สุจิตต์ ชวน ชัชชาติ แหกคอก ชี้เป้าทำมิวเซียมต้องเริ่มที่คำถาม ‘กรุงเทพฯ มาจากไหน?’ ดึงสุนทรภู่เป็นพระเอก

สุจิตต์ แนะ ชัชชาติ แหกคอก ทำมิวเซียม เริ่มที่คำถาม ‘กรุงเทพฯ มาจากไหน?’ ดึงสุนทรภู่เป็นพระเอก มองภาพรวมทั้งย่าน อย่าคิดแค่ในศาลาฯ เสาชิงช้า

สืบเนื่องกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการย้ายศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้าไปยังกทม. ดินแดงเรียบร้อยแล้ว โดยจะพัฒนาอาคารศาลากทม.เสาชิงช้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองต่อไป

(อ่าน ชัชชาติ เผยตั้ง กก. ย้ายศาลาฯ เสาชิงช้าแล้ว วันนี้ประชุมผู้บริหาร จะโฟกัสปัญหามากขึ้น)

(อ่าน ส่องแผนย้ายศาลาว่าการ กทม. จาก ‘เสาชิงช้า’ สู่ ‘ดินแดง’)

Advertisement

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่ไม่ควรใช้คำว่า ‘พิพิธภัณฑ์เมือง’ ควรใช้คำว่า ‘มิวเซียม’ ให้เป็น ‘กรุงเทพมิวเซียม’ เนื้อหาตั้งต้นด้วยคำถามว่า ‘กรุงเทพมาจากไหน’ คนกรุงเทพคือใคร ที่สำคัญ ต้องนอกกรอบ แหกคอก เพราะถ้าอยู่ในกรอบเดิม จะไม่มีคนดู และอย่าใช้เขตจังหวัดในการตีกรอบ แต่ต้องใช้  ‘ความเป็นกรุงเทพฯ’ นอกจากนี้ ไม่ควรคิดเพียงการจัดแสดงในตัวอาคารศาลาว่าการฯ เดิม แต่ต้องคิดภาพรวมทั้งย่าน ซึ่งสามารถใช้เป็นเส้นทาง ‘วอล์กกิ้งทัวร์’ ได้ทั้งหมดโดยมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงได้มากมาย ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า ถือว่าตั้งอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ และศูนย์กลางของประชาชนตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

“กรุงเทพฯ ศูนย์กลางของรัฐอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามฯ และสนามหลวง ส่วนวัดสุทัศนเทพวรารามฯ และย่านเสาชิงช้าคือศูนย์กลางของเมือง มีตลาดตั้งอยู่อย่างน้อยที่สุดเก่าไปถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ปรากฏหลักฐานในวรรณคดีเรื่องระเด่นลันได ถามว่าจะเริ่มอย่างไร ก็ต้องเริ่มที่กรุงเทพฯ มาจากไหน คนมาจากที่ไหนบ้างและเป็นใครบ้าง แต่อย่าเอาขอบเขตจังหวัดไปตีกรอบ อย่าไปแยกจังหวัด ต้องดูความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อะไรที่มันเกี่ยวก็เกี่ยว เส้นกั้นจังหวัดไม่มีความหมาย ต้องแหกคอก ต้องนอกกรอบหมดเลย ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเดิม คือไม่มีคนดู อย่างที่เห็นๆกันอยู่ เหมือนที่พูดกันว่า คนไทยเข้าห้าง ฝรั่งเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่จะไปโทษสังคมไม่ได้ เพราะเป็นข้อผิดพลาดของรัฐไทยตั้งแต่อดีตที่ทำพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าใจว่าเป็นศาลาวัด ไม่มีเรื่องของผู้คนและสังคม” นายสุจิตต์กล่าว

ภาพถ่ายเก่าถนนบำรุงเมือง ตัดตรงจากพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออกถึงวัดสุทัศนเทพวราราม ทับบนแนวถนนเดิมจาก ‘ประตูผี’ ไปยังวัดสระเกศ

