‘เนติวิทย์’ เสนอสร้างอนุสาวรีย์ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ที่ประชุมองค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ ไม่รับวาระ

‘เนติวิทย์’ เสนอสร้างอนุสาวรีย์ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ที่ประชุมองค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ ไม่รับวาระ

เมื่อวันที่ 11 กันยายน เฟซบุ๊กแฟนเพจ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ข้อความว่า นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอที่ประชุม คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างอนุสาวรีย์ให้ จิตร ภูมิศักดิ์ และเรียกร้องให้มีการทำหนังสือขอบคุณและขอโทษให้กับ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 เวลา 18:00 น. โดยประมาณ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยสามัญครั้งที่ 4 / 2563 โดยนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (แฟรงค์) ในฐานะหนึ่งในกรรมการบริหารฯ เข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วยผู้ติดตาม อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย นายกฤตภาส เชษฐเจริญรัตน์ (กาเร็ต) ร่วมด้วย ทั้งนี้ นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ได้เสนอวาระ การสร้างอนุสาวรีย์ให้จิตร ภูมิศักดิ์ และขอให้มีการออกจดหมายขอบคุณและขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์ เข้าที่ประชุมฯ ซึ่งรายละเอียดในการประชุมโดยสังเขปมีดังต่อไปนี้

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ชวนทำความรู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ เบื้องต้น ชีวิตของเขาในมหาวิทยาลัยที่ถูกตั้งศาลเตี้ย “โยนบก” ทำร้ายร่างกาย และถูกพักการเรียน รวมถึงผลงานและการได้รับการยกย่องของจิตร ภูมิศักดิ์ นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอว่า จิตร ภูมิศักดิ์ สมควรได้รับการพูดถึงและยกย่องจากทางมหาวิทยาลัย ความเป็นเลิศของเขาได้พิสูจน์แล้วว่ายากจะมีคนทัดเทียม และเขาก็เป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมจำนนที่มีมากว่าหกสิบกว่าปีก่อนแล้ว การสร้างอนุสาวรีย์จิตรจะเป็นการสะท้อนถึงความที่มหาวิทยาลัยยอมรับความคิดแตกต่างและสำนึก ดังนั้น ในฐานะนิสิตในยุคปัจจุบัน จึงควรสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่ยกย่อง

ในที่ประชุมฯ ผู้แทนนิสิตอักษรศาสตร์ กล่าวว่า การมีอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นเพื่อระลึกถึงบุคคลเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่ทำการอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นและฉุกคิดว่า บุคคลนั้นสร้างคุณงามความดีหรือมีชื่อเสียงในเรื่องใด นอกจากการสร้างอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นของจิตร ภูมิศักดิ์แล้ว ยังเห็นด้วยกับการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับศิษย์เก่าจุฬาฯ ท่านอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในวงการกีฬา การแพทย์ หรือด้านสังคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัย ถึงแม้ประเทศไทยตอนนี้วัฒนธรรมการสร้างอนุสาวรีย์จะไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย แต่ส่วนตัวมองว่าเราสามารถสร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นมา ผ่านการสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อให้คนได้ชื่นชม และมีความตระหนักรู้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตได้

Advertisement

ด้านประธานฝ่ายวิชาการ อบจ. ได้ตั้งคำถามว่า การจะสร้างอนุสาวรีย์ใช้ตัวชี้วัด (indicator) ใดในการประเมินวัดคุณค่าว่าบุคคลดังกล่าวควรค่าแก่การสร้างอนุสาวรีย์ เพราะว่าการจะมีหน่วยงานใดรับผิดชอบ ควรมีมาตรฐานตัวชี้วัดในการสร้าง และนอกจากนี้จะมีการสร้างให้จิตร ภูมิศักดิ์ อย่างเดียวใช่หรือไม่ หรือหลังจากนี้จำเป็นต้องสร้างบุคคลที่น่ายกย่องเพิ่มด้วยใช่หรือไม่

นายกสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เห็นว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านอนุสาวรีย์นี้อาจไม่ตอบโจทย์ได้ตรงจุดและเพียงพอเมื่อเทียบกับข้อมูลที่ได้รับทราบ ในการสร้างอนุสาวรีย์ รูปปั้น หรืออื่นๆ ในประเทศเรา คนไม่ได้มีความรู้สึกร่วมหรืออินกับการสร้างอนุสาวรีย์ขนาดนั้น ควรให้ความสนใจถึงคนที่ยังมีชีวิตอยู่ดีกว่าว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าสร้างเพื่อยกย่องหรือให้คนอินก็ควรเป็นเสียงของคนทั้งมหาวิทยาลัย เพราะนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์แจ้งว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ก็ควรให้คนรุ่นใหม่ทั้งหมดตัดสินใจ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็สามารถแสดงจุดยืนสร้างอนุสาวรีย์ให้มาเรียมเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยใช่หรือไม่

ด้านเหรัญญิก อบจ. กล่าวว่า อยากให้เน้นสิ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์ ต้องการนำเสนอ เช่น เป็นการสร้างอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นที่แสดงออกถึงการแสดงออกทางประชาธิปไตย เพราะจะทำให้เกิด controversy น้อยกว่าและในอนาคตก็จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เช่น อาจจะจัดเป็นนิทรรศการเพื่อเชิดชูบุคคลที่กล้าที่จะแสดงออกทางประชาธิปไตยท่านอื่นๆ ได้

Advertisement

นายกสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา เสนอให้เปลี่ยนรูปแบบโดยเสนอให้ทำ Hall of Fame

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ แจงว่า อันนี้ขึ้นอยู่กับการแสดงออกในยุคสมัย อาจมีอนุสาวรีย์ขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติ นอกจากอนุสาวรีย์ยังอาจเปลี่ยนชื่อห้องประชุมด้วยก็ได้ ในส่วนอนุสาวรีย์เป็นสิ่งที่อยู่ได้ยืนนานกว่า ไม่ได้หายไปตามกาลเวลา เราไม่ต้องทำแบบอนุสาวรีย์ทั่วไปที่ดูจริงจัง เข้าถึงยาก แต่ให้เป็นเหมือนรูปปั้นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่อุทยาน 100 ปี ป๋วย อึ้งภากรณ์ (สวนป๋วยฯ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ การมีจิตรก็เพื่อให้คนได้ตั้งรู้ว่าการคิดตั้งคำถามเป็นเรื่องยอมรับได้ ได้รับการยกย่อง และมันมีความคงทนแก่กาลเวลา เราไม่ได้คิดถึงแต่คนรุ่นเรา แต่อนุสาวรีย์จะเป็นสัญลักษณ์ให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ควรจะเป็นบุคคลแรกที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการริเริ่มในสมัยนี้ ในภายหลังอาจจะมีบุคคลอื่นเพิ่มด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับนิสิตในอนาคตในสมัยนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ควรให้มีรูปปั้น ซึ่งขอให้อยู่ในการดูแลของมหาวิทยาลัย และให้อยู่ในพื้นที่ที่สังเกตเห็นได้

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอให้มีการริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ โดยให้มีการส่งหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อขอให้มีการดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ฯ ในที่ประชุมมีมติ *ไม่รับรอง* วาระนี้ ด้วยคะแนนเสียงรับรอง 5 เสียง ไม่รับรอง 11 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง จากทั้งหมด 26 เสียง

ในช่วงถัดมา ต่อจากวาระการสร้างอนุสาวรีย์ฯ นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอให้ อบจ. มีการทำหนังสือขอบคุณและขอโทษ จิตร ภูมิศักดิ์ จากกรณีที่จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากการ ‘โยนบก’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงในการตัดสินอันไม่ยุติธรรม และขอบคุณสิ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้พยายามทำไว้เพื่อสังคม เพื่อให้สังคมมีเสรีภาพทางความคิดที่หลากหลายมากขึ้น กระนั้น มหาวิทยาลัยยังตั้งคณะกรรมการตัดสินโทษจิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์จะได้รับบาดเจ็บแล้วยังต้องพักการเรียนไป 1 ปีอีกด้วย

