ส่องสนามเลือกตั้ง ‘กทม.’ พื้นที่ไร้การผูกขาด กับวาทะ ‘ไม่เลือกเราเขามาแน่’

ส่องสนามเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯกทม.’ พื้นที่ไร้การผูกขาด ที่หมดยุค ‘ไม่เลือกเราเขามาแน่’

คิกออฟ สตาร์ตการเลือกตั้งระดับชาติไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 เลือกตั้งครั้งแรกหลังจากว่างเว้นไปนานกว่า 8 ปี  ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560 ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยไปอย่างมหาศาล

ก่อนที่คนไทยจะได้เริ่มลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่น ใน การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อ 20 ธันวาคม 2563 , เลือกตั้งเทศบาล ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 และ เลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564

22 พฤษภาคม 2565 ไม่เพียงแต่เป็นวันครบรอบรัฐประหาร 8 ปี แต่ยังเป็นดีเดย์ ที่คนกรุงเทพมหานคร จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นครั้งแรก นับแต่คสช. ตั้งผู้ว่าฯ ม.44 “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” มาดูแลคนกรุงอยู่นานถึง 5 ปี 5 เดือน 5 วัน

ภาพการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงน่าจับตา เพราะหากดูภาพของการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อปี 2562 ที่เปลี่ยนแปลงฉากทัศน์การเมืองไทยไปอย่างมหาศาล ด้วยผลจากระบบการเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนจากพรรคใหญ่เพียง 2 พรรค ให้กลายเป็นหลายพรรคแล้ว ยังมี New Voter ที่จะได้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกอีกหลายแสนคน ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ ซึ่งภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ เช่นกัน

Advertisement

ในการเสวนาเรื่อง “ภูมิทัศน์การเมืองไทย : จากการเลือกตั้งทั่วไป สู่การเลือกตั้งท้องถิ่น” โดย สถาบันพระปกเกล้า รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ฉายภาพความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พร้อมให้ข้อสังเกตการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เป็นอย่างดี

จากการเลือกตั้งที่เป็น 2 ขั้วพรรคใหญ่เมื่อปี 2554 แข่งขันกันระหว่าง ขั้วเพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ ที่ 2 พรรคกินคะแนนเสียงในสภาไป 75-94 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเทียบแบบปาร์ตี้ลิสต์ หรือแบบ ส.ส.เขต ทิ้งห่างพรรคอันดับ 3,4,5 อย่างไม่เห็นฝุ่น ใน 2 พรรคใหญ่ที่สูสี พรรคอันดับ 1 ยังทิ้งห่างพรรคอันดับ 2 ไกล กระทั่งพรรคอันดับ 1 สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพรรคระดับล่าง

ประจักษ์ได้ฉายให้เห็นว่า การเลือกตั้ง 2562 ได้เผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่หลายประการ ผลจากกติกาการเลือกตั้งใหม่ ไทยไม่ได้อยู่บนระบบ 2 พรรคใหญ่ ที่แข่งขันกันอย่างไม่สูสีแล้ว แต่กลายเป็นซับซ้อนกว่านั้น พรรคอันดับ 1-5 มีที่นั่งใกล้เคียงกัน ไม่ทิ้งห่าง

พรรคขนาดกลางและเล็ก ถูกรื้อฟื้นให้มีบทบาทมากกว่าเดิม มีอำนาจในการต่อรองที่จะร่วมรัฐบาล ด้วยการเอื้อของกติกาการเลือกตั้ง พรรค 3-4-5 กลายเป็นคีย์เมกเกอร์ หนุนตั้งรัฐบาล มีอำนาจต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และเป็นการกลับมาของการหาเสียงแบบเก่า อิทธิพลการซื้อเสียง ตระกูลการเมือง ที่เคยลดหายไปในปี 2554 ให้กลับมาอีกครั้ง

เลือกตั้ง 2562 อุดมการณ์ นำนโยบาย

“การเลือกตั้งครั้งนี้ เปลี่ยนโฉมหน้าการเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างมีนัยสำคัญ” ประจักษ์กล่าว ก่อนจะอธิบายต่อว่า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเลือกตั้งคือ first time voter ช่องว่างระหว่างอายุกลายเป็นประเด็นสำคัญ กลุ่มนี้สูง เพราะอั้นมาหลายปี ถึง 14% คนอาจโฟกัสว่าคนกลุ่มนี้จะกำหนดการเลือกตั้ง แต่จริงๆ เจน เบบี้บูมเมอร์ หรือ 60 ปีขึ้นไป มีปริมาณมากกว่า สูงถึง 20%  จริงๆ พลังคนรุ่นเก่า มีทัศนคติที่จะเลือกพรรคที่อนุรักษนิยมมากกว่า

