‘ไผ่’ ถอดบทเรียน รธน.แบ่งชนชั้น-เตือน 8 พรรคอย่าหลงกล ‘เกมรัฐสภา’ จับมือกันให้แน่น

‘ไผ่ ทะลุฟ้า’ ถอดบทเรียนรัฐธรรมนูญ ‘ชนชั้นใดออก ก็เพื่อชนชั้นนั้น’-ขอ 8 พรรคอย่าหลงกล ‘เกมรัฐสภา’ ต้องจับมือกันให้แน่น

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ห้องอเนกประสงค์ (ริมน้ำ) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) จัดงาน “Con.Next: ออกจากกะลา ไปหารัฐธรรมนูญใหม่” เพื่อระดมความเห็น เดินหน้าภารกิจสำคัญของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล คือการฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีนักวิชาการ นักการเมือง และประชาชน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

บรรยากาศเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “ออกจากกะลา ไปหารัฐธรรมนูญใหม่” โดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์, น.ส.ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ทะลุฟ้า นักกิจกรรมทางการเมือง

ในตอนหนึ่ง นายจตุภัทร์กล่าวว่า ตนได้ถอดบทเรียนว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับคืออะไร ใจความของรัฐธรรมนูญคือ ชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ชนชั้นเผด็จการออกกฎหมายมาเพื่อเผด็จการ จึงไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น ปัญหารัฐธรรมนูญถึงเกิดขึ้น

Advertisement

“ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง มีรัฐธรรมนูญของประชาชนกี่ฉบับ อย่าง 2475 เป็นการเปลี่ยนการปกครอง กำหนดในอำนาจรัฐธรรมนูญว่าใครเป็นเจ้าของอธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศนี้ หลังจากนั้นถูกรัฐประหาร ถูกเปลี่ยนใหม่ ให้คุณค่าใหม่ในทางรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี’40 ทำให้การเมืองในระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง หลังจากนั้นเขาก็กลับมารัฐประหารอีก ใจความของรัฐธรรมนูญคือแค่นี้จริงๆ” นายจตุภัทร์ชี้

นายจตุภัทร์อธิบายว่า วันนี้ปรากฏการณ์ที่ผู้คนสนใจคือเรื่องนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งคือการสำรวจความคิดเห็นประชาชน และประชาชนได้เลือกแล้วให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ หลักการตรงนี้มีประชาชนอยู่ข้างหลัง และคนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่สุดคือเบื่อฝ่ายเผด็จการ ดังนั้น เจตจำนงของประชาธิปไตยมันจบตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม

“ปัญหาบ้านเราคือประเทศนี้ปกครองด้วยระบบกฎหมาย เราเคารพรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเผด็จการก็อ้างรัฐธรรมนูญ เวลา ส.ว.อ้างอำนาจก็อ้างจากรัฐธรรมนูญ เราปกครองด้วยกฎหมาย แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ ฝ่ายเผด็จการต่างหากที่ฉีกกฎหมาย ยึดอำนาจและออกกฎหมายเพื่อตนเอง ผมรู้สึกว่านี่คือบทเรียนที่ผ่านมาโดยตลอด” นายจตุภัทร์กล่าว

Advertisement

นายจตุภัทร์เสริมว่า ตนได้เห็นความอยุติธรรมมาตลอด เห็นกลไกต่างๆ ที่ซ่อนอำนาจมาตลอด หากเขาออกกฎหมายเพื่อพวกเขาได้ ทำไมประชาชนจะออกกฎหมายไม่ได้ ตนดีใจที่เห็นหลายกลุ่มมาเขียนกฎหมาย มันควรเป็นแบบนี้ แต่ละพรรคการเมืองก็ควรเสนอรัฐธรรมนูญที่ตัวเองคิดมา ประชาชนแต่ละกลุ่มก็เสนอมา แล้วไปต่อรองกันที่รัฐสภา ให้มันเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

“ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญคือการมีส่วนร่วมของทุกคนในประเทศนี้ อยากเสนอด้วยซ้ำว่าผมอยากจะทำรัฐธรรมนูญของคนรุ่นใหม่ ประเทศเป็นของเรา มาออกแบบรัฐธรรมนูญว่าเราอยากเห็นประเทศนี้เป็นอย่างไร เราอยากเห็นอนาคตเป็นแบบไหน แล้วไปสู้กันในรัฐสภา ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน มันก็จะปกป้องประชาชน” นายจตุภัทร์ระบุ

นายจตุภัทร์กล่าวว่า ฉันทามติร่วมของคนในสังคมคือรัฐธรรมนูญ เห็นตรงกันว่า ส.ว.เป็นปัญหา และเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ได้มีแค่ ส.ว. มีประเด็นทรัพยากร โครงสร้างรัฐธรรมนูญ แบบนี้มันส่งผลกระทบถึงพี่น้องในชุมชน ตนเชื่อว่าคนที่เลือกตั้งอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รัฐธรรมนูญเป็นจุดสำคัญ

“เราต้องสร้างรัฐธรรมนูญของเรา และสนับสนุนให้กลไกสภาทำงานได้ การต่อสู้ทางการเมืองก็มีสนามรัฐสภา ปล่อยให้ตัวแทนของประชาชนสู้กันไป ส่วนเราก็นำเสนอในมุมมองของขบวนการภาคประชาชน ภาคประชาสังคมต่างๆ ผมคิดว่ามันสัมพันธ์กัน ซึ่ง ณ จังหวะนี้มันคือเกมของรัฐสภา สิ่งที่ต้องอย่าหลงกลเขา คืออย่าทะเลาะกัน ต้องขีดเส้นชัดเจนว่าเป็นชัยชนะของประชาชน ไม่ใช่แค่ 14 ล้าน กับ 10 ล้านเสียง แต่ต้องมองให้เห็นว่าคือ 24 ล้านเสียงที่อยากจะเห็นตรงนี้”

“แม้ในอนาคต ส.ว.อาจจะสวนเจตจำนงเรา แต่อย่าลืมว่าที่ผ่านมาเรามีบทเรียน ต้องค่อยๆ สะสมชัยชนะ ค่อยๆ ขีดเส้นประชาชนร่วมกันหาจุดร่วม ฝ่ายรัฐบาลของประชาชนก็ต้องร่วมกันให้ได้ 8 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องจับมือกันให้แน่น นี่คือสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น” นายจตุภัทร์กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าว : ‘สามชาย’ ซัด รธน.60 ปราบขั้วตรงข้าม ชวนร่างกติกาใหม่ยุคเปลี่ยนผ่าน หยุดการเมืองชะงักงัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image