‘ศิริกัญญา’ ปลุก ‘กสทช.’ เคาะดีลทรู-ดีแทค อย่าผิดทิศ เชื่อ ผลอย่างไรโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

‘ศิริกัญญา’ ปลุก ‘กสทช.’ เคาะดีลทรู-ดีแทค อย่าผิดทิศ เชื่อผลอย่างไรโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ‘ไตรรัตน์’ รับหนังสือค้านกลุ่มพลเมืองฯ ชงบอร์ด 31 ส.ค.นี้

กรณี กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง ขอให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค ตามอำนาจของ กสทช.อย่างถูกต้องและเป็นธรรม

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เข้ายื่นหนังสื่อต่อ กสทช.
  • มาตามนัด! ภาคประชาชน บุก กสทช. ค้านควบรวมทรู-ดีแทค
  • 29 ส.ค. กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร นัดบุก ‘กสทช.-กขค.’ ค้านดีลทรู-ดีแทค

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ เปิดเผยว่า จะนำหนังสือร้องเรียนดังกล่าว เสนอเพื่อบรรจุเข้าวาระที่ประชุม กสทช.เพื่อรับทราบเป็นวาระอื่นๆ ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ กรณีที่ประชุม กสทช.มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตีความอำนาจพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคอีกครั้งนั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ซึ่งหวังว่าอำนาจจากนายกรัฐมนตรีจะสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความได้ หลังจากก่อนหน้านี้ไม่รับตีความ เพราะยังมีคดีหลักค้างอยู่ในศาลปกครอง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

“ยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้ประวิงเวลาการพิจารณาควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่จึงต้องดำเนินการบนพื้นฐานความถูกต้อง แม้ กสทช.เป็นองค์กรอิสระ แต่อยากฟังความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่าย ส่วนข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบจากการควบรวมกิจการ ที่ที่ประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม มีมติให้สำนักงาน กสทช.ไปรวบรวมหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติม สำนักงาน กสทช.แจ้งว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 สิงหาคม และคาดว่าจะเสนอเพื่อบรรจุเข้าวาระที่ประชุม กสทช.ได้ในการประชุม 7 กันยายน 2565” นายไตรรัตน์กล่าว

Advertisement

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 สำนักงาน กสทช.ได้ทำหนังสือขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจรับข้อหารือได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. อีกทั้งกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

“ด้วยข้องดเว้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวทำให้ กสทช.สบโอกาสที่จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ตีความอำนาจพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคอีกครั้ง ซึ่งถือได้ว่ารัฐบาลแทรกแซงการทำงานองค์กรอิสระอย่าง กสทช. และยากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะปฏิเสธการตีความ เพราะนายกรัฐมนตรีถือเป็นเจ้านายโดยตรง อีกทั้งมีการแต่งตั้งคณะอนุฯที่ปรึกษากฎหมายขึ้นอีก 1 คณะ โดยระดมนักกฎหมายทั่วฟ้าเมืองไทย อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์, นายสุรพล นิติไกรพจน์ รวมถึง นายจรัญ ภักดีธนากุล เพื่อสนับสนุนให้ยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกา

Advertisement

ทั้งๆ ที่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาดีลการควบรวมนี้ รวมถึงศาลปกครองยืนยันว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณา จึงเห็นได้ชัดว่าที่ถูกใจ กสทช.คือต้องบอกว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ ซึ่งผู้ที่บอกว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการพิจารณามาโดยตลอดคือ กสทช. สำนักงาน กสทช. รวมถึงฝ่ายกฎหมายของผู้ขอควบรวมเอง” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะเห็นได้ถึงความพยายามอย่างมหาศาลของผู้ขอควบรวมกิจการ รวมถึง กสทช.ที่ชัดเจนว่าเสียงข้างมากมีแนวโน้มเห็นด้วยกับการควบรวมกิจการนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขารับรู้ รับทราบว่าสังคมกำลังกดดันอยู่ว่าไม่ควรจะตัดสินอะไรไปผิดทิศผิดทาง และไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาในทิศทางใด ต้องยอมรับว่า กสทช.โดนทั้งขึ้นทั้งล่องแน่นอน แม้การฟ้องร้องดำเนินคดีจากฝั่งผู้ขอควบรวมจะรุนแรงกว่า แต่ก็อยากเห็นความกล้าหาญขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. ไม่เช่นนั้นจะให้เป็นองค์กรอิสระทำไม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image