อุบลราชธานีอ่วม หลายชุมชนในวารินฯท่วม 2 เมตร หลายไฟลต์ลงจอดไม่ได้ มท.1 มอบแนวทางแก้

อุบลราชธานี-พิษ ‘โนรู’ โดยเฉพาะ อ.วารินชำราบ หลายชุมชนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร จนท.กู้ภัยนำเรือท้องแบนลุยช่วยชาวบ้าน เครื่องบินลงจอดไม่ได้ รมว.มหาดไทยมอบแนวทางการทำงานแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมและรับมือพายุโนรูแก่ผู้ว่าฯอุบลราชธานี ให้ติดตามและประเมินสถานการณ์นำเข้าสู่แผนการป้องกัน

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยอิทธิพลพายุ “โนรู” ส่งผลให้เที่ยวบิน VZ226 ของไทยเวียตเจ็ท กำหนดออกจากสุวรรณภูมิเวลา 06.30 น. ถึง จ.อุบลราชธานี เวลา 07.30 น. แต่ไม่สามารถลงจอดที่อุบลราชธานีได้ ทำให้ต้องตีเครื่องกลับมาสุวรรณภูมิ ก่อนจะมีการออกบินอีกครั้งในช่วงสายที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถลงจอดได้

รวมถึงเที่ยวบินอื่นๆ จากสนามบินดอนเมืองก็ไม่สามารถลงจอดได้ ส่งผลให้เที่ยวบินจำนวนหนึ่งต้องบินกลับไปที่สถานีต้นทาง

รวมถึงคณะของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีกำหนดการเดินทางมา จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจติดตามความพร้อมรับสถานการณ์พายุโนรู ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน-1 ตุลาคม แต่ด้วยสภาพอากาศปิด มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้คณะต้องเปลี่ยนแผนไปลงที่สนามบินขอนแก่น แล้ววิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากศาลากลาง จ.ขอนแก่น ไปยัง จ.อุบลราชธานี และทุกจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ปรากฏว่า จ.ขอนแก่น ก็มีฝนตกหนักเช่นกัน จึงประเมินว่าขากลับจะไม่สามารถทำการบินได้ จึงเปลี่ยนที่หมายใหม่ไปประชุมที่ศาลากลาง จ.พิษณุโลก แทน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฝนตกต่อเนื่องทำให้หลายพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะ อ.วารินชำราบ หลายชุมชนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องนำเรือท้องแบนลุยช่วยชาวบ้าน พร้อมอพยพไปอยู่ตามศูนย์พักพิงที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ กว่า 500 ครอบครัว รวมกว่า 1,900 คน

ขณะเดียวกันชาวบ้านบางชุมชน เช่น ชุมชนท่ากอไผ่ ซึ่งเคยอพยพหนีน้ำมาพักอาศัยอยู่ใต้สะพานเสรีประชาธิปไตยได้เพียง 3-4 วัน พบว่าวันนี้ระดับแม่น้ำมูลสูงเกินกว่าที่ทางการคาดการณ์ ทำให้ต้องรื้อถอนเต็นท์อพยพหนีน้ำรอบสองไปอยู่ที่สูงขึ้นอีก และบางส่วนที่อพยพมาอยู่รอบสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบ เมื่อเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโนรู ทำให้น้ำท่วมภายในเต็นท์ที่พัก เนื่องจากจุดที่เต็นท์ตั้งอยู่ริมถนนเป็นที่ต่ำ ทำให้เกิดน้ำขังรอการระบาย จึงเตรียมอพยพหนีน้ำขึ้นไปอยู่ใกล้สำนักงานเทศบาลเมืองวารินชำราบ ซึ่งเป็นที่สูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านอาหารที่ขายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล บริเวณหาดคูเดื่อ อ.เมืองอุบลฯ ถูกน้ำท่วมแล้ว และที่บ้านท่าลาด ต.เหล่าแดง อ.ดอนมดแดง ชาวบ้านพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เร่งอพยพวัว ควาย หนีน้ำท่วมขึ้นไปยังที่สูง

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยเตรียมรับมือพายุโนรู ผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์จาก จ.พิษณุโลก มอบแนวทางการทำงานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม และรับมือพายุโนรู โดยเน้นย้ำให้ทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินสถานการณ์พื้นที่ใดได้รับผลกระทบบ้าง จึงจะนำไปสู่การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน รวมทั้งการสร้างความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า ขณะนี้ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบอุทกภัย 14 อำเภอ เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยประมาณ 2,600 ครัวเรือน จำนวนกว่า 9,200 คน อพยพ 44 ชุมชน 1,215 ครัวเรือน จำนวนกว่า 4 ,000 คน ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 40 จุด พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 92,000 ไร่ พื้นที่ประมงเสียหายประมาณ 500 ไร่

ต่อมา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำมูลที่สถานี M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี พบว่า ระดับน้ำวันนี้อยู่ที่ 8.78 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 1.78 เมตร อัตราการไหลอยู่ที่ 3,310 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม จะอยู่ที่ระดับ 114.53 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือสูงกว่าตลิ่ง 2.53 เมตร

นายประพิศกล่าวว่า สถานการณ์น้ำมูลที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำ พบว่ามีการไหลความเร็วน้ำอยู่ที่ 3,945 ลูกบาศกเมตรต่อวินาที หรือ 340.85 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งระดับการไหลของน้ำช้ากว่าปกติ จึงได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแรงดันสูง หรือไฮโดรโฟเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง ขนาดท่อ 24 นิ้ว สามารถระบายน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายประพิศกล่าวว่า ล่าสุดที่แก่งสะพือได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว จำนวน 140 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำแรงดันสูง จำนวน 3 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 18 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และยังมีแผนสำรองเครื่องผลักดันน้ำแรงดันแรงสูงไว้อีก จำนวน 10 เครื่อง รวมถึงเครื่องผลักดันน้ำที่จะไปติดตั้งที่บริเวณท้ายเขื่อนปากมูลอีก จำนวน 200 เครื่อง ตลอดจนให้ประชาชนเป็นผู้ชี้เป้าหมายในการติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมกัน โดยใช้โมเดลปี 2562 เป็นหลักเพื่อเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงให้ได้เร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image