เดี๋ยวรู้กัน! ‘เฮียล้าน’ ปูด ‘อดีตรองผอ.’ เกษียณ 7-8 ปี ยังนั่งเป็นเจ้าพ่อบงการ ‘เอื้อบริษัทตัวเอง’ รองผู้ว่าฯสืบแล้วไม่เจอ

เฮียล้าน ปูด ‘อดีตรอง ผอ.สำนักการระบายน้ำ’ มีโต๊ะนั่งประจำใน สนง. กระซิบเขียนทีโออาร์เอื้อบริษัทตัวเอง รองฯ วิศณุ สืบแล้ว ไม่มีโต๊ะนั่งประจำ เจ้าตัวเตรียมแฉภาพ CCTV เพิ่ม

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภา กทม. พร้อมด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งคณะ ทีมคณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. คณะเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชุม

โดยในระเบียบวาระที่ 7 เรื่องที่เสนอใหม่ 7.3 ญัตติของ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือเฮียล้าน ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย เสนอเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาความเหมาะสมการจ้างที่ปรึกษาในโครงการขนาดใหญ่

นายสุทธิชัยกล่าวว่า เนื่องจาก กทม.ได้จ้างที่ปรึกษาในการบริหารและควบคุมงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยใช้งบประมาณจำนวนมาก บางโครงการที่มีการจ้างที่ปรึกษาแต่การก่อสร้างไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด หรือเกิดความเสียหาย และไม่มีข้อมูลการรายงานผลการดำเนินงานของที่ปรึกษาว่ามีความบกพร่อง หรือรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เช่น การควบคุมงานตามหลักวิชาการถูกต้อง มีการปล่อยปละละเลยไม่ได้อยู่หน้างานอย่างสม่ำเสมอ ปล่อยให้ผู้รับจ้างมีความประมาท เลินเล่อ หรือไม่ เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ การจ้างที่ปรึกษาในการบริหารและควบคุมงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บางโครงการ ไม่มีการนำองค์ความรู้ทางวิชาการไปถ่ายทอดต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในดำเนินโครงการต่อไป หรือเพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งไม่มีการติดตามประเมินผล และรายงานผลการดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษา ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณการจ้างที่ปรึกษาเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ประหยัด

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ มีข้าราชการ ลูกจ้าง ตำแหน่ง วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรสุขาภิบาล รวม 85 อัตรา ซึ่งมีประสบการณ์รับราชการมาอย่างยาวนาน มีประสบการณ์สูง สามารถบอกได้ว่าที่ปรึกษาทำถูกหรือผิด ยกตัวอย่างโครงการเช่น โครงการจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระเวลาดำเนินการ 10 ปี (2563-2572) งบประมาณรวม 198.93 ล้านบาท

โครงการจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 1 ระยะเวลา 6 ปี (2561-2566) รวม 19.3 ล้านบาท

Advertisement

“อดีตรอง ผอ.สำนักการระบายน้ำ เกษียณอายุมา 7-8 ปี มานั่งเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ได้อย่างไร มานั่งคู่กับที่ปรึกษา แล้วก็มาเขียนทีโออาร์กำหนดเข้าข้างบริษัทตัวเองที่เป็นที่ปรึกษา ต้องให้ผู้ว่าฯ กทม.ตอบด้วยว่า ยังมีการนั่งอยู่แบบนี้หรือไม่ เอาโต๊ะออกหรือยัง หรือว่ายังตั้งโต๊ะรอให้เขากลับมานั่ง”

“เขาเป็นที่ปรึกษาบริษัทขนาดใหญ่ ที่รับงาน กทม. ท่านก็ไปนั่งบริษัทของท่านสิ มานั่งที่สำนักการระบายน้ำ มาบงการนู้นบงการนี้ มานั่งได้อย่างไร พูดไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ถามว่ายังมานั่งอยู่ไหมครับ ถ้ายังนั่งอยู่ถือว่าสำนักการระบายน้ำปล่อยปละละเลย ผมจะดูกล้อง CCTV ว่าเขามานั่งอยู่ไหม” นายสุทธิชัยกล่าว

ด้าน สำนักวางผังเมือง สำนักการโยธา มีข้าราชการ ลูกจ้าง ตำแหน่ง วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า รวม 271 อัตรา ก็มีการจ้างที่ปรึกษาหลายโครงการเหมือนกัน

“สมัยก่อนที่มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ค่อยมีการจ้างที่ปรึกษา ผู้ดูแลโครงการต่างๆ ก็เป็นข้าราชการที่อยู่แต่ละสำนัก ไม่ต้องเสียเงินจ้างที่ปรึกษา แต่ตอนนี้ทุกโครงการต้องมีการจ้างที่ปรึกษา ทำไมไม่ใช้ข้าราชของเร เรามีวิศวกรต่างๆ”

“อุโมงค์บึงหนองบอน มีการจ้างที่ปรึกษามา แต่เมื่อเกิดเรื่องสะพาน บ้านเรือน ทรุดตัว กลับไม่รับผิดชอบ เรามีมาตรการอะไรบ้าง เสียเงินไปมากมาย จริงๆ แบบนี้เราไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาเลย ถ้าเป็นแบบนี้ให้ กทม.ทำเองดีกว่าไหม”

