โครงการบันทึก 6 ตุลา สะท้อนทาง ‘ต่อกรกับอำนาจ’ ชาวบ้าน-น.ศ. รวมพลังร่วมสู้ ‘จากแรงมาเป็นรวง’

โครงการบันทึก 6 ตุลา สะท้อนทาง ‘ต่อกรกับอำนาจ’ ชาวบ้าน-น.ศ. รวมพลังร่วมสู้ ‘จากแรงมาเป็นรวง’

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ในวาระครบรอบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลาคม 2516 อันสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเหตการณ์ 16 ตุลาคม 2519 แฟนเพจ “บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6” ได้เผยแพร่ข้อเขียนบอกเล่าประวัติศาสตร์ ภายใต้ชื่อชุด “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง” ตอน “จากแรงมาเป็นรวง” การผนึกกำลังของนักศึกษาและชาวนา เพื่อความเป็นคนเท่ากัน ความว่า

ใช่ว่าชัยชนะที่ประชาชนได้รับในวันที่ 14 ตุลาฯ จะทำให้พวกเขาหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง ในหมู่นักศึกษาหารือกันว่าบ้านเมืองอาจจะกลับไปอยู่ในมือทหารอีกครั้งถ้าหากเสียงของประชาชนเงียบไป ดังนั้นจะต้องกระจายการตื่นรู้ให้ทั่วถึงประชาชนทั้งประเทศ

หนทางหนึ่งคือ แยกย้ายกันออกไปทำงาน ให้ความรู้ และเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มกรรมกรและชาวนาตามต่างจังหวัด โดยไม่ใช่แค่การเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังร่วมใช้ชีวิตเพื่อลงลึกถึงปัญหาอย่างถึงราก แล้วร่วมต่อสู้ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

Advertisement

“มนัส จินตนะดิลกกุล” อดีตนักศึกษาและผู้ประสานงานชาวนาภาคเหนือ เริ่มทำงานร่วมกับชาวนาตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬาฯ เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคจุฬาประชาชน ทำงานเคลื่อนไหวทั้งในมหาวิทยาลัยและประเด็นสังคมนอกรั้วสถาบัน หลังความสำเร็จในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มนัสนำทีมเพื่อนๆ เปิดโรงเรียนการเมืองของพรรค ชวนผู้สนใจมาเรียนรู้ทั้งด้านแนวคิดไปจนถึงลงพื้นที่จริง เพื่อรับรู้ปัญหาของกรรมกรและชาวบ้านผ่านการอยู่กินร่วมกับพวกเขาในระยะสั้นๆ และต่อมาก็ตัดสินใจลาออกจากการเรียนเพื่อขึ้นไปสร้างกลุ่มทำงานกับชาวนาภาคเหนือเต็มตัวในปี 2517 จนสุดท้ายเกิดเป็น “เทรนด์” ที่นักศึกษาเลิกสนใจชีวิตในห้องเรียนแต่ออกมาทำงานนอกห้องเรียนกับเครือข่ายต่างๆ จนกลายเป็นพลัง 3 ประสานต่อสู้เพื่อให้ความเป็นคนเท่ากัน

ถ้าหากพูดถึงปัญหาที่ทำให้ชาวนาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับนักศึกษา ก็ต้องนึกถึงการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับเจ้าของที่ เนื่องจากที่ดินที่เชียงใหม่เป็นของคนใหญ่คนโต ชาวบ้านจึงต้องจ่ายค่าเช่าให้ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ โดยที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย แต่ถ้ารอบไหนผลผลิตที่ออกมาเสียหายก็จะขาดทุนไปเยอะ ทำให้ไม่มีรายได้มากพอ และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ภาคกลาง ช่วงรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีชาวบ้านเคลื่อนไหวให้มีกฎหมายแบ่งรายได้ชาวนาออกเป็น 3 ส่วน โดยมอบให้เจ้าของที่เพียง 1 ส่วน อีก 2 ส่วนจะเป็นของผู้เช่า แต่ทั้งนี้จะต้องหักค่าใช้จ่ายแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐในภาคเหนือไม่ยอมบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จึงเกิดความยากลำบากในหมู่ชาวบ้านมาก เมื่อนักศึกษาจากกรุงเทพฯ รวมตัวกับนักศึกษาจากภาคเหนือมาให้ความรู้ข้อกฎหมายนี้กับชาวบ้าน จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อมีปัญหาอะไร ชาวนาจะมาหานักศึกษาเมื่อนั้น