นายสุจิตต์ กล่าวต่อไปว่า ย่านที่ตั้งศาลาว่าการฯ เสาชิงช้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอยู่แล้วโดยธรรมชาติ การทำมิวเซียมจะยิ่งทำให้คึกคัก หากจัดให้ดี ให้มีความหลากหลาย จะสามารถก่อให้เกิดรายได้ในชุมชนโดยรอบ ทั้งย่านเสาชิงช้า ย่านประตูผี และใกล้เคียง เป็นที่ตั้งของวัดสำคัญ ซึ่งนอกจากวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ยังมีวัดเทพธิดารามฯ และวัดราชนัดดารามฯ รวมถึงวัดมหรรณพารามฯ

Advertisement

“วัดเทพธิดาราม สัมพันธ์กับกรุงเทพฯ โดยตรงในแง่ของมิวเซียมและแหล่งท่องเที่ยว และยังเป็นวัดเดียวที่มีประติมากรรมภิกษุณี เป็นวัดที่สุนทรภู่จำพรรษาและสร้างผลงานชิ้นสำคัญ ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 มีชีวิตอยู่จนถึงรัชกาลที่ 4 การทำมิวเซียมครั้งนี้ ควรดึงสุนทรภู่มาเป็นพระเอก แต่ไม่ใช่สุนทรภู่เวอร์ชั่นเก่า ต้องเป็นสุนทรภู่ในเวอร์ชั่นของผู้แสวงหาความรู้ไม่หยุดนิ่ง รู้เท่าทันโลก อย่างเรื่องพระอภัยมณี คือวรรณคดีต่อต้านการล่าอาณานิคม ไม่ใช่นิยายจักรๆ วงศ์ๆ แต่ใช้จักรๆ วงศ์ๆ เคลือบไว้ ช่วงนั้น อังกฤษล่าเมืองขึ้น ยึดพม่า สิงคโปร์แล้ว ควรมีการนำประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การตีความใหม่ๆ คำอธิบายใหม่ออกมา” นายสุจิตต์กล่าว

วัดเทพธิดารามวรวิหาร
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ภายในวัดเทพธิดารามฯ

นายสุจิตต์ กล่าวด้วยว่า ย่านประตูผี ตรอกไข่ และชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ คืออีกพื้นที่ซึ่งควรได้รับการพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของมิวเซียม

ย่านประตูผี บริเวณตรอกไข่ เป็นจุดกำเนิดของนิตยสารสกุลไทยซึ่งเป็นตำนานของสิ่งพิมพ์ไทย ย่านนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์หลายแห่ง ส่วนชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เป็นที่ตั้งของวังกรมพระสมมติฯ ซึ่งทรงเป็นนักปราชญ์ และเดิมยังเป็นชุมชนช่างใหญ่ที่ทำงาพระเมรุเจ้านายมาตั้งแต่อดีต” นายสุจิตต์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงประเด็นกิจกรรม ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ที่ลานคนเมือง นายสุจิตต์กล่าวว่า นายชัชชาติมาถูกทางแล้ว ทั้งยังสอดคล้องกับประวัติศาสตร์สังคมกรุงเทพฯ และปูทางสู่การทำมิวเซียมได้ต่อไป

“การมีมหรสพบันเทิงเริ่งรมย์ตลอดเวลาเหมือนที่ กทม. ทำอยู่ทุกวันนี้ มาถูกทางแล้ว การทำมิวเซียมสมัยใหม่ต้องมีกิจกรรม ก็ถูกต้อง ผู้ว่าฯ มาถูกทางตั้งแต่ก่อนทำมิวเซียมด้วยซ้ำ คือการมีการละเล่น มีหนังกลางแปลง สนุกสนานเฮฮาไปเรื่อยๆ คนมาดูมหรสพ มามิวเซียม ไม่ได้กินและจับจ่ายแต่ตรงลานอย่างเดียว แต่เดินเที่ยวในย่านนั้น ร้านค้าจึงจะเกิดความหลากหลายขึ้นด้วยซ้ำไปในอนาคต” นายสุจิตต์กล่าว

ประติมากรรมสุนทรภู่ครั้งเป็นภิกษุ ภายในพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

(อ่าน ‘สังคมไทยถูกหลอกมามากแล้ว’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ส่อง (ประตู) ผี เปิดชีวิตสุนทรภู่ที่ (ไม่) รู้จัก)

(อ่าน ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ผ่าหัวใจ ‘กรุงเทพฯ’ 100 ปีแรกตั้ง เปิดหนังสือ ‘วัดเกาะ’ วรรณกรรมราษฎร)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image