เพจบันทึก 6 ตุลา ชวนตามรอย ‘แผนที่ฟ้าสาง’ พื้นที่ขบวนการ ปชต. ’ปัก 14 หมุด’ ท่องอดีต มองปัจจุบัน

เพจบันทึก 6 ตุลา ชวนตามรอย ‘แผนที่ฟ้าสาง’ พื้นที่ขบวนการ ปชต. ’ปัก 14 หมุด’ ท่องอดีต มองปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนร่วมทำกิจกรรม สำรวจรอบกรุงเทพฯ ตาม “แผนที่ฟ้าสาง” ซึ่งเชื่อมโยงกับจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยและขบวนการเคลื่อนไหวในอดีต

แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา” ระบุว่า กว่า 45 ปีผ่านไป เป็นธรรมดาที่เวลาจะพาให้สถานที่หนึ่งๆ เปลี่ยนโฉม ทรุดโทรม หรือแม้แต่กลายสภาพเป็นความว่างเปล่า แต่ความทรงจำทั้งที่งดงาม ทรงพลัง และแสนเจ็บปวดของประชาชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ยังคงเด่นชัดและอัดแน่นซ้อนทับอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น

“แผนที่ฟ้าสาง” ชวนทุกคนตามสำรวจจุดสำคัญรอบกรุงเทพฯ ทั้งที่เป็นหมุดหมายในการชุมนุม พื้นที่ที่ใช้ในการทำงาน หรือพื้นที่ที่แวะเวียนกันไปครั้งแล้วครั้งเล่า
กางแผนที่แล้วเดินทางท่องอดีตสู่ปัจจุบันไปด้วยกัน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “แผนที่ฟ้าสาง ปักหมุดสถานที่สำคัญของการเคลื่อนไหว ช่วงปี 2516-2519” ได้กำหนดหมุดหมายที่สำคัญ 14 แห่ง ได้แก่ เจริญวิทย์การพิมพ์, บพิธการพิมพ์, สนามหลวง-สนามราษฎร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ร้านจั๊ว ท่าพระจันทร์, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ตึก ก.ต.ป., โรงเรียนช่างกลพระรามหก, ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล, สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา, โรงแรมดุสิตธานี, โรงงานสแตนดาร์ด การ์เมนท์, โรงงานสามัคคีกรรมกรโดย และ ย่านอ้อมน้อย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.เจริญวิทย์การพิมพ์
goo.gl/maps/ZRbJYPQiSEQVioVm7
โรงพิมพ์ย่านบางลำพู ที่นักศึกษามักนำต้นฉบับหนังสือเล่มละบาทไปสั่งพิมพ์ “กุลชีพ วรพงษ์” เล่าว่า หลายคนใช้ชีวิตกินนอนและตรวจต้นฉบับอยู่ที่นั่น เจริญวิทย์การพิมพ์จัดว่ามีคุณูปการต่อการศึกษาเรียนรู้เนื้อหาของฝ่ายก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะยอมรับพิมพ์สิ่งพิมพ์จำนวนน้อยๆ ในขณะที่โรงพิมพ์ส่วนใหญ่สมัยนั้นจะรับพิมพ์เฉพาะงานสเกลใหญ่หลักพันเล่มเท่านั้น

ทุกวันนี้เจริญวิทย์การพิมพ์ยังคงประกอบกิจการงานพิมพ์และตั้งอยู่ที่เดิม

Advertisement

2.บพิธการพิมพ์
goo.gl/maps/6mF6TPWXHtesVmoN6
โรงพิมพ์ย่านเสาชิงช้า ของศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นโรงพิมพ์ขาประจำสำหรับโปสเตอร์ที่แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกแบบ.
“สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย” เล่าว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นหนี้โรงพิมพ์นี้ เพราะหลัง 6 ตุลาฯ ต่างคนต่างหนีกันกระเจิดกระเจิง คิดเป็นเงินตอนนี้ก็คงหลายล้านเพราะพิมพ์โปสเตอร์กันทุกวัน ที่สำคัญคือพอมีงานด่วนรีบใช้ ส่งให้วันนี้ของานวันนี้ บพิธการพิมพ์ก็สแตนด์บายพร้อมสนับสนุนเสมอ

