สังคมไทยและสงครามยูเครน! : สุรชาติ บำรุงสุข

สิ่งที่เราไม่คาดคิดมาก่อนในท่ามกลางการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลง ก็คือ การตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินในการบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อันนำไปสู่สถานการณ์สงครามชุดใหญ่อย่างคาดไม่ถึง แม้ในด้านหนึ่ง สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจดูเป็นเพียงแค่ “สงครามยุโรป” แต่ในอีกด้าน สงครามชุดนี้กลับส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในเวทีโลก

เช่นเดียวกับการกำเนิดสงครามใหญ่ทุกครั้งที่นำไปสู่ข้อถกเถียงทางการเมืองเสมอ และในยุคโลกาภิวัตน์ของศตวรรษที่ 21 ข้อถกเถียงเช่นนี้ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกันด้วย

ข้อถกเถียงในเบื้องต้นของสังคมไทยคงหนีไม่พ้นประเด็นว่า “ใครถูก… ใครผิด?

ความถูก-ความผิด?

การตัดสินคู่สงครามถึงความถูก-ผิด ดูจะขึ้นอยู่กับทัศนะทางการเมืองภายในของไทยอย่างมาก ซึ่งว่าที่จริงแล้ว การตัดสินเช่นนี้สะท้อนถึงความสนใจของคนในสังคมไทยที่ผูกอยู่กับปัญหาภายในมากกว่าปัญหาในเวทีโลก หากเราลองสำรวจอย่างหยาบๆ แล้ว เราอาจจะพบว่า ฝ่ายอำนาจนิยมและอนุรักษนิยม  มีแนวโน้มในการสนับสนุนรัสเซีย และชื่นชมประธานาธิบดีปูติน ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีท่าทีชัดเจนที่สนับสนุนยูเครน และยกย่องประธานาธิบดีเซเลนสกี้

Advertisement

สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้อาจจะเป็นผลพวงจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย ที่ทำให้คนในปีกอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมตกเข้าไปอยู่วังวนในกระแสต่อต้านตะวันตก จนกลายเป็นฝ่ายต่อต้านอเมริกันไปอย่างไม่คาดคิด ทั้งที่ในอดีต พวกเขายึดโยงอยู่กับสหรัฐฯ อย่างแนบแน่น ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลย ที่เมื่อเกิดสงครามยูเครนขึ้น คนเหล่านี้จะมีทัศนะที่โน้มเอียงไปทางฝั่งรัสเซีย จนเหมือนเป็น “ผู้สนับสนุนสงคราม” อย่างไม่น่าเชื่อ หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขามีจุดยืนเป็น “สายเหยี่ยว” และไม่สนใจต่อปัญหามนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

ในภาวะเช่นนี้ พวกเขาไม่ใส่ใจว่า หายนะใหญ่ที่มาพร้อมกับสงครามคือ ความตาย ความสูญเสีย การพลัดพราก… สงครามยูเครนนำไปสู่การเกิดคลื่นของผู้อพยพชุดใหญ่ของยุโรปหลังจากที่ยุโรปต้องเผชิญกับ “วิกฤตผู้อพยพ” ครั้งใหญ่ในปี 2015 มาแล้ว ต่างกันตรงที่ในปี 2015 เป็นผู้อพยพที่มาจากโลกมุสลิม แต่ครั้งนี้เป็นผู้อพยพที่เกิดจากปัญหาสงครามภายในของยุโรปเอง และเป็นการอพยพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในยุคปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากตัวเลขของสหประชาชาติว่า สงครามจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 13 มีนาคม ทำให้เกิดผู้อพยพออกจากยูเครน เป็นจำนวนมากถึง 2.6 ล้านคน อีกทั้ง สงครามครั้งนี้ทำให้มีเด็กเสียชีวิตแล้วถึง 79 คน และมีเด็กบาดเจ็บมากกว่า 100 คน

