‘ทรู’ รอ กสทช. แจ้งมติควบรวม ก่อนร่อนแถลงการณ์แจงร่วม ‘ดีแทค’ หลัง 25 ต.ค.นี้

‘ทรู’ รอ กสทช.แจ้งมติควบรวม ก่อนร่อนแถลงการณ์แจงร่วม ‘ดีแทค’ หลัง 25 ต.ค.นี้

จากกรณี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ประชุม กสทช.มีมติ 3 ต่อ 2 เสียงรับทราบการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สำหรับกรรมการ กสทช. 2 เสียงที่ลงมติเห็นชอบกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ส่วน กสทช. 2 เสียงที่ไม่เห็นชอบ ประกอบด้วย นายศุภัช ศุภชลาศัย และนางพิรงรอง รามสูต ขณะที่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. งดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมาย จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง

ทั้งนี้ เนื่องจากการลงมติที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช.พ.ศ.2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ขณะเดียวกัน มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12%, ยังคงให้บริการแยกกันเป็นเวลา 3 ปี และขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 85% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 3 ปี และ 90% ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 5 ปีนับจากวันที่ควบรวมกิจการ เป็นต้น

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ขณะที่ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู เปิดเผยกับ ‘มติชนออนไลน์’ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งมติที่ประชุม กสทช.อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะได้รับในเร็วๆ นี้ เนื่องจากการพิจารณาควบรวมกิจการทรูและดีแทคยืดเยื้อมาพอสมควรแล้ว

“มติที่ประชุม กสทช.รวมถึงเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่ออกมาเมื่อช่วงค่ำวานนี้เป็นเพียงหัวข้อหลักเท่านั้น ขอรอส่วนประกอบและรายละเอียดต่างๆ จากหนังสือแจ้งมติอย่างเป็นทางการให้ครบถ้วนก่อน จากนั้นจึงจะมีการหารือกันระหว่างผู้ขอควบรวมกัน เพื่อกำหนดทิศทางและวางแผนร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะมีแถลงการณ์ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวอย่างเป็นทางการหลังจากวันที่ 25 ตุลาคม” นายจักรกฤษณ์กล่าว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกระบวนการพิจารณาแล้ว หากทรูและดีแทคไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะดังกล่าว สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งมติที่ประชุม กสทช.ได้ ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ทรูอาจมีการยื่นอุทธรณ์เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขบรรเทาผลกระทบบางข้อ แต่จะส่งผลให้การพิจารณาควบรวมกิจการล่าช้าออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image