“ชาวบ้านมาหา เราจะยังไม่ตัดสินเลยว่าปัญหาเกิดจากอะไร แต่เราจะลงพื้นที่ไปดูไปฟังด้วยตัวเอง แล้วพอชาวบ้านมาติดต่อเยอะๆ ตอนนั้นเราคิดว่าควรจะมีนักศึกษาทำภารกิจนี้โดยเฉพาะ เลยตั้งหน่วยงานขึ้นในนามของศูนย์นักศึกษาภาคเหนือ เราเรียกว่า ‘โครงงานชาวนา’“

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ภาคเหนือที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่นาจึงอยู่ไกลกับลุ่มน้ำ ส่วนวิถีชีวิตของคนจะมีลักษณะเคลื่อนย้ายที่อยู่บ่อยเนื่องจากความยากลำบาก เมื่ออยู่ในอำเภอหนึ่งได้สักระยะก็จำต้องย้ายไปอีกอำเภอเพื่อดำรงชีพให้อยู่รอด นี่เป็นเหตุผลที่ชาวนาภาคเหนือตื่นตัวเรื่องสิทธิทางการเมืองได้แบบ “ไฟลามทุ่ง” เมื่อรู้กฎหมายกันในหมู่บ้านหนึ่งแล้ว บางคนจะเอาไปบอกต่อญาติที่ย้ายไปอีกหมู่บ้าน โครงงานชาวนาจึงจำเป็นต้องขยายสมาชิกให้มากขึ้นตามไปด้วย

“เราคิดว่าจำเป็นต้องหานักศึกษามาทำงานเต็มเวลาแล้ว เราเรียก (คนทำงานว่า) ผู้ปฏิบัติงานชาวนา ทีนี้จะได้พวกนี้มายังไง เราก็จัดอบรม จัดค่าย ซึ่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และวิทยาลัยครูเชียงใหม่จะเป็นฝ่ายรับแนวคิดจากพวกเรา แล้วจัดค่ายเด็กนักเรียนกับเราด้วย มีการจัดเสวนาเชิญวิทยากรมาถกเถียงทางความคิดกัน แล้วก็นอนอยู่กับชาวบ้าน ตอนกลางวันก็ทำงานกับพวกเขา มันก็เกิดนักศึกษาที่ตื่นตัว”

เมื่อได้กลุ่มคนที่สนใจรับหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานชาวนาแล้ว พวกเขาจะแบ่งหน้าที่ทำงานกันเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. นักศึกษาที่ทำงานเต็มเวลากับชาวนา คลุกคลีกับปัญหาด้วยการอยู่กินกับชาวบ้าน ถ้าชาวนาทำอะไรก็ทำด้วย ถึงฤดูเกี่ยวข้าวก็ต้องหยิบเคียวลงแรงให้ออกมาเป็นรวงด้วยกัน พร้อมเผยแพร่แนวคิดและการศึกษาให้

2. กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา แต่จะเข้ามาทำงานช่วงที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ มนัสเล่าว่าช่วงนั้นภาคเหนือมีชุมนุมบ่อยมาก มีชาวนาถูกจับ นักศึกษาก็ออกมาชุมนุมประท้วง ซึ่งนักศึกษาที่มาร่วมเคลื่อนไหวจะเป็นคนทำงานกิจกรรมในสถาบันอยู่แล้ว

3. กลุ่มของมนัสที่จะเตรียมค่ายในหมู่บ้านให้นักศึกษาไปเรียนรู้ชนบท จัดทุกสุดสัปดาห์

ใช่ว่าผู้ปฏิบัติงานชาวนาจะต้องช่วยเหลือทุกด้าน และเป็นผู้นำในการออกมาสู้เพื่อชาวนาอย่างเดียวเท่านั้น มนัสบอกว่า “ถ้าเราคิดจะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของเขาเท่านั้น มันก็คือคนแบมือขอ เขาเดือดร้อน เราไปให้แล้วก็จบ เขาไม่คิดที่จะลุกขึ้นมาสู้ของเขาเอง อย่างนี้ไม่ถูก เราจึงต้องทำให้เขาตื่นตัวเป็นพลังของเขา”

มนัสจึงวางแผนจัดการศึกษาและพูดคุยอย่างลงลึกเพื่อให้ชาวนาขยายกลุ่มได้ด้วยตัวเอง โดยการไปใช้ชีวิตกับกลุ่มแกนนำ ผู้ใหญ่บ้าน ประธานสหพันธ์ฯ หรือคนที่ตื่นตัวที่สุดในหมู่บ้านนั้น แล้วคนกลุ่มนี้จะส่งต่อความคิดสู่คนอื่นๆ ในหมู่บ้าน พร้อมเป็นแกนนำในการเรียกร้องต่าง ๆ

