อาศรมมิวสิก : ‘คมความคิด : ดมิทริ ชอสตาโควิช’

ผู้เขียนเองเชื่อในคุณค่าของการได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ เกี่ยวกับดนตรีและศิลปะดีๆ ว่า คุณค่าเหล่านี้มิได้มีเพียงแค่ในตัวผลงานแต่ละชิ้นของศิลปิน แต่มุมมอง-ความคิดของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานทรงคุณค่าเหล่านี้ก็มีคุณค่าควรแก่การเรียนรู้ได้ไม่แพ้กัน บุคลากรในระดับนี้ย่อมมีมุมมอง,โลกทัศน์ที่กว้างไกล มิฉะนั้นคงไม่สามารถสร้างผลงานที่กระตุ้นท้าทายจินตนาการ,ความคิดของมหาชนได้แน่นอน ดังนั้นการได้เรียนรู้ถึงแนวทางความคิดหรือโลกทัศน์ของผู้คนในระดับนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรแก่การเข้าไปสัมผัสเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

ในเว็บไซต์ของนิตยสารดนตรี บี.บี.ซี.(BBC Music Magazine) ได้มีการรวบรวมคำกล่าวของ “ดมิทริ ชอสตาโควิช” (Dmitri Shostakovich) นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิก คนสำคัญชาวรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 20 มารวบรวมไว้ส่วนหนึ่งไม่มากมายนัก ซึ่งความจริงแล้วคำกล่าวเหล่านี้เราก็อาจจะพอพบเห็นได้ในบทความ,หรือหนังสือดนตรีต่างๆ ที่หยิบยกไปกล่าวอ้างถึงกันอยู่
เสมอๆ เสมือนเช่นคำกล่าวของบุคคลสำคัญๆ ของโลกทั้งหลาย ซึ่งสำหรับชอสตาโควิชเองแล้ว เขาเป็นตัวอย่างอันสำคัญยิ่งในแนวคิดที่เรามักจะเคยได้ยินกันมาว่า “ศิลปะไม่เคยแยกตัวออกมาจากสังคม” เป็นที่รู้กันดีตลอดมาว่า ผลงานดนตรีของเขาทำหน้าที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ “โจเซฟ สตาลิน”(Joseph Stalin) ในยุคอดีตสหภาพโซเวียต ได้อย่างแหลมคม เป็นปรากฏการณ์ตัวอย่างแห่งความสัมพันธ์ของดนตรีกับสังคม ที่น่าเรียนรู้และน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงขอหยิบยกคำกล่าวเหล่านี้มานำเสนอและอภิปรายเพิ่มเติมในบางประเด็น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่ามันจะมีประโยชน์และท้าทายทางความคิดต่อทุกๆ คน แม้แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นแฟนเพลงของเขาก็ตาม โดยจะขอหยิบยกมาอภิปรายเป็นข้อๆ ไปดังนี้

1.“ผลงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่นั้นมันจะไพเราะงดงามเสมอไม่ว่าจะนำบรรเลงอย่างไร บทเพลง เพรลูด (Prelude) หรือ ฟิวก์(Fugue) ของบาค(J.S.Bach) สามารถที่จะนำไปบรรเลงในจังหวะความเร็วใดๆ ก็ตามที่อาจจะมีหรือไม่มีความแตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ และมันก็ยังคงเป็นดนตรีที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการแสดงให้เห็นว่าดนตรีที่ยิ่งใหญ่ควรจะประพันธ์อย่างไร เพื่อที่ว่าจะไม่มีใครที่ป่าเถื่อนไร้รสนิยมอย่างไรจะไปทำลาย (ความงาม) มันลงได้” (จากข้อความในจดหมายในปีค.ศ.1955 ที่เขียนถึง “ไอแซค กลิคแมน” (Isaac Glikman) เพื่อนของเขาซึ่งเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม)

