นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงยุติธรรมให้คนตาย 14 ปี ‘เมษา-พฤษภา 53’

นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงยุติธรรมให้คนตาย 14 ปี ‘เมษา-พฤษภา 53’

นิรโทษกรรมให้คนเป็น
ทวงยุติธรรมให้คนตาย
14 ปี ‘เมษา-พฤษภา 53’

เดินทางเข้าสู่ปีที่ 14 แห่งความตายของเหยื่อจากเหตุการณ์ ‘เมษา-พฤษภา 53’
และปีที่ 14 แห่งความเจ็บปวดของผู้ที่ยังมีชีวิตและลมหายใจในฐานะครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนร่วมอุดมการณ์

19 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังทำบุญอุทิศส่วนกุศล ชี้จุดเกิดเหตุ ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ใจกลางกรุงในช่วงเช้า

Advertisement

ตกบ่ายจนถึงเย็นย่ำและค่ำคืนที่ฝนโปรยปรายอย่างหนักหน่วง งานรำลึกที่จัดโดย คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ณ แยกราชประสงค์ดำเนินอยู่อย่างมีความหมาย

ป้ายไวนิลเบิ้มๆ สีดำทะมึน พร้อมข้อความสีขาว ‘นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงยุติธรรมให้คนตาย’ ถูกติดตั้งอย่างโดดเด่น

ไม่เพียงเวทีหลักของ คปช.53 ที่นำทีมโดยเหล่าแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ ‘นปช.’ ยังมีอีก 3 เวทีย่อย

Advertisement

ชวนให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือปีแรกของงานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวที่มีถึง 4 เวที

รถกระบะเครื่องเสียงของ ‘ภาคีแดงใหม่ 4 ภาค-กลุ่มแดงเสรีชน’ เปิดเวทีย่อย ปูเสื่อสำหรับผู้ฟังนั่งพื้น โดยประกาศว่า การปราศรัยวันนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการรำลึกถึงวีรชนเท่านั้น ขอไม่มีการเมืองแอบแฝง ยืนยันเป็น ‘แดงเข้ม’ โดยมีคนเสื้อแดงจากจังหวัดต่างๆ ร่วมสมทบ อาทิ เชียงใหม่ ชลบุรี และ พระนครศรีอยุธยา

เสื้อยืดสีแดงสะดุดตาด้วยภาพการ์ตูนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พร้อมข้อความ ‘Tony FC’

ตัดภาพไปที่แยกราชประสงค์ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงทางเดินเท้าพอดิบพอดี มีการร่วมจุดเทียน วางดอกไม้รำลึกผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้ร่วมกันส่องแฟลชจากโทรศัพท์มือถือขึ้นฟ้า เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อีกทั้งการแสดงละครสั้น พร้อมรัวกลองโดย ‘คณะราษฎรัมส์’

พะเยาว์ อัคฮาด มารดา กมนเกด อัคฮาด หรือ ‘น้องเกด’ จับไมค์ระบายความอัดอั้นตลอด 14 ปีที่พ้นผ่านไปด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัสในฐานะแม่ผู้สูญเสียลูกจากกระสุนปริศนาในเขตอภัยทานอย่างไม่มีวันกลับ

ด้านเวทีใหญ่ สลับสับเปลี่ยนด้วยการขึ้นปาฐกถาและปราศรัยอย่างเข้มข้น

และนี่คือส่วนหนึ่งของถ้อยคำสำคัญในวันรำลึกที่ไม่ใช่แค่เพียงการระลึกถึง หากแต่เน้นย้ำการขับเคลื่อนทวงความยุติธรรมคืนทุกศพที่สิ้นลมกลางถนนแห่งการต่อสู้

ค้ำยันพื้นที่สังคมคือเรื่องใหญ่
บรรลุเป้าด้วยความหลากหลาย
อธิปไตยที่ไม่ได้เป็นเอกพจน์

“กลุ่มคนเสื้อแดง เกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาเชื่อว่าดำเนินนโยบายที่ตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของพวกเขา นอกเหนือจากกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งมีความผูกพันกับนักการเมืองแล้วนั้น ช่วงเวลาต่อมาก็มีกลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้นมามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ.2553 ซึ่งแต่เดิมส่วนใหญ่กำลังหลักของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมาจากภาคเหนือ และภาคอีสาน แต่หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ได้มีการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มที่เห็นใจพี่น้องคนเสื้อแดงมากขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนของเพื่อนเก่า ปัญญาชน นักกิจกรรม และในส่วนของนักวิชาการที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

