ในข่าวร้ายค่าไฟยังมีข่าวดีเล็กๆ… กกพ.ลดค่าบริการรายเดือนเหลือ 24.62 บ. เริ่ม 1 ม.ค.นี้

ในข่าวร้ายค่าไฟยังมีข่าวดีเล็กๆ… กกพ.ลดค่าบริการรายเดือนเหลือ 24.62 บ. เริ่ม 1 ม.ค.นี้

กุมขมับไปตามๆกัน ภายหลัง “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกมาแถลงข่าวชี้แจงผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งจะมีผลต่อค่าไฟสำหรับเรียกเก็บประจำเดือนมกราคม-เมษายน2566

โดยเป็นการชี้แจงให้สาธารณะชนรับทราบ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตั้งแต่วันที่ 14-27 พฤศจิกายน 2565 ผ่านเว็บไซต์สำนักงานกกพ. หลังจากนั้นกกพ.จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ประกอบการพิจารณาและประกาศอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันค่าไฟงวดใหม่ จากปัจจุบันค่าไฟที่เรียกเก็บอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย

โดย แนวทางขึ้นค่าไฟมี 3 ทางเลือก คือ

Advertisement

กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย

และกรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย

Advertisement

จากนี้หลายคนบ่นอุบ ลุ้นรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยหรือไม่!!

ซึ่ง เลขาธิการกกพ. ให้ความเห็นว่า ด้วยต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี บวกกับเงินบาทอ่อนค่า หากต้องตรึงค่าไฟงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ไว้คงเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เท่ากับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม2565 กฟผ.ต้องแบกรับภาระอุดหนุนถึง 200,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีภาระอุดหนุนประมาณ 170,000 ล้านบาท ซึ่ง กกพ.พร้อมจะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ค่าไฟลดลง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐบาลต้องมีเงินเข้ามาอุดหนุนแบ่งเบาภาระประชาชนได้

ดังนั้นถ้าถามว่าจะตรึงค่าไฟต่อไปได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกันมีวิธีชั่วคราวที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที คือ การเปลี่ยนหลักการเช่นให้ประชาชนใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกก่อน ส่วนเอกชนให้ใช้ก๊าซนำเข้าที่ราคาแพงกว่า แต่สุดท้ายต้นทุนส่งผ่านราคาสินค้าของเอกชนก็จะย้อนกลับมาห่ประชาชนอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีอยู่บ้างสำหรับประชาชน เนื่องจาก กกพ.ได้ปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนลง!!

โดย คมกฤช กล่าวว่า เพื่อลดภาระประชาชนบางส่วน กกพ.ได้ปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนลง สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท ได้แก่

1.ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย จากเดิม 38.22 บาทต่อเดือน เป็น 24.62 บาทต่อเดือน และบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้(TOU) เดิม 38.22 บาทต่อเดือน เป็น 24.62 บาทต่อเดือน

2.กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำเดิม 46.16 บาทต่อเดือนเป็น 33.29 บาทต่อเดือน

3.กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU เดิม 228.17 บาทต่อเดือนเป็น 204.07 บาทต่อเดือน โดยจะประสานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายให้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

ส่วนหน้าตาบิลอาจไม่ทัน ใช้รูปแบบเดิมไปก่อนช่วงต้นปีหน้า แต่กกพ.ยืนยันว่า “ค่าบริการรายเดือน” ลดถ้วนหน้าแน่นอน

อ่านข่าวอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image