ประจักษ์กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่อุดมการณ์ทางการเมือง มีบทบาทอย่างมาก อาจจะมากกว่าครั้งไหนๆ ก่อนปี 2540 อาจจะแข่งกันด้วย มุ้งการเมือง คุณสมบัติส่วนตัว ปี 2544-2554 แข่งกันที่นโยบาย ทิศทางประเทศ แต่ปี 2562 อุดมการณ์การเมืองสูง เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร พรรคที่ชูว่าสืบทอด หรือต้านการสืบทอดอำนาจไปเลย มีคะแนนเสียงสูงกว่าพรรคที่ไม่แสดงออกชัดเจน

“คน กทม.และคนใต้ ที่เคยเป็นฐานประชาธิปัตย์ พอเห็นว่าประชาธิปัตย์ ไม่แสดงจุดยืนชัดเจน คนรู้สึกว่าไม่มั่นคง กลายเป็นว่า พลังประชารัฐแย่งเสียงของประชาธิปัตย์ไปได้”

 

จาก 2 ขั้ว สู่ 5 พรรค ที่ 1 ไม่อาจแลนด์สไลด์

อจ.รัฐศาสตร์กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเปลี่ยนระบบการเมืองไทยจาก 2 พรรคใหญ่ กลายเป็นระบบ 5 พรรค คือ เพื่อไทย พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย ซึ่ง พลังประชารัฐ และ อนาคตใหม่ เป็นสองพรรคใหม่ ที่เรียกว่าเป็น วินเนอร์ของการเลือกตั้ง เพราะก่อตั้งแค่ปีเศษๆ ส่วนพรรคที่เป็นผู้พ่ายแพ้ใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์ ที่หลุดจากอันดับ 2 มาอยู่ที่ 4 สูญเสียฐานที่มั่นใน กทม. และภาคใต้

จะเห็นได้ว่า พรรค 1-2 เสียงสูสี และไม่ได้ทิ้งห่างอันดับ 3-4-5 แต่ปัจจุบัน ภูมิทัศน์การเมือง ไม่ใช่ 2 พรรคใหญ่ แต่เป็นหลายพรรคที่กระจัดกระจาย ไม่มีใครชนะอันดับ 1 แบบแลนด์สไลด์ ทั้งสองพรรคแรกได้แค่กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เพราะต้องแจกที่นั่งให้พรรคร่วมเยอะ มีพรรคการเมืองเข้าสู่สภามากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 27 พรรค มีพรรคที่ได้ที่นั่งเกิน 50 ที่นั่งเพียง 5 พรรคเท่านั้น ที่เหลือเป็นพรรคต่ำสิบ มีพรรคที่ได้ที่นั่งเดียวสิบพรรค

“ระบบเลือกตั้งปี 2660 ถือว่าทำลายทั้งประชาธิปไตย และ ความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร”

ประจักษ์กล่าวต่อว่า ปี 2562 เป็นการกลับมาของการหาเสียงแบบเก่าที่ถูกรื้อฟื้น ทั้งระบบหัวคะแนน อุปถัมภ์ อิทธิพล ที่เรียกว่าเครือข่ายบ้านใหญ่ ตระกูลการเมืองกลับมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อเสียงกลับมามีอิทธิพลในการหาเสียงเลือกตั้งในหลายเขต ซึ่งเป็นผลจากระบบเลือกตั้ง

“กติกาเลือกตั้งปี 2560 ที่ไปใช้บัตรใบเดียว คนไม่ได้เลือกปาร์ตี้ลิสต์ คนมีแค่ 1 คะแนน ทำให้คนไม่ได้ตัดสินใจโดยดูที่พรรคหรือนโยบาย พอเลือก ส.ส. ก็ต้องแข่งที่ตัวบุคคล พรรคจึงต้องไปกว้านมุ้ง ส.ส. ใช้เครือข่ายบ้านใหญ่”

