‘ส.ส.แจม’ ติงห้องให้นมในสภา ถาม ‘รบ.ชวนมีลูก’ ซัพพอร์ตอะไรบ้าง? ยื่น กม.เพียบลุ้นนายกเซ็น

‘ส.ส.แจม’ ขอติง ห้องให้นมในสภาฯ ถาม ‘รบ.ชวนมีลูก’ ซัพพอร์ตอะไรบ้าง? แนะลงทุนแก้ต้นเหตุ – เผย ก.ก.ยื่นสารพัดกฎหมายถึงโต๊ะ รอนายกฯ เซ็น

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมออดิทอเรี่ยม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องในวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล ปี 2566 ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย และองค์กร Protection International ร่วมจัดงาน “จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลอย่างไรในประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”

บรรยากาศเวลา 13.00 น. นักเคลื่อนไหวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง นำเสนอสถานการณ์ล่าสุดของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย รวมถึงข้อรณรงค์เรียกร้องสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีเรื่อง “ค่าตอบแทนของแม่และคนดูแล” และข้อสรุปจาก งานเสวนาสาธารณะ “การเริ่มต้นบทสนทนาเรื่อง CARE INCOME คุณค่าและค่าตอบแทนงานของแม่และคนทำงานดูแล” 2565

จากนั้นเวลา 14.00 น. มีเสวนา Flash talk กะเทาะนโยบายและการจัดสรรงบประมาณของรัฐ โดยเครือข่ายและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการเรียกร้องล่าสุด และความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ การจัดงบประมาณ ต่อด้วยดนตรีโดย ‘วงสามัญชน’

Advertisement

ต่อมาเวลา 15.20 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนแม่และคนทำงานดูแลอย่างไร ในประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” โดย ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ตัวแทนขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, Global Women’s Strike, เครือข่ายระหว่างประเทศหลายเชื้อชาติที่ต่อสู้เพื่อค่าตอบแทนแม่และคนทำงานดูแลทั้งในครอบครัวและโลกใบนี้, นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID), น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม ส.ส.กทม.เขตสายไหม พรรคก้าวไกล, ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม ทีดีอาร์ไอ ดำเนินรายการโดย ปรานม สมวงศ์ Protection International

เมื่อถามว่า ส.ส.และในสภาฯ มีความสนใจที่จะผลักดันเรื่องค่าตอบแทนของแม่และคนทำงานดูแล ด้วยหรือไม่ ?

น.ส.ศศินันท์ หรือทนายแจม กล่าวว่า ตนทำงาน 6-7 เดือนในสภาผู้แทนราษฎร อยู่ในกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย ยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังได้อยู่ในวงที่คุยเรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ หลายวง ล่าสุดไปอยู่ในวงงบในการแก้ไขปัญหายาเสพติด, ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว, อุบัติเหตุทางถนน, นักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งล้วนเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุของการเลี้ยงลูก

Advertisement

จากที่เป็นแม่ตนอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเยอะมาก ซึ่งทุกปัญหาตนเสนอเรื่องเดียวทุกวงคือ ‘แก้ที่ต้นเหตุก่อน’ ไม่มีใครพูดเรื่องงบที่จะแก้ต้นเหตุ หรืองบในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งที่จะต้องเติบโตขึ้นมา ทั้งที่มีงานวิจัยจำนวนมากว่าการจะพัฒนาบุคลากรในระยะยาวได้ ต้องแก้ตั้งแต่ 0-6 ขวบแรก ซึ่งคนที่ใกล้ชิดเขาที่สุดคือแม่ คนเลี้ยง และคนในครอบครัว

