ส.ส.มั่นใจวันละ 100 ไม่พอใช้ จ่อขอนายกฯ ‘ตรวจสอบกยศ.’ หลัง น.ศ.ต้องคุกเข่าวอน

ส.ส.ศรีสะเกษ จ่อหอบข้อมูลพบนายกฯ ขอ ‘ตรวจสอบกยศ.’ หลัง น.ศ.คุกเข่าวอน ชงจัดงบฯใหม่ ช่วยเด็กหลุดกลางคัน

สืบเนื่องกรณี คณะเจ้าหน้าที่จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดินไปยังมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการให้กู้ยืมเงินของสถานศึกษากับนักศึกษา โดยมีการเรียกนักศึกษาที่มีปัญหาติดขัดจำนวน 517 ราย เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อสอบถามข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียน

ทั้งนี้มี น.ศ.จำนวน 5 ราย นำโดย นายมหินธร น.ศ.ชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และ น.ส.อุไรรัตน์ น.ศ.ชั้นปีที่ 4 คณะการจัดการและเพื่อน น.ศ.ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวม 5 คน เดินทางมาพบกับคณะเจ้าหน้าที่ของ กยศ. พร้อมสีหน้าเศร้าหมอง เนื่องจากได้กู้ยืมเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ขณะนี้ใกล้สำเร็จการศึกษา เมื่อถูกเรียกพบจึงวิตกกังวลว่าจะไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ต่อไปอีก โดยกลุ่ม น.ศ. จึงได้อ้อนวอนขอความเมตตาจากเจ้าหน้าที่ กยศ. ด้วยการคุกเข่าลงร่ำไห้ ไหว้เจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งขอข้อมูลแบบสอบถามคืนจากเจ้าหน้าที่ กยศ. ล่าสุด เจ้าหน้าที่ของ กยศ.ได้เรียกนักศึกษาที่กำลังเรียนหนังสือและไม่มีชื่อใน 517 รายมาสัมภาษณ์ ทำให้เกิดความกังวลสับสนในกลุ่ม น.ศ.ที่กำลังเรียนหนังสือเป็นอย่างมาก ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุด ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย ศรีสะเกษ เขต 2 อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 2 พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประชาชนชาวศรีสะเกษ และเป็น ส.ส.ศรีสะเกษ ตนมีความรู้สึกเห็นใจและมีความสงสาร นักศึกษาที่ต้องคุกเข่าร่ำไห้ไหว้ กยศ. พูดอ้อนวอนว่า ไม่ให้ กยศ.ติดสิทธิเงินกู้ยืมเรียนของกลุ่มนักศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า น.ศ.กลุ่มดังกล่าวมาขอกู้เงินยืมเรียน และเป็นผู้กู้รายเก่า ไม่ได้มาขอเงินจาก กยศ.แต่อย่างใด เมื่อ น.ศ.กลุ่มนี้รวมทั้ง น.ศ.ทุกคนของสถาบันการศึกษาแห่งนี้เรียนจบแล้วก็ต้องไปทำงานหาเงินมาใช้หนี้ กยศ.ตามสัญญากู้เงินที่กำหนดไว้

Advertisement

“ผมเห็นว่า เงินค่าดำรงชีพเดือนละ 3,000 บาท เฉลี่ยวันละ 100 บาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของ น.ศ. ทำให้ น.ศ.จำนวนมากที่ครอบครัวมีฐานะไม่สู้ดีนัก แต่อยากเรียนหนังสือ จึงต้องขวนขวายไปหางานนอกเวลาเรียนทำงานเพื่อหาเงินเป็นรายได้เสริมมาเพื่อใช้จ่ายในการเรียนของตนเอง แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา น.ศ.จำนวนมากก็ต้องไปทำงานเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะว่าเป็นการช่วยเหลือตนเอง ทำให้ น.ศ.มีความเข้มแข็งสามารถที่จะดำรงชีพอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี” นายสุรชาติกล่าว

นายสุรชาติกล่าวต่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีแนวนโยบายว่า เด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติทุกคน ต้องได้เรียน ท่านจะขับเคลื่อนเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยตัวเองมาตั้งแต่ก่อนเข้ามารับตำแหน่งนายกฯหลายปีแล้ว ปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยได้รับความเท่าเทียมในเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าให้จำนวนเด็กที่ต้องหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์”

Advertisement

“ทันทีที่ท่านนายกฯเศรษฐา เข้ารับตำแหน่ง ท่านแจ้งว่า ได้สั่งการทันทีให้ ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ (กสศ.) DES และกระทรวงมหาดไทย บูรณาการรวบรวมข้อมูลนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้เป็นฐานข้อมูล Big Data ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน จะมีข่าวดีที่จะเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand Zero Dropout” นายสุรชาติเผย

นายสุรชาติกล่าวต่อไปว่า ภาพที่ น.ศ.คุกเข่าร่ำไห้ไหว้วอน กยศ.ขอเงินกู้ยืมไปเรียนหนังสือ ไม่น่าที่จะมีภาพนี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การศึกษาของชาติไทย ตนจะนำเอาข้อมูลเรื่องนี้ไปพบกับ นายกฯ เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะว่าปัญหาเรื่องเงินกู้ยืมเรียนของ น.ศ.นี้ รัฐบาลพรรค ตนและคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทุกคน จะต้องพิจารณาหาทางแก้ไขช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากปัญหานี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญของการศึกษาไทย หากเด็ก น.ศ.มีเงินหรือว่ามีครอบครัวฐานะดี น.ศ.ก็คงจะไม่ต้องมาคุกเข่าไหว้วอนขอกู้เงินจาก กยศ.แบบนี้

นายสุรชาติยังกล่าวอีกด้วยว่า ส่วนการบริหารงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น ตนจะเสนอให้มีการตรวจสอบว่า การบริหารงานของ กยศ.เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด กยศ.จึงมีข่าวในทางที่กระทบต่อจิตใจของ น.ศ.และชาวไทยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

กยศ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร อีกทั้งเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ กยศ.นำเอาไปใช้จ่ายในการบริหารงานของ กยศ.นั้น เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น คงจะต้องนำเอาเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ กยศ.มาพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งว่า เหมาะสมหรือไม่เพียงใดอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะที่บริเวณมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เขต อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กลุ่มเจ้าหน้าที่ของ กยศ.จำนวน 7 คน ที่พากันมาติดตามสัมภาษณ์ น.ศ.ที่มีปัญหาติดขัดไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ยืมจำนวน 517 รายนั้น ปรากฏว่าไม่มี น.ศ.มาพบกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อให้สอบถามข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่ กยศ.จะยังคงพากันนั่งรอ น.ศ.จนกว่าจะถึงวันที่ 15 ม.ค.2567 ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ และจนกว่าจะมีคำสั่งจากหน่วยเหนือ ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image