ขณะที่การหาเสียงรูปแบบใหม่ มีแน่นอนในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น The first social media election of Thailand ที่ใช้โซเชียลติดตามข้อมูลพรรค รวมถึงกองเชียร์ที่ใช้โจมตีกัน และจะมีผลมากขึ้น

“นิมิตหมายอันดีคือคนรุ่นใหม่ตื่นตัว ไปใช้สิทธิ เลือกตั้งจบยังติดตามคะแนน ติดตามการประชุมสภา ถ่ายทอดสด ซึ่งไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ ที่เว็บสภามีคนติดตามเยอะขนาดนี้ ทั้งยังติดตามการทำงานของ กกต. ที่มีข้อกังขา ใน 1 อาทิตย์ มีคนลงคะแนนในแคมเปญถอดถอน กกต.ถึง 1 ล้านคน ทำให้กกต.ต้องปรับตัวและทำงานอย่างระวังมากขึ้น”

เดิมพันสูง สนามเลือกตั้ง อบจ.

สนามเลือกตั้งท้องถิ่น นับว่ามีเดิมพันสูงกว่า อย่างไรก็ตาม การประกาศวันเลือกตั้งอย่างกระชั้นชิด นั้น ประจักษ์ถือว่าเป็นปัญหาหลัก ซึ่งทำให้ผู้สมัครหน้าใหม่ ชนะเข้าไปน้อย ตระกูลการเมืองเก่าๆ ชนะเยอะ เพราะแทบไม่มีเวลาให้คนใหม่ๆ ได้เตรียมตัว

ผลคือ ผู้สมัครโยงกับพรรคการเมืองมากขึ้น ในสนามนี้ มีการประกาศตัวแม้จะไม่เป็นทางการ ว่าพรรคไหนหนุน หรือตั้งชื่อกลุ่มให้ล้อกับพรรคการเมืองระดับชาติ จากงานวิจัยบางชิ้น เห็นว่ายึดโยงกันถึง 68% ผลเลือกตั้งชี้ว่า ตระกูลการเมือง และการเมืองเชิงเครือข่ายอุปถัมภ์สำคัญ บ้านใหญ่ชนะมา เพราะพื้นที่มันใหญ่ ยากที่จะชนะทั้งจังหวัดโดยไม่มีฐานเสียงเดิมมาก่อน หรือไม่มีเครือข่ายหัวคะแนน

“ขณะเดียวกัน ฐานเสียงเดิมของเครือข่ายการเมืองระดับชาติ มีผลมาก เช่น ภาคใต้ แม้ ประชาธิปัตย์จะสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ให้กับพลังประชารัฐ แต่พอเลือกตั้ง อบจ. ผู้สมัครค่ายประชาธิปัตย์ ก็ทวงคืนได้ เพราะพลังประชารัฐ เป็นพรรคน้องใหม่ ตอนเลือกตั้งระดับชาติ คนอาจเลือกด้วยกระแส อาจชอบประยุทธ์และเทไปให้ แต่พอเลือกตั้ง อบจ. มันเลือกตัวบุคคล ก็ดูบุคคลมากกว่ากระแสพรรคคือ พล.อ.ประยุทธ์ ประชาธิปัตย์มีเครือข่ายท้องถิ่นเดิม ก็กลับมาชนะ”

“ผลการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคไหนชัดเจน แบ่งกันไป อบจ.เก่าชนะกลับมาได้ 32 คน แต่แพ้ไปเยอะ มีหน้าใหม่ 44 คน ซึ่งจะเห็นแบบนี้ทั้ง 3 ระดับ อบจ. อบต. เทศบาล การเลือกตั้งท้องถิ่นมีพลวัตสูง แชมป์เก่าสอบตกเยอะ เปลี่ยนหน้า 50-60% มันผูกขาดยากกว่าระดับชาติ เพราะพื้นที่เล็ก คนเห็นหน้าเห็นตา คณะก้าวหน้า ยังไม่สามารถชนะได้ เพราะ อบจ.มีฐานเสียงในเมืองไม่พอ มันแข่งกันทั้งจังหวัด จึงยังไม่สามารถปักธงได้ แต่ได้ ส.อบจ.มาไม่น้อย 57 คนจาก 20 จังหวัด”