“แต่เรากลับไม่เคยมองเห็นงบก้อนนี้เลย กลับไปทุมที่ปลายเหตุ 10 -2 เรื่อง ถ้าปันสัก 10 เปอร์เซ็นต์ เราสามารถเอามาทำงบให้กับแม่ และเด็กเล็กได้อีกเยอะมาก แจมกับทีมงานกำลังทำกฎหมายเกี่ยวกับแม่ ทั้งห้องให้นม สวัสดิการศูนย์เด็กเล็กต่างๆ เท่าที่เจอปัญหาคือ เวลาไปคุยกับฝ่ายกฎหมายของสภา มักจะมองว่าไม่เห็นจำเป็น ‘ห้องให้นม ไปหามุมเอาก็ได้มั้ง เอาผ้าปิดเอา’ อะไรอย่างนี้ มายด์เซตของคนในสังคมที่มองว่า ‘การมีลูกเป็นภาระของผู้หญิงคนนั้น’ ยังมีอยู่ แต่ไม่อยากให้หมดหวังขนาดนั้น ในวงคนแม่-พ่อรุ่นใหม่ๆ ก็เข้าใจปัญหามากขึ้น แต่พอเราไปจมกับการแก้ที่ปลายเหตุ สุดท้ายก็ต้องมาแก้ที่เด็กเล็กอยู่ดี

เมื่อเช้าดูข่าว มีเด็กเล็กไปเปิดประตู ให้หมาไซบีเรียนออกมา แล้วหมาก็ถูกรถชนตาย เจ้าของหมาจะมาฟ้องแม่ ถ้าเรามองแบบไม่คิดอะไร ‘เลี้ยงลูกยังไง’ ไปโทษแม่เด็ก ไปด่าครอบครัว แต่ไม่มีใครมองลึกลงไปว่าสุดท้ายแล้วสังคมเรากำลังมีปัญหาหรือเปล่า ทำไมแม่เลี้ยงเดี่ยวถึงไม่มีเวลาเลี้ยงลูกได้ ถึงต้องเอามาให้คุณตาคุณยายเลี้ยง มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด เนื้อแท้จริงๆ เกิดจากการที่รัฐไม่ได้ซัพพอร์ต Care Income หรืองบในการเลี้ยงดูเด็กและกลุ่มคนเปราะบาง ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรต้องลงทุนในบุคคล มากกว่าการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ” น.ส.ศศินันท์กล่าว

ในตอนหนึ่ง เมื่อพิธีกรชี้ถึงปัญหา ความไม่มั่นคงด้านกฎหมายและนโยบาย ที่คนมีลูกจะต้องคอยกังวล เราจะไปต่อกันอย่างไรดี คิดว่ากลไกรัฐสภาควรจะต้องทำอะไรไปด้วยกันหรือไม่ ?

น.ส.ศศินันท์กล่าวว่า ตอนนี้ตนเป็น ส.ส.ใหม่เพิ่งตั้งไข่ แต่เห็นกลไกที่สามารถทำอะไรได้ มีการยื่นญัตติ หารือ ตั้งกระทู้ หรือกลไก กมธ. ที่พอขยับได้บ้าง แต่เมื่อเราไม่ได้มีอำนาจบริหาร คงจะขับเคลื่อนได้ใน กมธ.ผ่านการยื่นกฎหมาย ซึ่งพรรคก้าวไกล ในปีกแรงงาน ตอนนี้ผลักดันกฎหมายพอสมควร

“มีกฎหมายไปรอที่โต๊ะคุณเศรษฐา ทวีสิน หลายฉบับเหมือนกัน ว่าจะเซ็นเมื่อไหร่ สังคมก็มีส่วนกดดันเหมือนกัน มีผลต่อการจรดปากกา ว่าจะลาคลอด 180 วัน เวลาหยุดงานและหลายๆ เรื่องที่ได้ยื่นเข้าไป รอดูว่าจะเข้าสภาได้อย่างไร จะมีวาระอภิปรายเนื้อหาที่น่าจับตาว่าแต่ละคนพูดอย่างไร” น.ส.ศศินันท์ชี้