ผู้เขียนในฐานะแฟนเพลงตัวยงคนหนึ่งของเขาคิดว่าคำกล่าวนี้ของเขามีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ในกลุ่มบทเพลงแบบดนตรีบริสุทธิ์(Absolute Music) ที่มิได้พรรณนาภาพเหตุการณ์ หรือเรื่องราวใดๆ เช่น ดนตรีของโมซาร์ท(W.A. Mozart) หรือ “บาค” เมื่อนักดนตรีบรรเลงได้ถูกต้องตามตัวโน้ตทุกประการก็มักจะแสดงความหมายทางดนตรีได้(เกือบจะ)ครบถ้วนแล้ว แต่ถ้าหากเป็นดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อบรรยายเหตุการณ์เรื่องราวบางอย่างแบบที่เรียกว่า “ดนตรีพรรณนา” (Program Music) แล้ว การบรรเลงด้วยความถูกต้องตามอักขระตัวโน้ตนั้นดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว มันยังต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกกันว่า “จินตนาการ” และ “การตีความ” (Interpretation)ของศิลปินดนตรีเป็นอย่างมาก การบรรเลงไปตามความถูกต้องของตัวโน้ตที่เขียนขึ้นไม่อาจครอบคลุม,ถ่ายทอดความหมายรอง (การพรรณนาภาพ หรือเหตุการณ์) ได้อย่างหมดจด เพราะดนตรีประเภทนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากที่นักประพันธ์ได้เปิดพื้นที่ว่างทางความคิดให้ศิลปินดนตรีได้เติมเต็มกันตามประสบการณ์,ความคิดของแต่ละบุคคล

Advertisement

ต่อให้เป็นดนตรีบริสุทธิ์ที่ไม่พรรณนา,บรรยายเรื่องราวก็ตาม เราจะพบว่านักดนตรีแต่ละคนก็ยังถ่ายทอดความงามได้ไม่เท่ากัน จึงมีนักดนตรีหลายคนที่แฟนเพลงยอมรับว่าบรรเลงดนตรีบริสุทธิ์แบบของบาคและโมซาร์ทได้ดี จนได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่นักดนตรีฝีมือดีๆ อีกมากก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญดนตรีบริสุทธิ์แบบนี้ ผู้เขียนจึงไม่ยอมรับในแนวคิดนี้ของเขาทั้งหมด และยังจะขอขยายความต่ออีกด้วยว่า แม้แต่ผลงานดนตรีของชอสตาโควิชเองก็ตาม เรายังพบกับปัญหาการตีความดนตรีของเขาที่อาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเขาทั้งหมด เป็นที่รู้ๆ กันดีเสมอว่าเสน่ห์อันสำคัญอย่างหนึ่งในดนตรีของชอสตาโควิช ก็คือ การสร้าง “ความเครียด” ในเสียงดนตรี (เสมือนกับความเครียดที่เป็นเสน่ห์ในศิลปะภาพยนตร์) ดนตรีของเขาซ่อนภาพของความเจ็บปวดของชาวรัสเซียภายใต้รัฐบาล
เผด็จการสตาลิน ความเครียดในเสียงดนตรีจึงเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ และความเครียดในดนตรีของเขาที่ว่านี้เอง เป็นสิ่งที่พวกเราผู้รักดนตรี (หรือแม้แต่ผู้เรียนดนตรี) ได้รับการตอกย้ำอยู่เสมอๆ ว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นทั้งเสน่ห์ และความหมายที่ “ไม่สามารถเขียนเป็นตัวโน้ตได้” ดังนั้น คำกล่าวข้างต้นของชอสตาโควิชนั้นผู้เขียนจึงคิดว่ามีความถูกต้องอยู่ภายในบริบทความหมายที่จำกัดในตัวเอง ที่ควรแก่การนำมาอภิปรายขยายความเพิ่มเติม

