พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : คณาธิปไตยเลือกตั้ง ในการเมืองแห่งการคาดเดา

ผมงงมากกับการคาดเดาว่าพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรทะเลาะกันจนถึงขัั้นที่อาจยกระดับไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เพราะสำหรับผมแล้วผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องราวอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะพลเอกทั้งสามนั้นเขาทำงานเป็นทีมและมีทีมที่ใหญ่กว่านั้นสนับสนุนอยู่

เลิกมโนเถอะครับว่าความขัดแย้งเล็กๆ แค่การปลดนักการเมืองสองคนนั้นจะนำไปสู่ความสั่นคลอนของ “ระบอบ” ที่ปกครองประเทศนี้อยู่

ที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่านายทหารทั้งสามคนนี้จะรักกันกลมเกลียวมานานตั้งแต่สมัยรับราชการ แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมากจนถึงวันนี้ยังไม่เข้าใจว่าระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่นี้ไม่ใช่ระบอบประยุทธ์ในความหมายของการปกครองของจอมเผด็จการ

Advertisement

เรียกว่าในอดีตถ้าจะเทียบชั้นอย่าไปเทียบกับสฤษดิ์เลยครับ จะเทียบกันกับถนอมประภาสที่พวกเราจำนวนไม่น้อยรู้จักพวกเขาไม่มากนักก็ยังไม่แน่ใจ เพราะผู้นำเผด็จการทหารในอดีตไม่มีคุณลักษณะแบบนี้และแม้ทำงานกันเป็นทีมแบบถนอมประภาสก็ไม่ได้มีบุคลิกแบบนี้

อธิบายง่ายๆ ก็คือระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ อย่างน้อยในระดับรัฐบาล (ยังไม่ใช่ทั้งหมด) นั้นเป็นระบอบที่ตั้งใจเปลี่ยนผ่านมาจากระบอบเผด็จการทหารเดิม มาเป็นระบอบใหม่อาจจะเรียกว่าเป็นระบอบผสมที่กองทัพและคณะผู้ปกครองยังทรงอำนาจอยู่แม้จะมีองค์ประกอบแบบประชาธิปไตยอยู่บางประการ โดยเฉพาะมีการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับหนึ่ง อีกทั้งสื่อยังทำหน้าที่ได้อย่างอิสระในระดับที่ไม่ได้ถูกจับกุมคุมขังด้วยศาลทหาร และยังมีการชุมนุมประท้วง

แม้จะมีการจับกุม แต่การต่อสู้คดีก็ยังใช้กฎหมายที่ก้ำกึ่ง เพราะไม่ใช่ระบบกฎหมายปกติทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่กฎหมายทหารทั้งหมด ด้วยมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีเทคนิคการยื้อและเอาเถิดเจ้าล่อกับช่องโหว่ของการดำเนินคดีมากมายที่ทำให้บรรดาผู้ชุมนุมประท้วงต้องประสบกับความยุ่งยากในการสู้คดี (ตอนนี้คดียังไม่ตัดสิน เป็นขั้นการสู้คดีที่ยืดเยื้อยาวนาน) หมายถึงว่าเป็นนิติสงครามที่สร้างความไม่ปกติในกรอบกฎหมายปกตินั่นแหละครับ

Advertisement

ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารในสมัยรัฐประหารนั้นถ่ายโอนและแปรสภาพ (เปลี่ยนผ่าน) มาสู่ระบอบคณาธิปไตยเลือกตั้ง ในนามของการเปลี่ยนผ่าน (กลับสู่ประชาธิปไตย) เพราะสมัยก่อนเลือกตั้งพลเอกประวิตรชอบพูดบ่อยๆ ว่าเราอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่าน

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ยังมีลักษณะของการปกครองแบบหมู่คณะอยู่ พลเอกประยุทธ์ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้งไม่ใช่จอมเผด็จการแบบลุยเดี่ยว ไร้เหตุไร้ผล หรือฉลาดเป็นกรด

หากแต่พลเอกประยุทธ์เป็นส่วนหนึ่งในระบอบคณาธิปไตยเลือกตั้ง และแสดงบทบาทเป็นหนึ่งในผู้แสดงหลัก

การปกครองแบบคณาธิปไตยเลือกตั้ง (electoral oligarchy) แบบที่เป็นอยู่น่าจะเป็นคำที่กว้างพอที่จะอธิบายสิ่งที่เป็นอยู่ได้ เพราะหัวใจสำคัญไม่ใช่อำนาจเผด็จการ หรืออำนาจประชาธิปไตย เพราะไม่ได้สุดขั้วไปทั้งสองทาง แต่ผสมปนเปกันไป

