สภากทม. ถกเดือด พ้อ ‘การทางพิเศษฯ’ เก็บค่าเช่าใต้ทางด่วนแพงเวอร์! ทั้งที่ใช้บริการประชาชน

สภากทม. ถกเดือด พ้อ ‘การทางพิเศษฯ’ เก็บค่าเช่าใต้ทางด่วนแพงเวอร์! ทั้งที่ใช้บริการประชาชน – ชัชชาติ จ่อ หารือกับรัฐบาลใหม่ หนุนที่ดินหน่วยรัฐ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ชั้น 2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566

โดยในวาระที่ 6 มีเรื่องที่ นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ คือ ญัตติขอโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปตั้งจ่ายเป็นค่าเช่าที่ดิน ขอเพิ่มวงเงินโครงการ ขอขยายระยะเวลาผูกพันโครงการ และขอความเห็นชอบผูกพันงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการขอเช่าใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน เพื่อรถขยะและรถของเขต เนื่องจากเป็นการเช่าระยะยาว 3 ปี แล้วยังมีการเปลี่ยนวงเงิน เนื่องจากคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพิ่มค่าเช่า จึงต้องขอเสนอญัตินี้

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า หลักการขอความเห็นชอบโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2566 ไปตั้งจ่ายเป็นค่าเช่าที่ดิน ขอเพิ่มเงินวงเงินโครงการ ขอขยายระยะเวลาผูกพันโครงการ และขอความเห็นชอบผูกพันงบประมาณ จำนวน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักเขตบางเขน สำนักเขตพญาไท สำนักเขตดินแดง และสำนักงานเขตราชเทวี

เหตุผลเนื่องจาก กทม. มีความจำเป็นในการเช่าที่ดินของ กทพ. ในการดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ของสำนักเขตบางเขน สำนักเขตพญาไท สำนักเขตดินแดง และสำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครจึงเสนอขอความเห็นชอบโอนรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปตั้งจ่ายเป็นค่าเช่าที่ดิน ขอเพิ่มวงเงินโครงการ ขอขยายระยะเวลาผูกพันโครงการ และความเห็นชอบผูกพันงบประมาณ ซึ่งข้อญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ข้อ 29 วรรคแรก กำหนดว่ารายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับรายการใดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยเรื่องรายจ่าย จะโอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณทั้งหมด หรือ บางส่วน ไปตั้งจ่ายหน่วยงานอื่น หรือหน่วยงานเดียวกัน หรือโอนงบประมาณจากหน่วยรับงบประมาณไปเพิ่มในรายจ่ายงบกลางมิได้ จึงมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องรับความเห็นชอบจากสภา กทม. และข้อ 33 วรรค 2 กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณที่มีความจำเป็นเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบรูปและรายการที่กระทบต่อวัตถุประสงค์ เพิ่มวงเงินหรือขยายระยะเวลาดำเนินการตามวรรค 1 ก่อนดำเนินการก่อหนี้ผูกพัน ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากสภา กทม. จึงเรียนสภา กทม.ให้ความเห็นชอบ

อนึ่ง เนื่องจาก กทม.ได้รับการประสานจาก กทพ.ขอปรับอัตราค่าเช่าที่ดินสำนักงานเขตดินแดง สำนักงานเขตพญาไท จึงขอแก้ไขเอกสารสรุปการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไปตั้งจ่ายเป็น ‘ค่าเช่าที่ดิน’ ขอเพิ่มวงเงินโครงการขยายระยะเวลาผูกพันโครงการ และขอความเห็นชอบผูกพันงบประมาณของทั้ง 2 หน่วยงาน ดังนี้ สำนักงานเขตพญาไท วงเงินโครงการเดิม 4,118,283 บาท แก้ไขเป็น 8,056,433 บาท สำนักงานเขตดินแดง วงเงินโครงการเดิม 2,836,287 บาท แก้ไขเป็น 5,477,706 บาท

