คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : ตามสิ่งมีชีวิตนอกโลก (3)

ในปี 1984 นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งค้นพบหินที่อาจเป็นอุกกาบาตจากดาวอังคารที่ทวีปแอนตาร์กติกา อุกกาบาตดังกล่าวมีชื่อ Allan Hills 84001 การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ชัดว่ามันน่าจะหลุดกระเด็นออกมาจากผิวดาวอังคารเมื่อ 17ล้านปีก่อนและตกลงสู่โลกเราเมื่อ 13,000 ปีก่อน

1

ต่อมาในปี 1996 มีการค้นพบโครงสร้างบางอย่างที่ “อาจ” เป็นฟอสซิลของแบคทีเรียในอุกกาบาตก้อนนั้น แต่ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์ไม่เชื่ออีกต่อไปว่าโครงสร้างที่เห็นคือฟอสซิลของแบคทีเรียโบราณเนื่องจากโครงสร้างเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่าขนาดแบคทีเรียที่เรารู้จักกันมาก และที่สำคัญโครงสร้างเหล่านี้สามารถเกิดจากกระบวนการทางเคมีธรรมดาๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมาจากแบคทีเรีย

สรุปก็คือ รูปลักษณ์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการยืนยันว่า มันเคยมีชีวิต

Advertisement

2
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดาวอังคารยังคงเป็นสถานที่ที่มนุษย์เราให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องกระทั่งมนุษย์กลุ่มหนึ่งมีแผนการจะไปตั้งรกรากอาณานิคมอยู่บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนั้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดาวอังคารมีสมบัติหลายอย่างที่คล้ายกับโลก ได้แก่

– 1 วันบนดาวอังคารยาวนานประมาณ 24 ชั่วโมง 39นาที 35 วินาทีซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับระยะเวลา 1วันบนโลก

Advertisement

– แกนหมุนของดาวอังคารเอียง 25.2 องศา ใกล้เคียงกับแกนหมุนของโลกซึ่งเอียง 23.5องศา ดังนั้นบนดาวอังคารจึงเกิดฤดูกาลเช่นเดียวกับฤดูกาลบนโลก อย่างไรก็ตาม แต่ละฤดูกาลนั้นเกิดขึ้นด้วยระยะเวลายาวนานกว่าบนโลกเนื่องจากดาวอังคารโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยเวลา 1.88 ปีของโลก

– ที่สำคัญ ข้อมูลจากยานสำรวจดาวอังคารล้วนบ่งชี้ว่าในปัจจุบันบนผิวดาวอังคารมีน้ำไหลซึมอยู่

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อดีที่ทำให้มนุษย์เราไม่ต้อง “ปรับ” อะไรมากในการไปตั้งรกรากอยู่บนดาวอังคาร แต่อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างหลายอย่างก็เป็นประเด็นสำคัญที่มนุษย์เราต้องทำการปรับสภาพดาวอังคารให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต (Terraforming of Mars) ได้แก่

3

– ความโน้มถ่วงบนผิวดาวอังคารนั้นต่ำเพียงแค่ 38% ของความโน้มถ่วงบนผิวโลก (ดังนั้นคนที่หนัก 70 กิโลกรัมบนโลก จึงหนักเพียง 28 กิโลกรัมบนดาวอังคารเท่านั้น คิดง่ายๆว่าคูณน้ำหนักตัวเราบนโลกด้วย 4/10 ก็จะได้น้ำหนักตัวเราบนดาวอังคาร) นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าการอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในระยะเวลาหนึ่งส่งผลเสียต่อกระดูก,กล้ามเนื้อและระบบหลายอย่างของร่ายกาย แต่ความโน้มถ่วงต่ำระดับดาวอังคารนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

– เนื่องจากดาวอังคารอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ดังนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวอังคารจึงต่ำกว่าบนโลก อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกราวๆ 15องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวดาวอังคารนั้น -63 องศาเซลเซียสซึ่งนับว่าต่ำมากๆ สำหรับมนุษย์ทั่วไปอย่างเรา

– ปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ บนดาวอังคารไม่มีสนามแม่เหล็กและมีชั้นบรรยากาศที่เบาบางมาก ดังนั้น รังสีต่างๆ จากทั้งลมสุริยะและรังสีคอสมิกย่อมเข้าสู่พื้นผิวดาวได้โดยง่าย

ปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ได้อย่างไรและในตอนนี้ใครบ้างที่คิดจะส่งมนุษย์เราไปตั้งรกรากอยู่ที่ดาวอังคาร

ผมจะบรรยายเรื่องนี้ให้ฟังวันที่ 2 ธันวาคม 2559 เวลา 16.30-18.00 น. ที่โรงแรมคุ้มภูคำ ห้องประชุมสวรรคโลก จังหวัดเชียงใหม่ ในงานประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชน (TACS)

ฟังฟรี มาลงทะเบียนหน้างานได้เลยนะครับ

สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ardwarong

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image