รู้จักวีรสตรีประชาธิปไตย ‘อองซาน ซูจี’ ในวันที่ชีวิตพลิกผันอีกครั้ง หลังถูกยึดอำนาจ
หลังจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ นางออง ซาน ซูจี ปกครองประเทศมานานหลายปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ยึดอำนาจรัฐบาล ออง ซาน ซูจี โดยเข้าบุกควบคุมตัวนางซูจี พร้อมกับประธานาธิบดีอู วิน มินต์ และแกนนำคนอื่นๆ ของพรรครัฐบาล สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการตอบโต้การโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยกองทัพเมียนมายังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปีด้วย
อ่านเพิ่มเติม จับตาปฏิวัติ! ทหารเมียนมารวบตัวซูจีพร้อมผู้นำพรรคเอ็นแอลดีแล้ว
อ่านเพิ่มเติม มิน อ่อง ลาย ผบ.สูงสุด เมียนมา ยึดอำนาจแล้ว อ้างเหตุมีโกงเลือกตั้ง
อ่านเพิ่มเติม ‘ขอชาวโลกพิทักษ์ออง ซาน ซูจี’ กระหึ่มหน้าสถานทูตเมียนมา สน.ยานนาวา ตรึงกำลัง
โดยทั้งที่จริงแล้ว เช้าวันดังกล่าว พรรคเอ็นแอลดี ภายใต้การนำของนางซูจี ซึ่งเป็น ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ควรที่จะต้องเริ่มบริหารประเทศในสมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ หลังจาก 5 ปีที่ผ่านมา เธอได้มีโอกาสบริหารประเทศหลังจากได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2558 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมที่สุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา
สำหรับประวัติของ ‘ออง ซาน ซูจี’ เจ้าของคอลัมน์ชื่อดัง ‘ไทยพบพม่า’ เครือ ‘มติชน’ โดย ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุไว้ในบทความ พม่ายุคก่อนและหลังออง ซาน ซูจี (1) และ (2) ไว้อย่างน่าสนใจว่า
ตั้งแต่ ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) เมื่อชื่อของออง ซาน ซูจี ปรากฏต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก คนทั่วโลกก็รู้จักเธอในฐานะผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และเธอยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้รักความยุติธรรมและองค์กรด้านมนุษยชนมากมายทั่วโลก แม้ในปัจจุบัน ชื่อเสียงที่ได้สั่งสมมาและสถานะการเป็น “มารดาแห่งประชาธิปไตยสมัยใหม่ของพม่า” จะแปดเปื้อนไปหลังเธอเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศมาได้เพียงปีเศษ และต้องพบกับปัญหาหลายประการที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นและความนิยมในตัวเธอ
แต่สำหรับชาวพม่าส่วนใหญ่ ออง ซาน ซูจี หรือ “ด่อ ซุ้” ยังมีสถานะเป็น “อะ เหม่” หรือที่แปลว่าคุณแม่อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย และบ่อยครั้งที่เรายังเห็นสื่อต่างชาติเรียกเธอว่า “ท่านผู้หญิง” หรือ The Lady
ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ คอลัมน์ “ไทยรบพม่า” ขอร่วมเฉลิมฉลองเดือนเกิดครบรอบ 72 ปีของเธอ (เกิด 19 มิถุนายน ค.ศ.1945) ด้วยการพาผู้อ่านไปสัมผัสกับมุมมองหลากหลายด้านในชีวิตของสตรีผู้นี้ สังคมไทยรู้จักออง ซาน ซูจี ในฐานะเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อดีตนักโทษการเมือง และผู้นำรัฐบาลพม่าในปัจจุบัน แต่เรากลับไม่เคยรับรู้ชีวิตของเธอก่อนก้าวเข้าสู่ถนนสายการเมือง และเรายิ่งไม่เคยคิดเผื่อเลยว่าพม่าหลังยุคออง ซาน ซูจี จะเป็นอย่างไรต่อไป ใครที่จะเข้ามารับบทบาทฮีโร่ประชาธิปไตยและเป็นผู้ผูกดึงคนพม่าเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างเธอ
