‘ทัศนัย’ คาใจ มช.ไม่ถอนฟ้อง ‘ทวงคืนหอศิลป์’ ทั้งที่อัยการตีกลับ ซ้ำศาลวินิจฉัย ‘คุ้มครองสิทธิ’

‘ทัศนัย-ศรยุทธ’ คาใจ มช.ไม่ถอนฟ้องปม ‘ทวงคืนหอศิลป์’  โวย ไล่ฟ้องคนในมหา’ลัย ไม่มีที่ไหนในโลกทำ

สืบเนื่องกรณี อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design ร่วมกันตัดโซ่และเข้าไปใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะประจำปีตามรายวิชาเรียน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ล่าสุด ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยทางเฟซบุ๊ก Thasnai Sethaseree ว่าวันนี้ (23 ม.ค.) จะเดินทางไปยังศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าพบพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ตามนัดหมายสั่งฟ้อง คดีของ 3 อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั้น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ผศ.ดร.ทัศนัย พร้อมด้วยผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ นายศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่, นายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษา สาขา MEDIA ARTS AND DESIGN และ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เดินทางเข้าพบพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่

นายศรยุทธ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า พวกเราทั้งนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าเหน้าที่ ต้องการมาแสดงเจตจำนง แสดงข้อเท็จจริงแง่หนึ่งที่สังคมสงสัยกันมากว่าเหตุเกิดขึ้นจากอะไร ตนคิดว่าปฐมบทของเหตุการณ์ เกิดจากสาขาวิชา และนักศึกษา ถูกกีดกันปิดกั้นการศึกษาและสิทธิในการเรียนการสอน โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ หอศิลป์ของ มช. ในการแสดงผลงาน ซึ่งเดิมทีมหาวิทยาลัย หรือผู้บริหารในสมัยนั้นอาจเข้าใจว่าถูกปิดกั้น เนื่องจากเหตุผลว่าอยู่ในช่วงโควิด-19 แต่ในแง่ของข้อเท็จจริง ก่อนจัดแสดงงานก็มีนิทรรศการชุดหนึ่งจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ เหมือนกัน และไม่มีเอกสารชี้แจงให้ทราบอย่างชัดเจน ว่าให้หรือไม่ให้ เพราะเอกสารตีกลับไป-มา เอกสารบางส่วนระบุด้วยซ้ำว่าเป็นเพราะผลงานของนักศึกษามีความสุ่มเสี่ยงต่อความมั่งคง ทำงานเรื่องการเมือง แต่เราอยากชี้แจงว่าเป็นเรื่องการเรียนการสอน ถ้าเราไม่สามารถให้นักศึกษาจัดแสดงในวันนั้นได้ นักศึกษาก็จะไม่สามารถตรวจหรือส่งงานได้ ซึ่งเราจัดกันเป็นประเพณีมาแล้ว 10 มีเพียงปีนั้นปีเดียวที่ถูกปิดกั้น

Advertisement

“ผมจำได้ว่าคืนก่อนเกิดเหตุการณ์ นักศึกษาอยู่ที่ทำงานของพวกเรา ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับหอศิลป์ นักศึกษาเกือบ 20 คน ถูกตัดน้ำ ไฟ ในเวลากลางคืน ซึ่งในเหตุการณ์นั้น นักศึกษาได้โทรหาผมกับคณาจารย์ พวกเราได้เข้าไปดูแลนักศึกษา ผมจำได้ว่า 3-4 ทุ่มโดยประมาณ นักศึกษาหลายคนร้องไห้ ส่วนมากเป็น น.ศ.หญิง พวกเราก็เข้าไปปลอบ ให้กำลังใจ และช่วยกันเก็บข้าวของทุกอย่างให้อยู่ในที่ปลอดภัย

ถามว่าถูกตัดน้ำ-ไฟ ทำไมไม่ออกมา เพราะข้าวของงานศิลปะของเขาจะไม่มีคนดูแล ซึ่งต้องทำส่งอาจารย์พรุ่งนี้ด้วย ที่สำคัญคือความปลอดภัย หลังถูกตัดน้ำไฟ ประตูถูกเปิดอัตโนมัติ ทรัพย์สินของสาขาวิชาเรา ทั้งเซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ จะถูกโขมยโดยง่าย เราจึงเอาของไปเก็บในห้องที่ปลอดภัยและล็อกกุญแจ”