หัวใจสำคัญของระบอบนี้คือการปกครองโดยกลุ่มคน ดังนั้นกระบวนการคัดสรรคนเข้าร่วมจึงมีส่วนสำคัญ การสถาปนาเครือข่ายของชนชั้นนำในระบอบคณาธิปไตยเลือกตั้งมีหลักมีเกณฑ์ มีกิจกรรม มีการคัดสรร มีการจัดระยะห่าง และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป

การปกครองโดยหมู่คณะหมายถึงการตัดสินใจต่างๆ นั้นผ่านการปรึกษาหารือกัน ในระดับรัฐบาลไม่มีจอมเผด็จการคนเดียวที่จะเคาะได้ทั้งหมด เราเห็นการจัดวางสถาบัน (institutional arrangement) ที่ซับซ้อนและลงหลักปักฐานมาในระยะเวลาหนึ่ง เช่น การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่เป็นไปตามนั้นก็ไม่ใช่ประเด็นเท่ากับการเป็นหลังอิงให้กับระบอบนี้ในการกีดกัน หรือปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางดังกล่าวเมื่อไหร่ก็ได้

เราเห็นการสถาปนา ส.ว.ที่มีบทเฉพาะการที่สามารถลงคะแนนรับรองการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากสภาผู้แทนฯที่มาจากการเลือกตั้งได้ และแน่นอนว่าคนที่เขาเลือกในรอบที่แล้วก็คนที่เลือกเขามานั่นเอง แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่าคนที่เลือกเขามานั้นก็ผ่านการคัดกรองมาจากคณะผู้ปกครองในรอบที่แล้ว

คณาธิปไตยที่แฝงตัวด้วยการเลือกตั้ง แต่เราก็ยังเห็นมิติความเป็นคณาธิปไตยที่ชัดเจนโดดเด่นนี้ได้สถาปนาระบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อนที่มุ่งหวังในการทำลายการผูกขาดอำนาจของกลุ่มคนอื่นอย่างโจ่งแจ้ง หลายรอบ ทั้งก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ก่อนที่จะมาคาดเดากันว่าพวกเขาจะทะเลาะกัน ลองคิดดีๆ ก่อน ว่าทำไมพวกเขาถึงอยู่กันมาได้ยาวนานขนาดนี้ หนึ่งในคำตอบน่าจะมาจากคำอธิบายว่าเพราะพวกเขาทำงานกันอย่างเป็นระบบราวกับเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีกี่ยุคสมัยที่การคุมอำนาจมหาดไทยเป็นไปได้อย่างยาวนานต่อเนื่องขนาดนี้ ซึ่งหมายความว่าคุมอำนาจได้ตั้งแต่กรมต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทยที่กว้างขวางครอบคลุมทุกพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน และ ผู้ใหญ่บ้าน แถมยังมีแผนการที่จะปรับเอาหลายคนในเครือข่ายนี้มาเป็นพรรคการเมืองสำรอง

การควบคุมสภาความมั่นคงและการขยายอำนาจ กอ.รมน. ก็เป็นอีกเครือข่ายที่สำคัญ

การหลุดรอดจากข้อสงสัยทางกฎหมายมาโดยตลอดผ่านความแคลงใจถึงความร่วมมือและสอดคล้องต้องกันกับสถาบันตุลาการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ประชาชนเขาตั้งคำถามกันมาตลอด