แน่นอนว่าเธอมิได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านและฮีโร่ประชาธิปไตยแบบทื่อๆ แต่ภูมิหลังของครอบครัว ชีวิต แนวคิดของเธอ และบริบททางการเมืองของพม่าในเวลานั้นล้วนมีบทบาทสร้างให้เธอกลายเป็น “ฮีโร่” แทนที่จะเป็นนักการเมืองหรือแอคทิวิสต์ธรรมดาๆ ทั่วไป นอกจากนี้ สื่อกระแสหลัก นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ตลอดทศวรรษ 1990 ยังมีส่วนสร้างให้ออง ซาน ซูจี เป็นปูชนียะสำหรับเคารพบูชา (cult figure) เป็นนางฟ้าและเป็น “ไอดอล” ที่ทำให้นักดนตรีชื่อดังกระฉ่อนโลกอย่าง เดเมี่ยน ไรซ์ (Damien Rice) ต้องแต่งเพลงเพื่ออุทิศให้ในชื่อ “Unplayed Piano” (เปียโนที่ตั้งไว้เฉยๆ ไม่มีใครเล่น)
ทั้งหมดนี้อาจมีส่วนทำให้เธอกลายเป็นนักการเมืองที่ไม่มีใครในพม่าวิจารณ์ได้ในปัจจุบัน
ออง ซาน ซูจี เป็นลูกคนสุดท้องของนายพลออง ซาน และด่อขิ่น จี ครอบครัวต้องสูญเสียผู้นำครอบครัวเมื่อเธอมีอายุเพียง 2 ขวบ หลังการถึงแก่อสัญกรรมของนายพลออง ซาน ด่อขิ่น จี ที่แต่เดิมเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลย่างกุ้งและได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคมหลังพม่าได้รับเอกราช พยายามใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองในพม่าที่ร้อนระอุ ซูจีและครอบครัวเดินทางออกจากพม่าตั้งแต่เธออายุได้ 15 ปี โดยได้ติดสอยห้อยตามด่อขิ่น จี ไปตามประเทศต่างๆ หลังมารดาเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตพม่าประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ออง ซานซูจี เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ณ St. Hugh’s College แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในสาขาการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ (PPE)
เมื่อสำเร็จการศึกษา เธอทำงานที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติที่นิวยอร์กอยู่ 3 ปี ในขณะที่อู ถั่น ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ (เป็นเลขาธิการสหประชาชาติที่เป็นพม่าและคนเอเชียคนแรก) ในช่วงเวลาหลังจากนี้ ซูจีมีโอกาสได้ติดตาม ดร.ไมเคิล แอริส อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหิมาลัยศึกษา และทิเบต ผู้เป็นคนรักไปอยู่ภูฏานพักใหญ่
ระหว่างที่แอริสเป็นติวเตอร์ให้กับราชวงศ์ภูฏาน แอริสขอซูจีแต่งงานที่นั่นและได้กลับไปตั้งรกรากที่ออกซ์ฟอร์ด
เกือบ 20 ปีผ่านไป ชีวิตของเธอในฐานะแม่บ้านและคุณแม่ลูกสองราบเรียบและเรียบง่าย แม้เธอจะเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวของนายพลออง ซาน แต่ครอบครัวของเธอทั้งที่พม่าและอังกฤษทำตัวเหมือนครอบครัวของคนปกติทั่วไป เอาตัวออกห่างการเมืองในพม่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในปี 1988 ซูจีเดินทางกลับไปพม่าเพื่อเยี่ยมมารดาที่เป็นเจ้าหญิงนิทราหลังเส้นเลือดในสมองแตก
สถานการณ์ในพม่าในตอนที่เธอเดินทางกลับในครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในเดือนสิงหาคม 1988 หลังมีเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างนักศึกษาและตำรวจ-ทหารมาตั้งแต่ต้นปี หลังประกาศกฎอัยการศึกไม่นาน รัฐบาลปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน
ซูจี ที่ในขณะนั้นเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องวรรณคดีพม่า กลายเป็นวีรสตรีผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าในชั่วข้ามคืนภายหลังเธอขึ้นปรากฏตัวและปราศรัยครั้งแรก ณ ลานพระเจดีย์ชเวดากอง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1988 โฆษกในงานแนะนำว่าเธอเป็นบุตรสาวของนายพลออง ซาน วีรบุรุษแห่งชาติ ผู้หญิงร่างเล็กหน้าตาคมคายกับสุนทรพจน์ความยาว 10 นาทีเศษของเธอจะติดตราตรึงใจชาวพม่าไปอีกนานแสนนาน