ในขณะที่นักศึกษาเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นผู้ให้ความรู้หรือช่วยเหลือ แต่ยังแลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกันกับผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านด้วย มนัสบอกว่า มีหลายคนในชุมชนที่เป็น “ปัญญาชน” ให้ความรู้นักศึกษา ในแต่ละวันที่ทำงาน ผู้ปฏิบัติงานชาวนาจึงต้องเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งความคิด อารมณ์ และปัญหามาสรุปบทเรียน ถกเถียงกันในหมู่คณะ หาทางแก้ไข แล้วเอาไปพูดคุยถามความคิดเห็นชาวบ้าน มนัสเรียกวิธีการนี้ว่า “เดินแนวทางมวลชน”

“ถ้าชาวนาไม่พร้อม ชาวบ้านไม่สู้กับคุณ คุณจะเหนื่อยตายเลย อย่างเวลาชุมนุมจะเอาเงินจากไหนไปเลี้ยงข้าวชาวบ้าน เราไม่มีเงินนะ ถ้าเขาตื่นตัว พร้อมสู้ ชาวบ้านจะเอาข้าวที่บ้านเขามาทำกินกันเอง ถ้าเขาตื่นตัวพร้อมนั่นแหละคือแนวทางมวลชน”

มนัสย้ำว่า หลักการเดินแนวทางมวลชนช่วยรวมพลังให้ชาวบ้านและนักศึกษาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะระหว่างทางต่อสู้ พวกเขาต้องเจอกับอุปสรรคจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้ามวลชนไม่เดินไปพร้อมกัน ไม่ต่อสู้แบบรวมพลัง ก็จะเป็นเรื่องที่ยากจะต่อกรกับอำนาจอยุติธรรม

“การชุมนุมเกิดขึ้นง่ายเพราะคนพร้อมที่จะสู้ พวกผมติดคุกบ่อยนะ เหมือนสมัยนี้ เดี๋ยวเขาก็มีหมายมา จะเอาเราเข้าคุก ชาวบ้านมาล้อมสถานที่ราชการให้เอาเราออกมา ผมเข้าคุกในโรงพักอำเภอไม่รู้กี่ที่จนคุ้นเคย สมัยนั้นเราไม่มีทนาย มีแต่ชาวบ้านที่ดึงเราออกมา ถ้าไม่ปล่อยเดี๋ยวก็ได้เผาโรงพัก ก็ต้องปล่อย สมัยนั้นเป็นอย่างนี้ นี่คือวิธีทำงานของชาวนาในสมัยนั้น”

การพึ่งพาอาศัยกันด้วยอุดมการณ์และการลงมือต่อสู้ จึงกลายมาเป็นสายใยในเครือข่าย ชาวบ้านเกี่ยวข้าว นักศึกษาก็ลงไปช่วย ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินทุจริตค่าธรรมเนียมการรังวัดที่ดิน นักศึกษาก็รวมตัวกันไปปิดล้อมที่ว่าการอำเภอเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน ถ้าหากนักศึกษาถูกจับ ชาวบ้านก็รวมพรรคพวกให้มาช่วยเหลือกัน หรือถ้าชาวบ้านเจอภัยพิบัติ น้ำท่วม ที่นาเสียหาย นักศึกษาก็จะเปิดรับบริจาคความช่วยเหลือทั้งรูปแบบเงินและสิ่งของ ทั้งยังประสานงานขอความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันก็วิพากษ์เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนด้วย

การร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านและนักศึกษามีพลังแค่ไหน มนัสยกตัวอย่างความสำเร็จที่เสียงประชาชนอย่างพวกเขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนี้

1. ต่อสู้ค่าเช่านาในหลายหมู่บ้านให้เป็นไปตามกฎหมายได้สำเร็จ

2. ต่อต้านการทำเหมืองดีบุก ให้ยกเลิกประทานบัตรทำเหมืองที่บ้านแม่เลียง อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง และเหมืองแม่วะ บ้านแม่สะป๊วด อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน สำเร็จ

3. ชุมนุมเรียกร้องปรับราคาซื้อใบยาสูบให้สูงขึ้น สำเร็จ

4. ต่อสู้เรียกร้องให้กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิที่ดิน นส.3 ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จ

5. ต่อสู้ให้ปล่อยตัวชาวบ้าน 5 ครอบครัวที่ถูกจับข้อหาทำกินในที่ป่าสงวน ในพื้นที่ติดดอยผ้าห่มปก บ้านหนองตุ้ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จ

แต่ความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้เกิดระหว่างปี 2517-2519 เพียงเท่านั้น เพราะแนวทางของพวกเขายังเป็นฐานหล่อหลอมจิตใจการต่อสู้ร่วมกับชาวนาให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเทคนิค รวมถึงนักเรียนหลายคนมาจนถึงปี 2525 ทั้งยังเป็นพื้นที่กำเนิดขบวนการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่องค์กรใหม่ๆ อย่างแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ หลังปี 2530 รวมถึงเชื่อมโยงอุดมการณ์ให้กับความตื่นตัวของมวลชนเสื้อแดงด้วย

พลังของแนวทางมวลชนอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสั่นคลอนอำนาจของนายทุนและรัฐไปไม่น้อย แม้ว่านักศึกษาจะใช้วิธีการต่อสู้บนพื้นฐานทางกฎหมาย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้อำนาจควบคุมเครือข่ายสหพันธ์นักศึกษาเสรีชาวนาได้ พวกเขาจึงทำให้ผู้คนหวาดกลัวด้วยภัยจนไม่กล้าเข้าร่วมขบวนต่อสู้ ทั้งจากการป้ายคดีความ และคุกคามชีวิตด้วยการ “ลอบสังหาร”

“ผู้นำชาวนาทางเหนือตายมากที่สุด ผมอุ้มศพผู้นำชาวนากับมือ ผมเปื้อนเลือด แค้นก็แสนแค้น พวกผมก็ถูกลอบยิง ตอนนั้นมีโครงการเงินผันของคึกฤทธิ์ที่ทำให้เราตายมากขึ้น เขาเอาเงินไปลงโดยตรงให้กับหมู่บ้าน โดยให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปจัดโครงการ แล้วเกิดการทุจริต พอเราเข้าไปรู้มากมันก็มองว่าเราจะไปจับผิด มันก็เล่นงานพวกเราหนักเข้าไปอีก ผมถูกลอบยิงมาตลอด ตอนนั้นนักศึกษาหลายคนก็ถอยนะ ผมก็เข้าใจ ชีวิตต้องไปเสี่ยง ไม่พร้อมก็อย่าไป”

การสังหารผู้นำชาวนามักตามมาด้วยการเบี่ยงเบนประเด็นการตายด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น ปัญหาชู้สาว ขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนตัว ฝ่ายเดียวกันทำร้ายกันเอง หนึ่งในผู้นำชาวนาคนสำคัญที่ถูกลอบสังหารและสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง คือการสังหาร “อินถา ศรีบุญเรือง” หรือ “พ่อหลวงอินถา” ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นคนสำคัญของกลุ่มการเคลื่อนไหว

หลังจากพ่อหลวงอินถาเสียชีวิต มีการปลอมจดหมายว่า พ่อหลวงอินถาจะลาออกจากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ จึงถูกฝั่งเดียวกันลอบสังหาร ท้ายที่สุดรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้านทานการเรียกร้องจากประชาชนให้เกิดการสอบสวนไม่ไหว จึงตอบรับที่จะค้นหาข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆ

“พอพ่อหลวงอินถาถูกฆ่า เรารู้แล้วว่าต้องติดอาวุธผู้นำชาวนาแล้ว ไม่งั้นเราต้องถอยหมด ตอนนั้นเริ่มมีข่าวว่าจะรัฐประหารในปี 2518 เราคิดว่าต้องเตรียมตัวเข้าป่าทางเหนือกัน เพราะถ้ารัฐประหารเราถูกจับหมดแน่”

มนัสจึงประสานงานกับนักศึกษาทางฝั่งกรุงเทพฯ ของบซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัว และให้หมู่บ้านหนึ่งในลำปางที่ผลิตปืนไทยประดิษฐ์อยู่แล้วช่วยส่งต่ออาวุธให้กับคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อป้องกันตัว พร้อมทั้งเฝ้ายามปกป้องสมาชิกคนอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วย

นอกจากนี้ มนัสกับเครือข่ายยังวางแผนซ่อนตัวสมาชิกในป่า โดยตั้ง “กองกำลังป้องกันตนเองของสหพันธ์ชาวนา” ในหมู่บ้านที่พวกเขาเชื่อว่าผู้นำชาวนาอาจจะถูกลอบฆ่า พร้อมทั้งตั้งกลุ่ม “มังกรน้อย” คอยทำงานสื่อสาร ขนของและอาวุธให้ผู้นำชาวนาแต่ละอำเภอ และรับสมาชิกที่อยู่ในวัยนักเรียนที่พร้อมทำงาน “เราถือว่าพวกนี้เป็นคนเดือนตุลาฯ เหมือนกันแม้ไม่ใช่นักศึกษา” มนัสพูดขึ้น

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชาวนาภาคเหนือจึงเป็นกลุ่มคนที่เข้าป่ามากที่สุด แม้บางคนเตรียมตัวไม่ทัน ถูก กอ.รมน.จับตัวไปได้ก่อน แต่สิ่งเหล่านี้ที่พวกเขาลงมือทำเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราได้เห็นว่า การร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและนักศึกษานำมาสู่พลังในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมากเพียงใด

อ่าน :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image