เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

05.05.2021

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์

ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (จบ)

 

นอกจากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัยจะช่วยให้เราย้อนเวลากลับไปศึกษาพื้นที่วังหน้ายุคต้นรัตนโกสินทร์ได้ดีขึ้นแล้ว

แผนที่ชุดนี้ยังช่วยให้เราสามารถศึกษาลงลึกไปถึงระดับแผนผังเฉพาะของแต่ละอาคารสถานที่ได้อีกด้วย (อันเนื่องมาจากการรังวัดสำรวจที่ละเอียดมาก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนผังของวัดในยุคต้นรัตนโกสินทร์

เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่าวัดส่วนมากที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อครั้งตั้งกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 เกือบทั้งหมดถูกบูรณะใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งถือเป็นช่วงระยะเวลาที่สยามเริ่มกลับมามีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจผ่านการค้าสำเภาและก้าวสู่ความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมอีกครั้งนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงนี้ได้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรม “พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3” (แบบจารีตเดิมผสมผสานกับศิลปะจีน) ที่ถือเป็นรูปแบบใหม่ในทางช่าง อันถือเป็นยุคสมัยที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเกิดขึ้นหลายชิ้น

ไม่ว่าจะเป็นโลหะปราสาท, สำเภาเจดีย์ วัดยานนาวา, การประดับผิวนอกสถาปัตยกรรมด้วยกระเบื้องเคลือบ รวมถึงพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่กล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการออกแบบพระปรางค์ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้คือยุครุ่งเรืองทางวัฒนธรรมในยุคต้นรัตนโกสินทร์

แต่ปัจจุบัน ลักษณะทางกายภาพดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วนด้วยเหตุปัจจัยมากมาย ทั้งความเสื่อมตามกาลเวลา อัคคีภัย และการรื้อสร้างอาคารใหม่ซ้อนทับลงไป จนหลายวัดไม่เหลือลักษณะทางกายภาพดั้งเดิมอีกต่อไป

แม้ว่าวัดหลายแห่งยังสามารถเห็นร่องรอยหลายอย่างที่คงอยู่ แต่ก็มีรายละเอียดอีกมากมายก็สูญหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มร่องรอยที่หลุดหายไปดังกล่าว

ด้วยการศึกษาแผนที่ชุดนี้ที่ยังไม่มากพอ ผมจึงขอเสนอกรณีตัวอย่างเพียง 3 แห่งเพื่อชี้ให้เห็นศักยภาพของแผนที่ชุดนี้ในการช่วยเราให้ย้อนกลับไปมองเห็นงานสถาปัตยกรรมเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ได้อีกครั้ง

แผนผังวัดรังษี จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

วัดอรุณราชวรารามเป็นกรณีแรกที่แผนที่ชุดนี้เข้ามามีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยนับตั้งแต่วัดสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มิได้มีการบูรณะครั้งใหญ่เลยจนมาถึงรัชกาลที่ 5 อันเนื่องมาจากไฟไหม้ใหญ่พระอุโบสถเมื่อ พ.ศ.2438 ความเสียหายครั้งนั้นทำให้ต้องซ่อมเสมือนทำขึ้นใหม่ทั้งหลัง

อีกครั้งในปี พ.ศ.2451 เมื่อรัชกาลที่ 5 ทำการบูรณะใหญ่พระปรางค์และบริเวณโดยรอบครั้งใหญ่เพื่อให้ทันฉลองในงานบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระองค์จะมีพระชนมายุเสมอด้วยรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ.2452 ซึ่งการซ่อมครั้งนี้ทำให้แผนผังในส่วนพระปรางค์เปลี่ยนไปหลายอย่าง ที่สำคัญคือการรื้อแนวกำแพงและศาลาเก๋งจีนหลายหลังโดยรอบพระปรางค์ลงเพื่อสร้างรั้วเหล็กขึ้นแทน พร้อมประตูใหม่ 5 ประตู

นอกจากนี้ ในพื้นที่ส่วนศาลาการเปรียญยังได้มีการรื้อแนวกำแพงที่เคยเชื่อมต่อกับกำแพงพระปรางค์ลงบางส่วนเพื่อเปิดพื้นที่เป็นทางเดินตรงไปสู่พระวิหารด้านหลังอีกด้วย

จะเห็นนะครับว่า การซ่อมใหญ่วัดอรุณฯ 2 ครั้ง เกิดขึ้นหลังจากการจัดทำแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัยแล้วทั้งสิ้น

ซึ่งนั่นก็แปลว่า สิ่งที่ปรากฏในแผนที่ชุดนี้ คือแผนผังวัดอรุณฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

แผนที่ชุดนี้แสดงแผนผังพระปรางค์ตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย โดยมีกลุ่มศาลาเก๋งจีน 7 หลังโอบล้อมอยู่โดยรอบพระปรางค์ ซึ่งศาลาทั้ง 7 หลัง รวมทั้งโบสถ์น้อยและวิหารน้อยจะถูกเชื่อมต่อกันด้วยแนวกำแพง โดยแนวกำแพงระหว่างวิหารเหล่านี้จะถูกเจาะเป็นประตูทางเข้าออกสู่ลานภายในองค์พระปรางค์ ซึ่งมีทั้งหมด 9 ประตู

ซึ่งข้อมูลกลุ่มอาคารที่ล้อมพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังกล่าว เราจะไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนเช่นนี้เลย หากปราศจากแผนที่ชุดนี้

แผนผังวัดพระยาไกร จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

กรณีที่สอง คือวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 2 แต่ในเวลาต่อมาได้ถูกยุบรวมเข้ากับวัดบวรนิเวศฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยปัจจุบันหลงเหลือเพียงร่องรอยอาคารบางหลังในเขตพุทธาวาสเดิมเท่านั้น

