อ่านรธน.กลางหอศิลป์ สถาปนิกลั่น ขอปกป้องมรดกชาติ จ่อยื่นวุฒิสภา เสนอ 3 ข้อ Saveตึกหุ่นยนต์

ปองขวัญ ลาซูส

Docomomo Thai แจง ทำตามเจตนารมณ์ ‘รัฐธรรมนูญ’ ปกป้อง-อนุรักษ์ มรดกชาติ

สืบเนื่องจากกรณี ธนาคารยูโอบี (UOB) เจ้าของตึกหุ่นยนต์ (Robot Building) กำลังรีโนเวตอาคารสำนักงานดังกล่าว ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2541 ที่ได้รับการขนานนามว่าทันสมัย แปลกไม่เหมือนใคร ทั้งยังอยู่คู่ย่านสาทรมานานกว่า 3 ทศวรรษ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์ผ่านทางโซเชียล ด้วยความเสียดายสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยนั้น (อ่านข่าว ‘สมาคมสถาปนิกฯ-Docomomo Thai’ แนะ UOB ทบทวน ‘รีโนเวตตึกหุ่นยนต์’ อนาคตเป็นอาคารปวศ.)

เมื่อวันที่ 28 เมษายน เวลา 10.30 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กลุ่มรักษ์ตึกหุ่นยนต์ ร่วมกับสมาคมอนุรักษณ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) และกลุ่ม Docomono Thai (คณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเก็บข้อมูลและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นไทย) ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว (อ่าน สถาปนิกชื่อดังรวมตัวแถลงจี้หยุดทำร้าย ‘ตึกหุ่นยนต์’ ชี้ ขึ้นแท่นมรดกสถาปัตย์ระดับโลกยุค 80)

นางปองขวัญ ลาซูส ประธาน Docomomo Thai กล่าวว่า ทางกลุ่มกำลังส่งจดหมายร้องเรียนไปที่กรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ วัฒนธรรมที่วุฒิสภา ให้ดำเนินการตามความเหมาะสม เพื่อการปกป้องไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาติชิ้นนี้ ซึ่งมีคนถามมาตลอดว่า มีสิทธิ์อะไรในการไปยุ่งกับตึกของเอกชน

Advertisement

“อ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรค 2 เสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการกฎหมายบัญญัติแม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นมาบัญญัติใช้ คนหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้น ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 43/1 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ์อนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี อันดีงามของท้องถิ่นและชาติ และมาตรา 50 วรรค 8 คนมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ร่วมมือสนับสนุน อนุรักษ์ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกวัฒนธรรม” นางปองขวัญกล่าว

นางปองขวัญ เสนอแนวทางว่า 1.ให้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ดำเนินการมอบรางวัลศิลปินแห่งชาติ ให้มีการทักท้วงในการจัดทำโครงการนี้ ไปยังเจ้าของธนาคารหรือยูโอบี (UOB) ประเทศไทย ให้เกิดความเหมาะสม เพื่อร่วมการอนุรักษ์และคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และให้มีการพิจารณาการจัดทำมาตรการป้องกันผลงานศิลปกรรมชิ้นสำคัญเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ ของศิลปินแห่งชาติที่ได้ถูกประกาศแล้ว (อ่านข่าว ชัชชาติ วาร์ปฟังกลุ่ม ‘รักษ์ตึกหุ่นยนต์’ แนะทำ Inventory list นักอนุรักษ์เผย เคยยื่นแล้ว แต่ไม่ได้ผล)

Advertisement

“กรมศิลปากรผู้บังคับใช้กฎหมายโบราณสถาณ ให้ดำเนินการออกจดหมาย เพื่อเกิดการหยุดยั้งในการทุบทำลายตึกหุ่นยนต์ ตามความจำกัดความของโบราณสถาณที่มีการประเมิน ในพระราชบัญญัติโบราณสถานและต้องวางมาตรการในการดำเนินการยกระดับ โบราณสถานให้ครอบคลุมไปถึงการปกป้องมรดกสถาปัตยกรรมร่วมสมัยชิ้นสำคัญ เราเสียไปเยอะแล้ว เช่น สกาล่า หรือตึกอาคารศาลฎีกาและให้มีการทำบัญชีอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ทั้งในการครอบครองของรัฐและเอกชน โดยอาจมีการกระจายอำนาจท้องถิ่นให้ดูแลจัดการ” นางปองขวัญกล่าว

นางปองขวัญ เสนอแนวทางเพิ่มอีกว่า 2.ให้มีการเร่งปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และเทศบัญญัติท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับการจัดการบริหารจัดการมรดกสถาปัตยกรรม รวมถึงการออกมาตรการแรงจูงใจในการอนุรักษ์มรดกเหล่านี้ในเชิงเศรษฐกิจ

“เรื่องมาตรการที่ กทม. กำลังเริ่มศึกษาอยู่คือมาตรการ TRD (transit right development) มาตรการโอนสิทธิ์การพัฒนาของอาคารประวัติศาตร์หรืออาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ ตามผังเมืองกทม.ซึ่งในจดหมายถึงธนาคาร UOB เราได้แจ้งเรื่องนี้ไปแล้ว ท่านกำลังจะเสียสิทธิ์ในอนาคต หากท่านทุบทำลาย หรือว่าทำให้เสียรูปลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมของอาคารนี้” นางปองขวัญกล่าว

จากนั้น เสนอแนวทางที่ 3. ให้สภาสถาปนิกออกระเบียบปฏิบัติ หรือข้อควรปฎิบัติในการออกแบบปรับปรุงอาคาร ที่มีคุณค่าเป็นมรดกสถาปัตยกรรมร่วมสมัยระดับชาติหรือระดับโลก ที่ควรแก่การอนุรักษ์

“ตึกนี้เราไม่ได้ห้ามทุบรื้อ แต่ว่าเขากำลังปรับปรุง เขาสามารถทำได้โดยคงคุณค่าภายนอกไว้ แต่ภายในจะปรับปรุงอะไรตามที่เขาต้องการไม่มีปัญหา และท้ายที่สุดคือออกคู่มือแนะนำให้สถาปนิกต้องตระหนักถึงเรื่องนี้และแนะนำให้เจ้าของอาคารทราบ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำลายมรดกวัฒนธรรมสำคัญของชาติที่ยังไม่ได้รับการปกป้องตามกฏหมาย” นางปองขวัญทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image