บพค. จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการสำรวจเส้นขอบฟ้าในอวกาศ

บพค. จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการสำรวจเส้นขอบฟ้าในอวกาศ ขับเคลื่อนการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ จากความร่วมมือของ บพค. – ม.เกษตรฯ – จิสด้า – องค์การนาซา พร้อมผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมของมวลมนุษยชาติ

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 67 ได้มีการจัดการประชุมรายงานความก้าวหน้าโครงการสำรวจเส้นขอบฟ้าในอวกาศ “TLC: Space Experiment Horizon” ขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลลูน โรงแรมเดอะเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาบนสถานีอวกาศนานาชาติเข้าร่วม เพื่อรายงานและแถลงความก้าวหน้าของโครงการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ (Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยในการดำเนินโครงการอวกาศ

ศ.ดร.สมปอง กล่าวต่อว่า โครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) มีที่มาจากบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างองค์การ NASA โดย Dr. Meredith M. Mckay, Director of Human Exploration and Operations Division และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564 เพื่อให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม เข้าร่วมในการศึกษาผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) เนื่องจากองค์การ NASA เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีผลึกเหลวเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจอภาพผลึกเหลวสำหรับอวกาศ โดย MOU นี้เป็น MOU แรกระหว่าง NASA และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับการทดลองอวกาศ

Advertisement

ทั้งนี้ โครงการ TLC นี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม(บพค.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ GISTDA เป็นจำนวนรวม ณ ปัจจุบันกว่า 90 ล้านบาท โดยปัจจุบันอุปกรณ์เพย์โหลดสำหรับการศึกษาผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติได้ดำเนินการไปกว่า 60% แล้ว และมีแผนการส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติโดยเที่ยวบินจรวด SpaceX-32 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ โดยมีแผนการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 3 เดือน และการทดลองดำเนินการโดยนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นผู้ทำการทดลองให้ รวมถึงควบคุมการทดลองโดยทีมนักวิจัยไทยที่สถานีควบคุมที่เมือง Houston

สำหรับการทดลองผลึกเหลว (Liquid Crystal) ในอวกาศนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยี Liquid Crystal Display (LCD) ขั้นสูงกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายเป็นหน้าจอโทรศัพท์มือถือ จอทีวี กระจกอัจฉริยะ (smart glass) ที่ปรับแสงได้อัตโนมัติในรถยนต์ และหน้าต่างเครื่องบินรุ่นใหม่ก็ล้วนแต่มาจากเทคโนโลยีผลึกเหลวนี้ทั้งสิ้น โดยอุตสาหกรรมผลิตจอภาพ LCD ในปัจจุบันนี้มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มการเติบโตถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2572 ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประชากรโลกทุกระดับชั้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image