ปริญญา ชี้ กกต.สั่ง ‘เลือกตั้งโมฆะ’ ไม่ได้ ลั่น อ.วิษณุ ให้สัมฯ ประหลาดเต็มที คิดแง่ดีไม่ได้เปิด กม.ดู

‘ปริญญา’ ชี้ กกต.ไม่มีอำนาจ สั่งเลือกตั้งเป็นโมฆะ มอง อ.วิษณุ ให้สัมภาณ์ ‘ประหลาดเต็มที’ คิดแง่ดีอาจไม่ได้เปิดกฎหมายดู

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางมติชนทีวี ในประเด็นการถือครองหุ้นไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยประหลาดมาก เลือกตั้งมา 3 เดือนกว่า ยังไม่รับรองใครสักคนเ ยังไม่ประกาศเป็นทางการว่าใครเป็นสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งแปลกมาก ขอเรียนโดยสรุป ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 คือ เลือกตั้งเสร็จต้องประกาศผลเลย ถ้าใครทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ไปร้องศาล แล้วศาลฎีกาก็วินิจฉัย เรียกว่าการคัดค้านการเลือกตั้งที่มีการทุจริต โดยรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวเริ่มต้นว่า เลือกตั้งเสร็จยังไม่ต้องประกาศให้เวลา 30 วัน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ตั้งขึ้นใหม่มีอำนาจ ซึ่งระหว่างนี้สแกนดูว่าใครผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ให้ใบเหลือง ใบแดง สั่งเลือกตั้งใหม่

“ปรากฏว่าปี 2560 เพิ่มเป็น 60 วัน ซึ่งคนที่ขอคือ กกต.ชุดที่โดนเซตซีโรนี่เอง หนึ่งคือไม่ควรจะไปขอ เพราะ ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเลือกตั้งเสร็จก็นั่งมาตาปริบๆ ทำไม กกต.ไม่ประกาศเสียที 30 วันก็มากแล้ว ขอเพิ่มเป็น 60 วัน เวลาเพิ่ม 60 วัน ไม่ได้แปลว่า กกต. ต้องใช้เวลาครบ 60 วัน แต่ถ้าทำเสร็จเร็วก็ประกาศ ก็ในเมื่อประกาศมาแล้วว่าเขตเลือกตั้งพรรคก้าวไกลชนะ 112 พรรคอื่นๆ ก็คำนวณครบแล้ว รวมทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ กกต.ด้วยว่าเขามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวอีกว่า แบ่งปัญหาออกเป็น 2 ประเด็น ข้อแรกคือ กกต.จะประกาศไม่รับรอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้หรือไม่ เพราะถูกร้องคุณสมบัติต้องห้าม แล้วให้ ส.ส.ลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมา ก็เป็นเรื่อง

“เพราะว่าคุณสมบัติต้องห้ามนั้นรวมไปถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีด้วย นอกจากจะไม่ได้เป็น ส.ส.แล้วก็เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ด้วย มาตรา 89 เรื่องว่าที่นายกรัฐมนตรีเขียนว่า หากส่งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติต้องห้ามเท่ากับไม่ได้ส่งว่าที่นายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ คือ ไม่ได้เป็นตั้งแต่สมัคร ไม่ใช่ว่าขอให้เป็นก่อนถูกเลือกก็ได้ แต่การเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีเป็น ณ ตั้งแต่วันที่สมัครนายกรัฐมนตรีด้วย”

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ปริญญาอธิบายว่า ในส่วนของ กกต.จะประกาศหรือไม่ประกาศ คิดว่าเป็นปัญหาที่ต้องตีความว่า ITV เป็นสื่อมวลชนหรือไม่ การถือหุ้นเพียง 0.035% ในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก นับว่าถือหุ้นหรือไม่ ต้องตีความเช่นกัน

Advertisement

“เมื่อผมไปดูข้อกฎหมายในประมวลกฎหมายในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้ง ถ้าในกรณีของ ส.ส.เขต ยังมีประเด็นที่พูดได้ว่า มีคุณสมบัติต้องห้าม ดังนั้นยังไม่ประกาศ แต่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผมหาไม่เจอ ผมเปิดเท่าไหร่ก็ไม่เจอ พบแต่เพียงว่าผู้สมัครแบบ ส.ส.แบ่งเขต หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ดี ถ้าโดยคะแนนว่าชนะการเลือกตั้งแล้วไม่ปรากฏว่าเขาทุจริตทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ประกาศได้เลย ส่วนคุณสมบัติต้องห้าม ถ้ามีค่อยไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้พอ คุณพิธาสละมรดกไปแล้วก็จบ สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีปัญหาอีกต่อไป” ผศ.ดร.ปริญญาชี้