2.“เราจะพิจารณาถึงนิยามของคำว่า อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์กันอย่างไรดี? แน่นอนที่สุดมันมิใช่เพียงแค่การแสดงออกด้วย แนวทำนองอันไพเราะงดงาม,ความเศร้าสร้อย หรือ โศกนาฏกรรม แล้ว ‘ความขบขัน’ ล่ะจะไม่สามารถนำไปกล่าวอ้างได้ในฐานะหนึ่งในสถานะอันยิ่งใหญ่นั้นได้หรือ ผมจึงต้องการที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของความขบขันที่จะดำรงอยู่ในดนตรีคลาสสิก (Serious Music)” (จาก “Sovetskoye” ในปี ค.ศ.1934)

ใครก็ตามที่เป็นสาวกทางดนตรีของชอสตาโควิชจะตระหนักดีว่า ตัวเขาเองได้ใช้ “ความขบขัน” นี้เป็นดั่งอาวุธอันแหลมคม ประดุจเหล็กในของผึ้งที่เสียดแทงอำนาจอธรรมได้อย่างเจ็บปวดล้ำลึก ดังนั้นคำว่าความขบขันในนิยามของชอสตาโควิชจึงเป็นเรื่องที่ ต้องทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ ความขบขันในดนตรีของเขามีหลากหลายระดับ,หลากหลายแง่มุม และหลากหลายวัตถุประสงค์ บ่อยครั้งเป็นความขบขันอันขมขื่น เราๆ ท่านๆ ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมายาวนานจะเข้าใจในความหมายนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อประสบกับชะตากรรมที่ถูกข่มเหงรังแกอย่างทุกข์ระทม และยิ่งเมื่อปราศจากทางสู้แล้ว ความขบขันนั่นแหละคือยาวิเศษและทางออกในการบำบัดตัวเราเอง แต่ในอารมณ์ความรู้สึกระดับนี้มันย่อมไม่ใช่ความขบขันในระดับพื้นๆ อันตื้นเขิน ในบางครั้งมันเป็นการหัวเราะเยาะเย้ยในชะตากรรมของตนเอง, ท่านผู้อ่านเคยผ่านอารมณ์ที่สงสารในชะตากรรมของผู้ถูกข่มเหงรังแกจนความสงสารเจ็บปวดนั้นมาลงลึกจนเลยขั้นโศกเศร้าธรรมดาๆ สงสารและบาดลึกจนเลยขั้นหลั่งน้ำตาร้องไห้ มันร้องไห้ไม่ออก แต่มันเจ็บปวดจนกลายเป็นเสียงหัวเราะ(เยาะเย้ย)จากเบื้องลึก นั่นแหละคือ “ความขบขัน” ในนิยามของชอสตาโควิช (และในกระแสเสียงดนตรีของเขา) ที่ผู้เขียนขอบังอาจนำมาขยายความตามความคิด,จินตนาการของตัวเอง

Advertisement

3.“อ้อ พอดีตอนแต่งเพลงนี้เครื่อง เมโทรนอม (Metronome = เครื่องติ๊กต็อกนับจังหวะดนตรี) ที่บ้านผมเสียน่ะ” (ข้อนี้มิได้ปรากฏอยู่ใน BBC Music Magazine แต่ผู้เขียนเคยเองพบเห็นอยู่หลายครั้งและถูกใจเป็นอย่างยิ่ง)

