังได้รับประทานข้าวเหนียวมะม่วง จนถึงขั้นเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และต้องเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎฯกระทันหัน

เชื่อว่า พล.อ.กฤษณ์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ไม่ยอมให้มีการปฏิบัติการขั้นรุนแรงแก่นักศึกษา ในช่วง 14 ตุลาคม พล.อ.กฤษณ์ ได้กล่าวในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลของ พล.อ.กฤษณ์ 1 เดือนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ว่า

“ทหารจะต้องปฏิบัติตามคําสั่งและนโยบาย ของรัฐบาลโดยเคร่งครัด จะได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจจากปฏิกิริยาอันไม่สมควรในทํานอง ดูหมิ่นเหยียดหยามและเสียดสีจากผู้แอบอ้างเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนผู้ฉวยโอกาสบาง ประเภทเพียงใดก็ตาม ก็จะต้องใช้ความพยายาม อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุเหล่านั้นจนถึงที่สุด อย่าได้ใช้อารมณ์ วู่วามตัดสินใจไปก่อเหตุในทํานองตอบโต้ แก้แค้น หรือตอบแทนใดๆ เป็นอันขาด” 

แม้ว่าภายหลังจาก 14 ตุลาคมแล้ว พล.อ.กฤษณ์ อาจจะไม่สามารถดำรงความเป็นเอกภาพของกองทัพได้นัก การเสียชีวิตของพล.อ.กฤษณ์ จึงถูกวิเคราะห์ว่า เป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการปราบปรามนักศึกษาและประชาชน 6 ตุลาคม เพราะฝ่ายขวา ได้ครองอำนาจในกองทัพ

คำเตือนสุดท้ายจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผ่านทาง ส.ส.ไขแสง สุกใส พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ก่อนการเลือกตั้ง มีว่า “ผมไม่มีอำนาจเหมือนเก่า เกษียณแล้ว ปกป้องพวกคุณไม่ไหว เขาจะฆ่าพวกคุณ หลบไปก่อน”

และก็เป็นจริงดังคำเตือนนั้น

แน่นอนว่า ทั้ง 2 เรื่องยังคงอยู่ในความจดจำของคนไทย เห็นได้จากการเชื่อมโยงคำค้นหาในเว็บไซต์กูเกิล ที่มีคำว่า “พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ข้าวเหนียวมะม่วง” ขึ้นมา ไปจนถึง รัฐบาล และ งบประมาณ ก็มาในคำค้นมาแรง

เป็นภาพจำ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่ไม่ขาดจากการเมืองไทย

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image