อบต.- เทศบาล สนามล้มช้าง

ในสนามเลือกตั้ง อบต. ที่ว่างเว้นมา 8 ปีเช่นเดียวกัน ประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า สนามนี้แตกต่างจาก อบจ. เพราะเล็ก พรรคการเมืองไม่ค่อยลงไปยุ่ง ผู้สมัครไม่ค่อยอิงกับพรรคการเมืองระดับชาติ และส่วนใหญ่หาเสียงแบบเดิมคือ กราวน์วอร์ ไม่ค่อยใช้สื่อโซเชียลมากนัก ยังหาเสียงแบบเดินเคาะประตูบ้าน ให้ประชาชนเห็นหน้า แจกแผ่นพับ และไม่ค่อยหาเสียงเชิงนโยบาย เน้นบุคคลเป็นหลัก

แชมป์เก่าเสียที่นั่งมาก ก้าวหน้าส่ง อบต.196 แห่ง ชนะ 38 แห่ง คิดเป็น 19.4% เห็นว่าพอสนามเล็กลง โอกาสที่กลุ่มการเมืองจะชนะเลือกตั้ง มันก็มีมากกว่าสนามใหญ่อย่าง อบจ.

ขณะที่การเลือกตั้งเทศบาล ที่เลือกพร้อมกัน 2472 แห่ง แชมป์เก่าโดนล้ม นายกที่เคยชนะต่อเนื่อง 7-8 สมัย อยู่ในอำนาจมา 20-30 ปี โดนล้มหลายจังหวัด เรียกว่า ล้มช้างเยอะ นายกหน้าเดิมเข้ามาได้ 807 คน แต่ผู้สมัครคนใหม่ ชนะมา 1662 คน เท่ากับร้อยละ 32 ต่อ 67 มีพลวัตสูงกว่า อบจ. เพราะเป็นเขตเมือง มีความตื่นตัวสูง สนามเล็กกว่า มีคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ที่มีการศึกษา สนามเทศบาลจึงเปลี่ยนแปลงเยอะ ก้าวหน้าก็ทำผลงานได้ดี เพราะฐานเสียงเหมือนอนาคตใหม่ ได้นายกเทศมนตรีมา 15%

หากเทียบกับ อบจ.แล้ว พรรคการเมืองมีบทบาทน้อย ภูมิทัศน์ที่เห็นคือ พรรคการเมืองไปเจาะ อบจ.เป็นสำคัญ เพราะคิดว่าจะเป็นสนามใหญ่และปูฐานไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติได้มาก ส่วน อบต.และเทศบาล สนามมันเล็กไป กระจัดกระจาย ปูไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติได้ไม่ตรงไปตรงมา พรรคการเมืองเลยปล่อยให้มีการแข่งขันกันเองมากกว่าจะไปหนุนใครอย่างชัดเจน

ในภาพรวมการเลือกตั้งท้องถิ่น การใช้ความรุนแรงและอิทธิพลก็ลดลง จากที่มียิงกัน ลอบสังหาร ครั้งนี้น้อยลงมาก บางเขตที่เกิดความรุนแรง กลายเป็นประชาชนเทไปเลือกอีกคนที่ตกเป็นเหยื่อ ปฏิเสธการใช้อิทธิพลมืดและความรุนแรง แต่ยังมีการซื้อเสียงสูงในบางพื้นที่ อย่าง อบต.บางเขตชนะกัน 2-3 คะแนน ทุกคะแนนจึงมีความหมาย ทุ่มกัน 2,000 บาทต่อหัวก็มี

 

กทม.พื้นที่ไร้การผูกขาด คาดเดาผลยาก

“กรุงเทพมหานคร ถือเป็นสนามที่คาดเดาผลได้ยากเสมอ เพราะคน กทม.ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ความจงรักภักดีต่อพรรคใดพรรคหนึ่งชัดเจน ไม่มี Political Royalty หรือ Political Identity ที่ชัดเจน ที่จะบอกว่าตัวเองอยู่พรรคไหน ทำให้ฐานเสียงแกว่งไปมาตลอด ทั้งระดับชาติ และผู้ว่าฯกทม.เอง” ประจักษ์กล่าว และว่า

ในแง่ภูมิศาสตร์การเลือกตั้งของไทย ภาคที่แข่งขันสูสีที่สุดคือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รองลงมาคือกรุงเทพฯ ในสนามนี้ ประชาธิปัตย์ มีทั้งที่ชนะเลือกตั้งและแพ้ให้กับพรรคอื่น อย่างประชากรไทย พลังธรรม และไทยรักไทย สลับกันอยู่