Advertisement

เช้าวันต่อมา นักศึกษาจะต้องเข้าไปจัดแสดงงาน ก็เป็นไปตามภาพข่าวที่ออกไป คือมีการตัดโซ่เข้าไปในพื้นที่ คำถามสำคัญในช่วงนั้น คือการตัดโซ่ในครั้งนั้น เกิดจากการพิทักษ์รักษาสิทธิในการเรียนการสอน และสิทธิของนักศึกษา ในการเข้าถึงระบบการศึกษาใช่หรือไม่

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นมีหลากหลายอาชีพ หลายสถานะมาก ไม่ใช่แค่อาจารย์ นักศึกษา ยังมีประชาชนใน จ.เชียงใหม่ มีผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมด้วยกับพวกเราในวันนั้น นับเฉพาะอาจารย์มีตั้งแต่ตำแหน่งธรรมดา ไปจนถึง ศ.ดร. ผมคิดว่าการกระทำในวันนั้น พวกเราได้พินิจอย่างมีวิจารณญาณแล้ว ว่าเป็นสิทธิของนักศึกษาและเพื่อป้องกันไม่ให้นักศึกษาสูญเสียสิทธิมากกว่า เหตุการณ์วันนั้นมีหลายคนช่วยเหลือเรา มีประชาชนเอาอาหารมาให้ มีผู้ปกครองเอาเครื่องปั่นไฟมาให้ ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่สาธารณะอย่างหอศิลปฯ กลายเป็นพื้นที่ราชการ และถูกผูกขาดด้วยระบอบอำนาจ และประชาชนอยากจะเข้าถึงมัน ไม่ใช่แค่เข้าถึงสิทธิการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมผู้บริหารถึงได้ทำเช่นนั้น” นายศรยุทธกล่าว

นายศรยุทธกล่าวต่อว่า ย้อนกลับไป คำตัดสินของศาลปกครองได้วินิจฉัย โดยได้คุ้มครองสิทธิของนักศึกษาและการกระทำในวันนั้นเรียบร้อยแล้ว จากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ได้เข้ามาพิจารณาในคดีนี้แล้วเรียบร้อย และได้ส่งข้อวินิจฉัยเบื้องต้นไปที่ ม.เชียงใหม่แล้ว คดีความก็ยังดำเนินอยู่ เรื่องส่งมาที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ตีเรื่องกลับว่า ‘ไม่ฟ้อง’ หน่วยงานที่ทำงานด้านยุติธรรมในสังคมไทยและเป็นที่น่าเชื่อถือ ทั้ง 3 หน่วยงาน คือศาลปกครอง กสม. และอัยการจังหวัด ได้วินิจฉัยกรณีนี้เรียบร้อยแล้ว

“คำถามผมคือ ทำไม ม.เชียงใหม่ จึงยังดำเนินการฟ้องอยู่ หรือว่าในสายตาของมหาวิทยาลัยเอง สถานะของทั้ง 3 สถาบัน สำคัญมันไม่มีน้ำหนัก หรือไม่ได้ถูกพิจารณาในแง่ของรายละเอียด” นายศรยุทธกล่าว

นายศรยุทธกล่าวด้วยว่า จากข้อที่กล่าวหา จะเห็นว่าไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลระหว่างอาจารย์ แต่กรณีนี้เป็นปัญหาส่วนหนึ่งขององคาพยพในการบริหารงานระดับมหาวิทยาลัยที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการความขัดแย้ง ไมมีความโปร่งใสเพียงพอในการตรวจสอบการใช้อำนาจในหน่วยงานการศึกษา รวมถึงการปิดกั้นสิทธิทางการศึกษา