ประธานฝ่ายวิชาการ อบจ. ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการกล่าวขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์แทนสโมสรนิสิตในยุคนั้นในเชิงเปรียบเทียบว่า สมมติถ้าคุณปู่ของเรากระทำผิด ชกหน้าผู้อื่นไป เราจำเป็นต้องขอโทษแทนคุณปู่ของเราหรือไม่ อยากให้มองในเรื่อง “คุณค่าของการกระทำ” ว่าการขอโทษนั้นเกิด “ประโยชน์แก่นิสิต” หรือไม่ ถ้าการออกหนังสือขอโทษเป็นเพียงการเชิดชูให้ อบจ. ได้รับคำชื่นชม ประธานฝ่ายวิชาการ อบจ. จะไม่เห็นด้วย ดังนั้นจึงไม่เล็งเห็นความจำเป็นในการออกหนังสือขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์

รองหัวหน้านิสิตคณะนิติศาสตร์ เสริมว่า เหตุการณ์ตามที่นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์กล่าวอ้างมีแหล่งที่มาจากที่ใด มีหลักฐาน (hard evidence) ที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง (fact) ตามที่อ้างมาหรือไม่ เนื่องจากการอ้างถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเพียงคำบอกเล่าของบุคคลอื่นเท่านั้น หากจะออกเอกสารดังกล่าว ควรออกบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ถามกลับว่า ข้อเท็จจริงอะไร เขาถูกโยนบก และไม่มีทางที่เขาจะเป็นคนโยนบกแน่นอน และเราควรมี ‘empathy’ เห็นความอยุติธรรมไม่ใช่หรือ

ประธานฝ่ายวิชาการ อบจ. ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การจะลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น พวกเราที่เป็นคณะกรรมการบริหารฯ ไม่สามารถตัดสินทุกอย่างได้ด้วยอารมณ์ (emotion) ในการลงมติดำเนินการสิ่งใด เราจำเป็นต้องตัดสินทุกอย่างบนฐานข้อมูลหรือข้อเท็จจริง (fact) มากกว่า ซึ่งมองว่าการนำเสนอพิจารณาออกหนังสือขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์ในครั้งนี้ ยังมีข้อมูลและความน่าเชื่อถือที่ยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาให้เห็นด้วยหรือลงมติ

นายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า เข้าใจทั้งประธานฝ่ายวิชาการ อบจ. และนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ว่าประวัติศาสตร์ทำให้เราตั้งคำถามกันมากขึ้น แต่หลายครั้งที่ผ่านมามีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราสงสัย แต่สิ่งที่เราทำคือการนำพิจารณาจดหมายฉบับหนึ่ง แต่ตัว background หรือข้อเท็จจริง มันอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้เสนอพิจารณาไม่ได้คาดหวังว่าต้องเตรียม ซึ่งอาจไม่ใช่ความผิดของผู้เสนอพิจารณา ดังนั้นอยากให้ที่ประชุมใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจลงมติ

จากที่นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอให้มีการออกหนังสือเพื่อเป็นการขอบคุณและขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์ กรณีที่จิตรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากมหาวิทยาลัย และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมและไร้มนุษยธรรม การลงมติในวาระนี้ ที่ประชุมมีมติ *ไม่รับรอง* ให้มีการออกหนังสือขอบคุณและขอโทษในนาม อบจ. ด้วยคะแนนรับรอง 5 เสียง ไม่รับรอง 12 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง จากทั้งหมด 27 เสียง

สรุปได้ว่า การเสนอวาระในที่ประชุม อบจ. ของนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ในครั้งนี้ การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ และการออกหนังสือขอบคุณและขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะองค์กรที่เป็นตัวแทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมฯ มีมติไม่รับรองทั้งสองวาระ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รำลึก50ปี’จิตร ภูมิศักดิ์’แน่น’หนองกุง’ ‘ชาญวิทย์’นำมอบทุน – ‘ไรเตอร์’เสวนาครบ1ปีเชิดชู

จาก “ตามรอย” ถึง “เปิดบ้าน” จิตร ภูมิศักดิ์ เชิดชูปัญญาชน-นักปฏิวัติ

นิสิตจุฬาฯ อ่านบทกวี ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ชู 3 นิ้วร้องเพลงชาติ ยกเสื้อแดง สู้เพื่อปชต.

“โรม” โพสต์ 5 พ.ค. รำลึก”จิตร ภูมิศักดิ์” ยกเป็นต้นแบบ ผู้ไม่สยบยอมต่อเผด็จการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image