ส่อง‘การเมือง’ หลังปิดจ๊อบ‘เอเปค’

ส่อง‘การเมือง’ หลังปิดจ๊อบ‘เอเปค’

ส่อง‘การเมือง’ หลังปิดจ๊อบ‘เอเปค’

หมายเหตุนักวิชาการวิเคราะห์ภาพการเมืองและทิศทางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสิ้นเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ซึ่งฝ่ายการเมืองมองว่าการเมืองจะเข้มข้นเนื่องจากใกล้เลือกตั้ง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

ก ารเมืองหลังประชุมเอเปค จะมีความชัดเจนมากขึ้นในการโยกย้ายสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ของบรรดา ส.ส. รวมทั้งแกนนำของพรรคการเมือง โดยเฉพาะในซีกของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบกับหากรัฐบาลอยู่ครบวาระ บรรดาผู้ที่จะสังกัดพรรคการเมืองจะต้องโยกย้ายก่อน 90 วัน เนื่องจากต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งมีการสัญญาณไปตามพรรคการเมืองต่างๆ ใครจะโยกย้ายจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน 90 วันที่สภาจะหมดวาระ เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ ได้มีการหารือกันแล้ว

กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่มีความชัดเจนในการเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หรือจะย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ในเรื่องนี้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับบรรดา ส.ส.จะตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อหาจุดยืนทางการเมือง หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะไปพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ยังคาอยู่ในเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ คิดว่าบรรดา ส.ส.บางพื้นที่ ที่คะแนนเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ตกต่ำ ก็จะสร้างความลำบากใจในการที่จะรณรงค์หาเสียง ในขณะเดียวกันบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ยังมีคะแนนเสียงความนิยมของนายกฯ ไม่อยากจะย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นเดียวกัน จึงสร้างความอึมครึมให้กับพรรคพลังประชารัฐด้วย

หาก พล.อ.ประยุทธ์เลือกจะอยู่พรรคพลังประชารัฐ จะมีผลหากพรรคพลังประชารัฐไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้เกิดผลกระทบมาที่นายกฯเพราะเป็นต้นตอของปัญหา การที่ไม่ตัดสินใจจะสังกัดพรรคการเมืองใดที่ชัดเจน จะส่งผลกระทบมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคที่บุคลากรการเมืองสำคัญๆ เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ ยังเป็นการแย่งชิงพื้นที่กันเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะคนในพรรคประชาธิปัตย์ลาออก และเตรียมตัวย้ายมาพรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้สัมพันธภาพในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรครวมไทยสร้างชาติมีปัญหามากที่สุด

Advertisement

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ตัวผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ หากมองดูแล้วพบว่าจะมีการช่วงชิงคะแนนเสียงและความได้เปรียบเสียเปรียบจาก พ.ร.บ.กัญชา กับพรรคประชาธิปัตย์ พื้นที่ภาคใต้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า จะเป็นการช่วงชิงคะแนนเสียงจากพรรคภูมิใจไทยที่ลงพื้นที่หาเสียงมานาน และได้มีการต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์มานานเช่นกัน

แต่คราวนี้หากพรรคประชาธิปัตย์เลือดไหลมาที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้กลายเป็นสามก๊ก พรรคพลังประชารัฐจะลดบทบาทลงไปในการต่อสู้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีชัดเจนมารวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะเกิดการต่อสู้ 3 ขั้วอำนาจในพื้นที่คือ 1.พรรคภูมิใจไทย 2.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม และ 3.กลุ่มคนที่ไหลออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปรวมกันที่พรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วชู พล.อ.ประยุทธ์เนื่องจากดูแล้วยังมีคะแนนนิยมในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้สามารถใช้เป็นสินค้าหรือตัวชูในการเรียกคะแนนเสียงได้

แต่ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกับพรรคอื่น ที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เชื่อว่ามีผลกระทบต่อคะแนนเสียง เพราะการแยกตัวของนายกฯจะทำให้คะแนนนิยมทั้ง 2 ข้างจะลดลงทันที ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ

หากมองแนวนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ “แยกกันเดิน รวมกันตี”ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกฯอยู่กันคนละพรรคและสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะสามารถจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคได้ อีกทั้งยังมี ส.ว.สนับสนุน แต่ถ้าทั้ง 2 คนเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนักและจริงและพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.สูงกว่าทุกพรรคการเมือง มันอาจจะเกิดสมการการเมืองใหม่เกิดขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์อาจจะอยู่ซีกฝ่ายค้าน ส่วน พล.อ.ประวิตรอาจจะต้องไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย

ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะดูได้จากการส่งตัวผู้ลงสมัครส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ คงต้องดูบางพื้นที่ในการดูเรื่องความขัดแย้ง อาจจะดูในเรื่องการแข่งกันระหว่าง 2 พรรคการเมือง แต่ถ้าเป็นการแยกกันเดิน ก็จะหลีกที่จะไม่ชนกัน ในการส่งผู้สมัคร ส.ส.บางพื้นที่ โดยมองจากพรรคพลังประชารัฐแข่งกับพรรคเพื่อไทย บางพื้นที่พรรครวมไทยสร้างชาติแข่งกับพรรคเพื่อไทย อาจจะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของ 3 ป.ก็ได้ อาทิ พรรคพลังประชารัฐเข้มแข็ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์คะแนนเสียงตกต่ำก็ไม่ต้องส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้ง

แต่ถ้าหาก 2 ป.ไม่มีเอกภาพจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียง ส.ว.หรือไม่นั้น แน่นอน ส.ว.ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ค่าย แต่ก็ต้องดูหลังประชุมเอเปค เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีทางการเมืองชัดเจนไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ส.ว.ก็จะแยกออกเป็น 2 ข้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อจะต้องเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ส.ว.จะต้องดูกระแสของสังคมด้วย ถึงแม้ว่าจะต้องทดแทนบุณคุณ 2-3 ป.ก็ตาม

ที่สำคัญหาก 2 ป.แตกแยกจริงๆ ต้องดูว่าหลังการเลือกตั้งใครได้คะแนนเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก และปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ได้ ก็ต้องมีความจำเป็นในการผนึกพลังกับพรรคพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการหยิบยืม ส.ว.ในปีกของ พล.อ.ประวิตรมาช่วยยกมือในการสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกตัวนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกันหากพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเล็กพรรคน้อยรวมกันเป็นเสียงข้างมาก ก็มีความจำเป็นต้องพึ่งพา ส.ส.ในฝั่งของ พล.อ.ประวิตร หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สุดท้าย 2 ป.ก็ต้องมาจับมือกันอีก ก็คงได้เห็นรัฐบาลใหม่ในรูปแบบเดิมๆ

หลังจากการประชุมเอเปคอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร อยู่ตรงไหน อันดับต่อมาถ้าหากตัดสินใจได้ชัดเจนแล้วจะไปอยู่พรรคการเมืองใด ควรจะส่งสัญญาณให้กับพรรคการเมืองขอให้มีการต่อสู้ทางการเมืองด้วยกติกา ใช้นโยบายในการหาเสียงและให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และชักชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นหากมองกระแสกับกระสุน ต้องยอมรับว่ากระแสเป็นภาพรวมของพรรคการเมือง ความนิยมชมชอบของตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่ในพื้นที่ปฏิเสธไม่ได้ เรื่องกระสุนเชื่อว่าจะใช้กันอย่างเข้มข้น บางเขตพื้นที่อาจจะใช้เงินหลายสิบล้านเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง

อ่านข่าวอื่น

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ถ ามถึงการย้ายพรรคของ ส.ส.เพื่อเตรียมพร้อมเลือกตั้งครั้งหน้า ขอตอบฟันธงแบบฝืนๆ ไม่หวือหวา คือส่วนตัวคิดว่าไม่ค่อยเข้มข้นเท่าไหร่ คำว่าเข้มข้น ก็ต้องให้นิยามความหมายถึงการแย่งตัวหรือการหาที่ลง หาจุดต่างๆ ของแต่ละคนว่ามากน้อยอย่างไร ส.ส.ที่ไม่ได้เป็นคนที่มีน้ำหนัก เช่น ทุนหรือฐานดี คงไม่มีใครมาแย่ง หากจะไปก็คงไม่ต้องฟาดฟัน คนที่พยายามทำให้ดูตื่นเต้นในการย้าย การเข้าพรรคอะไรต่างๆ คือตัวละครที่ไม่มีน้ำยา เป็นหมากที่ไม่มีความหมายทางการเมืองเท่าไหร่ แต่อาศัยสร้างภาพพจน์เพื่อจะได้ค่าตัวขึ้นหรือจะได้ที่ลงก็ไม่ทราบ แต่ไม่น่าจะมีน้ำหนักเท่าไหร่

เนื้อหาของการต่อสู้ในระบบพรรค ส่วนตัวก็มองว่าไม่เข้มข้นเท่าไหร่เช่นกัน อย่างในขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์มีข่าวทุกวันว่าเลือดออก เลือดไหลไม่หยุด ฟังแล้วเหมือนจะตายถ้าเป็นคนก็เข้าไอซียู แต่พอไปดูข้อมูลจริงๆ ไปดูตัวเลข ยังไม่เห็นคนที่มีน้ำหนัก กรณีคุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งมีกระแสข่าวย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ก็เป็นรุ่นเดอะที่หมดเวลาไปแล้ว ไม่ใช่ตัวเล่นแล้วแม้ฟังดูดีว่าเป็นคนที่เคยมีตำแหน่งสูงในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

