ทวิวงศ์ ส.ส.อยุธยา พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอญัตติด่วน ตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบสร้างสถานีไฮสปีดเทรน จ่อดักเจอ ‘สุจิตต์’ งานเปิดโกดังหนังสือการเมือง หารืออนุรักษ์ ‘อโยธยา’
เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล (พระนครศรีอยุธยา-บางบาล) ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ เกี่ยวกับประเด็นการเตรียมยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยาจากโครงการรถไฟความเร็งสูง สถานีอยุธยา (ย้อนอ่าน ‘อดีตอธิบดีกรมศิลป์’ เบรกให้คิดใหม่ ดึงเทคโนโลยีทำ ‘รถไฟไฮสปีด’ ถึงเสียเงิน-เวลา แต่มรดกอยุธยาไม่ตาย)
นายทวิวงศ์กล่าวว่า ตนเตรียมเสนอให้กรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการดำเนินการสร้างสถานีในพื้นที่ตามที่ปรากฏในโครงการจะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่ผ่านมาตนเคยเข้าร่วมกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งแต่ตอนยังไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในวันนี้ เมื่อได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวอยุธยา จึงพร้อมดำเนินการเพื่อให้ชาวอยุธยาได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลดี และผลเสียที่จะเกิดขึ้น รวมถึงตัวเลือกในการพัฒนาสถานี
“ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงอย่างชัดเจนว่าผมไม่เคยปฏิเสธรถไฟความเร็วสูง และอยากให้มีอย่างมาก ในฐานะสถาปนิกผังเมืองย่อมอยากเห็นเมืองเจริญ แต่จุดที่จะก่อสร้างสถานีมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบหลายด้านต่อคนในพื้นที่ ต่อสังคม เศรษฐกิจ มีความกังวลที่ว่า ถ้าสถานียังจะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่สถานีรถไฟอยุธยาเดิมจะส่งผลกระทบอย่างสูง ดังนั้น จึงอยากเห็น TOD (Transit Oriented Development) ที่มีศักยภาพจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ได้บอกว่าห้ามไม่ให้มีรถไฟ แต่ต้องมี TOD เพื่อชาวอยุธยา” นายทวิวงศ์กล่าว
นายทวิวงศ์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีรถไฟความเร็วสูง แต่อยู่ที่ ‘ตำแหน่งที่ตั้ง’ ของสถานีซึ่งมีปัญหามาก ดังนั้น อย่างแรก ต้องมีการทบทวนแผนการก่อสร้างและพัฒนาของสถานีอยุธยาเดิมว่าจะดำเนินการเช่นนั้นจริงหรือไม่ อย่างที่สอง คือการทำ HIA (Heritage Impact Assessment การศึกษาผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม) ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ โดยถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
“ขอให้เป็น HIA ครั้งแรกของไทยที่สมเกียรติ เป็นความรู้ เป็นข้อเท็จจริงสำหรับประชาชน ไม่ใช่ HIA หรือ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แบบหลอกๆ อย่างที่เคยทำกันมา” นายทวิวงศ์กล่าว (ย้อนอ่าน สปาฟา ติงประเมิน HIA ไฮสปีดเทรนอยุธยา ‘ไม่สามารถทำให้คนรับฟังเชื่อได้’ อ.โบราณฯแจงติด 2 กรอบ)
นายทวิวงศ์กล่าวว่า สำหรับอย่างที่ 3 คือ ต้องมาพิจารณาว่า สุดท้ายยังจะสร้างที่เดิมหรือไม่ หรือมีตัวเลือกใหม่ที่ประชาชนกังวลน้อยกว่า และมีผลกระทบน้อยกว่า หรือที่เดิมดีที่สุดแล้ว แต่จะพัฒนาอย่างไรต่อไป
“สำหรับผมในฐานะสถาปนิกและนักวางผังเมืองมองว่า ถ้ามี TOD ที่ดี ผู้โดยสารจะรู้ว่าจะไปต่อด้วยขนส่งสาธารณะแบบไหน ไม่ใช่ว่าเอารถยนต์ส่วนตัวมารับ รถติดเหมือนเดิม ซึ่งส่วนที่ 3 นี้พอได้ตำแหน่งสถานที่ หรือคิดว่าจะสร้างตรงนั้นตรงนี้แล้ว สุดท้ายการทำ TOD ต่อไปจะทำอย่างไร เอาแค่รอบสถานีก็ได้ ว่าคุณมีขนส่งสาธารณะอื่นๆ หรือที่เรียกว่า ฟีดเดอร์ มารองรับหรือไม่
คุณไปรถเมล์ได้ไหม ไปรถรางได้ไหม มีทางจักรยานเชื่อมเข้าเมืองหรือเปล่า มีทางเท้าดีๆ ร่มรื่นสำหรับเดินเข้าเมืองหรือไม่ รวมถึงท่าเรือข้ามฟากจะเปลี่ยนไปอย่างไร รองรับจักรยานยนต์หรือไม่ และรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่อ 1 เที่ยวได้มากขึ้นหรือไม่ เส้นเลือดฝอยสำคัญที่สุด เพราะรถไฟความเร็งสูงคือเส้นเลือดหลักที่จะมาอยุธยายังไม่มีเส้นเลือดฝอยมารองรับเลย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบแน่นอน” นายทวิวงศ์กล่าว
นายทวิวงศ์กล่าวด้วยว่า ในวันเสาร์ที่ 2 กันยายนนี้ ตนจะเดินทางไปร่วมงาน ‘เปิดโกดังหนังสือการเมือง’ ครั้งแรก ที่มติชน อคาเดมี เพื่อขอพบนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีกำหนดการบรรยายในหัวข้อ ‘คนไม่ไทย ในโซเมีย (ของนิธิ) กลายตนเป็นคนไทยในเมืองไทย’ ในเวลา 13.00 น. เพื่อหารือประเด็นดังกล่าว เนื่องจากนายสุจิตต์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองอโยธยาซึ่งจะถูกทำลายหากมีการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง
“ความคิดเห็นส่วนตัวผมมองว่าอยากให้อนุรักษ์โบราณสถานอย่างจริงจัง การอนุรักษ์ต้องมาก่อน เพราะหากถูกทำลายจะไม่สามารถนำกลับคืนมาได้” นายทวิวงศ์กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก อโยธยา เมืองต้นกำเนิดประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ผู้ว่าการรถไฟ ขออย่าจุดประเด็นสถานีอยุธยา ยันเสนอแนะได้ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาค้าน เผยคืบหน้าเยอะแล้ว