น.ส.ศศินันท์กล่าวต่อว่า เมื่อมีกระแสความสนใจการอภิปรายในสภา ส.ส.หลายคนจึงระวังเรื่องการอภิปรายมากขึ้น ประเด็นที่สังคมเห็นไปในทิศทางเดียวกัน การที่จะโหวตให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่านนั้น ส.ส.จะมีความคิดถึงผลกระทบพอสมควร ดังนั้น จึงต้องขับเคลื่อนทั้งในสภา และภาคประชาสังคมด้วย กล่าวคือกฎหมายไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยนักการเมืองอย่างเดียว แต่ต้องผ่านการถกเถียงอย่างเข้มข้นในสังคม แล้วสภาร่วมผลักดัน

“แต่ก็ลุ้นเหมือนกันเรื่อง ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ และ ‘พ.ร.บ.คุกคามทางเพศ’ ซึ่งก็ยื่นเหมือนกัน กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิแรงงานที่ก้าวไกลยื่นเข้าไปแล้วจะเกิดการถกเถียงพอสมควร จะได้เห็นชุดความคิดของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย ตอนนี้ ส.ส.ก้าวไกลเริ่มอ่านร่างงบประมาณฯ กันแล้ว ได้เจอจุดที่น่าสนใจ อย่าง ‘งบประมาณคนพิการ’ ที่เห็นว่าปีนี้โดนตัดไปเยอะเหมือนกัน เป็นจุดที่เราจะพูดเรื่องนี้ค่อนข้างหนัก อยากให้ติดตามการแถลงนโยบายว่าแต่ละกระทรวงจะจัดสรรอย่างไรบ้าง ภาคประชาสังคมต้องช่วยกันกดดัน และติดตามการทำงานในสภาด้วย

แจมสังเกตรัฐบาลหลายครั้ง เวลาลดงบประมาณ ไปลดอะไรที่เกี่ยวกับประชาชน แต่ไปเพิ่มงบอาวุธ เรือนจำ ที่ปลายเหตุ ประชาชนโดนตัดก่อนเสมอเลย เป็นเรื่องที่ต้องไปคุยในสภา” น.ส.ศศินันท์ชี้

เมื่อพิธีกรกล่าวว่า ต้องไปลุ้นว่า ส.ส.คุณแม่ จะได้ห้องให้นมบุตรหรือไม่?

น.ส.ศศินันท์เผยว่า ถ้าในสภามีห้องให้นมบุตรแล้ว ซึ่งตนร่วมผลักดัน มีอยู่ที่ชั้นข้างล่างและชั้น 4 สำหรับพนักงานสภา แต่ตนขอติงนิดนึงว่า ไม่มีสัญลักษณ์ให้เห็นว่าไปทางไหน

“เพราะสภายังไม่ส่งมอบ จึงไม่สามารถติดป้ายสัญลักษณ์ได้ว่าห้องให้นมไปทางไหน เอากระดาษเอ 4 ติดไว้ก่อนได้ไหมในเบื้องต้น เป้าหมายทั่วไปคือให้คนที่ไปสภาสามารถใช้ห้องให้นมได้” น.ส.ศศินันท์กล่าว

น.ส.ศศินันท์กล่าวต่อว่า เคยมีคำถามว่า ห้องให้นมบุตร มีแล้วก็ไม่มีคนใช้ มีใช้แค่ 1 คน 2 คน ต่อให้ไม่มีคนใช้ก็ต้องมี เหมือนต่างประเทศ ไปที่ไหนเราก็จะเห็นห้องให้นมตลอด คนที่ไม่เข้าใจอาจจะไม่เคยมีลูกว่ามันปวดขนาดไหน

“ที่รัฐบาลพยายามบอกว่า ต้องมีลูกเยอะๆ การจะมีลูกไม่ใช่ตัดสินใจจากที่รัฐบาลบอก ‘มีลูกกันเถอะ’ แต่มันเกิดจากกว่า จะมีลูกให้อะไรเราบ้าง ซัพพอร์ตอะไรบ้าง เพราะการมีลูก 1 คน ภาระมหาศาล ไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว แต่มันคือสวัสดิการที่รองรับ” น.ส.ศศินันท์ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image