สำหรับความไม่ชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ว่าจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น มองว่าเป็นเพราะเขารู้ธรรมชาติ หรือบุคลิกของพรรคตัวเองว่าไม่มีประสิทธิภาพในแง่คุณภาพ ส.ส.ในแง่ของคุณภาพกฎบัตรทางการเมืองที่มีเรื่องราวนอกจากหาเสียงแล้วไปสร้างประเด็นให้เป็นข่าว เมื่อพรรคและ ส.ส.เป็นอย่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีฐานอำนาจชัดๆ ในกองทัพหนุนหลัง มีทุนใหญ่หนุนหลัง รวมถึงชาวบ้านจำนวนหนึ่งซึ่งไปไหนไปกันเขาก็พอแล้ว จะต้องไปห่วงอะไร เขาไม่อดตายอยู่แล้ว ไม่ต้องดิ้นรน จะไปหาลงที่ไหนทำไม

สุดท้ายคือเมื่อเลือกตั้งแล้ว ถ้าคะแนนไม่ถูกจัดการและจัดแจง ถ้าคะแนนสะท้อนถึงคนลงคะแนนเสียงจริงๆ อย่างที่เกิดในอเมริกาเมื่อกลางเทอม จึงจะรู้ตัวว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องตัดสินใหม่ว่าจะไปอย่างไร แต่ถ้าคิดว่าจะจัดการได้อย่างที่เคยทำมา ให้ลงกับฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. 250 คน ก็จบ ขออีกสมัยหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า เขาเชื่อว่าเขาได้ พล.อ.ประยุทธ์ คือ โดนัลด์ ทรัมป์ เมืองไทย ไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น ฟังเสียงตัวเองคนเดียว

ถามว่าถ้าไปเป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคอื่น จะส่งผลต่อพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ แน่นอนว่าหากตัดสินใจแบบนั้น พรรคพลังประชารัฐก็ต้องม้วนเสื่อ จบเกมไป เหมือนพรรคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเมื่อจอมพลถนอม กิติขจร ทำแล้วไปไม่รอดก็ต้องเปลี่ยน ในที่สุดจอมพลถนอมก็ต้องสร้างพรรคของตัวเองขึ้นมา คือ พรรคสหประชาไทย

อย่างที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ห่วงฐานเสียงนี่คือนักการเมืองรุ่นเก่าที่ทำแบบสฤษดิ์-ถนอม ตอนนี้เรามีการเมือง 2 ยุคที่ทับซ้อนกันอยู่ คือยุคสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (จารุเสถียร) กับยุคของฝ่ายที่ต้องการไปให้พ้นๆ จากยุคสฤษดิ์-ถนอม-ประพาส เป็นการสู้กันที่น่าสนใจว่าพลังใหม่จะไหวไหม จะเอาพวกพลังเก่าอยู่หรือไม่ ด้วยเกมรัฐสภา ไม่ใช่การบีบจากข้างนอก การเดินขบวน หรืออะไรต่างๆ แต่เป็นคะแนนเสียง คูหาเลือกตั้ง คือ คูหาสวรรค์ ที่จะดลบันดาลให้คนเหล่านั้นเข้ามาเปลี่ยนระบบ

อนาคตของพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองไทย ถ้าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนโยบาย ไม่สามารถคิดอะไรที่เป็นจริงเป็นจัง และมีผลต่อการขับเคลื่อนพลังการผลิตของประชาชนทุกกลุ่มทุกเหล่าให้ได้ ตอนนั้นเราจะต้องแข่งกับเมียนมา เวียดนามอาจจะก้าวเคียงบ่าเคียงไหล่แล้วก็พร้อมจะไป ส่วนไทยอยู่กับพม่า 2 คนก็สบายดี สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือการอาศัยทุนภายนอก ไม่ได้มองกำลังภายในประเทศเลย ฝีมือเล็กๆ น้อยๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ไม่เอา เอาแต่ทุนใหญ่ ถ้าพร้อมใจกันอยู่แบบนี้ก็ลองดูว่าจะไปได้ไหม

ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร แยกพรรคและต้องมาแข่งกันเอง ถ้าแยกกันได้แล้วแข่งกันจริงๆ มีผลดีแน่ๆ ต่อประชาชน แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าในที่สุดแล้วเขาไม่แยกกัน ไม่แข่งกันจริงๆ ถ้าแข่งแล้วแพ้ คะแนนก็ตกอยู่กับฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นฝ่ายที่พูดนโยบายรู้เรื่อง เขาไม่เอาหรอก เขาก็ต้องกอดกันอยู่บนเรือลำเก่าต่อไปจนพังไปข้างหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image