‘นริศ’ เผย พุทธทาสฯ เคยเทศน์หนุนระบอบใหม่ ขยายจุดขัดแย้งคณะราษฎร มอง 2475 เป็นวรรณกรรม

‘นริศ’ เผย พุทธทาสฯ เคยเทศน์หนุนระบอบใหม่ ขยายจุดขัดแย้งคณะราษฎร มอง 2475 เป็นวรรณกรรม

‘นริศ’ มอง 2475 เป็นวรรณกรรม ขยี้จุดขัดแย้งคณะราษฎร เผย พุทธทาสฯ เคยเทศน์หนุนระบอบใหม่ ‘ปรีดี’ อยากใช้โมเดลสวนโมกข์

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” เพื่อทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิต และความหมายของผู้คน ตลอดจนสังคม การเมืองไทยในปัจจุบัน

บรรยากาศเวลา 13.50 น. มีวงเสวนา “(อ่าน) 90 ปีคณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต” พร้อมเปิดตัวหนังสือ 3 เล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน โดย 3 วิทยากร ได้แก่ นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้ค้นคว้าช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” จากหลักฐานใน “หนังสืองานศพ” และบรรณาธิการหนังสือ “ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่), ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์และนักประวัติศาสตร์การเมืองชื่อดัง ผู้เขียน “ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” และ ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เขียน “ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

Advertisement

ภาพรวมเนื้อหาเสวนา วิทยากรต่างให้มุมมองการเดินทางกว่า 90 ปีของประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยาม ตั้งแต่ก่อน(กาล)เปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรในเส้นทางการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหลากหลายมิติในการเปลี่ยนแปลงจาก 2475 ที่ยังคงเชื่อมโยงส่งผลถึงปัจจุบัน และร่วมวาดหวังถึงการเมืองไทยในอนาคต

ในตอนหนึ่ง นายนริศ บรรณาธิการหนังสือ “ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่)” กล่าวถึงท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มาเทศน์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าท่านสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทั้งยังขอบคุณคณะราษฎร ในปาถกฐาอีกชิ้นหนึ่ง

โดยเมื่อพิธีกรถามว่า ความรับรู้เรื่องการแปลงการปกครอง 2475 ไปถึงต่างจังหวัดหรือไม่ ?

Advertisement

นายนริศกล่าวว่า ตอนปฏิวัติใหม่ๆ ท่านบอกได้รับทราบ คำเทศนาชุดที่พบหลังปลี่ยนแปลงการปกครอง ตอนที่หลวงพิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ปลายปี 2481 โดยขึ้นมาได้ 2 สัปดาห์ ท่านพุทธทาสภิกขุในวัย 31 ก็เทศนายาว 8 หน้ากระดาษ ทั้งร้อยกรองและร้อยแก้ว เพื่อสนับสนุนระบอบใหม่ คือตัวชี้วัดพอสมควร

“เอกสารชั้นต้น” สำคัญ ครั้งหนึ่งคนนี้เคยสนับสนุน แต่ถ้าไม่มีเอกสารชั้นต้น เหตุการณ์อาจพลิกได้จากคนที่มีอำนาจ

อีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือท่านแต่งกลอนรัฐนิยม 24 มิถุนายน 2482 เป็นรัฐนิยมชิ้นแรก เปลี่ยนสยามเป็นประเทศไทย และเป็นวันชาติครั้งแรก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์พอดีด้วย

“ปีนี้วันเกิด จอมพล ป. ตรงกับวันเข้าพรรษาด้วย 14 กรกฎาคม พอดี อาจจะเป็นความสังเกตุของผมเอง บรรยากาศเช้าวันที่ 24 มีฝนพรำเล็กน้อย เพราะเป็นหน้าฝน”

นายนริศกล่าวต่อว่า ช่วงประกาศรัฐนิยม 2482-2483 จนถึงก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา ประมาณ 2 ปี จะเห็นบทกลอนสนับสนุนของท่านพุทธทาส ถ้าใครสนใจ สื่อสมัยใหม่มีผลมาก หากวันหนึ่งหอจดหมายเหตุเผยแพร่ได้ หรือให้เป็นสมาชิก เราจะเห็นเอกสารชั้นต้น ซึ่งชัดเจนกว่า ส่วนตัวชื่นชมงานของ อ.ณัฐพล ที่ใช้เอกสารชั้นต้นจำนวนมาก

“รัฐธรรมนูญของเรา 2481 กับ ปาฐกถา อยากให้ไปศึกษาดู สะท้อนวิธีคิดของ พระหนุ่มวัย 30 ที่มีต่อสังคมไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า”

“2475 ปีนี้ นอกจากจะเป็น 90 ปี 2475 ในทางพุทธจักร ก็มีการก่อตั้งสวนโมกข์พอดี ผมมองในเชิงพัฒนาการ กรณีนี้สะท้อนอีกว่า คนสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ดูจากกรณีพุทธทาส ชัดเจนมาก ตั้งสวนโมกข์ได้ 10 ปี ท่านปรีดี พนมยงค์ นิมนต์ท่านพุทธทาส มาคุยเรื่องเกี่ยวกับการพระศาสนา อยากจะใช้โมเดลของสวนโมกข์ กระจายไปในที่ต่างๆ ด้วย ดังนั้น 2475 ผมมองในลักษณะ ของการให้โอกาสคนหัวก้าวหน้า” นายนริศกล่าว

เมื่อถามว่า การเกิดขึ้นของพลเรือน ทหาร ที่รวมกลุ่มขึ้นก่อการอภิวัฒน์สยาม เมื่อลงลึกเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ มีหลายกลุ่มความคิด หลายแนว มีความแตกต่างทางความคิดขนาดไหน หากมองเชื่อมโยงเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน ?