Advertisement

ประเด็นสำคัญที่สุดในกรณีนี้ก็คือ ฝ่ายขวาไทยดูจะละเลยหัวใจของปัญหา กล่าวคือ สงครามเกิดจากการที่รัฐใหญ่ใช้กำลังทางทหารบุกรัฐเล็ก เพื่อการขยายดินแดนและ/หรือเพื่อสร้างเขตอิทธิพล ดังนั้น สงครามในบริบทเช่นนี้ก็คือ การใช้เครื่องมือทางทหารของรัสเซียเพื่อการเข้าควบคุมยูเครนทั้งประเทศ อันจะนำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลงระบอบ” (regime change) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลนิยมรัสเซีย และขณะเดียวกันก็เปลี่ยนสถานะให้ยูเครนกลายเป็น “รัฐในอารักขา” ของรัสเซีย คือเปลี่ยนยูเครนให้เป็นในแบบของเบลารุส

อำนาจ vs ธรรม

การกระทำเช่นนี้ของรัสเซียย่อมส่งผลให้เกิด “สงครามที่ไม่ชอบธรรม” อย่างยิ่ง และทั้งยังชัดเจนว่า การกระทำของรัสเซียเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะหากเวทีโลกอนุญาตให้รัฐใหญ่ใช้กำลังเพื่อยึดครองรัฐเล็กแล้ว ย่อมเท่ากับเรายอมรับถึงภาวะ “อำนาจคือธรรม” และจะทำให้เรายอมรับว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมมีสิทธิที่จะจัดการกับผู้ที่อ่อนแอกว่าด้วยกำลัง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็น “ความชอบธรรม” ในระบบระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ การยอมรับใน “หลักการอำนาจคือธรรม” ในเวทีโลกจึงเสมือนหนึ่งเป็นการพารัฐในโลกสมัยใหม่กลับเข้าสู่ยุคโบราณของ “การสร้างจักรวรรดิ” และจักรวรรดิใหญ่สามารถขยายดินแดนออกไปอย่างไม่มีข้อจำกัดภายใต้อำนาจทางทหารที่มีอยู่ ซึ่งประวัติศาสตร์ในอดีตได้ชี้ให้เห็นว่า แว่นแคว้นเล็กๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจทางทหารที่เข้มแข็ง ย่อมไม่สามารถต้านทานการขยายจักรวรรดิด้วยกำลังทหารได้เลย

แต่ปัจจุบันเป็นโลกของศตวรรษที่ 21 และยุคจักรวรรดิได้จบสิ้นไปแล้ว และสำหรับเวทีโลกสมัยใหม่นั้น การใช้กำลังภายใต้แนวคิดของ “ลัทธิขยายดินแดน” ไม่ใช่สิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศยอมรับ และถือว่ารัฐที่กระทำเช่นนั้น ย่อมสมควรจะถูก “ลงโทษ” เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดอธิปไตยของรัฐเล็กที่ไม่สามารถคุ้มครองตัวเองได้ หลักการเช่นนี้ถือเป็นกติกาของเวทีระหว่างประเทศที่ไม่ยอมรับต่อพฤติกรรมการรุกรานที่เกิดจากการใช้กำลังของรัฐใหญ่ และเป็นหลักการที่ให้ความคุ้มครองต่อการดำรงไว้ซึ่งเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐที่จะถูกละเมิดมิได้

ฉะนั้น ไม่ว่าประธานาธิบดีปูตินจะกล่าวอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของจักรวรรดิรัสเซียในยุคโบราณที่เคยครอบครองพื้นที่ของรัฐยูเครนอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงในปัจจุบันที่ต้องตระหนักก็คือ ยูเครนในโลกสมัยใหม่มีสถานะเป็น “รัฐเอกราช” มาตั้งแต่การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นในปี 1991 แล้ว การดำรงความเป็นรัฐเอกราชที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตมานานถึง 30 ปี ย่อมทำให้ประชาชนชาวยูเครนมี “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” ที่ต้องการความเป็นเอกราชของยูเครน มากกว่าการหวนคืนกลับสู่การเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกครั้ง