จากกรณีที่ผมเองเคยศึกษาเกี่ยวกับคนเสื้อแดง หลังจากที่มีสลายการชุมนุมปี 2553 นั้นเราจะเห็นว่าคนเสื้อแดงมีหลายเฉด อาจจะไม่มีแค่สีแดงที่ยึดโยงอยู่กับพรรค หรือคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพียงคนเดียว แต่มาจากกลุ่มเพื่อนเก่า มาจากกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม มีทั้งปัญญาชนสาธารณะ มีทั้งนักวิชาการที่รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเท่าเทียม

ช่วงรัฐประหารปี 2557 กลุ่มความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ต้องปิดฉากลงในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้ทุกคนต้องสลายตัวแยกย้ายกันไป แต่ต่อให้ไม่มีองค์กรนำ เช่น นปช.เหมือนตอนนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังคงอยู่

กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งมีจิตใจรักประชาธิปไตย ก็ไปร่วมกับกลุ่มขับเคลื่อนต่างๆ เช่น กลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐประหาร และมีกิจกรรมผุดขึ้น อาทิ การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ถึงแม้ว่าแกนนำอาจจะไม่ใช่คนเสื้อแดงที่เป็นแกนนำรุ่นเก่า แต่แนวทางที่คล้ายคลึงกันก็ไปด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นต่อให้จะพยายามปราบกลุ่มคนเสื้อแดงมากเท่าไหร่ คนเสื้อแดงก็ยังมีความเคลื่อนไหวและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ในปี 2564 ก็จะมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวในนามของแกนนำกิจกรรมทางสังคม เช่น คาร์ม็อบ นำโดย บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ ในช่วงเวลานั้นค่อนข้างน่าสนใจมากเพราะพี่น้องคนเสื้อแดงเข้าร่วมกิจกรรมเยอะมากโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มาจากภาคอีสาน และกระจายไปทุกจังหวัด และจัดขึ้นประมาณ 43 ครั้ง เป็นอย่างต่ำและมักจะจัดขึ้นในจังหวัดที่ไม่เคยมีการชุมนุม หรือ พื้นที่ที่ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แต่เมื่อมาถึงปี 2566 เหตุการณ์สำคัญที่เป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดที่เรียกว่า หญ้าแพรกก็แหลกลาญ คือ การตั้งรัฐบาล ซึ่งแต่เดิมก็มุ่งหมายว่าจะได้รัฐบาล ที่มีแนวทางประชาธิปไตย คล้ายคลึงกัน ร่วมจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเหตุผลกลไกประการอื่นก็เป็นเหตุทำให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งชนะอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นเหตุทำให้พรรคอันดับ 2 ขึ้นมาเป็นรัฐบาลพอถึงตรงนั้น ก็มีการจับมือร่วมกับบางพรรค ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เป็นตัวแทนทำรัฐประหาร จึงมีการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนฝ่ายของกลุ่มคนเสื้อแดงที่กระจายย้ายข้างไปอยู่อีกฝ่ายมากขึ้น

2 ข้อหมวดใหญ่ที่ขอฝากให้ชวนคิดต่อไป คือ

1.เราจะรักษาดุลยภาพของการเคลื่อนไหวทางการเมืองทางสังคมเพื่อประโยชน์สาธารณะกับวาระทางการเมืองเพื่อชัยชนะในสภาทางการเมืองได้อย่างไร แม้ว่าจะยังมีความท้าทายอยู่มากเพราะมีสิ่งที่เรียกว่าความเหลื่อมซ้อนของสังคมประชากับสังคมการเมือง

2.อำนาจอธิปไตยอาจจะไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะรัฐบาล เราสามารถมีอธิปไตยที่ไม่ได้เป็นเอกพจน์ ที่สามารถหลากหลาย ซึ่งปรากฏรูปลักษณ์หลายแบบได้ และไม่ต้องอาศัยเฉพาะผ่านทางตัวแทนเสมอไป เพราะเราเคยมีการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง

เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงเป้าหมายของการปกครองของระบบรัฐสภา แต่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ด้วยตัวของเราเองด้วยวิธีการที่หลากหลายและการค้ำยันพื้นที่ทางสังคมยังคงเป็นเรื่องใหญ่ในช่วงเวลานี้

ขอไว้อาลัยแด่คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในเดือนเมษายน 2553 รวมถึงพวกกลุ่มคนเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เสียชีวิตทุกคนที่ผ่านมาและขอเป็นพลังใจให้กับทุกท่านในการสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ร่วมกัน”

ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนหนึ่งของการปาฐกถา ‘แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ’

 

รำลึกเสื้อแดง ‘ไม่ใช่เช็งเม้ง’
ขับเคลื่อน 3 ข้อ
เร่งรัดคดี-แก้กฎหมาย
ไม่ลื่นไถลรับผลประโยชน์

“เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะประธาน นปช. ตราบใดที่ยังมีชีวิต และตราบใดที่ญาติวีรชนทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ เราจำเป็นต้องตั้งคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 เพื่อขับเคลื่อนทวงความยุติธรรม เราจะทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่ได้เพิ่งทำตอนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แม้ในยุครัฐประหาร ต้องร่อนเร่จัดในวัด ถูกคุกคาม เพราะเป็นภาระหน้าที่ที่ยังไม่สิ้นสุด ตนมีชีวิตเพื่อคนที่พลีชีพ

สีแดง ไม่ใช่สีของพรรคใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่ต่อต้านเผด็จการ นี่คืออุดมการณ์ ไม่จำเป็นว่าเรารักหรือไม่รักพรรคไหน

เราต้องยืนหยัดรักษาเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของคนเสื้อแดง ทั้งที่ตายแล้ว และยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เป็นวีรชน ได้รับเงิน แล้วจบ

งานรำลึกคนเสื้อแดง ไม่ใช่งานเช็งเม้ง ไม่ใช่แค่รำลึก แต่ต้องเป็นกระบวนการทางการเมืองในการต่อสู้ทวงความยุติธรรม เวลาผ่านมา 14 ปี ข้อเสนอของเรา 3 ข้อ ใครๆ ก็รู้

1.ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดคดีความที่ยังไม่ได้กระทำตามกฎหมาย นี่คือเรื่องของรัฐบาล เราจึงต้องประสานงานกับพรรครัฐบาล

2.แก้กฎหมายที่จะทำให้นักการเมือง และทหารมีศักดิ์ศรีเท่ากับประชาชน เมื่อคุณทำผิดทางอาญาต่อประชาชน ต้องขึ้นศาลเดียวกันกับประชาชน จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต้องขอความร่วมมือทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เราจึงไม่เป็นศัตรูกับพรรคไหนทั้งสิ้น แม้จะมีการข้ามขั้ว เพราะเวลาและการกระทำ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ต้องพูดเรื่อง ไอซีซี ซึ่งยากมาก แต่เราก็ยังเรียกร้อง

3.ประการสุดท้าย และสำคัญ คือ เราต้องเน้นจุดยืน อุดมการณ์ ไม่ให้ลื่นไถลไปกับการรับผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

อีกไม่นานอาจมีรัฐประหารก็ได้ แล้วจะเอาอย่างไร ควรมีแดงกี่แบบ ดิฉันคิดว่าควรเหลือแดงต่อต้านรัฐประหาร

คุณต้องรู้ว่าประเทศนี้ยังมีสงครามระหว่างฝ่ายจารีต อำนาจนิยม และฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยดำรงอยู่ พิสูจน์ให้เห็นเป็นระยะตลอดมา อย่านึกว่าปรองดองหมดแล้ว”

ธิดา ถาวรเศรษฐ
อดีตแกนนำ นปช.

4 เวที ‘ก็เสื้อแดงทั้งนั้น’
วันนี้ทรรศนะต่าง แต่ไม่มีใครด้อยค่า

“นี่ถือเป็นครั้งแรกในการจัดงานรำลึกที่ตลอดแนวถนนราชดำริเต็มไปด้วยกิจกรรมของคนเสื้อแดง ไม่ต่ำกว่า 4 กลุ่ม ซึ่งผมเดินคุยทุกกลุ่ม

แม้มีทรรศนะต่างกัน แต่ไม่เห็นมีใครปฏิเสธความความเป็นคนเสื้อแดง ไม่มีใครด้อยค่าว่าการต่อสู้กว่า 10 ปีที่ผ่านมาไม่ควรค่าแก่การยกย่อง อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้สู้เพื่อคว้าชัยชนะแบบนี้ แต่สู้เพื่อเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืนประชาชน คือการเลือกตั้งทั่วไป มีข้อเรียกร้องพื้นฐานที่สุดคือ ยุบสภา

เราสู้เพื่อรัฐบาลที่ประชาชนมีสิทธิเท่ากัน และการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่กลับแลกมาด้วยความตาย การบาดเจ็บ ถูกยัดเยียดว่า เผาบ้านเผาเมือง ม็อบรับจ้างไร้การศึกษา แต่เราเดินมาจนปัจจุบันที่ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่ใครบางคนที่เคยเหยียบย่ำ ยังต้องแสดงออกถึงการคารวะ สดุดี

เสื้อแดงที่จัดกิจกรรมทุกจุด ความจริงที่พบคือ ทุกกลุ่ม คือ เสื้อแดงทั้งนั้น ไม่มีใครสวมรอย ปลอมตัวมา ผมเดินคุยตลอดแนว สัมผัสได้ว่า นี่แหละ พี่น้องเรา แม้วันนี้แต่ละกลุ่มอาจสนับสนุนแนวทางพรรคการเมืองไม่ตรงกัน แค่นี่คือเสรีภาพ และวิถีทางประชาธิปไตย และสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนทุกคน”

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
อดีตแกนนำ นปช.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image