‘สุภิญญา’ โวย ‘กสทช.’ โบ้ยหน้าที่ ชง ‘กฤษฎีกา’ หวังตีความตนเองไม่มีอำนาจเคาะดีลทรู-ดีแทค

‘สุภิญญา’ โวย ‘กสทช.’ โบ้ยหน้าที่-หาหลังพิง ชง ‘กฤษฎีกา’ หวังตีความตนเองไม่มีอำนาจเคาะดีลทรู-ดีแทค ‘ปกรณ์วุฒิ’ ปลุก หน่วยงานกำกับ กล้าตัดสิน

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้สำนักงาน กสทช. โดยนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ทำหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตีความอำนาจพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ไม่รับตีความ ว่า

เรื่องดังกล่าวเป็นความพยายามของ กสทช. ที่กังวลถึงความผิดทางกฎหมายที่อาจตามมาในอนาคต จึงไม่ต้องการที่จะตัดสินว่าการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคสามารถทำได้หรือไม่ แม้ลึกๆ จะอนุญาตให้ทำได้แล้วก็ตาม จึงโยนบทบาทหน้าที่ของตัวเองให้ฝั่งการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการลดศักดิ์ศรี ลดความสำคัญของ กสทช. ที่อุตส่าห์ถูกออกแบบให้เป็นองค์กรอิสระ ควรรักษาระยะห่างจากรัฐบาล และทำหน้าที่ที่ควรจะทำ

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และอดีต กสทช.

“แทบไม่มีประเทศใดเลยที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการจากผู้ให้บริการ 3 ราย เหลือ 2 ราย อย่างประเทศไทย และยิ่งน่าเศร้าที่สังคมไม่ทราบถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เพราะทำกันเป็นกระบวนการ และแอบทำกันแบบลับๆ กว่าประชาชนจะรู้ตัวก็สายเกินแก้ไขแล้ว จึงขอฝากไปยังฝ่ายค้านและสังคมให้ตื่นตัว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในรัฐบาล ซึ่งไม่มั่นใจว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ แต่ทิศทางไม่สู้ดีนัก ประกอบกับมองว่าเสียงส่วนใหญ่ของ กสทช. มีแนวโน้มที่จะปล่อยให้การควบรวมกิจการนี้เกิดขึ้นได้แบบสบายๆ แต่เกรงผลกระทบทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นตามมา จึงอยากหาที่พิงหลัง เพื่อตีความว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการอนุมัติ แค่รับทราบและกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น” น.ส.สุภิญญากล่าว

Advertisement

 

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 5 ระบุว่า ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตรายงานต่อ กสทช. อย่างน้อย 90 วันก่อนการดำเนินการ แต่ไม่มีอำนาจในปฏิเสธการควบรวม ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่มีการเขียนเพิ่มเติมในประกาศฉบับเดียวกันว่า ในข้อ 9 ระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 โดยในข้อ 8 ตามประกาศ พ.ศ.2549 ระบุว่า การควบรวมกิจการไม่ว่าจะการกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือผ่านตัวแทนจะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ หากทำให้เกิดการผูกขาดคณะกรรมการอาจสั่งห้าม

“คณะกรรมการกฤษฎีกาควรไม่รับตีความเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 2 เพราะเรื่องนี้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. ซึ่งหาก กสทช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การควบรวมกิจการมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและสังคมเป็นวงกว้าง มีสิทธิที่จะชะลอการควบรวมกิจการออกไปได้ อนาคตเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาทิ มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายใหม่เข้าสู่ตลาดมากพอสมควรแล้ว อาจพิจารณาให้ควบรวมกิจการได้ ทั้งนี้ ช่วง 6 เดือนแรกของ กสทช. ถือว่าเป็นช่วงฮันนีมูน เป็นช่วงที่ต้องโชว์ผลงานให้สังคมเห็นว่า กสทช. มีความเป็นอิสระ เป็นความหวังของประชาชน แต่ดูจากความพยายามปิดบังและบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการพิจารณา ทิศทางไม่ค่อยดีนัก เพราะถ้า กสทช. ไม่มีอำนาจ จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมได้อย่างไร” น.ส.สุภิญญา กล่าว

Advertisement

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ทราบจากแหล่งข่าว กสทช. ว่า ผู้ขอควบรวมพยายามให้ กสทช. พิจารณาควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 กันยายนนี้ ตรงกับฤกษ์งามยามดีที่วางไว้ ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่มองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะรวดเร็วเกินไป อีกทั้งการประเมินผลกระทบต่างๆ ในปัจจุบันก็ยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ยังเร็วเกินไปด้วยซ้ำ

“หาก กสทช. มองว่าไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกไปในทิศทางใด จะต้องถูกฟ้องร้องจากผู้ขอควบรวมและผู้ที่คัดค้าน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น จึงขอให้ กสทช. พิจารณาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อสังคม ยั่งยืนในระยะยาวด้วย อย่าลืมว่าอนาคตของ กสทช. ยังอีกยาวไกล แม้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หลักการยังคงอยู่ จึงอยากให้ยึดถือหลักการมากกว่า ต่อให้ถูกฟ้องร้องตามมาก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นกังวลนัก” น.ส.สุภิญญากล่าว

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า กิจการโทรคมนาคมเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชนในวงกว้าง เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีใครในประเทศที่มีอำนาจระงับยับยั้ง ซึ่งส่วนตัวยืนยันมาโดยตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ และอำนาจในการพิจารณาอยู่ที่ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ภายใต้กฎหมายเรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ไม่อยู่ในพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีกฎหมายเฉพาะ

“ไม่เห็นด้วยกับการที่ กสทช. ไม่ยอมยืนยันอำนาจของตัวเองตามกฎหมาย แต่เข้าใจได้ว่า เนื่องจากเป็น กสทช. ชุดใหม่เพิ่งเข้าทำงานได้ไม่นาน การทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจพิจารณา ไม่ใช่การแทรกแซงจากรัฐบาล แต่เป็นการยืนยันการตีความทางกฎหมาย เพื่ออยากมั่นใจว่าตัวเองมีอำนาจ ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาควรจะรับเรื่องไว้พิจารณา และตีความกลับโดยเร็ว แม้คำวินิจฉัยจะไม่มีผลผูกพันต่อองค์กรอิสระอย่าง กสทช. มากนัก แต่สามารถยืนยันอำนาจของ กสทช. ได้

อีกทั้ง ขณะนี้ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาการควบรวมนี้ เป็นรูปธรรมแล้วระดับหนึ่ง หากการตีความอำนาจตามกฎหมายมีความชัดเจน เชื่อว่า กสทช. จะสามารถลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งผลจะออกมาอย่างไร ขอให้ กสทช. กล้าตัดสินใจ บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนและอำนาจตามกฎหมายที่ตัวเองมี การชะลอการพิจารณานานเกินไป อาจทำให้ผู้ขอควบรวมเสียประโยชน์ ซึ่งควรให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ เพื่อวางแผนการดำเนินธุรกิจต่อไปด้วย ซึ่งฝ่ายค้านเอง ยังคงมีการจัดกิจกรรมเพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการทั้งในและนอกสภาอย่างต่อเนื่อง” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image