นายนริศกล่าวว่า เรื่องทัศนคติ อ.ปรีดีรับรู้ตั้งแต่ 11 ขวบ ย้อนไป ร.ศ.130 ทำให้เห็นว่า สภาพสังคมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 20 ปีพอดี ซึ่งมีความพร้อม โดยเฉพาะคณะทหารชุดนั้น อายุเฉลี่ย 25 ปี เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย อายุค่อนข้างน้อย

“กลับมาเรื่องคณะราษฎร การปฏิบัติการต้องยอมรับว่า เป็นลูกอีลีทพอสมควร หลายท่าน อย่าง ทวี บุณยเกตุ หรือแม้แต่หลวงทัศนัยนิยมศึก ก็เป็นลูกพระยา แต่สองคนที่สำคัญมากๆ คือ ปรีดี กับ จอมพล ป. แม้คุณประยูร กับ อ.ปรีดี จะเป็น 2 คนที่เริ่มต้น

7 คนที่ริเริ่ม 5 คนเป็นอีลีททั้งหมด แต่ 2 คนสำคัญที่เป็นนักเรียนทุน คือ จอมพล ป. กับ ปรีดี คนนึงเป็นลูกชาวนาจากอยุธยา อีกคนเป็นลูกชาวสวนจากนนทบุรี 2 คนนี้เป็นสามัญชนที่มีความสามารถจริงๆ คนนึงบู๊ คนนึงบุ๊น” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวอีกว่า ตอนที่ไปชวนเจ้าพระคุณพหลฯ คำถามแรกคือ ไม่เด็กไปหรือน้อง อ.ปรีดี 32 ปี จอมพล ป. 35 ปี ในกลุ่มก้อนทหารซีเนียร์ อย่างพระยาพหลฯ ไปเรียนนอกก่อนสงครามโลก และต่อมาได้ทุน ไปเรียนทหารปืนใหญ่ที่ไปฝรั่งเศส

หลังเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรอยปริครั้งแรกของคณะราษฎร เมื่อเมษายน ปี 2476 ทำให้เกิดเกียร์ว่างของทหารชั้นผู้ใหญ่ในช่วงกบฏบวรเดช

จอมพล ป. มามีบทบาทสูงสุดตอนช่วงกบฏบวรเดช สุดท้ายพระยาพหลฯ มาเป็นแบ๊กอัพให้ เพราะตอนนั้นเป็นนายกฯ ทำให้ทหารหนุ่มอย่าง จอมพล ป. ได้ขึ้นมามีอำนาจ นำมาสู้ความขัดแย้งครั้งแรกกับ ‘กบฏพระยาทรงสุรเดช’

ตรงนี้มีจุดเชื่อมโยงกัน ซึ่งคนส่วนมากมักมองจอมพล ป. โหดเหี้ยม สั่งประหารชีวิต 18 กบฏ ถือเป็นรอยปริร้าวครั้งแรก ครั้งที่ 2 คือช่วงเสรีไทย ที่เป็น อ.ปรีดี กับจอมพล ป.

ตอนที่ ป. พ้นจากคุกอาชญากร สงคราม เป็นข่วงที่ปรีดี ขึ้นเป็นนายกฯ ครั้งแรก ดังนั้น มิติของ 2475 ถ้าเจาะลึกลงไปจริงๆ มีรายละเอียดเต็มไปหมด” นายนริศเผย

นายนริศย้ำด้วยว่า สิ่งที่สำคัญคือ ‘ตัวละคร’ อย่าว่าแต่คนเล็กคนน้อย พระยาพหลฯ คนยังรู้เรื่องเกี่ยวกับท่านน้อยมาก

“ผมจึงคิดว่า อยากให้ศึกษาไปในตัวละครด้วย คณะราษฎร ศึกษาในเชิงวรรณกรรมยังได้ แม้แต่ตัวรัฐธรรมนูญ ผมยังมองเป็นวรรณกรรม มองประวัติศาสตร์ช่วงนั้นเป็น Historical fiction
แต่เราจะรู้จัก Historical fiction ได้อย่างไร ถ้าไม่รู้จักตัวละคร

ผมอ่านประวัติจากอนุสรณ์งานศพ จาก 100 คน 70 คนที่มีอนุสรณ์งานศพ สุดท้ายเราจะเห็นความสัมพันธ์เมื่อเราไปที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน จะเห็นว่าใครขัดแย้งกับใคร แม้แต่ป้ายอัฐิ ยังมี Hint ในที่เหล่านั้น ทำไมคนนี้ไม่มาอยู่ตรงนี้ อย่างพลเรือตรี ทหาร ขําหิรัญ ผมไปตามอัฐิท่านหาไม่เจอ สุดท้ายไปอยู่ที่วัดเครือวัลย์ ท่านเลือกที่จะไปอยู่วัดของทหารเรือ ไม่ไปอยู่วัดพระศรีมหาธาตุ กับผู้ร่วมก่อการ” นายนริศกล่าว

“เป็นหนังสือกบฏแมนฮัตตันที่ดีที่สุดในบรรณโลก ผมมั่นใจ ใครชอบหลักฐานชั้นต้น ชอบความผจญภัย เรื่องท่านผู้นำถูกจับ ไม่มีหนังสือเล่มไหนเท่าเล่มนี้” นายนริศกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image