3.สนามหลวง-สนามราษฎร์
goo.gl/maps/CEEGDTqMVTGKmSFT6
สถานที่ชุมนุมสำคัญสำหรับทั้งนักศึกษา ประชาชน กรรมกร และชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเรียกร้องไม่ให้มีการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ หรือการชุมนุมกรรมกรที่ใหญ่ที่สุดในเดือนมิถุนายน 2517 เนื่องจากสนามหลวงมีรถเมล์ผ่านจำนวนมาก เดินทางไป-กลับได้จากแทบทุกมุมเมือง เป็นพื้นที่สาธารณะโล่งกว้าง และมีห้องน้ำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ใช้ มีร้านอาหารแถวท่าพระจันทร์ และหาบเร่รายรอบให้เลือกซื้อกิน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สนามหลวง-สนามราษฎร์ถูกช่วงชิงความหมายทางวาทกรรมและฟังก์ชั่นการใช้งานระหว่างราษฎร์และหลวงอยู่เสมอ

4.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
goo.gl/maps/PaDX2VQnnSCdbMrk9

หลายครั้งของการชุมนุม ธรรมศาสตร์มักถูกกำหนดให้เป็นจุดหมายปลายทาง ส่วนวันที่ว่างเว้นจากการชุมนุม ธรรมศาสตร์ก็ยังคงเป็นจุดนัดพบสำคัญสำหรับประชาชนหัวก้าวหน้า มีการรวมกลุ่มของประชาชนพูดคุยเรื่องเหตุบ้านการเมืองที่หน้าหอประชุมใหญ่ มีการจัดนิทรรศการการเมือง วันเสาร์-อาทิตย์มีการจัดฉายภาพยนตร์เพื่อระดมทุนเคลื่อนไหว กางเกงยีนส์จากโรงงานสามัคคีกรรมกรก็นำมาวางแผงขายที่ธรรมศาสตร์ด้วยเช่นกัน

แม้ธรรมศาสตร์จะขึ้นชื่อเรื่องมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อเสรีภาพทางการแสดงออกมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบางจังหวะมหาวิทยาลัยก็ออกกฎและพยายามควบคุมการแสดงออกที่เกี่ยวกับการเมืองอยู่เป็นช่วงๆ เหมือนกัน

5.ร้านจั๊ว ท่าพระจันทร์
goo.gl/maps/2atGNN59H36QjCqC7
ร้านอาหารในตำนานที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษา เมื่อพูดถึงอาหาร ร้านจั๊วคือร้านที่แทบทุกคนนึกถึง ราคามิตรภาพคือหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มัดใจบรรดานักศึกษาได้อยู่หมัด

ตัวร้านจั๊วยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใกล้กับตึกคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมนูยอดฮิตคือ ข้าวราดแกงมัสมั่น เมื่อมีการชุมนุมแล้วสั่งอาหารห่อจากร้านจั๊ว อาหารจะใส่มาในห่อกระดาษมัดหนังยางแล้วยกใส่เข่งเข้าไปแจกในธรรมศาสตร์

ในวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 สถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นทุกขณะ ทำให้นักศึกษาหลายคนตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อหาทางรักษาชีวิต จำนวนไม่น้อยอาศัยใต้ร้านจั๊วเป็นที่หลบซ่อนตัว ก่อนที่จั๊วจะช่วยดึงหลายคนขึ้นฝั่ง และแนะเส้นทางหลบหนีให้รอดพ้นการจับกุม

ปัจจุบันบริเวณที่ร้านจั๊วเคยตั้งอยู่ไม่ได้เป็นร้านจั๊วอีกต่อไป ส่วนจั๊ว–เจ้าของร้าน ก็ขาดการติดต่อกับนักศึกษาลูกค้าประจำทั้งหลายไป หลังจากกระจัดกระจายไปคนละทิศละทางตั้งแต่ปี 2519

6.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
goo.gl/maps/32bqWpzQT4dxMEKo7

ภาพจำของอนุสาวรีย์ฯ แห่งนี้มักถูกยึดโยงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ที่จริงแล้วสถานที่แห่งนี้ยังเป็นจุดชุมนุมในอีกหลายต่อหลายครั้งในเวลาต่อมา

“พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” เล่าว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม 2516 หลังจากเข้าเรียนแพทยศาสตร์ มหิดลได้ไม่นาน รุ่นพี่ก็ชักชวนเดินขบวนจากคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปักหลักที่นั่นประมาณ 1 วัน เพื่อคัดค้านการส่งนักเรียนนายร้อยมาเรียนแพทย์ร่วมกับนักศึกษามหิดล และหลังจากการชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาฯ ก็มีการนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ฯ แห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง เช่น การชุมนุมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 การชุมนุมของคนงานไทยการ์ด เมื่อสิงหาคม 2518 เป็นต้น