Advertisement

ด้าน นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง กล่าวอภิปรายว่า ในพื้นที่เขตดินแดงเป็นปัญหามาปีกว่าที่รถเก็บขน รถดูดเลน หลายๆ รถจอดอยู่บนถนนมิตรไมตรี ซึ่งเป็นทางลัดที่ทะลุไป ถนนประชาสงค์เคราะห์ ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ดูแลประชาชน ได้รับเรื่องร้องเรียนมากมาย ซึ่งตอบไม่ได้เลยว่าทำไมหน่วยงานราชการถึงเป็นเอง จอดรถในที่ห้ามจอด และบางครั้งจอดเกือบถึงไฟแดง จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาลำบากมาก

“พยายามตามเรื่อง ตามงานมาเป็นปี และสุดท้ายเพิ่งเห็นหนังสือที่สำนักงานเขตส่งไปถึงท่านผู้บริหาร ขออนุมัติในการเช่าพื้นที่ของการทางพิเศษตั้งแต่เดือน ม.ค. ตนเพิ่งได้รับการประสานงานจาก วิป (Whip) ซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ว่าขณะนี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้ทำเรื่องเข้าสภาขออนุมัติที่สภา

“แต่เราประชุมกันไม่กี่วัน กทพ.ก็มีหนังสือมา ทางสำนักงานเขตจะทำอย่างไร ดิฉันจึงบอกว่าท่านต้องคุยกับผู้บริหาร เพราะในสภา ถ้าผู้บริหารไม่เสนอ เราก็ทำอะไรไม่ได้ เวลาเป็นปี ตั้งแต่มกราคมถึงวันที่เรื่องนี้จะเข้าสภา กทม.ต้องเพิ่มวงเงินให้กับ กทพ.อีก 100% ถามว่า กทม.มีเงินเยอะหรือ ถึงได้ชะลอมาช้าขนาดนี้” นางอนงค์กล่าว

นางอนงค์กล่าวอีกว่า เท่าที่เห็นโดยสายตา รถของสำนักงานเขตดินแดง จอดอยู่บนผิวการจราจรเป็นปี เรื่องนี้จะช้าตรงไหนก็คงไม่ต้องไปตามหาแล้ว เพราะวันนี้ได้เข้าสภาแล้ว ดิฉันและเพื่อนสมาชิกหลายท่านก็เห็นใจในความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นการโอน การปรับเพิ่มหรือการขยายวงเงิน ตรงนี้ถ้าเรายิ่งช้าออกไปอีก คิดว่า กทพ.จะขึ้นค่าเช่าเราอีกหรือไม่

“วันนี้ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ท่านช่วยกันพิจารณา แก้ไขปัญหาให้การจอดรถของสำนักงานเขตทั้ง 5 แห่ง โดยเฉพาะดินแดงกับพญาไทซึ่งอยู่ในแนวของ กทพ. มันเป็นเขตที่เชื่อมต่อกัน ถ้าเป็นไปได้ วันนี้เพื่อนสมาชิกคงให้ความเห็นชอบในการผ่านเรื่องที่ท่านผู้ว่าฯ เสนอขอโอนเงิน ขอขยายวงเงินตามเอกสารที่แนบมา” นางอนงค์กล่าว

ต่อมา นายสุทธิชัย วีรกุลสุทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า ต้องชื่นชมผู้บริหาร กทม.ที่เร่งแก้ปัญหาให้กับสำนักงานเขต ให้มีที่รองรับในการจอดรถเก็บ ขนขยะมูลฝอยต่างๆ ประเด็นก็คงอยากจะเรียนสอบถามเหตุผล ซึ่งตนเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็น แต่เหตุผลในการล่าช้าเพราะอะไร ถึงได้ล่าช้า หรือ ทางการพิเศษได้สร้างเงื่อนไขขั้นตอนมากขึ้นหรืออย่างไร เพราะเราทราบกันดีว่าในการเช่าจะต้องมีหลักเกณฑ์ แล้วเราเคยเช่าอยู่แล้ว