การสลับกันควบคุมตำรวจของรุ่นพี่รุ่นน้องสองคน เมื่อพี่ใจดี น้องก็มาคานอำนาจไว้

ถ้าแตกหักกันคงแตกหักกันไปนานแล้ว

อีกมิติที่สำคัญก็คือ การพยายามสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นอภิชน (aristocrat) ของคณะปกครอง และการพยายามควบคุมคนร่ำรวยให้มาอยู่ภายใต้พวกตนอย่างเป็นระบบผ่านทั้งการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ และสถาปนาอำนาจนำเชิงคุณค่า การเป็นคนดี และมีคุณธรรมบางประการที่สูงส่ง เช่น รักชาติบ้านเมือง นี่คือฉากหน้าที่สำคัญที่ทำให้คณะบุคคลที่มีเครือข่ายซับซ้อนนั้นสามารถครองอำนาจได้ เพราะซ่อนตัวอยู่ในระบบความเป็นอภิชน ซึ่งเป็นด้านบวกของการปกครองแบบคณะบุคคลที่เห็นแก่ตัว ทั้งที่เรื่องนี้บางครั้งก็สร้างความเคลือบแคลงสงสัยว่าพวกเขาเป็นเพียงคณะบุคคลที่เห็นแก่พวกพ้องเท่านั้น แต่มีวาทกรรมที่ทำให้พวกเขาครองอำนาจนำเหนือคนอื่นได้ใช่ไหม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็ต้องการชี้ให้เห็นว่าระบอบคณาธิปไตยเลือกตั้งที่เป็นอยู่ ให้ความสำคัญกับการสถาปนาความเหนือกว่ากลุ่มพลังอื่นๆ ทั้งข้าราชการ นายทุนใหญ่ และนักการเมือง รวมทั้งเครือข่ายชนชั้นนำทางสังคมที่อยู่วงนอกที่สลับหมุนเวียนตามโครงการ และตำแหน่งแห่งที่ที่จะแต่งตั้งไป

เป็นความเหนือกว่าในแบบหุ้นส่วนอำนาจที่ไม่ได้สั่งซ้ายหันขวาหันเสียทีเดียว เพราะยังมีเรื่องของการต่อรอง เจรจา และพึ่งพาอาศัยกัน

ระบบพันธมิตรทางอำนาจที่ไม่ได้เท่าเทียมแต่เจรจาต่อรองได้ เป็นหัวใจของคณาธิปไตยเลือกตั้งในรูปแบบนี้ การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่คิดค้นมาอย่างดีให้ฝ่ายของตัวเองได้อำนาจ รวมทั้งระบบการลงประชามติที่ไม่ได้เปิดให้เกิดการถกเถียงอย่างเสรี เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าความใฝ่ฝันทางการปกครองของคณะบุคคลที่มักอยู่ในอำนาจ เช่น กองทัพ ชนชั้นนำ นักธุรกิจ เหล่านี้ไม่สามารถปกครองประเทศโดยไม่มีการเลือกตั้งอย่างยาวนาน เว้นแต่ในรอบนี้ระบอบ คสช.สามารถยื้ออำนาจได้อย่างยาวนานไม่แพ้ยุคถนอมประภาส (ต้องไม่ลืมว่าในยุคก่อนนั้นมีการสลับให้มีการเลือกตั้งและยึดอำนาจซ้ำ ก่อนจะมีการลุกฮือของประชาชน และความไม่ลงตัวในการแบ่งสรรอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำในท้ายที่สุด)

โดยภาพรวมแล้ว ระบอบที่พึงปรารถนาของผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่ใช่ระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง เพราะการไม่มีการเลือกตั้งเอาเสียเลยนั้นก็เป็นการเพิ่มต้นทุนในการคงอยู่ในอำนาจของผู้มีอำนาจในสังคม ดังนั้นในอดีตอันไม่ไกลนัก โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 19 พวกเขาก็เรียนรู้ว่าถ้าเขาตึงเกินไป เขาก็จะเจอแรงปะทะจากขบวนการต่อสู้ที่ยกระดับสู่การติดอาวุธกันมาแล้ว ดังนั้นการเมืองในอุดมคติของพวกเขาจึงไม่ใช่การเมืองของการไม่แบ่งปันอำนาจเสียเลย

หากแต่เป็นการแบ่งปันอำนาจในแบบที่เขาต้องคงความเหนือกว่าอยู่บ้าง และนั่นคือสิ่งที่เขาเรียนรู้ ว่าตัวแบบหลังเดือนตุลา 19 ที่เกิดการทำรัฐประหารและพยายามครองอำนาจที่ยาวนานท่ามกลางความเสียหายของบ้านเมืองแต่ก็อยู่ได้ปีกว่าๆ ก็คือ ตัวแบบของการรัฐประหารแล้วร่างกติกาใหม่ แล้วกลับสู่การเลือกตั้งให้เร็ว เหมือนปี 2534 และ 2549 และตัวแบบของการสถาปนาอำนาจในแบบที่ต่อรองกับนักการเมืองโดยเปลี่ยนผ่านด้วยการมีผู้นำที่มีลักษณะความเป็นผู้นำแบบอภิชนที่ยึดกุมคุณค่าบางประการได้จนเป็นที่ไว้วางใจของทุกฝ่าย และจัดลำดับความสัมพันธ์กับนักการเมืองได้อย่างลงตัวมาอย่างน้องแปดปี แบบพลเอกเปรม

ระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำไม่ได้ทั้งสองแบบ แต่ไม่ได้ยืนเดี่ยวแบบพลเอกเปรมที่สามารถจัดระบบและระยะห่างกับทุกเรื่องได้อย่างลงตัวในระดับหนึ่ง อย่างน้อยคณะบุคคลที่ปกครองบ้านเมืองในวันนี้ก็มีความหลากหลายมากกว่ารุ่นทหารรุ่นเดียวแบบ รสช. การสถาปนาอำนาจในกองทัพจึงยืดหยุ่นและยาวนานกว่า

คณะบุคคลปัจจุบันเลือกหนทางที่ผนึกอำนาจกัน แล้วดึงเอานักการเมืองจำนวนหนึ่งมาอยู่กับตัวเอง ด้วยเหตุจูงใจสารพัดแบบรวมทั้งการย้ายค่ายมาจากฝ่ายตรงข้ามด้วย (ธรรมนัสเป็นตัวอย่างของสายนี้ รวมสามมิตร และกลุ่มย่อยๆ) นอกนั้นยังรวมเอาเทคโนแครตเดิมที่เรียกมาช่วยงานจำนวนหนึ่งเข้ามาด้วย (อาจารย์นฤมลก็มาจากสายนี้ เดิมมีสมคิด และสี่กุมารด้วย) และยังมีบรรดาชนชั้นนำทางธุรกิจ (นายทุนพรรคและเครือข่ายพันธมิตร เช่นสายดาวฤกษ์บางส่วน) และชนชั้นนำทางธุรกิจที่มีเครือข่ายทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว (สายพี่ตั้นและพี่บีของน้องๆ พร้อมเครือข่าย)

ความขัดแย้งที่เราเชื่อว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรนั้น เอาเข้าจริงน่าจะเป็นเรื่องความไม่ลงรอยกันในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างระบอบนี้ที่มีผู้แสดงเป็นหัวหน้า (อาจไม่ใช่หัวหน้าที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ) ที่ชื่อพลเอกประยุทธ์กับนักการเมือง ภายใต้ความสัมพันธ์แบบพันธมิตรที่ไม่เท่าเทียม

แต่ความสัมพันธ์นี้ไม่มีทางแตกหักในช่วงนี้ เพราะยังไม่มีการออกจากพรรคไป แม้เลขาฯพรรคและเหรัญญิกพรรคจะถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น สิ่งที่เราพบก็คือการที่พลเอกประยุทธ์ในนามของผู้แสดงเป็นหัวหน้าระบอบคณาธิปไตยเลือกตั้งนั้นแสดงให้เห็นว่า ยังไงก็แล้วแต่นักการเมืองที่แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง พวกเขาก็ต้องยอมรับพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้ารัฐบาล และต้องมีโควต้ารัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์เอง

นี่คือความสัมพันธ์แบบพันธมิตรที่ซับซ้อนแต่ไม่เท่าเทียม นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งและสังกัดพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในฐานะการเป็นสมาชิกของพรรครัฐบาลหลักเหมือนระบบเลือกตั้งทั่วไป เพราะพลเอกประยุทธ์รักษาระยะห่างจากพรรคและนักการเมืองในพรรค ยิ่งในช่วงแรกตอนที่พลเอกประวิตรนั่งไม่ออกหน้านั้น พรรคพลังประชารัฐอยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มสี่กุมารซึ่งเป็นเทคโนแครตมากกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ

พรรคพลังประชารัฐจึงเป็นพรรคที่น่ากังวลที่สุดในช่วงนี้ เพราะว่าเป็นพรรคที่ต่อรองมากไม่ได้ นโยบายพรรคที่เคยสัญญาไว้ก็ทำไม่ค่อยได้ เพราะไม่มั่นใจว่านโยบายเหล่านั้นจะเป็นนโยบายชุดเดียวกับของพลเอกประยุทธ์หรือไม่

พูดง่ายๆ จะขายนโยบายให้กับประชาชนก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นนโยบายที่พลเอกประยุทธ์จะเอาด้วยไหม เพราะพลเอกประยุทธ์ลอยตัวเหนือการเมือง และอ้างว่าพรรคพลังประชารัฐนั้นมาเชิญตนไปเป็นนายกฯโดยเสนอชื่อในนามพรรค และตนนั้นตอบรับคำเชิญ

พลเอกประยุทธ์ไม่ใช่สมาชิกพรรค แต่ปลดเลขาธิการพรรคและเหรัญญิกพรรคออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีได้ ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรครัฐบาลหลัก

นักการเมืองที่โดนกดอยู่ในพรรคนั้นก็ไม่สามารถย้ายพรรคออกไปง่ายๆ เพราะทราบดีว่าปัจจัยที่ตนชนะเลือกตั้งนั้นไม่ได้มาจากความนิยมของตนอย่างเดียว แต่ผูกโยงกับความนิยมของพลเอกประยุทธ์ และผูกโยงกับการกำกับดูแลของกลไกกองทัพ ตำรวจ มหาดไทย ที่พลเอกประยุทธ์และคณะของเขายังดูแลอยู่ อีกทั้งยังมี ส.ว.ที่เป็นฐานกำลังของพลเอกประยุทธ์ มิพักต้องกล่าวถึงทรัพยากรจากรัฐทั้งจากโครงการและงบประมาณที่รัฐอัดฉีดลงพื้นที่ และ หลังพิงที่ไว้ใจได้จากพลเอกประวิตร

ด้วยการเดินเกมที่การแก้รัฐธรรมนูญด้วยบัตรสองใบ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ง่ายนักที่จะฟันธงเหมือนอีกหลายฝ่ายว่างานนี้พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกมากที่สุดอย่างง่ายๆ ไม่นับข้อหายุบพรรคซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก หากจะทำเพราะในช่วงสิบกว่าปีนี้การยุบพรรคสำคัญหลายพรรคนั้นทำได้มาโดยตลอด อย่าคิดว่ามีแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน และอนาคคตใหม่ อย่าลืมว่าพรรคอย่างชาติไทยก็เคยโดนมาแล้ว

การไม่ง่ายที่จะฟันธงก็เพราะว่ามุ้งต่างๆ ของพรรคนั้นอาจจะออกไปตั้งพรรคเล็กๆ ได้ แต่ก็ต้องเหนื่อยในการทำพื้นที่มากกว่าอยู่ในพรรคใหญ่ แต่หากพรรคใหญ่จัดระบบความสำพันธ์ที่ไม่ดีพอ ความเสี่ยงของมุ้งก็มีไม่ใช่น้อยเช่นกัน เพราะหัวหน้ามุ้งอาจถูกจัดลำดับในบัญชีรายชื่อที่ไม่ดีนัก

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบไหนก็ตาม ล้วนไม่เป็นคุณทางตรงกับพลเอกประยุทธ์นัก เพราะพลเอกประยุทธ์ไม่มีความสัมพันธ์ตรงกับพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นถ้าไม่ถึงตาจนจริงๆ พลเอกประยุทธ์จะไม่ลาออกและยุบสภาง่ายๆ การลาออกนี้ไม่เป็นประเด็นเลยในสายตาของพลเอกประยุทธ์ หมายถึงว่าหากแรงกดดันให้ลาออกนั้นมาจากประชาชน นักการเมือง และนักธุรกิจ เพราะเมื่อเขาลาออกเขาจะไม่ได้กลับมาเป็นอีกในช่วงสมัยรัฐสภานี้ แต่อาจรักษาการไปยาวๆ แต่กระนั้นก็ตามเขาจะไม่มาทางเลือกนี้เพราะอำนาจที่กล่าวมาทำอะไรกับเขาไม่ได้

ส่วนการยุบสภาก็ไม่ใช่ทางที่พลเอกประยุทธ์จะเลือก เพราะเมื่อยุบสภา แม้ว่าเขาจะรักษาการ แต่การยุบสภาทำให้ระบบการต่อรองกับนักการเมืองกลับมากลายเป็นประเด็น และคนอย่างพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ต้องการเจรจากับใคร

ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงอยากจะชี้แจงว่าความขัดแย้งที่เรามโนกันของพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรนั้นแท้ที่จริงเป็นเรื่องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างระบอบคณาธิปไตยที่ปรับตัวมาจากการทำรัฐประหารกับระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งที่กวดต้อนนักการเมืองมาอยู่ในพรรครัฐบาลและจะจัดวางความสัมพันธ์นี้อย่างไรไม่ให้นักการเมืองล้ำเส้น

แต่ในอีกทางหนึ่งการเลือกตั้งก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการลดต้นทุนให้กับระบอบคณาธิปไตยที่เป็นอยู่ แต่ต้องรักษาจังหวะและการครองอำนาจเหนือนักการเมืองเหล่านี้เอาไว้ให้ได้ ไม่ให้ต้นทุนของการมีระบอบประชาธิปไตยนั้นสูงเกินว่าการรักษาอำนาจและการรักษาจังหวะก้าวทางการเมืองของพวกเขาจะเป็นไปได้ลำบากขึ้น

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image