7.ตึก ก.ต.ป.
goo.gl/maps/fMK5Y8sK3ayPrDtH8
อาคารคณะกรรมการการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) เป็นสัญลักษณ์ฐานที่ตั้งอำนาจของ ถนอม กิตติขจร ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเผาด้วยความโกรธแค้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทั้งนี้อาคารด้านหลังยังใช้การได้อยู่
เวลาต่อมาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ จึงใช้ชั้น 3 ของตึกนี้เป็นที่ทำการ เตรียมการทำกิจกรรม และเก็บอุปกรณ์ต่างๆ สมาชิกของ ศนท.จึงแวะเวียนมาไม่ขาดสาย
ส่วนชั้น 2 ของตึกมีศูนย์กลางนักศึกษาครูแห่งประเทศไทยใช้พื้นที่ เพลงของวงคุรุชนหลายเพลงจึงแต่งขึ้นที่นี่
ปัจจุบันคือบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

8.โรงเรียนช่างกลพระรามหก
goo.gl/maps/fptsvCeWQG6ocRe87

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในเวลานั้น เหลือสถาบันอาชีวศึกษาไม่กี่แห่งที่ยังคงร่วมขบวนไปกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในนาม “แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งโรงเรียนช่างกลพระรามหกคือหนึ่งในนั้น

วันที่ 3 มีนาคม 2519 เกิดเหตุลอบวางระเบิดอาคารหอพักนักเรียนโรงเรียนช่างกลพระรามหก ซึ่งในเวลานั้นมีผู้เข้าพัก 11 คน ภายหลังมีการตรวจสอบระเบิดที่ใช้ก่อเหตุ พบว่าเป็นระเบิด TNT แบบเดียวกับที่ใช้ในราชการสงคราม
เหตุระเบิดพรากชีวิตนักเรียนไปถึง 3 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 6 คน สภาพอาคารหอพักชั้นล่างพังเสียหายไม่เหลือสภาพ ส่วนอาคารเรียนที่อยู่ข้างเคียงก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ภาพจาก Google Street View ในเดือนพฤศจิกายน 2560 แสดงให้เห็นว่า อาคารคอนกรีตเดิมของโรงเรียนที่ถูกทิ้งร้างได้ถูกรื้อทิ้งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จากที่ในปี 2559 ยังคงมีตัวตึกอยู่

9.ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
goo.gl/maps/EiCjJ5vpN2i7Lozk7

ตึกสันทนาการฯ เป็นศูนย์กลางในการวางแผนการ “กวนกาว” เพื่อติดโปสเตอร์นัดการประท้วงหรือการชุมนุมทางการเมืองทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งวางแผนการชุมนุมทางการเมืองหรือการประท้วงสำคัญหลายหน “เหวง โตจิราการ” เล่าว่า ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยย้ายมาใช้ที่นี่เป็นที่ทำการเมื่อราว กรกฎาคม 2517

เหตุผลที่ศูนย์กลางนักเรียนฯ ต้องมาใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย เพราะในช่วงเริ่มต้นของการมีศูนย์ฯ แทบทุกโรงเรียนทั่วเมืองไม่ยินดีให้ศูนย์ฯ ประชุมหรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมือง ในคณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นพื้นที่รวมตัวของศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ มาอยู่ก่อนแล้ว จึงเปิดให้ใช้พื้นที่เพื่อการรวมตัวของนักเรียนที่สนใจเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย แต่นั้นมาทั้งนักเรียนและนักศึกษาจึงทำกิจกรรมสนิทใกล้ชิดกัน

10.สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

goo.gl/maps/wxkCRua4aSxgE9BY8

เพราะการเรียกร้องเอกราชโดยให้อเมริกาถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการเคลื่อนไหวในขณะนั้น จุดหมายปลายทางยอดฮิตสำหรับการประท้วงของนักศึกษาหลังจาก 14 ตุลาฯ จึงมีสถานทูตฯ รวมอยู่ด้วย

“พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” เล่าว่า มีการตั้งเวทีพักค้างคืนหน้าสถานทูตฯ หลายวัน ในวันที่ 21 มีนาคม 2519 ระหว่างที่นักศึกษาประชาชนกำลังเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังสถานทูตฯ มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

11.โรงแรมดุสิตธานี

goo.gl/maps/ydv3fZ6PdvCm9Lc3A

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานภาคการโรงแรมในช่วงเวลา 3 ปีจะมีบันทึกการเคลื่อนไหวของพนักงานโรงแรมดุสิตธานีเสมอ