คำกล่าวที่ ยียวน กวนประสาทของเขานี้ มักจะใช้กับวาทยกร (Conductor) หรือศิลปินดนตรีคนใด ที่คิดว่าประสบโอกาสทอง ในยามที่ตัวชอสตาโควิชเองไปร่วมนั่งสังเกตการณ์ในการซ้อมนั้นด้วย และมักจะชอบถือสกอร์ดนตรีผลงานของเขาไปขอคำปรึกษาในการตีความว่าจะบรรเลงผลงานของเขาในลักษณะใดดี หรือควรจะบรรเลงด้วยความเร็วของจังหวะแค่ไหนจึงจะเหมาะสม ชอสตาโควิชเองน่าจะเข้าใจถึงความรู้สึกกดดันของศิลปินดนตรีอย่างถ่องแท้ในยามที่ต้องบรรเลงผลงานดนตรีต่อหน้าเจ้าของบทประพันธ์ที่กำลังไปร่วมนั่งสังเกตการณ์อยู่ จนรู้สึกกดดันอยากจะบรรเลงให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์ทุกประการ จนกลายเป็นดาบสองคม กลายเป็นปราการใหญ่ที่ปิดกั้นจินตนาการใหม่ๆ ของศิลปินดนตรีที่อาจมีมุมมองใหม่ๆ ต่อผลงานดนตรีของเขา ซึ่งนั่นอาจจะเป็นมุมมองทางดนตรีที่ตัวผู้ประพันธ์เองก็คิดไม่ถึง มันจึงเป็นความปรารถนาอันแรงกล้าที่เจ้าของผลงานเองก็อยากแลกเปลี่ยนประสบการมุมมองทางศิลปะใหม่ๆ นี้กับนักดนตรี,ผู้ตีความผลงานของเขา แต่กลับต้องมาอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ว่านี้ คำกล่าวนี้จึงเป็นหนึ่งในอารมณ์ขันอันแสบๆ คันๆ ในแบบของเขาเพื่อที่จะทำลายกรอบความคิดอันคับแคบว่าดนตรีของเขาต้องบรรเลงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งผู้เขียนเองคิดว่าเขา (ชอสตาโควิช) เชื่อมั่นว่า สกอร์ดนตรีของเขามีศักยภาพแห่งพื้นที่ว่างทางความคิดและจินตนาการมากพอที่ศิลปินดนตรีจะใช้มุมมอง,ประสบการณ์ส่วนตัวตีความมันได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวเขาจะดำรงอยู่ในที่นั้นหรือไม่ นัยที่เขาบ่งบอกว่า เมื่อผู้แต่งเพลงตายไปแล้วทีนี้คุณจะหันไปปรึกษาใครได้เล่า ถ้าคุณไม่หัดใช้จินตนาการของตัวเอง (เน้นโดยตัวผู้เขียนเอง)

มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อีกเรื่องหนึ่งที่ “ควร์ท แซนเดอร์ลิง” (Kurt Sanderling) วาทยกรชาวเยอรมันที่เคยอพยพลี้ภัยสงครามไปพำนักในอดีตสหภาพโซเวียต ยาวนานจนได้งานเป็นผู้อำนวยเพลงอยู่ในรัสเซียในยุคนั้น และมีโอกาสประสบพบเจอตัวชอสตาโควิชอยู่หลายครา ได้เล่าถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อการตีตวามผลงานดนตรีของตัวชอสตาโควิชเองไว้ว่า ถ้าหลังการบรรเลงจบลง แล้วชอสตาโควิช เดินไปจับมือกล่าวชมเชยการบรรเลงสั้นๆ แล้วเดินจากไป นั่นคือการแสดงออกตามมารยาทพอเป็นพิธี “ควร์ท แซนเดอร์ลิง” สังเกตว่าถ้าหากชอสตาโควิช ชื่นชมการบรรเลง,การตีความผลงานดนตรีของเขาโดยศิลปินคนใดเป็นพิเศษ เขาจะไม่ออกปากชม หากแต่จะเข้าไปแสดงวิวาทะ,เสนอความคิดหรือแม้แต่โต้แย้ง ทำไมตรงนี้คุณไม่เล่นแบบนั้นแบบนี้ ผมคิดว่า……..แบบนี้น่าจะดีกว่า (หรือคุณว่ายังไง?)……….ฯลฯ สารพัดสารพันที่บางทีก็ดูประหนึ่งว่า จะเข้าไปชวนทะเลาะ “ควร์ท แซนเดอร์ลิง” กล่าวว่า นั่นแหละ คุณปลุกเร้าความสนใจของเขาสำเร็จแล้ว!!

