หมอหวาย เผยเลี้ยงลูกให้ดีมีต้นทุนสูงปรี๊ด ถามกลับ รบ.อยากให้เพิ่มประชากร กล้าลงทุนไหม?

หมอหวาย เผยเลี้ยงลูกให้ดีมีต้นทุนสูงปรี๊ด ถามกลับ รบ.อยากให้เพิ่มประชากร กล้าลงทุนไหม?

การลุกขึ้นชี้แจงนโยบายรัฐบาลของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 12 กันยายน เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง กรณี นพ.ชลน่านกล่าวบางช่วงบางตอนว่า “กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปดูแลเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ เราต้องการใช้กระทรวงเราเป็นจุดกำเนิด จะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ มาดูเรื่องประชากรกันใหม่ครับ ลูกมากจะยากจนต้องเอาออกจากสมองคนไทย

“คนไทยไม่ยอมมีลูกครับ โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดีนะครับ มีความรู้ ความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ ไม่ยอมมีลูก หลายคู่ครับ แต่งงานปุ๊บบังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย”

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ นพ.สลักธรรม โตจิราการ หรือ หมอหวาย บุตรชาย นพ.เหวง โตจิราการ และ นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำคนเสื้อแดง แสดงทรรศนะความดังนี้

Advertisement

“กรณีอาจารย์ชลน่านกังวลเรื่องว่าคนไม่อยากมีลูกจนต้องไปทำหมัน ผมว่าปัญหาอยู่ที่พอมีลูกสัก 1 คนในไทย หากต้องการเลี้ยงให้ดีมีต้นทุนสูงมาก ถ้าอยากให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะกล้าลงทุนเพื่อให้คนมีลูกมากขึ้นไหม ยกตัวอย่าง เช่น

1) เพิ่มค่าแรงและเงินเดือน คนจะได้มีเงินมาเลี้ยงลูกได้มากขึ้น มีเงินมาซื้อสิ่งของต่างๆ เช่น หนังสือเด็ก ผ้าอ้อม ชุดเด็กได้มากขึ้น มีเงินสำรองตอนหยุดทำงานเลี้ยงลูกได้มากขึ้น

2) ให้แม่และ/หรือพ่อทั้งในภาครัฐและเอกชนหยุดงานแบบมีเงินเดือนได้ 1 ปี คือจนลูกเข้าเนิร์สเซอรี่ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องส่งไปต่างจังหวัดให้ปู่ย่าตายายที่ไม่แข็งแรงแล้วเป็นคนเลี้ยง และกรณีเอกชนควรมีสิทธิเอาเงินเดือนที่จ่ายให้พนักงานมาหักภาษีได้

Advertisement

3) เพิ่มเงินเดือนให้ครูโรงเรียนรัฐ ตั้งแต่เนิร์สเซอรี่ไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็น 4-5 เท่าของที่เป็นตอนนี้ พร้อมกับลดงานเอกสารให้เหลือน้อยที่สุด แต่ต้องมีเกณฑ์การสอบเข้าที่เข้มงวดกว่านี้

4) ค่าเล่าเรียน ถ้าเรียนโรงเรียนรัฐให้ฟรีหมด ชุดนักเรียนไม่ต้องบังคับใส่ทุกวัน รัฐจะได้ไม่ต้องเสียเงินอุดหนุนชุดนักเรียน ถ้าจะมีจริงๆ ก็อุดหนุนชุดเดียวต่อเทอมให้เด็กเอาไว้ใส่เฉพาะงานสำคัญของโรงเรียน

5) จัดให้มีอาหารเช้าและกลางวันฟรีทุกวัน เอาแบบงบรายหัวเพียงพอจริงๆ เช่น วันละ 100 บาทและปรับตามสภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่ให้แค่วันละ 20 บาทต่อคน

แน่นอนครับทั้งหมดนี้แพงมาก จึงต้องขึ้นกับรัฐว่าจะอยากให้ประชาชนมีลูกมากแค่ไหน ถ้าต้องการให้ประชาชนมีลูกมากก็ต้องลงทุนเยอะ ถ้าคิดว่าสู้ราคาไม่ไหวก็ต้องยอมรับสภาพว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของประชากรก็จะไม่ดีนักครับ

(ปล.มีผู้ที่แชร์ไปแสดงความเห็นเพิ่มเติมเรื่องการชดเชยรายได้ให้ผู้มีบุตรที่ประกอบอาชีพอิสระ ก็น่าสนใจครับ)”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image