ในเดือนสิงหาคม 2517 พนักงานโรงแรมดุสิตธานีได้นัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้าง และการได้รับส่วนแบ่งจากค่าเซอร์วิสชาร์จที่เป็นธรรม การประท้วงหยุดงานครั้งแรกกินเวลาถึง 23 วัน ในเวลานั้น “เทิดภูมิ ใจดี” ได้ประสานมวลชน นิสิต นักศึกษาและพี่น้องกรรมกรจากที่อื่นมาร่วมด้วย

วันที่ 1 พฤษภาคม 2518 คนงาน 400 คนนัดหยุดงานอีกครั้ง เพราะข้อเรียกร้องไร้การตอบสนองจากฝ่ายบริหาร และราวหนึ่งเดือนถัดมา เทิดภูมิถูกลอบยิง จึงทำให้ศูนย์ประสานงานกรรมกรจัดการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่สวนลุมพินี 3 วัน จนรัฐบาลยอมมาจัดการปัญหา โดยนำข้อเรียกร้องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผลตัดสินว่าฝ่ายกรรมกรแพ้ โดยระบุเหตุผลว่า การเรียกร้องนี้เป็นการเรียกร้องซ้ำภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ซึ่งขัดกับกฎหมายแรงงาน พ.ศ. 2518

12.สแตนดาร์ด การ์เมนท์
ย่านพระรามสี่ (ปัจจุบันย้ายออกไปนอกเมือง)

อีกหนึ่งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานคือ โรงงานสแตนดาร์ด การ์เมนท์ ย่านพระรามสี่ นายจ้างได้ใช้วิธีแยกกรรมกรเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งไม่ร่วมประท้วงและต้องการเข้าทำงานตามปกติ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2518 กองกำลังตำรวจใช้ไม้กระบองทุบตีกรรมกรที่นัดหยุดงาน นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตำรวจใช้ความรุนแรงกับกรรมกรจนมีคนบาดเจ็บสาหัสกะโหลกร้าว

จากคำบอกเล่าของผู้ร่วมเหตุการณ์ คาดว่า ตำแหน่งที่ตั้งของสแตนดาร์ด การ์เมนท์ ในวันนั้นคือบริเวณลานจอดรถของอาคารอื้อจือเหลียงในปัจจุบัน

13.โรงงานสามัคคีกรรมกร
goo.gl/maps/7aTjAxbopguH7KWY9

พูดถึงการต่อสู้ของกรรมกรหญิงที่สุดทรงพลังแห่งยุคสมัย ต้องนึกถึงโรงงานสามัคคีกรรมกร โรงงานที่เกิดจากการเรียกร้องสิทธิแรงงานของกรรมกรในโรงงานฮาร่าที่ตั้งอยู่บริเวณตรอกวัดไผ่เงิน

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น กรรมกรของโรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน ทั้งได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งสวัสดิการย่ำแย่ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2518 กรรมกรจึงรวมตัวกันนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้ปรับสภาพการจ้างงาน แต่นอกจากนายจ้างจะไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ไม่ใส่ใจรับฟังการเจรจาต่อรองแล้ว ยังไล่คนงานที่ร่วมประท้วงออกจากโรงงานด้วย

การถูกกดในกดยิ่งทวีความร้อนแรงในการต่อสู้และทำให้การประท้วงยืดเยื้อ จนในที่สุดกรรมกรหญิงยึดโรงงานฮาร่าและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงงาน “สามัคคีกรรมกร” ได้สำเร็จ โดยกรรมกรได้ใช้เครื่องจักรและวัตถุดิบของโรงงานผลิตสินค้ากางเกงยีนส์ปักรูปค้อน-เคียวเพื่อขายเลี้ยงชีพ พร้อมๆ กันก็มีกลุ่มนักศึกษาแวะเวียนและใช้ชีวิต

โรงงานร่วมกับพี่ๆ กรรมกรที่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเอง ทั้งยังมีวงกรรมาชน วงขวัญใจกรรมกรไปบรรเลงดนตรีสร้างความฮึกเหิมให้ถึงที่ด้วย

หลายเดือนผ่านไป การเจรจากับนายจ้างก็ยังคงไม่เป็นผล ทางการเริ่มหวั่นว่าจะมีการลุกฮือของโรงงานอื่นๆ ตามรอยกรรมกรฮาร่า จึงเข้าปราบในที่สุด กรรมกรและนักศึกษาถูกจับ ประชาชนเรี่ยไรเงินมาช่วยประกันตัวและส่งกำลังใจให้ ภายหลังมีคำสั่งให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าทำงานตามเดิม แต่สุดท้ายคนงานกลุ่มนี้ก็ถูกลอยแพอยู่ดี

