กุลลดา หวัง สภาจุฬาฯ จะปกป้องและเห็นความสำคัญ หลักเสรีภาพทางวิชาการ

ภาพจากประชาไท

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายกสภาและกรรมการสภาของจุฬาฯ สืบเนื่องมาจากกรณีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริงเรื่องบทบาทสหรัฐอเมริกาต่อการเมืองไทยช่วงปี 2495-2500 ที่รู้จักกันในชื่อของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แต่เมื่อต้นเดือนนี้มีกรรมการสภา ที่ออกมาเปิดเผยว่าในรายงานการสอบข้อเท็จจริงที่มีการส่งให้ที่ประชุมสภาพิจารณานี้เป็นรายงานเท็จเนื่องจากมีการใช้ข้อมูลปลอม

กุลลดาพร้อมกับผู้ที่มารอให้กำลังใจได้ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยโดยทางสภามี ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา เลขานุการสภา เป็นตัวแทนออกมารับโดยไม่ให้การสัมภาษณ์ใดๆ เพียงแต่ระบุว่าขณะนี้กำลังมีประชุมอยู่ก่อนกลับเข้าห้องประชุมไป

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องที่กุลลดาซึ่งเคยเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของณัฐพลฉบับนี้ ระบุว่า ขอให้ทางสภายึดมั่นต่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดที่มี ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธานและดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ครั้งที่ไชยันต์ ไชยพร ร้องเรียนไว้เมื่อพฤษภาคมปี 2561 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้เคยมีผลสรุปเอาไว้แล้วว่าจากที่ไชยันต์ระบุว่ามีข้อผิดพลาดถึง 31 จุดเมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่ามีเพียงจุดเดียว อีกทั้งเมื่อทางกรรมการเรียกณัฐพลมารับทราบข้อผิดพลาดก็ยอมรับและรีบแก้ไขจึงเห็นว่าไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนและเป็นความผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ใจ

อีกทั้งอดีตกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของณัฐพลยังระบุข้อเรียกร้องต่อมาอีกว่าขอให้สภาไม่ยอมรับรายงานสอบข้อเท็จจริงของชุดที่มี ศ.ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์เป็นกรรมการและเลขานุการอยู่ ด้วยสาเหตุ “ส่อว่าอาจเป็นรายงานเท็จดังที่ ร.ศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นความผิดปกติในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง และการรายงานผลอาจจะแย้งกับการสอบสวนจริง” และยังขอให้สภา ทำการตรวจสอบบความถูกต้องของการสอบสวนและการรายงานผลดังกล่าวที่ ศ.ดร.ปาริชาตินำเสนอต่อสภาด้วย

Advertisement

นอกจากนั้นในท้ายจดหมายยังระบุว่าสภาของมหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบและดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้องด้วยถ้าหากมีการรายงานด้วยข้อมูลเท็จหรือไม่ตรงกับผลการสอบสวนรวมถึงการบิดเบือนผลการสอบสวนในทางมิชอบให้เกิดความเสียหายต่อกุลลดา

ประเด็นเรื่องมีการใช้ข้อมูลเท็จในรายงานการสอบสวนของกรรมการชุดที่มี ศ.ดร.ปาริชาติเป็นกรรมการนี้ถูกเปิดเผยในจดหมายของ รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ ถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีการเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์เมื่อ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา

รศ.ดร.เขมรัฐ ระบุในจดหมายถึงปัญหาที่ณัฐพลถูกไชยันต์กล่าวหาว่าใช้หนังสือพิมพ์ “เอกราช” ฉบับวันที่ 10 พ.ย.2490 ซึ่งเป็นเอกสารอ้างอิงที่เป็นเท็จในวิทยานิพนธ์นั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงแต่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกลับไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหานี้ให้ณัฐพลทราบและไม่เคยเรียกหลักฐานจากณัฐพลเพื่อให้ได้ชี้แจงคณะกรรมการจึงได้ละเมิดสิทธิของณัฐพล

Advertisement

นอกจากนั้น รศ.ดร.เขมรัฐยังระบุอีกว่าที่หนังสือพิมพ์เอกราชฉบับวันที่ 10 พ.ย.2490 ดังกล่าวก็มีอยู่จริงไม่ได้เป็นเอกสารเท็จ ดังนั้นที่เลขานุการกรรมการสอบข้อเท็จจริงนำเอาข้อมูลปลอมมานำเสนอกล่าวหาณัฐพลอย่างผิดๆ ในที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