“ผมไม่ได้เรียนวิศวกร วิศวกรดูแบบนี้ควรทำยังไง เรามีมาตรการเสียค่าปรับ เมื่อเกิดความเสียหายกับทางที่ปรึกษาหรือไม่ เราเสียเงินไปปีนึงเกือบพันล้าน ถ้าจ้างแล้วเป็นแบบนี้ สู้อย่าไปจ้าง เราทำกันเองประหยัดงบประมาณร่วมๆ 500 ล้านบาท”

“ข้าราชการเกษียณที่ยังนั่งอยู่สำนักการระบายน้ำ ผมอภิปรายไปหลายครั้ง แล้วแต่ยังนั่งอยู่ ไม่รู้ว่าเก้าอี้มีแม่เหล็กดูดอย่างแรงหรือไม่ ขออนุญาตท่านประธาน ถ้ายังอยู่ผมจะเอาภาพกล้อง CCTV ที่เขาเข้ามาสำนักการระบายน้ำเวลาไหน วันใด จะเอามาขึ้นชาร์ตและอภิปราย ถ้าผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ไม่ดำเนินการเอาจริงเอาจัง จะให้เห็นว่าใครให้เข้า จะต้องมีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้” นายสุทธิชัยกล่าว

ด้าน นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย อภิปรายเพิ่มเติมว่า ปัญหาเกิดจากบุคลากรของ กทม.ไม่มีความชำนาญในด้านนั้นๆ ยกตัวอย่าง เช่น อุโมงค์บึงหนองบอนมีการจ้างที่ปรึกษา ทุกวันนี้ยังใช้การไม่ได้ พัง ล้มเหลว

นายสุรจิตต์ กล่าวว่า ที่ปรึกษาทำหน้าที่ดูกฎระเบียบให้ผ่านไปได้ด้วยดี การล็อบบี้ ข้อมูลทั้งหมดก็มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เสียเงิน 2 ต่อ 1.ที่ปรึกษา 2.ค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ เกิดจากระบบล้มเหลว 1.หาบุคลากรที่มีศักยภาพไม่ได้ ทำให้คนมีความรู้ไม่อยากมาทำงาน กทม. 2.การเลื่อนตำแหน่งงาน ที่ผ่านมามีการแต่งตั้งโยกย้ายถูกต้องหรือไม่

นายสุรจิตต์ เสนอว่า ต้องระบบวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ปรึกษาให้ค่าความสำเร็จของโครงการ แต่ไม่ตอบโจทย์กับประชาชนมากน้อยเพียงใด

ด้าน นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม กล่าวชี้แจงว่า เป็นเรื่องสำคัญ การมีที่ปรึกษามีผลต่อความสำเร็จ ความล้มเหลว ของโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างอุโมงค์บึงหนองบอน หรือโครงการก่อสร้างล่าช้าอื่นๆ เป็นข้อสังเกตที่จะนำไปพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า กทม.จะพิจารณาความเหมาะสมในการจ้างที่ปรึกษา เฉพาะในโครงการที่มีความซับซ้อนมาก หรือมีเทคโนโลยีขั้นสูง และ กทม.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ โรงบำบัดน้ำเสีย ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น วิศกรรมธรณี วิศวกรรมอุโมงค์ วิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกลในการติดตั้งอุปกรณ์ขนาดใหญ่

นายวิศณุกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กทม.ใช้งบประมาณตามความจำเป็น ซึ่งตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กำหนดอัตราค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการขนาดใหญ่ที่ 2.5% ของมูลค่าโครงการ ส่วน กทม.ใช้อัตราอยู่ที่ 1.75 – 2% ของมูลค่าโครงการ

ส่วนเรื่องอดีตผู้บริหาร มานั่งในสำนักการระบายน้ำ ตามที่นายสุทธิชัยกล่าวมานั้น นายวิศณุกล่าวว่า ตนไปสืบมาแล้ว พบว่าไม่มีโต๊ะที่นั่งประจำ ที่กลับมาอาจจะเป็นการเยี่ยมเยียนลูกน้องเก่า ไม่มีที่นั่งประจำ

ด้าน นายสุทธิชัย ตอบกลับรองฯ วิศณุว่า ข้อเท็จจริงไม่ใช่แบบนั้น แต่ละสัปดาห์เข้าไป 3 – 4 วัน มีโต๊ะทำงาน นั่งอยู่กับข้าราชการระดับ 7 ตนจะเอาภาพจากกล้อง CCTV มาเปิดให้ดู ควรจะมีการป้องกันหรือไม่ เพราะเกิดความเสียหาย บอกลูกน้องเก่าให้เขียนทีโออาร์เอื้อให้กับบริษัทตัวเอง ซึ่งไม่เป็นธรรมกับบริษัทอื่น เชื่อว่าผู้ว่าฯ กทม.ไม่อยากให้มีแบบนี้

“ลูกน้องเก่าเกรงใจไม่กล้าบอกอย่ามานั่ง อึดอัดเหมือนกันแต่ไม่กล้าพูด ผมได้รับการร้องเรียนมาว่านั่งเป็นประจำ เขาก็ไม่กล้าพูดกัน จนผมได้พูดอภิปรายในคณะกรรมการก็ยังไม่ไป แต่ผมไม่แน่ใจว่าพูดที่สภาฯ ที่ผ่านมาไปรึยัง รองฯ ผู้ว่าตอบแบบนี้เท่ากับว่าผมพูดไม่จริง ใครเท็จใครจริงเดี๋ยวก็รู้” นายสุทธิชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image