สปท.เดือด โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ใครได้ดูชมการถ่ายทอดสดการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก เสรี สุวรรณภานนท์ วันชัย สอนศิริ 3 ขุนพลสภาแต่งตั้ง เรียงลำดับอภิปรายชำแหละ ซักฟอก อลงกรณ์ พลบุตร อดีตขุนพลสภาเลือกตั้ง ในฐานะรองประธานสภา สปท.อันดับ 1 กระทบชิ่งไปถึง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาแล้ว คงคิดคล้ายๆ กัน บรรยากาศ เนื้อหา ลีลา น้องๆ สภาเลือกตั้งอย่างไรอย่างนั้น

ผมนั่งชมอยู่หน้าจอทีวีแล้วคิดถึง Friedrich Nietzsche นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่พูดไว้ว่า ผู้ต่อกรกับอสูรร้าย ต้องระวังไม่ให้ตนกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

เหตุสืบเนื่องมาจากการดำเนินบทบาทของรองประธาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จัดกิจกรรมพบปะ หารือ ประชุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บันทึกข้อตกลงกับองค์กรภาคีเครือข่ายมากมายหลายครั้ง

ที่สำคัญอันเป็นฟางเส้นสุดท้ายคือ การนำคณะเดินสายไปพบกับพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย กำลังจะไปพบพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กอีก 70 พรรค ในเร็วๆ นี้ กับการเชิญทูตประเทศต่างๆ มารับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของ สปท.ที่ผ่านมา

Advertisement

ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับฝ่ายบริหาร การเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมต่างๆ สะท้อนท่วงทำนองไม่แตกต่างจากการซื้อเสียงล่วงหน้าของพรรคการเมือง ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีเป้าหมายทางการเมืองต่อไปในอนาคตอันใกล้หรือไม่ ทั้งที่ สปท.วิจารณ์พรรคการเมืองมาตลอดแต่กลับทำในลักษณะเดียวกันเสียเอง

แทนที่จะเป็นการไปรับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ กลับกลายเป็นว่า ตกเป็นเครื่องมือไปให้พรรคการเมืองโขกสับ ตั้งประเด็นถามกลับ วิจารณ์รัฐบาล คสช. รวมถึงแม่น้ำสายอื่นๆ

สปท.ควรดำรงบทบาทและสถานะที่เหมาะสม ทำงานอย่างเป็นเอกภาพทั้งใน สปท.เองและแม่น้ำ 5 สาย

Advertisement

ครับ รายการ สปท.เดือดที่ว่า มองจากสายตาคนนอกมีประเด็นให้ชวนคิดหลายประการ ข้อแรก บทบาทของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่ควรจะเป็น ควรเป็นอย่างไร ควรเน้นแต่การประชุมอภิปรายเพื่อจัดทำเอกสารรายงานข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ แล้วเสนอไปยังรัฐบาลและแม่น้ำสายอื่นๆ เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องออกมาสร้างเครือข่าย ขับเคลื่อนนอกสภากับใคร องค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

สอง การโฆษณาประชาสัมพันธ์บอกกล่าวเล่าสิบ ให้สังคมรับรู้ เข้าใจผลงาน ชัดเจน เป็นรูปธรรม ควรกระทำแต่พอดี ไม่มีประโยชน์แอบแฝง ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สังคมยังพร่ามัวต่อผลงานของ สปท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอแนะการปฏิรูปที่ถูกนำไปสู่การปฏิบัติในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปจริงๆ ไม่ใช่แค่ปะผุ มีแต่ผลงานเชิงปริมาณ

สาม ความทับซ้อนของบทบาทในองค์กรเดียวกัน ระหว่างกรรมาธิการกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ประกอบไปด้วยประธานกรรมาธิการทุกคณะ กับคณะกรรมการบริหารเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่ได้กำหนดเส้นแบ่งระหว่างกันให้ชัดเจน จึงเกิดลักษณะล้ำเส้น เล่นบทบาทเลยธงขึ้น จนกลายเป็นปัญหา

สี่ วิธีการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและบทบาท แทนที่จะนำเรื่องไปซักฟอกกันภายในในที่ประชุมกรรมาธิการกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป แต่ใช้เวทีสภาใหญ่เป็นสนามตัดสิน ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า เพราะทำให้เกิดความเปิดเผย โปร่งใส ชำแหละกันกลางวง ผู้คนได้ยินได้ฟังกันทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นการตรวจสอบ ควบคุมกันเองโดยมีสายตาผู้ชมอีกมากมายทั่วประเทศเป็นกรรมการ ดีกว่า งุบงิบ ซุบซิบ เกาหลังกันเองในห้องประชุมกรรมาธิการโดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง แล้วออกมากอดคอบอกกันว่าที่ผ่านมาผลงานเพียบ

ห้า การทำงานโดยมีภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วม เป็นหลักการที่ดี ควรยึดถือปฏิบัติ ไม่ใช่แค่คุยกันเอง ฟังกันเอง ชื่นชมกันแต่แม่น้ำห้าสาย ไม่ออกไปฟังเสียงคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนได้เสียเท่าที่ควร ข้อนี้ประเด็นจึงอยู่ที่วิธีการปฏิบัติ ทำอย่างไร แค่ไหน ถึงจะพอดี เหมาะสม ไม่สิ้นเปลือง พร่าผลาญงบประมาณ เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นในการซักฟอกจึงเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจน

ประเด็นสุดท้าย การเดินสายไปพบพรรคการเมืองและเครือข่ายต่างๆ แทนที่จะมุ่งมองว่า สปท.ตกเป็นเครื่องมือ เป็นเหยื่อ เป็นสายล่อฟ้า เป็นสะพานทอดให้พรรคการเมืองตั้งคำถามกลับ และโจมตีรัฐบาล คสช.และแม่น้ำสายต่างๆ ทำให้เสียเครดิต เกิดปัญหาความขัดแย้ง

ควรจะพิจารณาถึงเนื้อหาสาระ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่คนนอก สปท.สะท้อนออกมาเป็นหลักมากกว่า

ไม่ว่า การจัดทำประชามติแบบเน้นแต่ข้อดี การปิดกั้นฝ่ายความเห็นต่าง การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก การใช้อำนาจทำให้เกิดความสะพรึงกลัว ประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าหรือถอยหลังลงคลอง ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ต่างหาก เป็นแก่นหลักที่ สปท.ทั้งมวลควรตระหนัก และหาทางดำเนินบทบาททั้งในที่ประชุมและภายนอกให้เกิดความพอดี

มีคำตอบต่อสังคมที่ชัดเจน เช่น กรณีการจัดการนักศึกษาที่แสดงออกเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญถูกจับกุมคุมขังเป็นนักโทษทางความคิด ควรทำถึงขั้นนี้หรือไม่ ซึ่งมีแต่ความเงียบ

เวที สปท.จึงไม่ใช่แค่ตั้งคำถามแค่ว่า ไปพบใคร ทำไม ไปพบแล้วได้อะไร ควรหรือไม่ แต่อยู่ที่คนอื่นเขาคิด เขามอง เขาเสนอว่าอย่างไรต่อ บทบาทของ สปท.และแม่น้ำอีก 4 สายต่างหาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image