กุลลดา ได้ให้สัมภาษณ์หลังยื่นจดหมายแล้วว่าที่มายื่นจดหมายในวันนี้เนื่องจากเห็นว่าผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดของ ศ.ดร.ปาริชาตินี้ออกมาก็จะมีผลเสียต่อรูปคดีที่ณัฐพล และพวกรวมเธอด้วยถูก ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิตฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาทจึงต้องมาประท้วง

อีกทั้งอดีตกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของณัฐพลก็ยังได้กล่าวอีกว่า จากที่ก่อนหน้านี้สื่ออย่าง Top News และอานนท์ ศักดิ์วรวิชอ้างว่าได้เห็นผลการสอบสวนของคณะกรรมการซึ่งในผลการสอบสวนกล่าวหาณัฐพลว่ามีการใช้เอกสารที่ไม่เป็นจริงนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมากและเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง จึงต้องเรียกร้องให้ทางสภามหาวิทยาลัยยอมรับผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุดของ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น แต่ถ้าหากสภาจะไม่ยอมรับแล้วจะใช้รายงานของ ศ.ดร.ปาริชาติก็ต้องมีการทบทวนเพราะรายงานนี้ไม่สอดคล้องกับผลของผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นในรายงานซึ่งมีการศึกษาในรายละเอียดของวิทยานิพนธ์

สำหรับในส่วนของคดีความที่กุลลดา ม.ร.ว.ปรียนันทนาฟ้องนั้นศาลแพ่งมีการนัดสืบพยานกลางปีหน้า แต่กุลลดาได้แจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่าเธอได้แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกลับ ม.ร.ว.ปรียนันทนาด้วยจากการที่ทำให้เธอเสียชื่อเสียงในศาลแพ่งโดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 5 ล้านบาทด้วย

ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม รศ.ดร.กุลลดา โพสต์ข้อความขอบคุณผู้ที่ให้กำลังใจ แสดงจุดยืนร่วม ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ โดย ระบุว่า

“เมื่อวานนี้ ดิฉันได้รับมุมิตาจิตจากนิสิตปัจจุบันทั้งในคณะรัฐศาสตร์และคณะต่างๆในจุฬาฯ รวมทั้งนิสิตเก่า คณาจารย์ สื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปที่ให้กำลังใจจนเปี่ยมล้น ทำให้ดิฉันซาบซึ้งยิ่ง จึงขอขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้”

“ดิฉันมั่นใจว่าเมื่อกระบวนการต่างๆได้ดำเนินจนถึงที่สุดแล้ว ความจริงและความถูกต้องจะเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมและส่งผลดีต่อมหาวิทยาลัยและความก้าวหน้าทางวิชาการโดยรวมด้วย ทั้งยังจะช่วยปกป้องคุ้มครองทั้งนิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการพิจารณาวิทยานิพนธ์รวมถึงงานวิจัยเพื่อความรู้ในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางตามมาตรฐานสากลต่อไปโดยไม่ต้องเป็นกังวลต่อข้อจำกัดในประเด็นที่ทำการศึกษาวิจัย และความปลอดภัยต่อคดีความอันไม่เป็นผลดีต่อเสรีภาพทางวิชาการเลย”

“แม้วัย สังขาร และสุขภาพของดิฉันจะร่วงโรยไปตามวันเวลา แต่ความยึดมั่นและทุ่มเทต่องานวิชาการและการเผยแพร่ความรู้ที่ดิฉันได้ทำอย่างเต็มที่ตลอดหลายสิบปีในรั้วของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังคงเหมือนเดิมไม่เสื่อมคลายไป และขอกล่าวอีกครั้งว่าดิฉันปลื้มใจมากที่เห็นนิสิตปัจจุบันและคณาจารย์ยังให้ความสำคัญต่อเสรีภาพทางวิชาการเช่นนี้

ดิฉันขอขอบคุณกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ท่านได้สละเวลามาถามไถ่ด้วยความอาทรในระหว่างที่ดิฉันนั่งรถเข็นรอการเข้ายื่นจดหมาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะธำรงไว้ซึ่งความจริงและความถูกต้องเพื่อสร้างมาตรฐานทางวิชาการแก่สังคมสืบไป ขอขอบคุณ”

ขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาไท และ เฟซบุ๊ก Kullada Kesboonchoo-Mead

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image