คณะกก.สมานฉันท์ มอง ‘ปรองดอง’ เป็นหน้าที่รัฐ เชื่อ ฉีก รธน.ปชช. วีรชนทุกยุครับไม่ได้

คณะกรรมการสมานฉันท์ มอง ‘ปรองดอง’ เป็นหน้าที่ของรัฐ เชื่อ ฉีกรัฐธรรมนูญประชาชน วีรชนทุกยุครับไม่ได้ ฝากสังคม เรียนรู้อดีต เพื่อเดินหน้าอนาคต

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติวีรชน 35, มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล, รัฐสภา ตลอดจนภาคประชาชน ร่วมจัดงานรำลึก “30 ปี พฤษภาประชาธรรม”

โดยช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 คณะผู้จัดงาน ญาติวีรชน ผู้แทนภาคส่วน และประชาชนร่วมพิธีวางพวงมาลา กล่าวรำลึก ประกอบพิธีทางศาสนา และเปิดอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 อย่างเป็นทางการ

อ่านข่าว :

บรรยากาศงานช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเปิดเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวัฎจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ พร้อมเผยแพร่ภาพสดผ่านระบบออนไลน์

Advertisement

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และคณะกรรมการสมานฉันท์ รัฐสภา กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องมองให้เห็น คือกลุ่มที่พยายามยึดอำนาจ สร้างภาพประชาธิปไตยคู่ขนานไปด้วย ข้ออ้างรัฐประหารมักมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เดิม ยึดอำนาจเสร็จ ยึดทรัพย์ พิพากษา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ลงเลือกตั้ง และสืบทอดอำนาจ คือวงจรของไทย แต่ช่วงหลัง แม้ใช้ข้ออ้างเดิม คือคอร์รัปชั่น แต่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ จากนั้นนำไปสู่การฟ้องศาล และนำไปสู่การสั่งพิพากษา ยึดทรัพย์ การร่างรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน มีการเปิดพื้นที่เสมือนว่ามีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่อาศัยกลไกรัฐสภา แล้วบอกว่า ได้รับการยอมรับจากประชาชน ในขณะที่ผู้ก่อการ พยายาสร้างภาพจำแลง เราเองต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพื่อโต้แย้งว่า ไม่มีความเป็นธรรม ตามหลักสากล

“สิ่งที่เราเรียนรู้ คือ พฤษภาคม 35 ทำให้เรามี รัฐธรรมนูญ ปี 40 ตอนนั้นมีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากปัจจุบัน ซึ่งสำเร็จในปี 38 มีการอ้างการปฏิรูปการเมือง ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 39 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 40 ไม่เพียงได้รับการยอมรับจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในต่างจังหวัด แต่ยังเปิดให้พูดในมิติอื่นๆ ทางการเมือง เช่น สิ่งแวดล้อม ชุมชน การคุ้มครองสิทธิต่างๆ รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภค

แม้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แล้วมีข้อผิดพลาด แต่ก็มีกระบวนการแก้ไขได้ แต่การที่เราฉีกรัฐธรรมนูญออกไป ไม่ได้รับการยอมรับ คือสิ่งร่วมสมัย สำหรับนักต่อสู้ วีรชนทุกยุค” รศ.ดร.ภูมิกล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ภูมิกล่าวต่อว่า ปีหน้าครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เราจะปล่อยให้เกิดเหตุการแบบนี้วนซ้ำไปอีกกี่ครั้ง เหตุการณ์เริ่มที่จะซ้ำรอย สิ่งที่เห็นตรงกัน คือนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับภาคประชาชนที่มีความอ่อนแอ แตกแยกทางความคิด เจนเนอร์เรชั่น แต่คณะรัฐประหารคงชอบ เพราะพลังที่จะต่อสู้ คงจะเป็นจริงได้ยาก

“ผมอยากบอกว่า รัฐธรรมนูญที่บังคับในปัจจุบัน เขียนภาพไว้สวยหรู ว่าเข้ามาจัดการความขัดแย้ง คำถามคือจากปี 2535 ถึงปัจจุบันยังมีความขัดแย้งชัดเจน มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตัวเอง ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ 2550 ก็มีการเขียนบทนิรโทษกรรมไว้ ซึ่งสังคมมองว่า ไม่ถูกต้อง

หากรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดเรื่องการปรองดอง สมานฉันท์ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง มีข้อกล่าวอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ แต่อย่าลืมว่า รัฐธรรมคือกฎหมายฉบับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับบริบทในช่วงหนึ่ง ซึ่งถ้ามีปัญหา ก็แล้วแต่อำนาจอธิปไตยที่จะเรียกร้องให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

การที่มีคนออกมาต่อต้านเหตุการณ์ หรือกิจกรรม 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ‘การปรองดอง’ ซึ่งเป็นธีมของงานคือ เรียนรู้ ให้อภัย เข้าใจ และจดจำ ผู้ที่มีความชอบธรรมมากที่สุดในการให้อภัย คือผู้เป็นเหยื่อ คุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และกลุ่มญาติวีรชนได้ให้อภัยไปแล้ว ซึ่งคือผู้เสียสละ ไม่เพียงสูญเสียคนรัก คนในครอบครัว เมสเสจนี้ญาติวีรชนอยากสื่อถึงสังคมว่า หากเราไม่เคยเรียนรู้อดีต เพื่อเดินหน้าในอนาคต ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย” รศ.ดร.ภูมิกล่าว และว่าการสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ จึงจะทำให้สังคมสงบสุขได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image