ผศ.ดร.ปริญญายังตั้งข้อสังเกตว่า พอไปถึงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรี จะมีคนทักท้วงหรือไม่ โดยเฉพาะ ส.ว.ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนว่า ให้เลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 160 คือ คุณสมบัติต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี ว่าง่ายๆ คือ ถ้าถูกห้ามไม่ให้ลง ส.ส.ก็เป็น ส.ส.รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เช่นกัน ก็มีคนทักท้วงว่า สละหุ้นแล้วก็จริง แต่วันสมัครยังไม่สละ ดังนั้นถือว่า ถือหุ้น ITV แล้วเราไม่ยกมือให้

ปัญหาข้อที่สอง คือ ประกาศผลเลือกตั้งเวลา 60 วัน มาเพียง 95% เพราะ การประกาศแค่ 95% คือ 475 คน ตอนนี้เป็นช่วงของการตั้งรัฐบาลซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงต่อพรรคอันดับหนึ่ง เช่น หากพรรคก้าวไกลโดนแขวนไว้เกิน 10 คนขึ้นไป พรรคอันดับหนึ่งก็เปลี่ยน จาก 475 คน หายไป 25 คน มันมีผล ถ้าพรรคอันดับหนึ่งเปลี่ยนไปมากๆ อันดับหนึ่งก็เปลี่ยนได้ ประชุมนัดแรกคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลตกลงกันจบหรือยัง จากนั้นประธานรัฐสภาจะออกหนังสือเชิญ ส.ส. ส.ว. เพื่อเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 272 และในที่สุดถ้าไม่มีหลักฐานอย่างกระจ่างแจ้งว่าทุจริตกฎหมายเลือกตั้ง ก็ประกาศไปทันที กกต.ควรประกาศให้เร็วและครบ

เมื่อถามว่า สามารถร้องต่อ กกต. หรือฟ้องกลับคนที่ร้องเรียนได้หรือไม่ ?

ผศ.ดร.ปริญญาชี้ว่า ให้เทียบเคียงคดีของ นายสุรพล เกียรติไชยากร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ กกต.ให้ใบส้ม เพราะ ตามข้อเท็จจริงคุณสุรพล เอาเงินใส่ซองทำบุญให้พระ กกต.มองว่านี่เป็นการให้ประโยชน์ที่เป็นการซื้อเสียง จูงใจให้เลือก

คุณสุรพลเรียกค่าเสียหายต่อ กกต. ศาลก็วินิจฉัยว่า เงินที่ให้ไปเป็นเงินงานศพตามประเพณี พิพากษา กกต.ให้จ่ายค่าเสียหายให้คุณสุรพล 70 ล้านบาท

“ผมคิดว่ามีผลเยอะ กกต.จะไม่ประกาศผล จะให้เลือกตั้งใหม่ ซึ่งวิธีการปลอดภัยสุดคือ ส่งศาล ให้ศาลรับผิดชอบ เพราะกระบวนการของศาล คือใช้ความยุติธรรม มีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่แค่มีเหตุอันน่าสงสัย เชื่อว่าทุจริต หรือการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ดังนั้น เรื่องนี้ควรเป็นบรรทัดฐานในการแก้รัฐธรรมนูญต่อไป ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ กกต.ระมัดระวังมาก รวมถึงการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ก็ดูเป็นเรื่องประหลาดเต็มที จริงๆ แล้ว กกต.ไม่มีทางสั่งให้เลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งหมดได้ ถ้ามองในแง่ดีคือ อาจารย์วิษณุไม่ได้เปิดกฎหมายดู ด้าน กกต.ก็คิดหนักในการยังไม่ประกาศ เพราะหากย้อนไปในกรณีของความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่ กกต.ต้องรับผิดชอบ เมื่อต้องรับผิดชอบ ก็ต้องมีความระมัดระวังตามมา” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา ชี้อีกว่า ปัญหาที่ร้ายแรงมากคือ จำนวนคะแนนกับจำนวนบัตรไม่เท่ากัน ถ้าเกิดส่วนต่างนี้มีผลต่อการเปลี่ยนอันดับขึ้นมา ถ้ามีปัญหาที่หน่วยไหนก็นับใหม่ที่หน่วยนั้น จะไปนับทั้งประเทศได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image