‘การศึกษา’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้คนไทยทุกช่วงวัยได้รับ

เพื่อเป็นต้นทุนทางปัญญาที่สำคัญในการพัฒนาทักษะ คุณลักษณะ และสมรรถนะในการประกอบสัมมาชีพและการดำรงชีวิต

แต่ปัจจุบัน ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 การศึกษาขั้นพื้นฐานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบจึงได้มอบภารกิจหลักให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวางกรอบเป้าหมายและทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ

โดยมุ่งจัดการศึกษาให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานตามความต้องการของตลาดงานและการพัฒนาประเทศสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน

ที่จะปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษา ให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสม และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ พร้อมจัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ ความสนใจของผู้เรียน เพื่อในอนาคตจะได้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปพร้อมกัน

Advertisement

จัดทำแผนแม่บทการศึกษาให้ทันสมัย สอดรับการเปลี่ยนไปของโลก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือ สกศ. นั้นมีหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมกีฬากับการศึกษาทุกระดับ ล่าสุดได้จัดทำ ‘แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2574’ ขึ้น เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษา โดยจะเน้นการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความครอบคลุม อันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สกศ. เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศในทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เราเป็นเหมือนเข็มทิศคอยบอกว่าทิศทางการศึกษาของไทยจะเป็นอย่างไร ผ่านข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ ที่มีตั้งแต่ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มาร่วมปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาที่ถูกต้อง

Advertisement

จัดการสอบวัดความสามารถ เปลี่ยนผ่านสู่โลกอนาคต

นอกจากการเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานของการศึกษาไทยแล้ว สกศ. ยังมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาความคิดและความสามารถเด็กไทย จึงได้จับมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD จัดสอบโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ถือเป็นการสอบที่มุ่งเน้นประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาระดับมัธยมฯ ของประเทศต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะจัดขึ้นทุก 3 ปี เพื่อวัดทักษะความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์

ซึ่งการประเมิน PISA ในรอบถัดไป จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2568 โดยจะเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และมีการประเมินเพิ่มเติมด้านการเรียนรู้ในโลกดิจิทัลเพิ่มเข้ามาอีกด้วย

“หากอยากให้การศึกษาประเทศไทยพัฒนาทัดเทียมนานาประเทศในเวทีโลกได้ สำคัญคือต้องมีความเป็นสากล เราต้องคอยมองว่าโลกข้างนอกกำลังสนใจและมุ่งไปทิศทางไหน การศึกษาในแต่ละปีเป็นอย่างไร เพื่อที่ สกศ. จะได้ออกแบบแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันและโลกอนาคตได้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนสูงสุด”

‘3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม’ เสริมเด็กไทยให้แกร่งขึ้น

ไม่ใช่แต่เศรษฐกิจเท่านั้นที่ถูกแช่แข็ง แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้เด็กไทยเกิดวิกฤตด้านการศึกษา มีปัญหาเรื่องภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปถึง 2 ปี (Learning Loss)

ดร.อรรถพล เล่าว่า เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตในประเด็นต่างๆ จึงได้มีการเสนอนโยบาย ‘3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม’ คือ เร่งความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม เร่งสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า และเร่งเสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก ต่อด้วยลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยก่อนวัย 2 ขวบ ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย และลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ที่สำคัญต้องเพิ่มกิจกรรม ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นหลากหลาย อาทิ ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย เพิ่มการเล่าและอ่านนิทานสม่ำเสมอ และเพิ่มความรัก ความใส่ใจและส่งเสริมเวลาคุณภาพของครอบครัว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตต่างๆ เพื่อให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ธนาคารหน่วยกิต สร้างโอกาสทางการศึกษา

ที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนโอกาสทางการศึกษามากมาย เพื่อให้ประชากรมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ‘ธนาคารหน่วยกิต’

“ธนาคารหน่วยกิตเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว แต่ในปีนี้ สกศ. จะเดินหน้าดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ส่งเสริมทุกคนให้ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทุกคนสามารถสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษาที่ขึ้นทะเบียนมากกว่าหนึ่งแห่งได้ และนำผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงจากที่ทำงานระหว่างการศึกษา มาเทียบโอนหน่วยกิตและสะสมในธนาคารหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต” ดร.อรรถพล ปิดท้าย

การที่ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ไม่เพียงเป็นใบเบิกทางในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และการยกระดับชีวิตของตัวเราเองเท่านั้น แต่การศึกษายังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่า มีความสามารถในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image