“ต้องดูว่าผลของดคีจะออกมาเป็นอย่างไร เราคุยกับทีมทนายว่าหลังจากนี้ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะมีข้อสงสัยว่าเป็นการใช้กฎหมายโดยไม่ยุติธรรม รวมถึงการฟ้องปิดปาก คดีอื่นๆ ทีเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเดียวกันนี้ หรือเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ อยู่ในขั้นตอนที่จะพูดคุยกันต่อไป” อาจารย์ศรยุทธกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ทัศนัย กล่าวว่า เนื่องจากมีคำวินิจฉัยที่เสร็จสิ้นแล้วของ กสม. และศาลปกครอง ที่ลงความเห็นว่านักศึกษาได้เข้าไปใช้สิทธิที่จะป้องกันความเสียหายที่จะเกิด ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไทย ให้การรับรองเอาไว้แล้ว เรื่องนี้เกี่ยวพันกับเรื่องอื่นที่ซับซ้อนด้วย เนื่องจาก ม.เชียงใหม่ ไม่ไปถอนฟ้องในขั้นตอนการให้ปากคำในสถานีตำรวจ หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการวินิจฉัยเอกสารของอัยการ ซึ่งความจริง ม.เชียงใหม่ ควรทำความเห็น ถอนฟ้องในเรื่องนี้ได้

“แต่ว่าเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น คือตอนนี้พวกเราและทีมทนายกำลังรวบรวม พยาน เอกสาร และหลักฐานต่างๆ เพื่อจะดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ เกี่ยวโยงกับกรณีอื่นด้วย เป็นการใช้กฎหมายที่เป็นไม่เป็นไปเพื่อความยุติธรรม เป็นการแจ้งความเท็จ หรือเป็นการฟ้องปิดปากหรือไม่ 

ย้อนกลับไปในปี 2562 เกิดเหตุครั้งสำคัญเป็นข่าวดังใน ม.เชียงใหม่ คือนักศึกษาและผู้ปกครองหลายร้อยคน เดินขบวนประท้วงไปที่สำนักงานอธิการบดี เรียกร้องเงินจากการจัดกิจกรรม ‘มีเดีย อาร์ต เฟสติวัล’ ที่เป็นกิจกรรมเดียวกันกับที่ปิดหอศิลป์ ซึ่งเราจัดต่อเนื่อง 10 กว่าปี โดยในปี 2562 นั้นเงินงบฯ ในการจัดคือ 150,000 บาท ซึ่งเป็นงบสำหรับจัดงานกิจกรรมประจำปีอยู่แล้ว นำไปใช้หมวดอื่นไม่ได้ ต้องสำหรับนักศึกษาเท่านั้นเพราะมันมาจากค่าเทอมของเขา เงิน 150,000 นี้ ไม่รู้ว่าใช้ระเบียบไหนของมหาวิทยาลัย มีการตัดงบประมาณเหลือ 5,000 บาท ทำให้การจัดงานในปีนั้นเป็นไปไม่ได้ ทั้งนักศึกษาและผู้ปกครองเขาก็ไม่ยอม ประท้วงกันที่หน้าตึกอธิการบดี ปัจจุบันนี้ผมก็ยังมีข้อสงสัยว่าเงิน 150,000 ไปอยู่ที่ไหน นั่นคือครั้งที่ 1 

หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็มีเหตุที่ผู้บริหารชุดเดียวกัน เข้าไปเก็บผลงานของนักศึกษาใส่ถุงดำ ซึ่งเป็นเรื่องไวรัลที่สังคมรับรู้และกลายเป็นประเด็น ตกลงแล้วบทบาทของ ศิลปะ เสรีภาพ และการศึกษา มันอยู่ตรงไหน

ผศ.ดร.ทัศนัย กล่าวต่อไปว่า นักศึกษา คือ นายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ก็ถูกดำเนินคดี ข้อหา ม.112 จากเหตุผลการฟ้องของใครก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือ ศิลปะชิ้นที่มีปัญหามันถูกเก็บอยู่ในห้องทำงานสตูดิโอของนักศึกษา ซึ่งมีเพียงนักศึกษาและนักการในสาขาของเขาคนเดียวเท่านั้นที่มีกุญแจไขเข้าไปได้ แต่หลักฐานชิ้นนี้ถูกส่งให้ตำรวจ และเราก็สืบถามข้อเท็จจริงจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็ปรากฏว่ามีผู้บริหาร นำผลงานชิ้นนี้ไปมอบให้ตำรวจเอง คือเป็นการฟ้องเอาผิด หรือสนับสนุนในการฟ้องคดีมาตราร้ายแรงกับนักศึกษาของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2564 และเรื่องก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม มีหน่วยงาน กลุ่มประชาคมศิลปินทั่วประเทศ เขียนเอกสาร ออกแถลงการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ แม้กระทั่งสมาคมนักศึกษาเก่า ม.ศิลปากร เอง ก็ประณาม” ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าว

ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นปลายปี 2564 ก็เกิดกรณีการไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการส่งผลงานนักศึกษา ซึ่งเป็นนิทรรศการประจำปีที่จัดต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี โดยขั้นตอนขออนุญาตเราก็ทำไปตามระบบ คือมีการส่งโครงการ ส่งตัวอย่างผลงานพอสังเขป และเรียกร้องเอกสารเพิ่มเติมแบบไหนมา เราก็ส่งให้ไป จนถึงนักศึกษาและผู้ปกครองไปชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถพึ่งผู้บริหารได้ เพื่อไปทวงถามว่าอนาคตของพวกเขา ความฝันของพวกเขาที่จะจบการศึกษา ผู้ปกครองอยากเห็นผลงานลูกหลานของเขา บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดไกลๆ ขั้นตอนมันอยู่ตรงไหน

“ผู้บริหารในสมัยนั้นก็ไม่มีความกล้าที่จะพบ หรือพูดคุยกับผู้ปกครองหรือตัวนักศึกษาเอง มีการหลบหลีก แต่นักศึกษาก็ไปชุมนุมถามความคืบหน้า จนเกิดกรณีที่น่าอับอาย มีวันหนึ่งนักศึกษาไปทวงถาม ว่าผู้บริหารตกลงคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ มีการประชุม แต่ไม่กล้าพบ โดยวิ่งหนีออกทางบันไดหนีไฟด้านหลังของตึก นักศึกษาถ่ายคลิปได้ กลายเป็นไวรัล สะท้อนว่า ม.เชียงใหม่ ไม่คิดจะพูดคุยสืบหาข้อเท็จจริง

หลังจากนั้น นักศึกษาเกือบ 40 คนลงชื่อร้องเรียนคณบดี หรืออาจารย์ของตัวเอง ต่อศาลปกครอง ไม่เคยเกิดเรื่องนี้ในประเทศ หรือในโลก ที่จะขอให้กฎหมายมาคุ้มครอง ร้องเรียนอาจารย์ของเขาเอง ผลฟันธงออกมาว่า นักศึกษามีสิทธิใช้ และมีนัยยะของคำวินิจฉัยว่าผู้บริหารละเลย ละเว้น หรือทำเกินหน้าที่ด้วยซ้ำไป ต้องไปว่ากันในชั้นศาล

กรณีอื่นๆ แทนที่เกิดเรื่องแล้ว มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน โดยที่มีผู้อ้างว่าได้รับมอบหมายอำนาจจาก มหาวิทยาลัย แทนที่มหาวิทยาลัยจะเรียกพวกเราไปพูดคย รับฟังสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ไปปักธงว่าเราทำผิด และจะฟ้อง” ผศ.ดร.ทัศนัยชี้  ทั้งยังตั้งคำถามว่า มีเหตุผลหลังบ้านหรือไม่ ?

ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าวต่อไปว่า เมื่อผู้บริหารคณะครบวาระ 4 ปี จะต้องเลือกตั้งผู้บริหารชุดต่อไป คณะวิจิตรศิลป์รวมทั้งคณะอื่นๆ ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ว่า อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิลงเสียง มาใชสิทธิเกือบร้อย คือ 98 % เป็นฉันทามติร่วมว่า ไม่เอาผู้บริหารชุดนี้

“บางคนเกรงกลัวต่ออำนาจ แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องพูดด้วยความอัดอั้นตันใจ ร้องไห้ และผมได้รับแจ้งมาว่าเนื้อหาบางส่วนบางตอนของเจ้าหน้าที่ที่ลุกขึ้นอภิปรายต่อหน้าคณะกรรมการคัดสรรผู้บริหารชุดใหม่ เจ้าหน้าที่หลายคนถูกขู่ว่าจะถูกฟ้องดำเนินคดี เพราะพูดถึงข้อเท็จจริงของการบริหารงาน

ตรงนี้ผมพูดมาตั้งแต่ไหนแต่ไรว่า เรื่องนี้มหาวิทยาลัยต้องจัดการ ไม่ควรมาถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล มันเป็นความผิดปกติของรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการและศักดิ์ศรีของผู้เป็นอาจารย์ ที่ต้องมีความเมตตาต่อศิษย์ มีเรื่องที่นักวิชาการหรืออาจารย์ควรจะต้องทำ” ผศ.ดร.ทัศนัยระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image