คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ในมิติและบริบทความเป็นสตรีเพศ (ตอน 1)

หากฉายภาพย้อนหลังการเล่าเรื่องหนังและสารคดีที่ผ่านมาในคอลัมน์นี้ จะพบว่ามีหลายเรื่องที่นำมาบอกเล่าในฐานะที่เรื่องราวเหล่านั้นเป็นภาพยนตร์และสารคดีที่มีแก่นแกนเน้นบทบาทไปที่เรื่องราวของ “สตรีเพศ” ในแง่มุมต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะแนวคิดสตรีนิยม หรือเฟมินิสต์เท่านั้น แต่หากยังหมายรวมถึงเรื่องราวที่ดำเนินเรื่องนำโดยตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของเนื้อหา

ในช่วงต้นปีนี้เป็นจังหวะที่ดีที่จะย้อนรอยและย่อยภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี ที่มีเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับสตรีเพศในบริบทที่น่าสนใจผ่านการแบ่งเป็น 4 ธีม ประกอบด้วย “สตรีในนามการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางสังคม” “สตรีในกงล้อหมุนของเพศชาย” “สตรีกับพลังภายในอันเปี่ยมล้น” และ “สตรีในนามของความตลกร้าย”

โดยขอเริ่มจากกลุ่มผลงานสตรีในนามการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางสังคม

ภาพยนตร์สารคดีที่พูดถึงผู้หญิงในเวทีการเมืองที่ชัดเจนและอยู่ในเทรนด์ที่สุด คือ “Knock Down the House” หนังสารคดีการเมืองที่พาเราไปตามติดเบื้องลึกเบื้องหลังของกลุ่ม “นักการเมืองหญิงหน้าใหม่” ในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. กลางเทอมสหรัฐเมื่อปลายปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่คองเกรสมีผู้หญิงเข้าสภามากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งการเป็น “หน้าใหม่” ทางการเมืองของผู้สมัครหญิงเหล่านี้ตกเป็น “มวยรอง” และถูกให้ค่าว่า

Advertisement

“ไร้ประสบการณ์ทางการเมือง”

หนังสารคดีพาไปดูจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบของเส้นทางนี้ว่า แต่ละคนเตรียมตัว ต่อสู้และพยายามกันอย่างไร โดยตามติดเบื้องหลังการทำงานของ “ผู้สมัครหญิง 4 คน” จากพรรคเดโมแครต ซึ่งบทสรุปสุดท้ายสหรัฐอเมริกามี ส.ส.หญิงอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์การเมืองและเป็น ส.ส.ผู้ล้มยักษ์ในวัยเพียง 29 ปี อย่าง “อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ”

Advertisement

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Knock Down the House ก๊อกๆ! ประชาชนจะขอบุกสภาแล้วนะ

ถัดมาเป็นภาพยนตร์สารคดีชีวิตเรื่อง “What Happened, Miss Simone?” ถ่ายทอดชีวิตของนักร้องผิวสี “นีน่า ซีโมน” หนึ่งในศิลปินนักร้องชาวสหรัฐผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีวัยเด็กที่ฝันอยากเป็น “นักเปียโนคลาสสิกผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา” แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ต้องเลือกหันหน้าสู่เส้นทางศิลปินตามผับบาร์ เลี้ยงชีพด้วยฝีมือเปียโนระดับพระกาฬ ก่อนจะประสบความสำเร็จในวงการเพลง และก้าวสู่แนวหน้า “นักสิทธิพลเมือง” เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิคนผิวสีที่ถูกกดขี่

“นีน่า ซีโมน” คือนักดนตรีแจ๊ซ-บลูส์ เพื่อชีวิตที่มีความเกรี้ยวกราดทั้งความคิดและอารมณ์ หลายบทเพลงที่เธอแต่งและร้องออกมาอย่างก่นด่าเรียกหาความยุติธรรมให้คนผิวดำผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเพลงของซีโมน คือดนตรีที่มาจากจิตวิญญาณสะท้อนบาดแผลทางจิตใจที่มีต่อสังคม และประเทศที่เธอยืนอยู่นั่นเอง

ย้อนอ่าน : What Happened, Miss Simone? วิถีแบบ “นีน่า ซีโมน” มากกว่าความบ้าคลั่ง เพราะเธอคืออัจฉริยะ!

