กลุ่ม ‘Save อโยธยา’ ผิดหวัง คมนาคมดึงดันสร้าง ‘รางลอยฟ้า’ สะท้อน ไม่เก็ทปัญหา แจงเคสญี่ปุ่น-เยอรมันบริบทต่าง

กณวรรธน์ ราษฎรนิยม ตัวแทนจากกลุ่ม ‘Saveอโยธยา’

กลุ่ม Save อโยธยา พ้อคมนาคมฯ ดึงดันสร้างรางลอยฟ้า ลั่นมองทางออกดีกว่านี้ได้ แนะลงทุนเพิ่มแต่ช่วยเซฟเมืองมรดกโลก

สืบเนื่องกรณีสำนักงานสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำหนังสือถึงรฟท. ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ของสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นเนื้องานอยู่ในสัญญา4-5ช่วงบ้านโพ-พระแก้วของโครงการถไฟความเร็งสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามที่ยูเนสโกมีหนังสือให้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกโลก เป็นนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 11.40 น. ที่ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ อาคารรัฐสภา นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ยื่นวาระกระทู้แยกถาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่อง ‘ปัญหาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา’ ซึ่งนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับมอบหมายเป็นผู้ตอบกระทู้แทน โดยยืนยันว่า จะพยายามดูแลให้โครงสร้างไม่สร้างผลกระทบกระเทือนพื้นที่ โดยรถไฟฟ้าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในพื้นที่อย่างมหาศาล และไม่ยอมให้ถูกถอดถอนจากมรดกโลก  (อ่านข่าว คมนาคมตอบปมสถานีอยุธยา ยัน ‘มุดดินไม่ทันแล้ว’ ลั่น รถไฟความเร็วสูงต้องมา แต่ไม่ยอมถูกถอดมรดกโลกแน่)

นายกณวรรธน์ ราษฎรนิยม ตัวแทนจากกลุ่ม ‘Saveอโยธยา’ หนึ่งในผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เปิดเผยว่า วันนี้ได้ฟังสิ่งที่รัฐมนตรีช่วยฯมาพูด ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังที่กระทรวงคมนาคมขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง เช่น ปัญหาเรื่องชุมชน ปัญหาเรื่องพื้นที่ อย่างที่ท่านตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน มันมีรายละเอียดที่ต่างกัน

Advertisement

“ที่ญี่ปุ่นเขาขึ้นทะเบียนตัวอาคารต่างกับอยุธยา ซึ่งอยุธยาขึ้นทะเบียนทั้งเมือง มันจึงต้องส่งผลกระทบต่อด้านทัศนียภาพของเมืองด้วย เห็นได้ว่าขาดความเข้าใจอย่างชัดเจน แต่ก็ต้องขอบคุณที่กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความสำคัญของมีมรดกโลกมีความสำคัญ แต่ก็รู้สึกว่าเสียใจอยู่ที่ยังดึงดันสร้างเหมือนเดิม” นายกณวรรธน์เผย

นายกณวรรธน์กล่าวว่า ตนคิดว่ามันต้องทางออกที่ดีกว่านี้สำหรับกระทรวงคมนาคม อยากให้ทบทวนใหม่ แก้ไขใหม่ ไม่ใช่แค่พูดแล้วก็จบไป

“ทางเลือกที่บอกว่ามีจำกัด เป็นเพราะว่าเขาบอกให้มีทางเลือกแค่นี้หรือเปล่า การจำกัดมาจากตัวเขาเอง แต่ความจริงแล้ว มันมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้ เช่น คุณเอาลงใต้ดินได้ไหม หรือ ย้ายไปบ้านม้าได้ไหม แบบนี้ก็ทำได้เหมือนกัน มันอาจจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่มันคุ้มค่าต่อการแลกมากับมรดกโลก มันคุ้มค่ากว่าการสร้างรถไฟทับเมืองโบราณ หรือ องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่กำลังจะสูญเสียไป

Advertisement

หากมีการทบทวนใหม่ คงไม่ได้เกิดความล่าช้าออกไปถึง 8 ปีอย่างที่มีตัวเลขลอยๆ ขึ้นมา แต่ต้องมีทางออกที่ดีกว่านี้ และไม่ทำลายเมืองโบราณ” นายกณวรรธน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image