“เรียกว่าเป็นพื้นที่ไร้การผูกขาด หากดูผลการเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 1,277,669 ขณะที่เพื่อไทยได้ 1,209,508 คะแนน คือทั้งคู่มีฐานเสียงคนละล้านสอง คะแนนเขตก็เฉือนกันไป 1 แสนกว่า ไม่ต่างกันมาก”

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งสุดท้าย ก่อนรัฐประหาร ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ทั้ง 2 ได้เสียงเกินล้านทั้งคู่ ถ้าดูการเลือกตั้งรายเขต ก็มีถึง 17 เขต คือเกินครึ่ง ที่เฉือนกันไม่เกิน 5,000 คะแนน คือแข่งกันอย่างสูสี

“ยิ่งกับการเลือกตั้งปี 2562 ยิ่งเห็นได้ชัด เมื่อคนกรุงมีตัวเลือกมากขึ้น เห็นได้ว่า ปชป.คะแนนลดลง จากที่เคยได้ 1.2-1.4 ล้าน ก็เหลือแค่กว่า 4 แสนเท่านั้น ปชป.ยังได้ ส.ส. 0 ที่นั่ง คือแพ้หมดทุกเขต ถือเป็นประวัติการณ์ใหม่ที่หักปากกาเซียนของผู้ติดตามการเลือกตั้งพอสมควร เช่นเดียวกับเพื่อไทยที่ลดลง ถือเป็นความท้าทาย” ประจักษ์กล่าว

หมดยุค “ไม่เลือกเราเขามาแน่”

ประจักษ์ ให้ข้อสังเกตการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้ 2-3 ประการ ว่า สนามเลือกตั้ง กทม. ภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับการเลือกตั้งระดับชาติ คือ ไม่ใช่แค่การแข่งขันระหว่าง 2 พรรคอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งกันหลายพรรคหลายขั้ว ทั้งมีพรรคและอิสระ

“ข้อดีคือทำให้ออกจากสภาพ Negative partisanship คือศัพท์ทางรัฐศาสตร์ ที่หมายความว่า ไม่ใช่เพราะเราไปเลือกใคร หมายความว่าเราชอบคนนั้น แต่เพราะเกลียดอีกฝั่งหนึ่งมากกว่า ซึ่งเป็นการเมืองไม่สร้างสรรค์ โหวตแบบเนกาทีฟ คือไม่มีตัวเลือกที่เราพอใจ แต่ต้องไปเลือกเพราะไม่อยากให้อีกฝั่งชนะ จึงจำใจไปเลือกอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีคุณสมบัติดีเด่น แบบที่เราชอบ”

“ตรงนี้เคยดำรงอยู่ในการเลือกตั้ง กทม.ครั้งก่อนๆ เพราะว่าตัวเลือกจำกัด แต่ครั้งนี้เปลี่ยนไปแล้ว มีคนให้เลือกเยอะ อย่างน้อย 6-7 คน ทุกคนมีคนที่โดนใจตัวเอง มีทุก spectrum ให้เลือก เลยหาเสียงด้วยนโยบายมากขึ้น มีแคมเปญหาเสียงเชิงลบน้อยมาก”

 

พรรคใหญ่ ไม่สามารถเคลมชัยชนะเหนือผู้ว่าฯ

ก่อนทิ้งท้ายว่า “เช่นเดียวกับสนามเลือกตั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล การเลือกตั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อการเมืองระดับชาติเท่าที่เราคิด ไม่ได้หมายความว่า ใครชนะเลือกตั้งแล้วพรรคนั้นจะชนะเลือกตั้งระดับชาติ และ ส.ส.สนาม กทม.ไม่เกี่ยวกัน”

“จริงๆ มันน่าสนใจ เพราะพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติ อันดับ 1 และ 2 คือทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ไม่ส่งผู้ว่าตัวเองทั้งคู่ ยิ่งทำให้แรงส่งที่จะไประดับชาติไม่ชัดเจน พปชร.  ไม่สามารถเคลมได้ว่า ใครคือผู้สมัครของตัวเอง และไม่ว่าใครชนะมา จะบอกว่าเป็นความสำเร็จของพรรค ก็เคลมไม่ได้”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image