ตามมาด้วย ซีรีส์การเมืองที่เล่าเรื่องกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวกันแข็งขืนต่อระบบอย่าง “The Handmaid’s Tale” ซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวสังคมที่ปกครองด้วยระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จผ่านการอ้างคุณธรรม ความดีงามที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

เรื่องราวที่เสนอให้เห็นความบ้าคลั่งของการสร้างชาติใหม่ผ่านกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง ที่มีการบังคับกดขี่ แบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่ม บทบาทหน้าที่ และชนชั้นต่างๆ มีการกดขี่และวางสถานะผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายในทุกกรณี

เนื้อเรื่องหลักจะเล่าถึงกลุ่มผู้หญิงที่เป็น “สาวใช้” ที่เรียกว่า “Handmaid” มาทำหน้าที่จิปาถะ แต่หน้าที่หลักคือ “ให้กำเนิดทารก” โดยพวกแฮนด์เมดจะถูกส่งตัวไปประจำอยู่ในแต่ละบ้านพักของบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาล และผู้บัญชาการแต่ละเขตพื้นที่ เพื่อผลิตทายาทให้กลุ่มชนชั้นปกครอง ผ่านวาทกรรมว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในการถือกำเนิด ทั้งที่จริงแทบไม่ต่างจากการที่ผู้หญิงเหล่านี้กำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเรื่องราวจะค่อยๆ เข้มข้นขึ้นเมื่อบรรดาสาวใช้ค่อยๆ ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบทีละเล็กละน้อยจนรวมตัวกันต่อสู้ได้ในที่สุด

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : The Handmaid’s Tale ประเทศ ‘ดิสโทเปีย’ อันชวนขนลุก

ปิดท้ายกับสารคดีสั้นรางวัลออสการ์ “Period. End of Sentence.” เรื่องราวที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจของหญิงอินเดียกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ชนบทที่เผชิญปัญหาจากการมี “ประจำเดือน” และขาดแคลน “ผ้าอนามัย” อย่างหนัก ส่งผลให้ใช้ชีวิตลำบาก คุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ซึ่งหนังสารคดีชี้ให้เห็นว่านี่คือปัญหาระดับ “วาระแห่งชาติ” ทั่วอินเดีย เพราะผู้หญิงอินเดียจำนวนมากในชนบทไม่มีโอกาสเข้าถึงและได้ใช้ผ้าอนามัย

โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ร่วมมือกับกลุ่ม “The Pad Project” ระดมเงินบริจาค ทำโครงการรณรงค์ ช่วยซื้อเครื่องจักร “ผลิตผ้าอนามัย” ต้นทุนต่ำมาติดตั้งในหมู่บ้าน มีการฝึกสอนกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านชนบทให้รวมตัวกันตั้ง “กลุ่มผลิตผ้าอนามัย” ทำเองมาขายในราคาถูกเพื่อให้ผู้หญิงในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียงอีกกว่า 40 หมู่บ้าน เข้าถึงผ้าอนามัยได้

“Period. End of Sentence.” คือสารคดีสั้นที่ถ่ายทอดเรื่องที่อาจจะพูดหรือเล่าได้ยากนักในสังคมอินเดีย เพราะเรื่อง “ประจำเดือน” ซึ่งในสังคมอินเดีย เกือบจะเหมือน “เรื่องต้องห้าม”

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Period. End of Sentence. เรื่อง ‘ผ้าอนามัย’ ที่หนักหนาทั่วแผ่นดิน

เป็น 4 เรื่องราวของภาพยนตร์ ซีรีส์ และหนังสารคดี ที่มีความโดดเด่น และเล่าเรื่องราวผู้หญิงในประเด็นการเมืองและความเคลื่อนไหวทางสังคมที่น่าสนใจ

สัปดาห์หน้ามาเล่ากันต่อในผลงานอีก 5 เรื่อง ที่พูดถึงบริบทชีวิตสตรีที่ต้องต่อสู้ท่ามกลางกงล้อหมุนของเพศชาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image