หากเรายอมรับในหลักการพื้นฐานเช่นนี้แล้ว เราจะสามารถกล่าวได้อย่าง “เต็มปากเต็มคำ” ว่า หากวันหนึ่ง ประเทศไทยถูกรุกรานจากรัฐมหาอำนาจใหญ่ภายนอกแล้ว ประชาชนไทยย่อมมี “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” ที่จะเป็นรัฐเอกราช และมีสิทธิเต็มที่ที่จะจับอาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐผู้รุกรานเพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศ ซึ่งสิ่งนี้คือ ปรากฎการณ์ที่ชาวยูเครนตัดสินใจต่อสู้ แม้การต่อสู้เช่นนี้อาจจะมีสถานะที่เสียเปรียบในทางทหารอย่างมาก เพราะอำนาจทางทหารของรัสเซียนั้น เหนือกว่ายูเครนในทุกมิติ แต่ด้วยแรงใจที่มุ่งมั่นของประชาชนในการต่อต้านผู้รุกรานแล้ว วันนี้ชาวยูเครนชนะใจชาวโลกที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตย

ถ้าวันนี้ เราเชื่อว่า เอกราชที่สิ่งที่คุ้มค่าแก่การปกป้องแล้ว เราควรต้องสนับสนุนการต่อสู้อย่างกล้าหาญของชาวยูเครน… ความรักเอกราชของชาวยูเครนไม่ใช่สิ่งที่เป็นความผิดแต่อย่างใด การรุกรานของรัสเซียต่างหากที่เป็นปัญหา

มุมมองขวาไทย

แต่ด้วยกระแสต่อต้านอเมริกันที่ถูกปลุกอย่างต่อเนื่องในไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 2014 (พศ. 2557) ทำให้ฝ่ายอำนาจนิยม-อนุรักษนิยมไทยพร้อมที่เทใจให้กับรัสเซียอย่างเต็มที่ เช่นที่พวกเขายกใจให้จีนจนหมดจากการแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐประหารที่กรุงเทพฯ มาแล้ว ดังนั้น วันนี้จึงไม่แปลกที่พวกเขากลายเป็น “สายเหยี่ยว” ที่สนับสนุนสงครามของรัสเซียอย่างไม่ปิดปัง อย่างไรก็ตาม ความไม่ชอบสหรัฐฯ ไม่ควรนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่จะสนับสนุนสงครามที่ไม่เป็นธรรมของรัสเซีย จนทำให้เราต้องละเลยประเด็นทางด้านมนุษยธรรม

แม้ในอีกส่วน พวกเขาเหล่านี้ดูจะเชื่อไปไกลอย่างมากว่า โลกของฝ่ายตะวันตกกำลังปิดฉากลง และโลกของฝ่ายตะวันออกที่นำโดยจีนและรัสเซียกำลังเข้าแทนที่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “สงครามเย็นของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในศตวรรษที่ 21” เพียงเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง และรัฐมหาอำนาจตะวันตกก็มิได้สิ้นพลังขับเคลื่อนในเวทีโลกเช่นที่พวกเขาวาดภาพไว้ในใจ

ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์โลกชุดใหม่เช่นนี้ รัฐและสังคมไทยคงต้องตระหนักว่า โลกกำลังเข้าสู่ “พายุของสงครามเย็นใหม่” และการเป็นโดมิโนที่ไม่ล้มในสงครามเย็นครั้งก่อน ไม่ใช่หลักประกันว่า เราจะสามารถเดินทางผ่านเส้นทางของสงครามเย็นครั้งนี้ไปได้ โดยไม่ต้องเรียนรู้ถึงความซับซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นจากโจทย์สงครามชุดใหม่ในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับความจริงว่า ความเกลียดชังตะวันตกที่ถูกปลุกจากผลพวงการรัฐประหารในไทย ทำให้ “โลกทัศน์ของขวาจัดไทย” กลายเป็นเพียงกองเชียร์สงครามของรัสเซีย โดยไม่ต้องคิดถึงประเด็นแวดล้อมอื่นใดทั้งสิ้น ดังนั้น การมองสงครามภายนอกของฝ่ายขวาจัดไทยจึงผูกอยู่กับมุมมองการเมืองภายใน มากกว่าจะมองจากสถานการณ์จริงในเวทีโลก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image