ทุกวันนี้โรงงานฮาร่าก็ยังคงตั้งอยู่ในย่านเดิม
(อ่านเรื่องการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าแบบเต็มๆ ได้ที่นี่ facebook.com/6tula2519/posts/4599840030074782)

14.อ้อมน้อย
goo.gl/maps/Rgj3RPxNHF196aoG6

โรงงานอุตสาหกรรมย่านอ้อมน้อยมีฐานแรงงานผู้ฝักใฝ่ความเป็นธรรมอยู่ไม่น้อย

กรรมกรโรงงานทอผ้าย่านอ้อมน้อยเป็นกำลังสำคัญที่เรียกร้องให้โรงงานอื่นๆ เข้าประท้วงสมาคมสิ่งทอของกลุ่มนายทุนทอผ้า ที่ประกาศจะลดการผลิตและลดเวลาการทำงานของกรรมกร จนเกิดการรวมตัวหยุดงานครั้งยิ่งใหญ่ของกรรมกรทอผ้า 600 โรงงานทั่วประเท ศเพื่อมาชุมนุมที่สนามหลวง เรียกร้องให้ปรับสภาพการจ้างงานและให้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การเคลื่อนไหวครั้งนั้นนับเป็นการชุมนุมที่ใหญ่มากครั้งหนึ่งเพราะมีกรรมกรหลายหมื่นชีวิตเข้าร่วม

ไม่เพียงเท่านี้ ที่โรงงานย่านอ้อมน้อยยังมีนิสิตนักศึกษาแวะเวียนไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมด้วยอยู่เนืองๆ อย่างเช่น “สุรชาติ บำรุงสุข” ที่เล่าว่า ในวัยที่เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2-3 ตนเองเข้าไปอยู่ในสหภาพแรงงาน ใช้ชีวิตอยู่กับกรรมกรอ้อมน้อย บางวันก็ต้องหายืมเสื้อคนงานชายใส่ เพราะที่โรงงานไม่ให้คนนอกเข้า
“เวลาพี่น้องคนงานประท้วง ตอนเช้าผมมีหน้าที่ไปกับคนงานพร้อมโทรโข่ง หารถแล้วก็ไปขอรับบริจาคผักตามตลาด…ชีวิตในเวทีคนงานไม่เหมือนชีวิตในเวทีประท้วงของนักศึกษา พอตกกลางคืน หลายที่นายทุนเอามือปืนมาไล่ยิง”

*หมายเหตุ หากมีจุดไหนผิดแผกจากความทรงจำของท่าน ทีมงานต้องขออภัย และขอเชิญชวนให้คอมเมนต์บอกเล่าเรื่องราวใต้โพสต์นี้ เพื่อร่วมปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับเรา

ร่วมสมทบทุนโครงการ 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง ด้วยการสั่งซื้อ “ชัยประชา” หนังสือพิมพ์แห่งการเคลื่อนไหวฉบับพิเศษในราคาฉบับละ 279 บาทได้ที่ forms.gle/CS3N1GQC4v9ZYdhHA
ร่วมบอกเล่าการต่อสู้ของตัวเองเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ภาคประชาชนที่รัฐไม่สามารถทำให้เงียบงันได้ที่ dawnofvictory.org
อ่าน “สมมติว่า 5 ตุลาฯ” 11 เรื่องแต่งที่มีพื้นฐานจากเรื่องจริงที่รัฐไม่อยากให้เราจดจำ โดยนักเขียนรุ่นใหม่ ได้ที่ bit.ly/3otLMdu

อ่านข่าว :
ปลุกใจ กระจายข่าวด่วน ชวนชุมนุม ‘6 ตุลา’ กับ ศิลปะรับใช้ ปชช. ผ่าน ‘โปสเตอร์’
เปิดบันทึก 6ตุลา ส่อง ‘9 ฝ่าย’ ในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ใกล้เคียงปัจจุบัน
#เหตุเกิดที่ประตูแดง แห่รำลึก 45 ปี ‘แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า’ ย้อนชนวน 6 ตุลา-จัดคลับเฮ้าส์คืนนี้
เว็บฯ บันทึก 6 ตุลา เปิด ’14 คัมภีร์ความคิด’ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่มาขบวนการเคลื่อนไหว
เว็บบันทึก 6 ตุลา ร่ายที่มา ‘5 วง – 6 บทเพลงเพื่อชีวิต’ มรดกอาวุธ สู้รัฐด้วยสันติ
ธรรมศาสตร์ ถอย เลิกเบรกรำลึก “6 ตุลา” จ่อส่งเรื่องถึงอว. ขออนุญาต จันทร์นี้

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image