เมื่อดูตามประวัติ เราจะพบว่าความคิดเรื่องการยุบวัดรังษีฯ มิได้เพิ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่มีมาก่อนหน้านี้แล้วอย่างน้อยตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2439 โดยเหตุผลหลักๆ เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารโรงเรียนมหามกุฏราชวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริว่า การสร้างอาคารเรียนยังไม่ถือเป็นการเร่งร้อน จึงทำให้การยุบรวมวัดไม่เกิดขึ้น

กระบวนการยุบรวมมาเริ่มจริงจังในปี พ.ศ.2442 โดยเริ่มจากการโอนย้ายวัดรังษีฯ ให้มาขึ้นตรงต่อวัดบวรนิเวศฯ ต่อมาในปี พ.ศ.2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็นำเรื่องยุบรวมวัดรังษีฯ เสนอขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ รัชกาลที่ 6 อนุญาต

ในปีนั้นเอง วัดรังษีฯ จึงถูกยุบกลายมาเป็นเพียงคณะหนึ่งของวัดบวรนิเวศฯ ชื่อว่า “คณะรังษี” ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพครั้งใหญ่ อาคารหลายหลังถูกรื้อหรือย้ายออก จนสถาพทางกายภาพของวัดเป็นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

กรณีนี้ก็คล้ายกับวัดอรุณฯ ที่ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพต่างๆ ภายในวัดจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 เป็นต้นมา

ซึ่งนั่นก็แสดงว่า แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย จ.ศ.1249 ที่ทำการสำรวจรังวัดไว้ตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2420 ได้บันทึกหลักฐานของแผนผังดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อแรกสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อต้นรัชกาลที่ 3 ของวัดรังสีสุทธาวาสเอาไว้ได้

แน่นอนนะครับ ในช่วงรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5 (ก่อนที่แผนที่ชุดนี้จะเข้าไปสำรวจ) อาจมีการรื้อหรือสร้างอาคารขึ้นใหม่ลงในวัดจนทำให้แผนที่ชุดนี้อาจไม่ได้เป็นการบันทึกหลักฐานที่ย้อนกลับไปได้ไกลจนถึงเมื่อแรกสร้างวัดก็เป็นได้

แต่กระนั้น แผนที่ชุดนี้ก็ยังเป็นหลักฐานที่แสดงแผนผังวัดแห่งนี้ที่ย้อนกลับไปได้ไกลที่สุดที่เรามีอยู่ในปัจจุบันอยู่นั่นเอง

แผนผังวัดอรุณ จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

วัดพระยาไกร เป็นตัวอย่างสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึง โดยวัดแห่งนี้ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) ทำการสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

แต่ในเวลาต่อมาราว พ.ศ.2440 วัดขาดการดูแลรักษาที่ดีพอจากทายาท ทำให้ทางราชการได้ให้สิทธิ์แก่ “บริษัทอีสต์เอเชียติค” เขามาเช่าพื้นที่วัดในการทำเป็นท่าเรือและคลังสินค้า และทำให้วัดแห่งนี้หมดสถานภาพการเป็นวัดนับตั้งแต่บัดนั้น

ต่อมาได้มีการรื้อถอนอาคารทั้งหมดลงจนไม่เหลือหลักฐานอะไรที่แสดงการมีอยู่ของวัดนี้อีกต่อไป โดยปัจจุบันพื้นที่วัดคือบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว Asiatique the Riverfront

ร่องรอยการมีอยู่ของวัดแห่งนี้มีเพียงหลักฐานจากเอกสารลายลักษณ์ที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนักและภาพถ่ายเก่าไม่กี่รูป แต่แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย กลับแสดงข้อมูลแผนผังของวัดนี้อย่างสมบูรณ์

ทำให้เราพบว่าวัดแห่งนี้มีขนาดใหญ่และแผนผังที่น่าสนใจมาก

แผนผังเขตพุทธาวาสของวัดออกแบบเป็นรูปตัวที มีอุโบสถอยู่ด้านหน้าและวิหารตั้งขวางอยู่ด้านหลัง มีแนวกำแพงแก้วล้อมรอบอาคารทั้งสองหลัง มีซุ้มประตูและถนนทางเข้าวัดที่ทอดยาวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อพิจารณาผังดังกล่าวทำให้เราพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจ คือ แต่เดิมในวงวิชาการเชื่อว่า แผนผังเขตพุทธวาสของวัดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ออกแบบให้มีแผนผังเป็นรูปตัวทีนั้นเชื่อว่ามีเพียงแค่ 2 วัด คือ วัดราชโอรสาราม และวัดสุทัศนเทพวราราม แต่จากแผนที่ชุดนี้กลับแสดงให้เราเห็นว่า แผนผังเขตพุทธาวาสที่ออกแบบเป็นรูปตัวทีนั้นยังถูกนำมาใช้ที่วัดพระยาไกรด้วย

ซึ่งเป็นการขยายความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออกแบบแผนผังวัดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ให้ขยายออกไปมากขึ้น

 

จากบทความ 4 ตอนที่กล่าวมาเกี่ยวกับแผนที่ชุดนี้ ผมเชื่อว่าน่าจะเพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านมองเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตลอดจนศักยภาพของแผนที่ชุดนี้ในการเป็นหลักฐานเพื่อนำเราเข้าไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ผมอธิบายยังคงเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นและเป็นเพียงข้อเสนอบางด้านเท่านั้น

ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังรอให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์เข้ามาใช้เอกสารชุดนี้ในการศึกษาต่อไปในอนาคต

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่