4.“ถ้าหากใครบางคนกำลังผิดหวัง แสดงว่าเขาผู้นั้นกำลังเชื่อ (ศรัทธา) ในบางสิ่ง,บางอย่างอยู่” (จากหนังสือ “Testimony” หนังสือที่สร้างความอื้อฉาวในตัวชอสตาโควิชและตัวผู้เขียนเป็นอย่างมาก)

ในมุมมองโดยส่วนตัวของผู้เขียนเองแล้ว ชอสตาโควิชเป็นนักคิด,นักปราชญ์คนหนึ่งที่มีความเข้าใจโลกและชีวิตเป็นอย่างสูง และได้สะท้อนมุมมองเหล่านั้นผ่านศิลปะที่เขาได้รังสรรค์ขึ้นเสมอๆ คำกล่าวในมุมมองต่อโลกและชีวิตของเขาจึงเป็นคำกล่าวที่มีคุณค่าทางความคิดไม่แพ้กัน ชีวิตของศิลปินหัวแข็ง,หัวดื้อ ไม่ใช่เด็กดีของรัฐย่อมนำพาความกดดัน,ความทุกข์ระทมมาให้ไม่มากก็น้อย ความผิดหวังกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ,กลายเป็นอีกมุมหนึ่งของชีวิตที่ต้องมีวิธีบริหารจัดวางให้ถูกที่ถูกทางไม่กลายมาเป็นอุปสรรคเกะกะในวิถีชีวิตและวิถีความคิด คำกล่าวในข้อ 4.ที่ว่านี้จึงสะท้อนให้เห็นความเป็นธรรมดาแห่งศรัทธาของมนุษย์โลกต่อสรรพสิ่งรอบตัว ความหวัง,ความศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งใดๆ สร้างความหมายให้กับชีวิตมนุษย์ และความผิดหวังในชีวิต,ความเสื่อมศรัทธาในสิ่งที่เคยนับถือเชื่อมั่นก็เป็นธรรมดาโลกอีกเช่นกัน ชอสตาโควิชจึงเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ปรารถนามุมมองใน “ความจริง” (ความจริงที่บางทีก็เต็มไปด้วยความย้อนแย้งในตัวเอง) คำกล่าวสั้นๆ ในข้อนี้ของเขาจึงตีแผ่มุมมองของโลกที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งนี้ได้เป็นอย่างดี ใจความสรุปก็คือว่า “…..ถ้าคุณผิดหวัง ก็แสดงว่าคุณยังมีความหวัง…..” นั่นเอง

ขอขยายความเป็นการปิดท้ายบทความในครั้งนี้อีกสักนิดว่า ในหนังสือ “Testimony” เล่มนี้ เป็นหนังสือที่เขียนโดย “โซโลมอน วอลคอฟ” (Solomon Volkov) ที่ตีพิมพ์หลังมรณกรรมของชอสตาโควิช และอ้างว่าเป็นข้อความ,คำพูดที่ชอสตาโควิชกล่าวไว้ด้วยตนเองทั้งหมด หลังหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ (ในปี ค.ศ.1979) ได้สร้างความอื้อฉาว,ข้อถกเถียงครั้งใหญ่ ผู้ใกล้ชิดหลายคน (ที่น่าเชื่อถือ) ยืนยันว่าเป็นคำพูดความคิดของเขาจริงๆ ในขณะที่ผู้รู้อีกหลายคนปรามาสว่า “ยกเมฆ” สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น หลังจากอ่านมาแล้ว ไม่ขอหยุดคิดเพียงแค่ว่า “ของจริง” หรือ “ยกเมฆ” แต่ขอออกความเห็นสั้นๆ ว่า ใครก็ตามที่พูด,คิดเห็นและมีมุมมองสะท้อนโลกและชีวิตได้แหลมคมปานนี้ เขาผู้นั้นยิ่งใหญ่ทางความคิดมาก,ควรค่าแก่การเรียนรู้สำหรับทุกคนเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าเขาจะชื่อ “Dmitri Shostakovich” หรือไม่ก็ตามที

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image