“ประเด็นคือ ทำไมถึงล่าช้า แล้วถึงขอขยาย ขอเพิ่มวงเงินโครงการ ขยายระยะเวลาผูกพันโครงการ และขอความเห็นชอบความผูกพันงบประมาณไปในตัว ตรงนี้มีทั้งเขตบางเขน เขตพญาไท เขตดินแดง และเขตราชเทวี ผมเชื่อว่ามีความจำเป็น แต่อยากจะถามนิดนึง จะได้ทราบข้อมูลว่าช้าเพราะอะไร ต่อไปผมเชื่อว่าผู้ที่ดำเนินการในเรื่องนี้คงจะต้องเร็วขึ้น เพราะถ้าเราทำทัน เช่าทัน ก็คงไม่ต้องมาขอความเห็นชอบจากสภา ขออนุญาตท่านประธานถามไปยังผู้บริหาร กทม. ในประเด็นที่ตนสอบถามไป” นายสุทธิชัยกล่าว

ด้าน นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า กทพ.นำเอาพื้นที่ใต้ทางด่วนมาเช่าโดยใช้หลักเกณฑ์ใด เพราะทาง กทม.โดนเก็บค่าเช่าแพงมาก ทั้งที่เช่าเพื่อนำไปเป็นประโยชน์ของส่วนร่วม เช่น สร้างที่จอดรถ รถขยะ รถน้ำ รถอื่นๆ ของ กทม.ในเขตนั้นๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น กทม.ควรที่จะตอบโต้โดยเก็บภาษีที่ดินฯ เขตทางด่วนของ กทพ.บ้าง เพราะมีพื้นที่ใต้ทางด่วนที่อยู่ในเขตของ กทม.เช่นนี้ควรทำได้หรือไม่

ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องมีการหารือกับรัฐบาลใหม่ในที่ดินหน่วยงานของรัฐ เช่น กทพ., การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), กรมทางหลวง (ทล.) เป็นต้น ซึ่งมีที่ดินในกรุงเทพฯ เป็นพันไร่ ซึ่งถ้านำมาใช้ประโยชน์กับประชาชนได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

ต่อมา นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ฝ่ายบริหาร กทม.เคยเสนอเรื่องนี้มาแล้ว ตั้งแต่ 21 เม.ย. 2566 แต่บอร์ด กทพ.มีการปรับขึ้นราคาค่าเช่า จึงต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่สภา ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ กับ กทพ. ในปี 2563 จัดเก็บได้ 66 ล้านบาท ปี 2564 จัดเก็บได้ 65 ล้านบาท ปี 2565 จัดเก็บได้ 91 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 ประเมินได้ 87 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ดิน 9,618 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 123 รายการ ซึ่ง กทม.สามารถเก็บภาษีที่ดินฯ จาก กทพ.ได้ 10% ส่วน 90% เป็นส่วนลดตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ไว้ ณ วันที่ 18 มค. 2563 ให้ลดภาษี 90% ที่เป็นที่ตั้งถนน ทางยกระดับ ที่เป็นทางพิเศษตามกฎหมาย หรือเป็นทางหลวงสัมปทานตามกฎหมาย

นายจักกพันธุ์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการขอใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนฟรี มีการติดต่อไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป แต่ กทพ.ขอคิดค่าเช่าสำหรับการจอดรถ ส่วนการทำสวนสาธารณะ ลานกีฬา จะไม่มีการคิดค่าเช่า ส่วนอัตราค่าเช่าที่ดินขึ้นอยู่กับมติของบอร์ดเท่านั้น ตนยังไม่เคยเห็นอัตราค่าเช่าที่แน่นอน ทุกครั้งที่มีการขึ้นค่าเช่า ทาง กทม.พยายามทำความเข้าใจว่าเรามีความประสงค์ นำที่ดินใต้ทางด่วนมาบริการประชาชน อย่างไรก็ดีทางผู้บริหาร กทม.จะไปเจรจากับ กทพ.เพื่อให้ได้ประโยชน์กับ กทม.มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 31 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน งดออกเสียง 1 คน

อ่านข่าว :

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image