ในสุนทรพจน์ครั้งประวัติศาสตร์ที่เธอกล่าวต่อหน้าฝูงชนกว่า 500,000 คน เธอปูพื้นให้ผู้ที่มาฟังเธอทราบสถานการณ์ของการประท้วง และวิกฤตทางการเมืองของพม่าในขณะนั้น เธอย้อนกลับไปอธิบายว่าเหตุใดเธอและครอบครัวจึงไม่เคยยุ่งกับการเมืองในพม่า มีผู้กล่าวว่าเธออาศัยอยู่ในต่างประเทศและแต่งงานกับชาวต่างชาติ ดังนั้น เธอจึงไม่เหมาะสมจะขึ้นมาเป็นผู้นำประชาธิปไตยในพม่า แต่เธอก็ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาครอบครัวของเธอพยายามหลบเข้าหลังฉากและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ แต่ในปี 1988 สถานการณ์เปลี่ยนไป การเมืองเป็นเรื่องของคนพม่าทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เธอเองที่ไม่อาจนิ่งดูดายได้และตัดสินใจใช้ความเป็น “ลูกของพ่อ (ออง ซาน)” กระตุ้นให้ชาวพม่าลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบเผด็จการทหารและเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของนายพลเน วิน จัดการเลือกตั้งเพื่อคืนระบอบประชาธิปไตยระบบหลายพรรคกลับคืนสู่ประชาชนพม่าโดยเร็วที่สุด
หลังความรุนแรงตลอดปี 1988 นายพลเน วิน ผู้นำประเทศและประธานพรรค BSPP (Burma Socialist Programme Party) ซึ่งเป็นเพียงพรรคเดียวที่ปกครองพม่ามานาน 26 ปี ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลและกองทัพ ออง ซาน ซูจีแจ้งเกิดเต็มตัวในฐานะผู้นำประชาธิปไตย เธอร่วมกับนักการเมือง/นักเคลื่อนไหวอีก 4 คน (ทั้งหมดเป็นผู้ชาย และมีอายุมากกว่าเธอหลายปี) ตั้งพรรคเอ็นแอลดี หรือพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยขึ้น และลงสมัครชิงชัยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต
เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 1990 (พ.ศ.2533) ผลปรากฏว่าประชาชนเทคะแนนให้กับพรรคเอ็นแอลดี ทำให้พรรคได้คะแนนรวมทั้งหมดถึง 58.7 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งห่างพรรคเอ็นยูพี (National Unity Party) ที่เป็นพรรคนอมินีของกองทัพอย่างขาดลอย
ทำให้เอ็นแอลดีจะมีที่นั่งในสภามากถึง 80 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารที่เปลี่ยนจาก BSPP ไปเป็น SLORC แล้วประกาศให้ผลการเลือกตั้งในปี 1990 เป็นโมฆะ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงภายในสหภาพพม่า และยังได้ออกคำสั่งให้ควบคุมออง ซาน ซูจีในบ้านพัก นับเป็นการควบคุมตัวเธอในบ้านพักเป็นครั้งแรก รวมเวลาที่เธอถูกควบคุมตัวในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา ชานเมืองย่างกุ้ง อยู่รวมกัน 15 ปี ในช่วง 20 ปี ตั้งแต่ 1990-2010
ต่อจากนี้ เราจะมาทำความเข้าใจ “ด่อ ซุ้” และการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ากันให้มากขึ้นผ่านแนวคิดสุนทรพจน์หลายครั้ง และบทสัมภาษณ์ของเธอ และทำความเข้าใจการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าในฐานะ “ขบวนการ” และ “กระบวนการ” ที่สลับซับซ้อน หาใช่มีเพียงออง ซาน ซูจีเพียงคนเดียวไม่ (อ่านเพิ่มเติม พม่ายุคก่อนและหลังออง ซาน ซูจี (2) โดย : ลลิตา หาญวงษ์)
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ลลิตา ก็ได้วิเคราะห์รัฐประหารเมียนมาครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ (อ่านเพิ่มเติม ‘ลลิตา’ วิเคราะห์ปม ‘รัฐประหารเมียนมา’ ชี้เหตุ เพราะรัฐบาล NLD เหยียบเท้ากองทัพ – หวั่น ‘ซูจี’ สถาปนาตนเป็นใหญ่)
หลังจากนี้ ก็ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา รวมถึงชีวิตของนางซูจี